Writings

อุดมการณ์ของหญิงชรา

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

ช่วงฤดูร้อนในภาคอีสานหลังจากเก็บเกี่ยว เมื่อไม่มีงานหรือผลผลิตทางการเกษตรให้ขายแล้ว ปากท้องที่ยังต้องดำรงอยู่ทำให้คนหนุ่มสาววัยทำงานที่พอมีความสามารถในการใช้แรงงานหลั่งไหลกันเข้ากรุงเทพฯ หรือเขตอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อย่างชลบุรี ไม่ก็สมุทรปราการ

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้พื้นที่ชนบทในภาคอีสานมักมีแค่เด็กและคนชรา กิจกรรมของคนชนบทในช่วงนั้นไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจนัก กลุ่มเด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะไปเล่นน้ำตามบึงแถวบ้าน หรือไม่ก็เข้าป่าจับกิ้งก่า (ภาษาอีสานเรียกว่า คล้องกะปอม) เพื่อนำมาขายหรือประกอบอาหาร

ในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากทำงานเล็กๆ น้อยๆ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ หรือหาฟืนเพื่อนำมาก่อไฟประกอบอาหารในมื้อเย็นแล้ว คงไม่พ้นการจับกลุ่มนั่งล้อมวงตำหมาก เคี้ยวพลู และ “สร้างสรรค์” บทสนทนาที่น่าสนใจ (ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่มักไม่ใช่เรื่องของตัวเองเท่าไหร่นัก)

ผู้เขียนในเวลานั้นยังคงเป็นแค่นักเรียน ม.ปลาย ที่ถึงแม้จะยังไม่เข้าขั้นเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็โตเกินกว่าจะไปวิ่งเล่นริมบึงหรือจับกิ้งก่าแถวบ้าน จึงตัดสินใจเข้าไปนั่งเป็นส่วนหนึ่งของวงสนทนาในกลุ่มผู้มากประสบการณ์ในชีวิต พร้อมทั้งช่วยผู้เป็นย่าตำหมากเพื่อเพิ่มอรรถรสในการสร้างบทสนทนา

ความน่าสนใจคือวงสนทนานั้นเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2562 จึงทำให้หัวข้อเรื่องการเลือกตั้งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในท้ายที่สุดก็ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นในการพูดคุย

“ไผให้เงิน กูกะเลือกผู้นั่นล่ะ” (ใครให้เงิน ก็เลือกคนนั้นแหละ)

เสียงแหลมเจื้อยแจ้วอันเป็นเอกลักษณ์ของยายใบ (นามสมมติ) กล่าวขึ้นพร้อมกับจุดยืนอันชัดเจนที่แสดงออกมาผ่านแววตาและน้ำเสียง

“เจ้าเลือกรัฐบาลดีๆ แล้วขายข้าวได้แพงๆ กินยาวๆ สิบ่ดีกว่าได้เงินเที่ยละห้าร้อยติ?” (เลือกรัฐบาลดีๆ แล้วขายข้าวได้แพงๆ กินยาวๆ จะไม่ดีกว่าได้เงินครั้งละห้าร้อยหรือ?)

ผู้เขียน ในเวลานั้นกำลังตื่นเต้นกับข้อมูลหรือแนวคิดใหม่ๆ ที่ได้รับมาจากโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกระแสประชาธิปไตยและเสรีนิยม จึงพูดประโยคดังกล่าวออกไปอย่างชัดเจน

“ข่อยว่าอยู่ เจ้าสิเลือกคนย้อนว่าไผให้เงินเจ้าส่ำนั้นติ? เงินห้าร้อยใช้คราวเดียวกะเบิดแล้ว มันสิม้มสี่ปีย้อนบ่?” (เห็นด้วย คุณจะเลือกคนจากแค่ว่าใครให้เงินแค่นั้นหรือ เงินห้าร้อยใช้ทีเดียวก็หมดแล้ว มันคงจะใช้ได้พ้นสี่ปีอยู่หรอก)

แม่ของผู้เขียนไม่ปล่อยให้ลูกสาวของเธอยืนบนจุดยืนเรื่องการเมืองเพียงลำพัง ถึงแม้การแสดงความเห็นของแม่จะดูเหน็บแนมและประชดประชัน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้เขียนก็เห็นด้วยกับแม่เป็นอย่างมาก

วงสนทนา 6-7 คน ตำหมากเคี้ยวพลูต่อไปเรื่อยๆ ต่างคนต่างมีความเห็นเป็นของตัวเอง บ้างก็กล่าวว่าจะเลือกพรรคที่เคยเลือกอยู่แล้ว บ้างก็ว่าจะเลือกเพราะสาธารณูปโภคแถวบ้านอย่างถนน เสาไฟฟ้า หรือสวัสดิการที่ตนและคนในครอบครัวเคยได้รับ บ้างก็บอกว่าจะเลือกพรรคที่เพิ่งก่อตั้งมาใหม่เพราะมีนโยบายน่าสนใจ บ้างก็บอกว่าจะเลือกพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลเพราะได้รับบัตรสวัสดิการ หรืออย่างยายใบที่มีจุดยืนชัดเจนว่าจะเลือกคนที่แจกเงิน

 “จักกูสิได้ไปเลือกนำเขาบ่ดอก สังขารกูกะไปคักแล้ว บักบ้าหัวเข่ากะบ่แล่น ย่างกะสิบ่เคี่ยม” (ฉันก็ไม่รู้ว่าจะได้ไปเลือกไหม ร่างกายก็พังไปเยอะแล้ว ลูกสะบ้าหัวเข่าก็ไม่ทำงาน เดินก็ยังจะไม่ตรง)

ประโยคนั้นถูกกล่าวขึ้นโดยย่าของผู้เขียนในวัย 89 ปี ที่กล่าวอย่างเชื่องช้าตามเรี่ยวแรงของร่างกายที่นับวันยิ่งร่วงโรยลงตามกาลเวลา กระนั้นย่าก็ยังคงอยากมีส่วนร่วมในบทสนทนานี้ รวมถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ย่าของผู้เขียนนับได้ว่าเป็นหญิงแกร่งแห่งหมู่บ้าน ย่าเล่าให้ฟังว่าย่าทำงานหนักหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่จำความได้ ด้วยฐานะที่ค่อนข้างยากจนทำให้ไม่ได้เรียนหนังสืออย่างที่ตั้งเป้าไว้

กระนั้น หญิงชนบทคนนี้ก็ยังคงใส่ใจประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวของเธอ โดยเฉพาะเรื่องราคาผลผลิตการเกษตร และนโยบายต่างๆ ทางการเมือง

 “จักว่ามันแม่นอิหยังดอก จีดีพีน่ะ” (ไม่รู้หรอกว่าจีดีพีมันคืออะไร)

คำพูดเชิงติดตลกของหญิงชรา ที่ถึงแม้จะไม่ทราบว่าตัวอักษรภาษาอังกฤษสามตัวนั้นคืออะไร แต่ยังดีที่หญิงแก่ผู้จบการศึกษาเพียง ป.4 คนนี้ มักจะสังเกตความเป็นอยู่ของเธอและคนในชุมชน ทำให้พอจะเห็นภาพได้ว่าสภาพการเมืองมักจะส่งผลต่อชีวิตและปากท้องของผู้คนด้วย

ผู้เขียนอยากชวนอ่านงานวิจัยเรื่อง “ชุมชนแห่งนั้นชื่อปรารถนา: วัฒนธรรมการเมืองในชีวิตประจำวันกับเครือข่ายความสัมพันธ์ในการพัฒนาท้องถิ่น” ที่จัดทำขึ้นในปี 2555 จักรกริช สังขมณี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ผ่านชื่อสมมติคือ “ชุมชนปรารถนา” ได้อย่างน่าสนใจ

ชุมชนปรารถนาทำให้เราเห็นว่า ภายในหมู่บ้านเล็กๆ ต่างมีความคิดเห็นที่หลากหลายต่อการเมือง ทุกคนมีความคิดเป็นของตนเอง ทำให้ไม่สามารถถูกครอบงำได้เพียงจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เท่านี้ก็คงยืนยันได้ว่าชมรมคนตำหมาก 6-7 คน ต่างก็มีอุดมการณ์เป็นของตนเอง และถึงแม้ยายใบจะกล่าวชัดเจนว่าจะเลือกคนที่ให้เงิน แต่ก็คงจะพอเดาได้ว่าคนอย่างย่า แม่ และตัวผู้เขียนเองจะดำเนินบทสนทนานั้นต่อไปอย่างไรเพื่อเปลี่ยนคติอันแรงกล้าของยายใบ

ในช่วงเช้าของวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นั้นเอง เหล่าคณะกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้านของผู้เขียนคงจะอดหัวเราะและกล่าวอย่างหยอกล้อไม่ได้ กับภาพหญิงชราวัย 89 ปี เดินค้ำไม้เท้าที่ตัดจากกอไผ่หลังบ้าน พร้อมกับลูกสะใภ้ที่คอยพยุงอย่างทุลักทุเลเดินเข้าหน่วยเลือกตั้งเพื่อไปใช้สิทธิ์

คณะกรรมการในหน่วยฯ ต่างหัวเราะลั่นหลังจากได้ทราบว่า ย่าได้กล่าวขอร้อง (กึ่งบังคับ) ลูกสะใภ้ให้พาไปเลือกตั้ง โดยไม่วายใช้รถซาเล้งสนิมเขรอะประจำบ้านบรรทุกร่างกายอันโรยราไปยังหน่วยเลือกตั้ง

ทุกคนที่พบเห็นภาพนั้นคงจะจดจำและยกย่องความพยายามของหญิงชราคนนี้ได้ไปอีกนาน


บรรณานุกรม

จักรกริช สังขมณี. (2555). รายงานวิจัย. ชุมชนแห่งนั้นชื่อปรารถนา: วัฒนธรรมการเมืองในชีวิตประจำวันกับเครือข่ายความสัมพันธ์ในการพัฒนาท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

ศุทธิกานต์ มีจั่น. (2557). การซื้อเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: กรณีศึกษาจังหวัดมหาสารคาม . วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 33 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-สิงหาคม, 105-116.

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
5
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Writings

Lifestyle

เมื่อเราไม่อยู่บ้าน หมาจะคิดถึงเราไหมนะ?

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว เมื่อได้เว้นว่างจากการทำงานและการเรียนอันแสนเหน็ดเหนื่อย หลายคนจึงเลือกจะกลับบ้าน ดังนั้น  หากจะเรียกว่าเป็น ‘วันแห่งการกลับบ้าน’ ก็อาจไม่ผิดนัก  หลายครอบครัวอาจมีสมาชิกอย่างพ่อ แม่ ญาติ หรือใครสักคนที่ทำให้อยากกลับบ้านไปหา ...

Writings

สงกรานต์ทั้งที ไม่มีความสงสัยบ้างไม่ได้หรอ?: เมื่อคำถามจากญาติในช่วงเทศกาลแห่งความสุขสร้างความทุกข์ให้ลูกหลาน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: ประโยคคำถามในบทความชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน และคนรอบตัวของผู้เขียนเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ในสายตาผู้อ่าน ภาพวันสงกรานต์หน้าตาเป็นอย่างไร? เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน คงเห็นภาพการสาดน้ำดับร้อน ภาพความสุข รอยยิ้ม ...

Writings

‘Dark souls III’ จุดสูงสุดของไตรภาคอันยิ่งใหญ่ ผู้จะสถิตอยู่ในดวงใจของผู้เล่นตลอดไป

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง TW : ในบทความชิ้นนี้มีภาพตัวละครศัตรูที่ทำให้รู้สึกขยะแขยงได้ หากผู้อ่านท่านใดรู้สึกไม่สบายใจ สามารถข้ามหัวข้อ “เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ (ไม่ก็ อี๋)” เพื่ออ่านหัวข้อถัดไปได้เลย ตัวละครของผมตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่คล้ายคุก ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากดาบหักๆ หนึ่งเล่ม ...

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

When the party’s over, what do we need to recover? งานธรรมศาสตร์แฟร์ ทิ้งปัญหาอะไรไว้ให้เราบ้าง

เรื่องและภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง “ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ” คำพูดที่มีความหมายว่า แม้จะเจออะไรที่แย่ขนาดไหน แต่หลังจากที่มันผ่านไป ก็จะมีสิ่งดีตามมาเสมอแต่สำหรับงานธรรมศาสตร์แฟร์ (Thammasat Fair) เหมือนว่าจะไม่ใช่แบบนั้น งานธรรมศาสตร์แฟร์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save