LifestyleWritings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี

ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร

Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น แต่เจาะลึกไปถึงประเด็นทางสังคมในหลายแง่มุม เรื่องราวของเด็กนักเรียนมัวร์เดล ที่มีปัญหาวัยว้าวุ่น ไม่ว่าจะเรื่องเซ็กส์ เรื่องการค้นหาตัวตน เพื่อความรัก ที่ว้าวุ่นกันจนโรงเรียนถูกสั่งปิดเพราะนายทุนใหญ่ ทำให้พวกเขาต้องไปใช้ชีวิตปีการศึกษาสุดท้ายก่อนเข้ามหาวิทยาลัยกันที่วิทยาลัยคาเวนดิช กับสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ และความหลากหลายใหม่ ที่ทำให้ความวุ่นวายกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง

ประจวบเหมาะกับในปัจจุบันที่มีมาถึงซีซันหรือฤดูกาลสุดท้ายอย่าง ซีซันที่ 4 แล้ว ผู้เขียนต้องบอกเลยว่านอกจากเนื้อหาเรื่องเซ็กส์ที่เด็ด เผ็ด มันส์ แล้วนั้น การผูกเรื่องราวยังสอดแทรกประเด็นทางสังคมไว้หลากหลายและนำมาแตกประเด็นได้ดีมากอีกด้วย เช่น ประเด็นความเท่าเทียม ประเด็นคนพิการ ประเด็นเฟมินิสต์ ประเด็น LGBTQIA+ ที่ลึกกว่าที่คุณรู้จัก(อย่างผิวเผิน) 

สิ่งที่ เจ๋ง ! สำหรับซีรีส์เรื่องนี้ไม่ใช่การพยายามจะเล่าประเด็นในสังคมให้ครบและครอบคลุมแต่เพราะพวกเขาแทบไม่ได้แสดงออกถึงการพยายามเลย สำหรับผู้ชมแล้วการถูกป้อนข้อมูลไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความยัดเยียด ทั้งที่ประเด็นที่ถูกนำมาเล่ามันละเอียดอ่อนและหลากหลายมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกขัดใจเลยแม้สักนิด

ด้วยวิธีการหย่อนประเด็นต่าง ๆ ไว้ในแต่ละซีซันแบบค่อย ๆ ทำให้ผู้ชมรู้จักตัวละคร ปัญหา ปมชีวิต และบทบาทหน้าที่ของพวกเขาในสังคมนั้น เริ่มให้เราเรียนรู้ตัวละครไปอย่างช้า ๆ แล้วจึงค่อยมาขยายความในแต่ละตอน หรือ ซีซันนั้น ราวกับว่าผู้กำกับวางแผนมาดีอยู่แล้วว่าในแต่ละซีซันต้องการจะเน้นเล่าประเด็นอะไร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทิ้งตัวละครที่ไม่ได้ประสบปัญหาที่จะเล่าไว้เบื้องหลัง แต่กลับไปสร้างเบื้องหลังตัวละครเตรียมปูให้ผู้ชมสนิทกับเขามากขึ้น เผื่อในอนาคตเราต้องไปพบปัญหาที่พวกเขาจะประสบในอนาคต เป็นอีกวิธีที่ทำให้เราผูกพันกับตัวละครไปโดยไม่รู้ตัว

การออกแบบตัวละคร แน่นอนว่าในซีรีส์วัยรุ่นและโรงเรียนต้องมีตัวละครที่มีหลายบุคลิกรวมตัวกันอยู่ ทำให้สามารถดีไซน์ความแตกต่างของตัวละครได้กว้างมาก แค่ลองจินตนาการว่าคนในโรงเรียนมัธยมที่เราเรียนมามีเท่าไหน ในซีรีส์ก็เหมือนเอาคนเหล่านั้นมากองอยู่ที่เดียวกันเกือบครบทั้งหมดนั่นแหละ ในแง่ของความหลากหลายที่กล่าว หมายถึง ความหลากหลายทางเพศด้วย ในซีซันนี้ไม่เพียงใส่ตัวละคร Trans เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง แตตัวละคร Trans มีบทบาทและความสัมพันธ์เสริมไปกับตัวละครอื่นเช่นกัน พร้อมยังเจาะลึกไปถึงความลำบากในการข้ามเพศอีกด้วย โดย Laurie Nunn ผู้กำกับของเรื่องอย่าง ได้กล่าวไว้ว่า “เสียงรบกวนในสื่อที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มันสำคัญกับเรามากที่จะต้องหาคาแรคเตอร์ที่ทั้งสนุก เข้าถึงแก่นแท้และผู้มีประกบการณ์” นักแสดงที่มารับบท Trans นั้นจึงเป็น Trans จริงที่มีประสบการณ์และเข้าใจถึงอารมณ์ตัวละครได้ดีที่สุด

ไม่มากนัก ที่จะได้เห็น Transmen หรือ Transwomen มารับบทหลักในสื่อ

ถัดมา การผูกเรื่อง ที่ทำให้หลายเส้นเรื่องไม่ทับซ้อนกันจนงงงวย แต่เกี่ยวข้องกันอย่างมีเหตุผล เพราะการวางตัวละครหลักอย่าง โอทิส ให้เป็นที่ปรึกษาของคนทั้งโรงเรียน ทำให้สัมพันธ์ของเขาสามารถเกี่ยวข้องกับใครก็ได้ อีกทั้งยังมีปมปัญหาของตัวเองที่ยังแก้ไขไม่ได้อีกด้วย การเล่าเรื่องแบบให้โฟกัสไปที่แต่ละตัวละครในแต่ละ episode หมายความว่า ทุกคนจะได้โดดเด่นในเรื่องราวของตัวเองในระยะเวลา 40-50 นาที เท่ากับเฉลี่ยต่อหนึ่งตอนนั่นเอง เมื่อเราได้เห็นทั้งภูมิหลังตัวละครและการพัฒนาของแต่ละคนอยู่ตลอด ทำให้เราไม่ได้สับสน หรือรู้สึกว่าเรื่องราวเป็นของใครของมัน แต่กลับมองในแง่ที่ว่า 

ทุกคนต่างก็มีปัญหาชีวิตของตัวเองทั้งนั้น แต่เมื่อมาอยู่กับสังคมจะปฏิบัติตัวอย่างไรเนี่ยสิ

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าทั้งตัวละครที่หลากหลาย และเรื่องราวที่หลายหลากแต่กลับมาผูกกันได้อย่างกลมกล่อม Sex Education จะถูกเขียนมาอย่างมีประเด็นหลักที่อยาก call out ในแต่ละซีซันสอดแทรกไว้เสมอ ถึงจะเล่าเกี่ยวกับปัญหา หรือ ประเด็นทางสังคมอยู่ตลอดทั้งเรื่องก็ตาม แต่สีสัน ความโดดเด่น ออกมาจากแต่ละซีซันก็ถูกปูมาอย่างดีเช่นเดียวกัน

ซีซันละประเด็น

เปิดมาด้วยซีซัน 1 กับการฉากหลัง และ แนะนำตัวละคร ให้เรารู้จักอย่างเป็นทางการก่อน โดยตัวละครหลักในซีซันหลักได้แก่ โอทิส เอริค เมฟ เอมี่ อดัม แจ็กสัน รูบี้ ที่จะเป็นตัวละครที่เราได้เห็นตั้งแต่ซีซันแรกจนถึงซีซันสุดท้าย ดังนั้นการปูเรื่องราวของตัวละครเหล่านี้จะเน้นไปเรื่องการเล่าภูมิหลังตัวละคร และปัญหาที่แต่ละคนพบเจอในโรงเรียนมัวร์เดล โดยปัญหาในที่นี้หมายถึง ปัญหาเรื่องเพศนั่นแหละ

Season 1 – Sex Education Introduction, SEX and the SCHOOL

การเปิดตัวซีรีส์ที่ยิ่งใหญ่และจั่วหัวเรื่องมาว่า Sex Education แน่นอนว่าเรื่องราวของซีซันหนึ่งจะเกี่ยวพันกับเรื่อง เซ็กส์ การร่วมเพศ เป็นหลักอย่างแน่นอน เรื่องราวพาเราไปรู้จักรสนิยมการมีเพศสัมพันธ์หลายรูปแบบ เช่น fetish (เฟติช) คือการมีอารมณ์ทางเพศต่อวัตถุและเรือนร่าง หรือคลั่งไคล้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของอีกฝ่ายเป็นพิเศษ มีอีกคำเรียกง่าย ๆ ว่า ความใคร่เฉพาะจุด นอกจากเฟติช ยังมีเซ็กส์หลายประเภทที่เรื่องราวพาเราไปรู้จัก เช่น แฟนตาซีเซ็กส์, BDSM, เซ็กส์ในที่สาธารณะ และอีกมากมาย ซึ่งพยายามสะท้อนว่าแต่ละรูปแบบเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคน และเป็นเรื่องที่ปัจเจกมาก ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่เราสามารถเรียนรู้และพยายามเรียนรู้กับพวกเขาได้ ถึงจะไม่เข้าใจแต่ก็ไม่ได้ขัดศรัทธา ทุกคนมีวิธีและความชอบในการสำเร็จความใคร่ที่ต่างกันออกไป

เรื่องของซีซันแรกจะพาเราไปรู้จักกับเซ็กส์ประเภทใหม่ ๆ ไปพร้อมกับตัวละครหลักอย่าง โอทิส ที่ได้รับบทบาทให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านเพศ(สัมพันธ์) แต่ตัวเขาดันไม่มีประสบการณ์ มีเพียงแม่ของเขาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้และคอยพร่ำสอน เป็นนักจิตวิทยาที่คอยให้คำปรึกษาเป็นอาชีพ โอทิสก็แค่ครูพักลักจำมาแนะนำให้คนอื่นต่อเท่านั้น โดยมี เมฟ สาวแซ่บสุดฮอตของโรงเรียนที่ใครต่างก็บอกว่าเธอเซียนเรื่องเซ็กส์ รวมถึง เอริค เพื่อนสนิทของเขาเป็นตัวช่วยคอยประสานงานให้ธุรกิจนักให้คำปรึกษาเรื่องเพศ ดำเนินต่อไปในโรงเรียนได้

บทของซีซันนี้ตั้งใจพาให้เราเข้าใจถึงแก่นของซีรีส์ที่ต้องการจะนำเสนอเป็นหลัก การ normalize ให้เรื่องเพศสัมพันธ์ การสำเร็จความใคร่ และความต้องการทางเพศ ไม่ว่าจะของวัยไหนก็ตามคือเรื่องธรรมทั่วไปของมนุษย์ รวมถึงรสนิยมทางเพศของมนุษย์เองก็เช่นกัน เรื่องเพศไม่ใช่แค่คนสองคนที่ ‘ได้กัน’ จากความรัก แต่อาจจะเกิดจาก ‘ความต้องการ’ หรือ ‘การตกลง’ ของทุกฝ่ายก็ได้ นอกจากนี้เรื่อง เซ็กส์ ก็ไม่ได้มีแค่คนสองคน อาจจะมีคนที่สามสี่ห้าเพิ่มเข้ามา (เพิ่มสี่ห้าเข้ามาเพื่อให้คนรู้สึกว่าไม่ได้จบแค่ที่สามดีไหม) ทั้งนี้และทั้งนั้นก็วกกลับไปมาที่เรื่องรสนิยมของคนอยู่ดี 

รวมถึงการไปแตะประเด็น การทำแท้ง ของคนที่ท้องไม่พร้อมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ความเก่งของคนเขียนบทคือพาเราไปทำความเข้าใจคนที่จะตัดสินใจทำแท้งว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น แล้วกว่าจะตัดสินใจได้ต้องทรมานและต้องใช้ความกล้าหาญเพียงไหนในการกระทำครั้งนี้ การตัดสินใจและล้มเลิกกลับไปกลับมา มันไม่ใช่เรื่องง่าย และคนที่ตัดสินใจกระทำเช่นนี้ ไม่ได้มักง่ายอย่างที่สังคมประณามกัน

เป็นการเปิดตัวซีรีส์ที่มีตัวตนชัดเจนที่สุดในพุทธศักราชนั้นเลยก็ว่าได้ ความกล้าทำ และกล้าพูดของตัวคนเขียนบทและผู้กำกับทำให้เสน่ห์ของซีรีส์เรื่องนี้เด้งโดดออกมาจากเรื่องอื่น ที่ไม่ได้เล่าเรื่องเพศ แบบผิวเผิน หรือแบบแคบ ๆ ชายหญิง ชายชาย หญิงหญิง แต่ตลอดจนไปถึงเพศทางเลือกอีกหลายเพศ ไม่ว่าจะเป็น ทรานส์ ไบ หรือแม้แต่คนที่ไม่มีความชื่นชอบในเรื่องเพศก็ตามแต่ (Asexual) ทำให้พื้นที่ในการตะโกนสิ่งที่ผู้เล่าสารอยากจะบอกกับผู้รับสารมันประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้อย่างบรรลุเป้าหมายนั่นเอง

Season 2 – To Dream, To Coming of Age

ประเด็นหลักของซีซันนี้กลับชูเรื่องของการเติบโตของตัวละคร ความใคร่ในกามอารมณ์ยังคงมี แต่ความใคร่รู้ในการเติบโต กล้าหาญกับความคิดตัวเอง และการกล้าตั้งคำถามกับความฝัน รวมถึงการให้คุณค่าความเท่าเทียม ถูกยกมาเล่าในซีซันนี้มากเป็นพิเศษ อรรถรสความสนุกสนานยังคงมีอยู่ แต่เห็นได้ชัดเลยว่าผู้กำกับตั้งใจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ความเท่าเทียมในสังคม เป็นหลัก การพาเราไปรู้จักกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และโฟกัสเรื่องความรักที่มากกว่า ชายหญิง ไปเป็นความรักของเหล่า LGBTQIA+ และการค้นพบตัวเองเพราะความรักที่ได้เรียนรู้มากขึ้น

กล่าวคือ ซีซันนี้คือช่วงเวลาที่ อดัม ตัวละครที่เข้าข่าย ชายแท้ ได้ทำความรู้จักกับรสนิยมทางเพศใหม่ของตัวเอง ว่าเขารู้สึกหวั่นไหวและมีอารมณ์ทางเพศกับ เอริค เกย์หนุ่มเพื่อนซี้ของ โอทิส ได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการยอมรับตัวเอง ซีซันนี้จึงพาเราไปค้นหาตัวตนไปพร้อมกับ อดัม และไปเรียนรู้ความยากลำบากในการก้าวผ่านการยอมรับตัวเองของเขาอีกด้วย

ทำให้เราเห็นการเติบโของตัวละครแบบชัดเจน

นอกจากประเด็นการค้นหาตัวตนแล้ว ยังมีตัวละครหญิงอย่าง เอมี่ ที่ถูกนำมาชูในประเด็น เหยื่อ ของการโดนล่วงละเมิดทางเพศที่ทำให้ตกระกำลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมาก โลกทั้งใบเปลี่ยนไปเมื่อเธอถูกโดนล่วงละเมิดบนรถบัสในระหว่างที่กำลังเดินทางไปข้างนอก ทำให้ชีวิตเธอหลังจากนั้นไม่สามารถขึ้นรถบัสได้ และกางเกงยีนส์ตัวที่เธอใส่ในวันที่โดนกระทำ ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอร้องไห้ นึกถึง และเจ็บปวดกับเหตุการณ์นั้นอยู่เสมอ เธอไม่สามารถอยู่ในที่ที่มีผู้คนเยอะได้ และมีความกลัวต่อสังคมตลอดเวลา แม้แต่แฟนหนุ่มของเธอเอง เธอก็ไม่สามารถให้เขากระทำอะไรต่อเธอได้ เอมี่แอนตี้สังคมไปพักใหญ่ จนในวันที่เธอตัดสินใจจะเผชิญหน้าสิ่งนั้นอีกครั้ง โดยการขึ้นรถบัส และในวินาทีนั้นก็มีเหล่าเพื่อนผู้หญิงของเธอเข้ามาเพื่อเป็นกำลังใจ ทุกคนจับมือกันขึ้นรถบัสไปพร้อมกันกับเธอ 

เป็นหนึ่งในภาพในโลกซีรีส์ที่มีความหมายมากที่สุดเลยก็ว่าได้

ซีนที่ เอมี่ รวบรวมความกล้าเข้าไปแจ้งความตำรวจเรื่องโดนคุกคามทางเพศ แต่ตำรวจก็กลับไม่ได้ให้ความสนใจแถมยังขำใส่ และยังโทษว่าเป็นความผิดของเธออีก เอมี่ที่มีความกล้ามากขึ้นแล้วก็ไม่ได้ละไว้ เธอสวนด่ากลับด้วยความอาจหาญ ทำเอาสะใจไม่น้อย

ซีซันที่ 2 กับรสชาติความเผ็ดร้อนของความแซ่บของเรื่อง เซ็กส์ ๆ ที่กลมกล่อมขึ้น การเล่าปัญหาของเรื่องเซ็กส์ที่ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มเด็กวัยรุ่น แต่พาไปรู้จักพ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กวัยว้าวุ่นเหล่านี้ ปัญหาเรื่องเพศของพวกผู้ใหญ่ที่เด็กเองก็ไม่เข้าใจ ความเบื่อในคู่นอน ความชินชาของรสชาติคู่ชีวิต ความสุขทางความใคร่ที่แก่เกินกว่าจะค้นหา เป็นเรื่องที่เล่าเพิ่มเติมเข้ามาในซีซันนี้เช่นกัน

Season 3 – The Feminist, The Argument

เดินทางมาถึงซีซัน 3 ซึ่งเป็นซีซันที่ผู้เขียนชอบเป็นการส่วนตัวมาก อย่างที่จั่วมาในหัวข้อหลักคือ ประเด็นเฟมินิสต์ แน่นอนว่าซีซันนี้ชูประเด็นเรื่องผู้หญิง และการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมได้แยบยลในทุกจุด การชูเรื่องประจำเดือนออกมาพูดอย่างไม่(จำเป็นต้อง)เคอะเขิน และ อ้อมไปอ้อมมาอีกต่อไป 

การถูกกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่มีอยู่ในทุกยุคทุกวัยและไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตามโดยที่ตัวคุณเองอาจไม่รู้ตัว และประเด็นการโทษเหยื่อยังถูกนำมาพูดถึงแบบสับแหลกละเอียด

การมาของครูเจ้าระเบียบ ครูใหญ่โฮป ที่หัวโบราณไม่น้อย ผู้เข้ามายกเครื่องเปลี่ยนแปลงระบบของโรงเรียนใหม่ทั้งหมด การวางรากฐานและชูเรื่องรักนวลสงวนตัวของผู้หญิง การต้องระวังตัวกันและกันของชายและหญิง พร้อมกับกฎมากมายที่เข้าข่ายเผด็จการ ว่าง่าย ๆ เหมือนครูโฮปนำต้นแบบของสังคมและวัฒนธรรมของประเทศแถวนี้ไปใช้เลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าเด็กมัวร์เดลไม่ยอมก้มหัวให้ใครอยู่แล้ว การลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการจึงเกิดขึ้น พวกนักเรียนเลือกที่จับกลุ่มวางนโยบายร่วมกัน สร้างบทสนทนาให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างครูกับนักเรียน และหาตรงกลางสำหรับปัญหาที่กำลังเกิดและสามารถเกิดได้ในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้ต้องใช้ความกล้าอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่มีใครคอยหนุนหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบรากฐานของโรงเรียน

ความคุ้นเคยของซีซันนี้คือการที่เราสามารถเปรียบเทียบบริบทในซีรีส์กับประสบการณ์ร่วมที่เรามีในสังคมที่อยู่ได้ เป็นภาพคุ้นตากันดีว่าในสังคมไทยก็ยังคงมีกฎที่ฟังยังไงก็ไม่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การสอนเรื่องการปฏิบัติตัวของเด็กผู้หญิงในที่สาธารณะ ซึ่งคนที่ร่างตำราหรือชี้นิ้วสั่งก็หาใช่ผู้หญิงไม่ แต่คือผู้ชายหน้าไหนไม่รู้ที่คอยฝังหัวสมองให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เปรียบกับครูใหญ่โฮปที่โดนค่านิยมดังกล่าวกดทับอยู่ตลอดเวลา จนมันฝังหัวให้เธอทำอย่างนั้นอย่างนี้ พอมีเด็กนักเรียนลุกขึ้นมาต่อต้านก็สร้างความร้อนใจให้เธอจนทนไม่ไหวและยอมพ่ายแพ้ไปในที่สุด

ตัวละครครูใหญ่โฮป ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ โดโรเรส อัมบริดจ์ ปีศาจในชุดชมพูนั่นแหละ

Season 4 – The Challenge (คนพิการ)

เดินทางมาถึงซีซันสุดท้าย หรือ ซีซันไฟนอลของซีรีส์สุดระห่ำ ล้ำอรรถรส หมดจดเรื่องเพศ เก็บทุกเม็ดเรื่องประเด็นทางสังคม จากที่เกริ่นไปในตอนต้นว่าเหล่านักเรียนสุดแสบแห่งมัวร์เดลจำเป็นต้องย้ายไปวิทยาลัยคาเวนดิชเพราะนายทุนใหญ่เข้ามาจัดการปรับพื้นที่ทำให้โรงเรียนมัวร์เดลในความทรงจำตลอดทั้ง 3 ซีซันที่ผ่านมาต้องปิดตัวลง เมื่อพวกเขาย้ายไปในสถานที่ใหม่ก็ทำให้ได้พบกับสังคมใหม่ และความใหม่ในที่นี้คือมิติความหลากหลายที่กว้างขึ้น

จากที่กล่าวไปในตอนต้นว่าซีซันนี้มีการนำ Trans มารับบทเป็น Transmen และ Transwomen จริง ๆ เพื่อความลึกซึ้งของตัวละคร นอกจากการมาเป็นตัวละครใหม่ที่มาเพิ่มเรื่องราวแล้ว บทบาทของพวกเขายังสำคัญไม่น้อย เมื่อพวกเขาคือตัวแทนของโรงเรียน เป็นดั่งดาวเด่นประจำวิทยาลัยคาเวนดิช ลบภาพจำที่คนมักมองว่าคนข้ามเพศต้องเป็นคนกลุ่มน้อยและไม่มีตัวตน เพราะสำหรับการถ่ายทอดของซีรีส์เรื่องนี้คือการนำพวกเขามาเป็นผู้ขับเคลื่อนในวิทยาลัยเลยก็ว่าได้ โดยในแก๊งตัวท็อปมีทั้งหมด 3 คนด้วยกัน ได้แก่ โรแมน – Transman , แอ็บบี้ – Transwoman , ไอช่า – Queer ซึ่งแก๊งดาวสามคนนี้มีบุคลิกและนิสัยที่ไม่เหมือนเด็กมัวร์เดล ทำให้ เอริค ที่กำลังสนุกกับแสงสี และเฉดของความหลากหลาย เอาตัวเข้าไปทำความรู้จักและสนิทสนมด้วยได้ไม่ยาก

ไอช่า คือหนึ่งในสมาชิกกลุ่มตัวท็อปที่มีความพิการทางด้านการได้ยิน ทำให้เธอต้องพยายามอ่านปากเพื่อนยามจะสื่อสารเสมอเพราะเธอไม่ต้องการจะใช้ภาษามือ เธอปฏิเสธการใช้ภาษามือของอังกฤษ (BSL) เมื่อหลายปีก่อนเนื่องจากรู้สึกละอายใจที่ต้องร้องขอให้อีกฝ่ายตรงข้ามตอบกลับ ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจภาษามือ และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความพยายามในการเรียน ทั้งที่ในสังคมที่มีความหลากหลายของผู้คน สิ่งนี้ควรจะรู้ไว้เป็นความรู้พื้นฐานเสียด้วยซ้ำ

นอกจาก ไอช่า แล้วอีกหนึ่งตัวละครที่เข้ามามีบทบาทและสะท้อนเรื่องราวของผู้พิการอีกหนึ่งคนได้แก่ ไอแซค ซึ่งเขาปรากฎตัวให้เราได้รู้จักตั้งแต่ซีซันที่ 3 แล้ว หนุ่มข้างบ้านของ เมฟ ที่เข้ามาทำให้เธอหวั่นไหว เขาพร้อมจะเข้าใจเธอทุกอย่างและคอยอยู่เป็นเพื่อนคอยปลอบโยนอยู่เสมอ ในซีซันที่แล้ว ไอแซค ไม่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกับพวกมัวร์เดล เขาอยู่กับพี่ชายและมีงานอดิเรกคือการวาดรูป ทำให้เขาไม่ค่อยได้พบเจอสังคมเท่าไหร่นััก ในซีซันก่อนหน้าพาเราไปรู้จัก ไอแซค ในแง่มุมของพระรองผู้ยอมเสียสละให้กับความรัก และหนุ่มซื่อที่(ไม่อยาก)ใจร้ายถ้าไม่จำเป็น มาในซีซันนี้เขาก็ยังคงมีบทบาทในเส้นเรื่องเดิมอยู่ แต่ความตั้งใของผู้กำกับในครั้งนี้คือต้องการจะถ่ายทอดภาพของผู้พิการในสังคมที่ใหญ่ขึ้นนั้นมีความลำบาก เพราะผู้คนไม่เคยพยายามจะเข้าใจ และเอาแต่แสดงความสงสาร ทั้งที่พวกเขาก็คือคนทั่วไปเหมือนกับเรา เพียงแต่วิธีการใช้ชีวิตที่ต่างออกไป คำพูดสงสาร ที่บางครั้งออกไปในเชิงดูแคลน คือสิ่งที่พวกเขาไม่เคยอยากได้ยิน แต่ก็ต้องอดทนฟังมาตลอดชีวิต

บทในซีซันนี้แสดงให้เห็นว่าการเป็นผู้พิการไม่ได้ต้องการให้ใครมาเห็นใจ แต่พวกเขาต้องการการอำนวยความสะดวกที่ถูกต้องและมีคุณภาพสำหรับพวกเขาเท่านั้นก็พอแล้ว เช่น มีซีนหนึ่งในซีรีส์ที่ลิฟต์ประจำวิทยาลัยเกิดขัดข้อง ทำให้ ไอแซค ไม่สามารถขึ้นลิฟต์ไปสอบได้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีนักเรียนอีกหลายคนที่ต้องการใช้ลิฟต์ แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้บันไดแทน ในขณะที่ไอแซคไม่สามารถขึ้นบันไดได้ และนั่นคือขีดจำกัดครั้งสุดท้ายของเขา เมื่อเขาเข็นรถเข็นคู่ใจไปโวยครูใหญ่ถึงลิฟต์เฮงซวยตัวนี้ที่มาพังในเวลาที่สำคัญ ซึ่งในความจริงแล้วลิฟต์ตัวนี้มีปัญหาขัดข้องอยู่เสมอ แต่ทางวิทยาลัยไม่ได้เข้ามาให้ความสนใจเพียงพอ เพราะคิดตื้น ๆ ว่า “ไม่มีลิฟต์ ก็ใช้บันไดสิ” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้บันไดได้

อนุมานได้อีกว่า ปากที่บอกว่าให้ความเท่าเทียมและความสนใจ แท้ที่จริงก็ยังคงมีเศษเสี้ยวหนึ่งของเหล่ามนุษย์ที่แสดงออกไปถึงความต้องการแสดงความช่วยเหลือ

แต่หลงลืมไปว่าการช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือการอำนวยความสะดวกให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่ใครต้องคอยมาช่วย

ซีซันนี้จึงเป็นการปิดซีรีส์ลงไปได้อย่างสวยงาม และนำประเด็นที่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่สุดมานำเสนอ ซึ่งทำให้คนมีความเข้าใจในคนพิการมากขึ้นและเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของพวกเขามากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับเขาอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายให้พื้นที่อย่างพอดีต่อกันและกัน ไม่ได้ไปแสดงออกถึงการเหยียดหรือการให้ความช่วยเหลือโดยที่เขาไม่ได้ต้องการ มันคือการให้เกียรติกันและกันในฐานะมนุษย์เสียมากกว่า และเราต้องทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

จบลงไปอย่างสวยงามกับ Sex Education ซีรีส์เรื่องเพศที่เป็นมากกว่าการเล่าเรื่องเพศ 4 ซีซัน ที่แตกประเด็นได้หลากหลายและเล่าเรื่องราวได้ครบรส การนำประเด็นในสังคมมาตีแผ่ นำเสนอ และสร้างความเข้าใจให้กับสังคมโดยสะท้อนผ่านสื่อที่เข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่ม ถึงเรื่องราวจะเป็น based on ชีวิตวัยรุ่นที่ว้าวุ่นกับการเติบโตและค้นหาตัวตน ทว่าก็มีการนำเสนอมุมมองของวัยเก๋าที่ก็มีเรื่องหมกมุ่นไม่แพ้กัน ไม่มีใครแก่เกินจะเจ็บปวดกับชีวิตหรอก เพราะชีวิตก็ยังพาเราไปเจ็บได้อีกเรื่อย ๆ ไม่ว่าวัยไหนก็สามารถเรียนรู้อะไรได้อยู่เสมอ

เอกลักษณ์ในการหยิบจับประเด็นมาเล่าและเจาะลึกไปในแต่ละซีซันแต่ไม่ทิ้งเนื้อเรื่องหลักไว้ข้างหลัง คือความชาญฉลาดที่ต้องให้เครดิตพิเศษกับผู้กำกับและคนเขียนบท ที่สามารถปูเรื่องปูราวออกมาให้ทั้งสนุกและมีสาระ สำหรับเราแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ใช่ entertainment (สื่อบันเทิง) แต่เป็น infotainment (สาระบันเทิง) ที่ย่อยง่ายและถูกปรับมาอยู่ในรูปแบบซีรีส์ที่เผ็ดในด้านการนำเสนอ และกลมกล่อมกับเนื้อหาที่ได้

ความเจ๋งทีไม่ได้หาได้ง่ายในซีรีส์ยุคนี้

อ้างอิง

Jack King , How the writers of Sex Education got queer and trans representation right for season 4 , สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2566 , จาก https://www.gq-magazine.co.uk/article/sex-education-season-4-trans-representation

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

สารภาพบาปนักชอปกระเป๋าแฟบ กับคู่มือไม่ให้ตัวเองต้องกินมาม่าในสิ้นเดือนนี้

เรื่องและภาพประกอบ: จุฑาภัทร ทิวทอง นักช็อปสายบิวตี้อาจเคยสังเกตหลายแบรนด์ที่ออกเครื่องสำอางคอลเลกชันใหม่กันแทบทุกเดือน พร้อมเหล่าอินฟลูมากมายที่โฆษณากันเกรียวกราวว่า ‘ของมันต้องมี’ พ่วงกับโปรโมชันลดราคาที่ดูเหมือนจะจำกัด แบบที่นานๆ ครั้งจะมาที ทั้งที่ในความเป็นจริงก็วนมาอยู่ทุกเดือน หลายคนก็อาจเป็นเหมือนฉัน ที่ตื่นเต้นทุกคราเมื่อได้เห็น ได้ดู และได้ยินปรากฏการณ์ข้างต้น สุดท้ายก็เผลอใจกดสินค้าลงตระกร้าในแอปสั่งของออนไลน์แทบทุกครั้งไป ...

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Features

หนังสือดี อยาก ‘หลอก’ ต่อ โดย ยมทูตในห้องนอน

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ยมทูต น. ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน. ยมทูต น. ผู้ดำเนินเรื่องจากวรรณกรรมเยาวชน ‘จอมโจรขโมยหนังสือ’ โดยได้รับหน้าที่เป็นยมทูตของ ลีเซล ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save