Art & CultureWritings

‘มูเตลู’ คำสะท้อนปัญหาของสังคมไทย

เรื่อง: วรดา ชาติจิรกาล

วอลเปเปอร์เสริมดวง สีมงคล เครื่องราง การกราบไหว้เทพเจ้า ธุรกิจการดูดวง ไพ่ยิปซี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถพบเห็นในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มิใช่แค่ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดังยุคสมัยก่อนเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ความเชื่อในยุคสมัยก่อนถูกส่งต่อมาจนถึงในยุคปัจจุบันและยิ่งมีความเติบโตมากยิ่งขึ้นจนกลายมาเป็นคำที่เราคุ้นหูกันและนิยมเรียกกันว่า ‘มูเตลู’

น่าสงสัยว่า ในขณะที่โลกดำเนินไปด้วยความก้าวหน้า ทันสมัย ผู้คนสามารถเรียนรู้และเชื่อในวิทยาศาสตร์การพิสูจน์ได้ ปัจจัยใดที่ทำให้การมูเตลูยังคงเป็นที่นิยม และยิ่งไปกว่านั้นสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ในทุกช่วงวัยและแทบจะทุกชนชั้นในสังคม

มูเตลู คือ การนับถือความเชื่อเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ มีหลักการเชื่อมโยงกับเทพเจ้า การทำพิธีกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทอง ความรัก อำนาจ เสริมโชคลาภ และดวงชะตาให้กับชีวิต รวมไปถึงการหยั่งรู้อนาคต

การใช้คำว่ามูเตลูครั้งแรกๆ สันนิษฐานว่ามาจากชื่อภาพยนตร์อินโดนีเซีย ชื่อว่า มูเตลู ศึกไสยศาสตร์ (Penangkal Ilmu Teluh) เนื้อหาในภาพยนตร์กล่าวถึงผู้หญิงสองคนใช้มนต์ดำสู้กันเพื่อแย่งชายที่ตนรัก โดยท่องคาถาที่มีคำว่า มูเตลู นำหน้าบทสวดทุกครั้ง

คำว่ามูเตลูได้สืบต่อกันมาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในเรื่องของไสยศาสตร์ และคุณไสย ต่อมาความหมายของคำว่ามูเตลูก็เปลี่ยนตามกาลเวลา ผู้คนเริ่มใช้คำว่าการมู หรือมูเตลูเป็นคำเรียกโดยรวมของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การทำพิธีกรรม และเครื่องรางของขลังในเชิงบวก เช่น การนิยมใส่ตะกรุด กำไลหิน รวมถึงเครื่องประดับอื่นๆ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เริ่มมีการขายวอลเปเปอร์เสริมดวง เครื่องราง ธุรกิจตัวแทนกราบไหว้เทพเจ้า ธุรกิจการดูดวง เปิดไพ่ยิปซี ฯลฯ การมูเตลูได้ถูกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของการออนไลน์มากขึ้นและพัฒนาเป็นธุรกิจที่สร้างอาชีพและรายได้ในสังคม เมื่อเราอยากไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราไม่จำเป็นที่จะต้องขับรถออกไปที่วัดหรือศาลเจ้าอีกต่อไป เพียงแค่ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นตัวกลางระหว่างเรากับเทพเจ้า เพียงเท่านี้ก็สามารถสมหวังได้เช่นกัน

แน่นอนว่าการที่จะเป็นที่นิยมได้จะต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องไปกับธุรกิจ คนที่ใช้บริการมูเตลูในทุกๆ รูปแบบส่วนใหญ่จะครอบคลุมกลุ่มคนในช่วงวัยรุ่นตอนต้นจนถึงวัยผู้ใหญ่ บริษัท Lucky Heng Heng ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมคนไทยที่มีค่านิยมเกี่ยวกับการมูเตลู พบว่าคนกลุ่ม Gen Y เชื่อเรื่องดูดวงเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 43.4% กลุ่ม Gen Z เชื่อเรื่องดูดวงเป็นอันดับ 2 คิดเป็น 21.6% กลุ่ม Gen X เชื่อเรื่องดูดวงเป็นอันดับ 3 คิดเป็น 17.4% ตามลำดับ

การมูเตลูเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงสองปีให้หลังมานี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม งานวิจัยเรื่อง ‘Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น’ ได้วิจัยโดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน ในทุก Gen ดำเนินการวิจัยโดยนักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่า ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีประชาชนถึง 52 ล้านคนที่หันมาพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อที่จะจัดการกับความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังพบอีกว่าคน Gen Z เป็นเจเนอเรชั่นที่มีระดับความกังวลมากที่สุดทั้งในเรื่องของโรคระบาด สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ รองลงมาคือ Gen Y

ความเชื่อถูกนำมาตั้งราคาและนำกลวิธีทางการตลาดมาใช้กับการทำพิธีกรรมทางศาสนาร่วมด้วย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้รับความนิยมและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้คนที่เผชิญความทุกข์จากการที่เศรษฐกิจและสังคมไม่มั่นคง

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่พุ่งพรวดในหลายด้าน เช่น การศึกษา สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ฯลฯ ส่งผลไปสู่ความไม่มั่นคงในชีวิตรวมถึงจิตใจ ว่ากันว่าคนเราเอาความเชื่อมาใช้ในชีวิตเป็นเพราะขาดความมั่นใจ รู้สึกไร้ที่ยึดเหนี่ยว การที่คนรุ่นใหม่หันมาให้ค่าการมูเตลูมากกว่าเดิมสะท้อนให้เห็นว่าสังคมในตอนนี้อาจจะไม่ได้ให้ความรู้สึกปลอดภัยกับคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร จึงเกิดความรู้สึก insecure over uncontrollability over own life กล่าวคือเมื่อคนไม่มีความมั่นคงในชีวิตและเศรษฐกิจ กฎหมายถูกใช้อย่างไม่เท่าเทียม คนเลยหันไปโทษเวรกรรม หวังพึ่งเทวดา เทพเจ้า พยายามหาบางสิ่งเพื่อยึดเหนี่ยวในการต่อสู้กับสังคมที่ไม่เป็นธรรม ความเชื่องมงายหลายๆอย่างเลยไปต่อได้

ยกตัวอย่างข่าวบางข่าวเมื่อชาวบ้านร้องเรียนอะไรสักอย่างแล้วภาครัฐไม่สามารถช่วยได้ สุดท้ายก็คงมีแค่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พึ่งพาได้มากกว่า หรือการเหลื่อมล้ำในโลกออนไลน์เมื่อคุณเห็นชีวิตของคนอื่นดีกว่า หรือประสบความสำเร็จมากกว่า ความเปรียบเทียบย่อมเกิดขึ้น แน่นอนว่าการมูก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

ความไม่แน่นอน และความไม่มั่นคงในชีวิตเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การปรับตัวจึงต้องรวดเร็วในทุกๆ ด้าน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำมาหากินโดยย่ำอยู่กับที่นั้นไม่สามารถให้ความมั่นคงในชีวิตได้อีกต่อไป มองให้เห็นภาพง่ายๆ กลุ่มคน Gen X จะต้องมีการปรับตัวด้านองค์ความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตให้ทันยุคสมัยมากขึ้น อย่างในเรื่องของการปรับตัวกับเทคโนโลยี แมกกาซีนหรือหนังสือพิมพ์เริ่มย้ายแพลตฟอร์มไปอยู่ในโลกออนไลน์กันเกือบหมด หรือแม้แต่การซื้อหวยหรือสลากรัฐบาลก็ต้องปรับตัวให้เข้าสู่โลกออนไลน์เช่นกัน กลุ่มคน Gen Y มีการเปลี่ยนอาชีพหลายครั้งและหลายอาชีพในเวลาเดียวกัน กลุ่มคน Gen Y เป็นกลุ่มคนที่มีการแข่งขันสูงในด้านของการทำงานบวกกับชอบความท้าทายใหม่ๆ หากสิ่งใดที่ทำแล้วไม่ใช่ทางของตัวเองหรือไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้ก็จะค้นหาตัวตนด้วยการเปลี่ยนการทำงานและใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ

‘เราไม่อาจรู้ได้ว่าโชคลาภจะมาถึงเมื่อใด ควรจะเปิดประตูรอไว้’

เครื่องมือเสริมที่มนุษย์มักนำมาจัดการกับปัญหาในรูปแบบที่เราพูดถึงก็คือ การมูเตลู หรือในด้านความเชื่อและศาสนา แต่หากมองมุมกลับกัน การมูเตลูนั้นกลับให้ความไม่แน่นอนแต่แถมคำว่า “โอกาส” แนบติดท้ายมาให้คนที่ใช้มัน เราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร เดินไปในทิศทางไหน แต่หากคุณไปดูดวง คุณอาจได้รับคำตอบที่ตัวคุณเองก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่นั่นก็หมายความว่า อย่างน้อยที่สุดมันก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งการหยั่งรู้อนาคตในทุกวันนี้ยังไม่มีศาสตร์ไหนที่ทำได้เท่ากับศาสตร์ในแขนงนี้ คนหลายคนจึงมองว่าไม่เสียหายที่จะลงทุนไปกับมัน เช่น การยอมใช้จ่ายเงินให้กับการมูเตลูเพื่อแลกมาซึ่งความสบายใจในการทำมาหากินหรือการสร้างงาน ซึ่งอาจจะได้ผลตอบแทนกลับมาในราคาที่มากกว่าที่เสียไป

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายมุมมองที่สามารถนำมาชวนคิดต่อได้เกี่ยวกับการมูเตลู เช่น การตั้งคำถามว่าสังคมไทยเน้นไปที่การกลบเกลื่อนสถานการณ์อันเลวร้ายด้วยคำพูดดีๆ (Sugar-coated) มากจนเกินไปหรือไม่ อาทิ การดูดวงเป็นการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงกลไกทางจิตของมนุษย์ที่ทำให้เราหลอกตัวเองและเชื่อไปกับคำพูดของคนๆ หนึ่ง เพราะขณะนั้นไม่สามารถที่จะยอมรับสถานการณ์จริงที่พบเจอในชีวิตจริงได้

ท้ายที่สุดแล้ว ใช่ว่าประเทศที่เจริญแล้วจะไม่มีการพึ่งพาศาสตร์แห่งความเชื่อ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ความเชื่อกลายเป็นกรอบครอบคนในสังคม เจาะความเปราะบางเข้าไปได้มากกว่าความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง

และจะบาลานซ์ระหว่างความเชื่อและความเป็นจริง ให้เหมาะสมได้อย่างไร


บรรณานุกรม

บุญยิ่ง คงอาชาภัทร. (2564). การตลาดของคนอยู่เป็น. วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นจาก https://drive.google.com/file/d/1oXr7Oki5pIEuezjbd7z6U1mlIVDTM0XP/view?fbclid=IwAR2JKV3LDfSzWFafywZU_lE-wZqlaEfqblO-1iW3ijtmHQeLtRXajGQWt6I

ณีรนุช แมลงภู่. (2565). ชีวิต ‘สายมู’ : การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคเศรษฐกิจ ‘ความเร็วสูง’. สืบค้นจาก

https://www.the101.world/mu-teluh-and-hyper-economy/

ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (2565). คำว่า มูเตลู มาจากไหน แปลว่าอะไร?. สืบค้นจากhttps://www.aurora.co.th/news/page_news/152/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B9-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3–.html

ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (2565). เปิดพฤติกรรมคนไทย “สายมู” กว่า 75% เชื่อเรื่องดูดวง กลุ่ม Gen Y มาแรงเป็นอันดับ 1. สืบค้นจาก

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2481670

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Features

สารบัญปัญหาสำนักพิมพ์

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Articles

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร “You were amazing” “เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต ...

Writings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย และ ศิรประภา จารุจิตร จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ คำนำ งานหนังสือ ...

Articles

Look Back: มองย้อนไป…กับหัวใจที่ต้องเดินหน้าต่อ

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘Look Back’ “ถ้าตอนนั้นทำอีกแบบหนึ่ง มันจะเป็นยังไงนะ?” ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save