LifestyleWritings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี

ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร

Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น แต่เจาะลึกไปถึงประเด็นทางสังคมในหลายแง่มุม เรื่องราวของเด็กนักเรียนมัวร์เดล ที่มีปัญหาวัยว้าวุ่น ไม่ว่าจะเรื่องเซ็กส์ เรื่องการค้นหาตัวตน เพื่อความรัก ที่ว้าวุ่นกันจนโรงเรียนถูกสั่งปิดเพราะนายทุนใหญ่ ทำให้พวกเขาต้องไปใช้ชีวิตปีการศึกษาสุดท้ายก่อนเข้ามหาวิทยาลัยกันที่วิทยาลัยคาเวนดิช กับสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ และความหลากหลายใหม่ ที่ทำให้ความวุ่นวายกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง

ประจวบเหมาะกับในปัจจุบันที่มีมาถึงซีซันหรือฤดูกาลสุดท้ายอย่าง ซีซันที่ 4 แล้ว ผู้เขียนต้องบอกเลยว่านอกจากเนื้อหาเรื่องเซ็กส์ที่เด็ด เผ็ด มันส์ แล้วนั้น การผูกเรื่องราวยังสอดแทรกประเด็นทางสังคมไว้หลากหลายและนำมาแตกประเด็นได้ดีมากอีกด้วย เช่น ประเด็นความเท่าเทียม ประเด็นคนพิการ ประเด็นเฟมินิสต์ ประเด็น LGBTQIA+ ที่ลึกกว่าที่คุณรู้จัก(อย่างผิวเผิน) 

สิ่งที่ เจ๋ง ! สำหรับซีรีส์เรื่องนี้ไม่ใช่การพยายามจะเล่าประเด็นในสังคมให้ครบและครอบคลุมแต่เพราะพวกเขาแทบไม่ได้แสดงออกถึงการพยายามเลย สำหรับผู้ชมแล้วการถูกป้อนข้อมูลไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความยัดเยียด ทั้งที่ประเด็นที่ถูกนำมาเล่ามันละเอียดอ่อนและหลากหลายมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกขัดใจเลยแม้สักนิด

ด้วยวิธีการหย่อนประเด็นต่าง ๆ ไว้ในแต่ละซีซันแบบค่อย ๆ ทำให้ผู้ชมรู้จักตัวละคร ปัญหา ปมชีวิต และบทบาทหน้าที่ของพวกเขาในสังคมนั้น เริ่มให้เราเรียนรู้ตัวละครไปอย่างช้า ๆ แล้วจึงค่อยมาขยายความในแต่ละตอน หรือ ซีซันนั้น ราวกับว่าผู้กำกับวางแผนมาดีอยู่แล้วว่าในแต่ละซีซันต้องการจะเน้นเล่าประเด็นอะไร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทิ้งตัวละครที่ไม่ได้ประสบปัญหาที่จะเล่าไว้เบื้องหลัง แต่กลับไปสร้างเบื้องหลังตัวละครเตรียมปูให้ผู้ชมสนิทกับเขามากขึ้น เผื่อในอนาคตเราต้องไปพบปัญหาที่พวกเขาจะประสบในอนาคต เป็นอีกวิธีที่ทำให้เราผูกพันกับตัวละครไปโดยไม่รู้ตัว

การออกแบบตัวละคร แน่นอนว่าในซีรีส์วัยรุ่นและโรงเรียนต้องมีตัวละครที่มีหลายบุคลิกรวมตัวกันอยู่ ทำให้สามารถดีไซน์ความแตกต่างของตัวละครได้กว้างมาก แค่ลองจินตนาการว่าคนในโรงเรียนมัธยมที่เราเรียนมามีเท่าไหน ในซีรีส์ก็เหมือนเอาคนเหล่านั้นมากองอยู่ที่เดียวกันเกือบครบทั้งหมดนั่นแหละ ในแง่ของความหลากหลายที่กล่าว หมายถึง ความหลากหลายทางเพศด้วย ในซีซันนี้ไม่เพียงใส่ตัวละคร Trans เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง แตตัวละคร Trans มีบทบาทและความสัมพันธ์เสริมไปกับตัวละครอื่นเช่นกัน พร้อมยังเจาะลึกไปถึงความลำบากในการข้ามเพศอีกด้วย โดย Laurie Nunn ผู้กำกับของเรื่องอย่าง ได้กล่าวไว้ว่า “เสียงรบกวนในสื่อที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มันสำคัญกับเรามากที่จะต้องหาคาแรคเตอร์ที่ทั้งสนุก เข้าถึงแก่นแท้และผู้มีประกบการณ์” นักแสดงที่มารับบท Trans นั้นจึงเป็น Trans จริงที่มีประสบการณ์และเข้าใจถึงอารมณ์ตัวละครได้ดีที่สุด

ไม่มากนัก ที่จะได้เห็น Transmen หรือ Transwomen มารับบทหลักในสื่อ

ถัดมา การผูกเรื่อง ที่ทำให้หลายเส้นเรื่องไม่ทับซ้อนกันจนงงงวย แต่เกี่ยวข้องกันอย่างมีเหตุผล เพราะการวางตัวละครหลักอย่าง โอทิส ให้เป็นที่ปรึกษาของคนทั้งโรงเรียน ทำให้สัมพันธ์ของเขาสามารถเกี่ยวข้องกับใครก็ได้ อีกทั้งยังมีปมปัญหาของตัวเองที่ยังแก้ไขไม่ได้อีกด้วย การเล่าเรื่องแบบให้โฟกัสไปที่แต่ละตัวละครในแต่ละ episode หมายความว่า ทุกคนจะได้โดดเด่นในเรื่องราวของตัวเองในระยะเวลา 40-50 นาที เท่ากับเฉลี่ยต่อหนึ่งตอนนั่นเอง เมื่อเราได้เห็นทั้งภูมิหลังตัวละครและการพัฒนาของแต่ละคนอยู่ตลอด ทำให้เราไม่ได้สับสน หรือรู้สึกว่าเรื่องราวเป็นของใครของมัน แต่กลับมองในแง่ที่ว่า 

ทุกคนต่างก็มีปัญหาชีวิตของตัวเองทั้งนั้น แต่เมื่อมาอยู่กับสังคมจะปฏิบัติตัวอย่างไรเนี่ยสิ

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าทั้งตัวละครที่หลากหลาย และเรื่องราวที่หลายหลากแต่กลับมาผูกกันได้อย่างกลมกล่อม Sex Education จะถูกเขียนมาอย่างมีประเด็นหลักที่อยาก call out ในแต่ละซีซันสอดแทรกไว้เสมอ ถึงจะเล่าเกี่ยวกับปัญหา หรือ ประเด็นทางสังคมอยู่ตลอดทั้งเรื่องก็ตาม แต่สีสัน ความโดดเด่น ออกมาจากแต่ละซีซันก็ถูกปูมาอย่างดีเช่นเดียวกัน

ซีซันละประเด็น

เปิดมาด้วยซีซัน 1 กับการฉากหลัง และ แนะนำตัวละคร ให้เรารู้จักอย่างเป็นทางการก่อน โดยตัวละครหลักในซีซันหลักได้แก่ โอทิส เอริค เมฟ เอมี่ อดัม แจ็กสัน รูบี้ ที่จะเป็นตัวละครที่เราได้เห็นตั้งแต่ซีซันแรกจนถึงซีซันสุดท้าย ดังนั้นการปูเรื่องราวของตัวละครเหล่านี้จะเน้นไปเรื่องการเล่าภูมิหลังตัวละคร และปัญหาที่แต่ละคนพบเจอในโรงเรียนมัวร์เดล โดยปัญหาในที่นี้หมายถึง ปัญหาเรื่องเพศนั่นแหละ

Season 1 – Sex Education Introduction, SEX and the SCHOOL

การเปิดตัวซีรีส์ที่ยิ่งใหญ่และจั่วหัวเรื่องมาว่า Sex Education แน่นอนว่าเรื่องราวของซีซันหนึ่งจะเกี่ยวพันกับเรื่อง เซ็กส์ การร่วมเพศ เป็นหลักอย่างแน่นอน เรื่องราวพาเราไปรู้จักรสนิยมการมีเพศสัมพันธ์หลายรูปแบบ เช่น fetish (เฟติช) คือการมีอารมณ์ทางเพศต่อวัตถุและเรือนร่าง หรือคลั่งไคล้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของอีกฝ่ายเป็นพิเศษ มีอีกคำเรียกง่าย ๆ ว่า ความใคร่เฉพาะจุด นอกจากเฟติช ยังมีเซ็กส์หลายประเภทที่เรื่องราวพาเราไปรู้จัก เช่น แฟนตาซีเซ็กส์, BDSM, เซ็กส์ในที่สาธารณะ และอีกมากมาย ซึ่งพยายามสะท้อนว่าแต่ละรูปแบบเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคน และเป็นเรื่องที่ปัจเจกมาก ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่เราสามารถเรียนรู้และพยายามเรียนรู้กับพวกเขาได้ ถึงจะไม่เข้าใจแต่ก็ไม่ได้ขัดศรัทธา ทุกคนมีวิธีและความชอบในการสำเร็จความใคร่ที่ต่างกันออกไป

เรื่องของซีซันแรกจะพาเราไปรู้จักกับเซ็กส์ประเภทใหม่ ๆ ไปพร้อมกับตัวละครหลักอย่าง โอทิส ที่ได้รับบทบาทให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านเพศ(สัมพันธ์) แต่ตัวเขาดันไม่มีประสบการณ์ มีเพียงแม่ของเขาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้และคอยพร่ำสอน เป็นนักจิตวิทยาที่คอยให้คำปรึกษาเป็นอาชีพ โอทิสก็แค่ครูพักลักจำมาแนะนำให้คนอื่นต่อเท่านั้น โดยมี เมฟ สาวแซ่บสุดฮอตของโรงเรียนที่ใครต่างก็บอกว่าเธอเซียนเรื่องเซ็กส์ รวมถึง เอริค เพื่อนสนิทของเขาเป็นตัวช่วยคอยประสานงานให้ธุรกิจนักให้คำปรึกษาเรื่องเพศ ดำเนินต่อไปในโรงเรียนได้

บทของซีซันนี้ตั้งใจพาให้เราเข้าใจถึงแก่นของซีรีส์ที่ต้องการจะนำเสนอเป็นหลัก การ normalize ให้เรื่องเพศสัมพันธ์ การสำเร็จความใคร่ และความต้องการทางเพศ ไม่ว่าจะของวัยไหนก็ตามคือเรื่องธรรมทั่วไปของมนุษย์ รวมถึงรสนิยมทางเพศของมนุษย์เองก็เช่นกัน เรื่องเพศไม่ใช่แค่คนสองคนที่ ‘ได้กัน’ จากความรัก แต่อาจจะเกิดจาก ‘ความต้องการ’ หรือ ‘การตกลง’ ของทุกฝ่ายก็ได้ นอกจากนี้เรื่อง เซ็กส์ ก็ไม่ได้มีแค่คนสองคน อาจจะมีคนที่สามสี่ห้าเพิ่มเข้ามา (เพิ่มสี่ห้าเข้ามาเพื่อให้คนรู้สึกว่าไม่ได้จบแค่ที่สามดีไหม) ทั้งนี้และทั้งนั้นก็วกกลับไปมาที่เรื่องรสนิยมของคนอยู่ดี 

รวมถึงการไปแตะประเด็น การทำแท้ง ของคนที่ท้องไม่พร้อมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ความเก่งของคนเขียนบทคือพาเราไปทำความเข้าใจคนที่จะตัดสินใจทำแท้งว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น แล้วกว่าจะตัดสินใจได้ต้องทรมานและต้องใช้ความกล้าหาญเพียงไหนในการกระทำครั้งนี้ การตัดสินใจและล้มเลิกกลับไปกลับมา มันไม่ใช่เรื่องง่าย และคนที่ตัดสินใจกระทำเช่นนี้ ไม่ได้มักง่ายอย่างที่สังคมประณามกัน

เป็นการเปิดตัวซีรีส์ที่มีตัวตนชัดเจนที่สุดในพุทธศักราชนั้นเลยก็ว่าได้ ความกล้าทำ และกล้าพูดของตัวคนเขียนบทและผู้กำกับทำให้เสน่ห์ของซีรีส์เรื่องนี้เด้งโดดออกมาจากเรื่องอื่น ที่ไม่ได้เล่าเรื่องเพศ แบบผิวเผิน หรือแบบแคบ ๆ ชายหญิง ชายชาย หญิงหญิง แต่ตลอดจนไปถึงเพศทางเลือกอีกหลายเพศ ไม่ว่าจะเป็น ทรานส์ ไบ หรือแม้แต่คนที่ไม่มีความชื่นชอบในเรื่องเพศก็ตามแต่ (Asexual) ทำให้พื้นที่ในการตะโกนสิ่งที่ผู้เล่าสารอยากจะบอกกับผู้รับสารมันประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้อย่างบรรลุเป้าหมายนั่นเอง

Season 2 – To Dream, To Coming of Age

ประเด็นหลักของซีซันนี้กลับชูเรื่องของการเติบโตของตัวละคร ความใคร่ในกามอารมณ์ยังคงมี แต่ความใคร่รู้ในการเติบโต กล้าหาญกับความคิดตัวเอง และการกล้าตั้งคำถามกับความฝัน รวมถึงการให้คุณค่าความเท่าเทียม ถูกยกมาเล่าในซีซันนี้มากเป็นพิเศษ อรรถรสความสนุกสนานยังคงมีอยู่ แต่เห็นได้ชัดเลยว่าผู้กำกับตั้งใจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ความเท่าเทียมในสังคม เป็นหลัก การพาเราไปรู้จักกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และโฟกัสเรื่องความรักที่มากกว่า ชายหญิง ไปเป็นความรักของเหล่า LGBTQIA+ และการค้นพบตัวเองเพราะความรักที่ได้เรียนรู้มากขึ้น

กล่าวคือ ซีซันนี้คือช่วงเวลาที่ อดัม ตัวละครที่เข้าข่าย ชายแท้ ได้ทำความรู้จักกับรสนิยมทางเพศใหม่ของตัวเอง ว่าเขารู้สึกหวั่นไหวและมีอารมณ์ทางเพศกับ เอริค เกย์หนุ่มเพื่อนซี้ของ โอทิส ได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการยอมรับตัวเอง ซีซันนี้จึงพาเราไปค้นหาตัวตนไปพร้อมกับ อดัม และไปเรียนรู้ความยากลำบากในการก้าวผ่านการยอมรับตัวเองของเขาอีกด้วย

ทำให้เราเห็นการเติบโของตัวละครแบบชัดเจน

นอกจากประเด็นการค้นหาตัวตนแล้ว ยังมีตัวละครหญิงอย่าง เอมี่ ที่ถูกนำมาชูในประเด็น เหยื่อ ของการโดนล่วงละเมิดทางเพศที่ทำให้ตกระกำลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมาก โลกทั้งใบเปลี่ยนไปเมื่อเธอถูกโดนล่วงละเมิดบนรถบัสในระหว่างที่กำลังเดินทางไปข้างนอก ทำให้ชีวิตเธอหลังจากนั้นไม่สามารถขึ้นรถบัสได้ และกางเกงยีนส์ตัวที่เธอใส่ในวันที่โดนกระทำ ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอร้องไห้ นึกถึง และเจ็บปวดกับเหตุการณ์นั้นอยู่เสมอ เธอไม่สามารถอยู่ในที่ที่มีผู้คนเยอะได้ และมีความกลัวต่อสังคมตลอดเวลา แม้แต่แฟนหนุ่มของเธอเอง เธอก็ไม่สามารถให้เขากระทำอะไรต่อเธอได้ เอมี่แอนตี้สังคมไปพักใหญ่ จนในวันที่เธอตัดสินใจจะเผชิญหน้าสิ่งนั้นอีกครั้ง โดยการขึ้นรถบัส และในวินาทีนั้นก็มีเหล่าเพื่อนผู้หญิงของเธอเข้ามาเพื่อเป็นกำลังใจ ทุกคนจับมือกันขึ้นรถบัสไปพร้อมกันกับเธอ 

เป็นหนึ่งในภาพในโลกซีรีส์ที่มีความหมายมากที่สุดเลยก็ว่าได้

ซีนที่ เอมี่ รวบรวมความกล้าเข้าไปแจ้งความตำรวจเรื่องโดนคุกคามทางเพศ แต่ตำรวจก็กลับไม่ได้ให้ความสนใจแถมยังขำใส่ และยังโทษว่าเป็นความผิดของเธออีก เอมี่ที่มีความกล้ามากขึ้นแล้วก็ไม่ได้ละไว้ เธอสวนด่ากลับด้วยความอาจหาญ ทำเอาสะใจไม่น้อย

ซีซันที่ 2 กับรสชาติความเผ็ดร้อนของความแซ่บของเรื่อง เซ็กส์ ๆ ที่กลมกล่อมขึ้น การเล่าปัญหาของเรื่องเซ็กส์ที่ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มเด็กวัยรุ่น แต่พาไปรู้จักพ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กวัยว้าวุ่นเหล่านี้ ปัญหาเรื่องเพศของพวกผู้ใหญ่ที่เด็กเองก็ไม่เข้าใจ ความเบื่อในคู่นอน ความชินชาของรสชาติคู่ชีวิต ความสุขทางความใคร่ที่แก่เกินกว่าจะค้นหา เป็นเรื่องที่เล่าเพิ่มเติมเข้ามาในซีซันนี้เช่นกัน

Season 3 – The Feminist, The Argument

เดินทางมาถึงซีซัน 3 ซึ่งเป็นซีซันที่ผู้เขียนชอบเป็นการส่วนตัวมาก อย่างที่จั่วมาในหัวข้อหลักคือ ประเด็นเฟมินิสต์ แน่นอนว่าซีซันนี้ชูประเด็นเรื่องผู้หญิง และการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมได้แยบยลในทุกจุด การชูเรื่องประจำเดือนออกมาพูดอย่างไม่(จำเป็นต้อง)เคอะเขิน และ อ้อมไปอ้อมมาอีกต่อไป 

การถูกกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่มีอยู่ในทุกยุคทุกวัยและไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตามโดยที่ตัวคุณเองอาจไม่รู้ตัว และประเด็นการโทษเหยื่อยังถูกนำมาพูดถึงแบบสับแหลกละเอียด

การมาของครูเจ้าระเบียบ ครูใหญ่โฮป ที่หัวโบราณไม่น้อย ผู้เข้ามายกเครื่องเปลี่ยนแปลงระบบของโรงเรียนใหม่ทั้งหมด การวางรากฐานและชูเรื่องรักนวลสงวนตัวของผู้หญิง การต้องระวังตัวกันและกันของชายและหญิง พร้อมกับกฎมากมายที่เข้าข่ายเผด็จการ ว่าง่าย ๆ เหมือนครูโฮปนำต้นแบบของสังคมและวัฒนธรรมของประเทศแถวนี้ไปใช้เลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าเด็กมัวร์เดลไม่ยอมก้มหัวให้ใครอยู่แล้ว การลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการจึงเกิดขึ้น พวกนักเรียนเลือกที่จับกลุ่มวางนโยบายร่วมกัน สร้างบทสนทนาให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างครูกับนักเรียน และหาตรงกลางสำหรับปัญหาที่กำลังเกิดและสามารถเกิดได้ในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้ต้องใช้ความกล้าอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่มีใครคอยหนุนหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบรากฐานของโรงเรียน

ความคุ้นเคยของซีซันนี้คือการที่เราสามารถเปรียบเทียบบริบทในซีรีส์กับประสบการณ์ร่วมที่เรามีในสังคมที่อยู่ได้ เป็นภาพคุ้นตากันดีว่าในสังคมไทยก็ยังคงมีกฎที่ฟังยังไงก็ไม่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การสอนเรื่องการปฏิบัติตัวของเด็กผู้หญิงในที่สาธารณะ ซึ่งคนที่ร่างตำราหรือชี้นิ้วสั่งก็หาใช่ผู้หญิงไม่ แต่คือผู้ชายหน้าไหนไม่รู้ที่คอยฝังหัวสมองให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เปรียบกับครูใหญ่โฮปที่โดนค่านิยมดังกล่าวกดทับอยู่ตลอดเวลา จนมันฝังหัวให้เธอทำอย่างนั้นอย่างนี้ พอมีเด็กนักเรียนลุกขึ้นมาต่อต้านก็สร้างความร้อนใจให้เธอจนทนไม่ไหวและยอมพ่ายแพ้ไปในที่สุด

ตัวละครครูใหญ่โฮป ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ โดโรเรส อัมบริดจ์ ปีศาจในชุดชมพูนั่นแหละ

Season 4 – The Challenge (คนพิการ)

เดินทางมาถึงซีซันสุดท้าย หรือ ซีซันไฟนอลของซีรีส์สุดระห่ำ ล้ำอรรถรส หมดจดเรื่องเพศ เก็บทุกเม็ดเรื่องประเด็นทางสังคม จากที่เกริ่นไปในตอนต้นว่าเหล่านักเรียนสุดแสบแห่งมัวร์เดลจำเป็นต้องย้ายไปวิทยาลัยคาเวนดิชเพราะนายทุนใหญ่เข้ามาจัดการปรับพื้นที่ทำให้โรงเรียนมัวร์เดลในความทรงจำตลอดทั้ง 3 ซีซันที่ผ่านมาต้องปิดตัวลง เมื่อพวกเขาย้ายไปในสถานที่ใหม่ก็ทำให้ได้พบกับสังคมใหม่ และความใหม่ในที่นี้คือมิติความหลากหลายที่กว้างขึ้น

จากที่กล่าวไปในตอนต้นว่าซีซันนี้มีการนำ Trans มารับบทเป็น Transmen และ Transwomen จริง ๆ เพื่อความลึกซึ้งของตัวละคร นอกจากการมาเป็นตัวละครใหม่ที่มาเพิ่มเรื่องราวแล้ว บทบาทของพวกเขายังสำคัญไม่น้อย เมื่อพวกเขาคือตัวแทนของโรงเรียน เป็นดั่งดาวเด่นประจำวิทยาลัยคาเวนดิช ลบภาพจำที่คนมักมองว่าคนข้ามเพศต้องเป็นคนกลุ่มน้อยและไม่มีตัวตน เพราะสำหรับการถ่ายทอดของซีรีส์เรื่องนี้คือการนำพวกเขามาเป็นผู้ขับเคลื่อนในวิทยาลัยเลยก็ว่าได้ โดยในแก๊งตัวท็อปมีทั้งหมด 3 คนด้วยกัน ได้แก่ โรแมน – Transman , แอ็บบี้ – Transwoman , ไอช่า – Queer ซึ่งแก๊งดาวสามคนนี้มีบุคลิกและนิสัยที่ไม่เหมือนเด็กมัวร์เดล ทำให้ เอริค ที่กำลังสนุกกับแสงสี และเฉดของความหลากหลาย เอาตัวเข้าไปทำความรู้จักและสนิทสนมด้วยได้ไม่ยาก

ไอช่า คือหนึ่งในสมาชิกกลุ่มตัวท็อปที่มีความพิการทางด้านการได้ยิน ทำให้เธอต้องพยายามอ่านปากเพื่อนยามจะสื่อสารเสมอเพราะเธอไม่ต้องการจะใช้ภาษามือ เธอปฏิเสธการใช้ภาษามือของอังกฤษ (BSL) เมื่อหลายปีก่อนเนื่องจากรู้สึกละอายใจที่ต้องร้องขอให้อีกฝ่ายตรงข้ามตอบกลับ ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจภาษามือ และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความพยายามในการเรียน ทั้งที่ในสังคมที่มีความหลากหลายของผู้คน สิ่งนี้ควรจะรู้ไว้เป็นความรู้พื้นฐานเสียด้วยซ้ำ

นอกจาก ไอช่า แล้วอีกหนึ่งตัวละครที่เข้ามามีบทบาทและสะท้อนเรื่องราวของผู้พิการอีกหนึ่งคนได้แก่ ไอแซค ซึ่งเขาปรากฎตัวให้เราได้รู้จักตั้งแต่ซีซันที่ 3 แล้ว หนุ่มข้างบ้านของ เมฟ ที่เข้ามาทำให้เธอหวั่นไหว เขาพร้อมจะเข้าใจเธอทุกอย่างและคอยอยู่เป็นเพื่อนคอยปลอบโยนอยู่เสมอ ในซีซันที่แล้ว ไอแซค ไม่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกับพวกมัวร์เดล เขาอยู่กับพี่ชายและมีงานอดิเรกคือการวาดรูป ทำให้เขาไม่ค่อยได้พบเจอสังคมเท่าไหร่นััก ในซีซันก่อนหน้าพาเราไปรู้จัก ไอแซค ในแง่มุมของพระรองผู้ยอมเสียสละให้กับความรัก และหนุ่มซื่อที่(ไม่อยาก)ใจร้ายถ้าไม่จำเป็น มาในซีซันนี้เขาก็ยังคงมีบทบาทในเส้นเรื่องเดิมอยู่ แต่ความตั้งใของผู้กำกับในครั้งนี้คือต้องการจะถ่ายทอดภาพของผู้พิการในสังคมที่ใหญ่ขึ้นนั้นมีความลำบาก เพราะผู้คนไม่เคยพยายามจะเข้าใจ และเอาแต่แสดงความสงสาร ทั้งที่พวกเขาก็คือคนทั่วไปเหมือนกับเรา เพียงแต่วิธีการใช้ชีวิตที่ต่างออกไป คำพูดสงสาร ที่บางครั้งออกไปในเชิงดูแคลน คือสิ่งที่พวกเขาไม่เคยอยากได้ยิน แต่ก็ต้องอดทนฟังมาตลอดชีวิต

บทในซีซันนี้แสดงให้เห็นว่าการเป็นผู้พิการไม่ได้ต้องการให้ใครมาเห็นใจ แต่พวกเขาต้องการการอำนวยความสะดวกที่ถูกต้องและมีคุณภาพสำหรับพวกเขาเท่านั้นก็พอแล้ว เช่น มีซีนหนึ่งในซีรีส์ที่ลิฟต์ประจำวิทยาลัยเกิดขัดข้อง ทำให้ ไอแซค ไม่สามารถขึ้นลิฟต์ไปสอบได้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีนักเรียนอีกหลายคนที่ต้องการใช้ลิฟต์ แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้บันไดแทน ในขณะที่ไอแซคไม่สามารถขึ้นบันไดได้ และนั่นคือขีดจำกัดครั้งสุดท้ายของเขา เมื่อเขาเข็นรถเข็นคู่ใจไปโวยครูใหญ่ถึงลิฟต์เฮงซวยตัวนี้ที่มาพังในเวลาที่สำคัญ ซึ่งในความจริงแล้วลิฟต์ตัวนี้มีปัญหาขัดข้องอยู่เสมอ แต่ทางวิทยาลัยไม่ได้เข้ามาให้ความสนใจเพียงพอ เพราะคิดตื้น ๆ ว่า “ไม่มีลิฟต์ ก็ใช้บันไดสิ” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้บันไดได้

อนุมานได้อีกว่า ปากที่บอกว่าให้ความเท่าเทียมและความสนใจ แท้ที่จริงก็ยังคงมีเศษเสี้ยวหนึ่งของเหล่ามนุษย์ที่แสดงออกไปถึงความต้องการแสดงความช่วยเหลือ

แต่หลงลืมไปว่าการช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือการอำนวยความสะดวกให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่ใครต้องคอยมาช่วย

ซีซันนี้จึงเป็นการปิดซีรีส์ลงไปได้อย่างสวยงาม และนำประเด็นที่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่สุดมานำเสนอ ซึ่งทำให้คนมีความเข้าใจในคนพิการมากขึ้นและเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของพวกเขามากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับเขาอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายให้พื้นที่อย่างพอดีต่อกันและกัน ไม่ได้ไปแสดงออกถึงการเหยียดหรือการให้ความช่วยเหลือโดยที่เขาไม่ได้ต้องการ มันคือการให้เกียรติกันและกันในฐานะมนุษย์เสียมากกว่า และเราต้องทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

จบลงไปอย่างสวยงามกับ Sex Education ซีรีส์เรื่องเพศที่เป็นมากกว่าการเล่าเรื่องเพศ 4 ซีซัน ที่แตกประเด็นได้หลากหลายและเล่าเรื่องราวได้ครบรส การนำประเด็นในสังคมมาตีแผ่ นำเสนอ และสร้างความเข้าใจให้กับสังคมโดยสะท้อนผ่านสื่อที่เข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่ม ถึงเรื่องราวจะเป็น based on ชีวิตวัยรุ่นที่ว้าวุ่นกับการเติบโตและค้นหาตัวตน ทว่าก็มีการนำเสนอมุมมองของวัยเก๋าที่ก็มีเรื่องหมกมุ่นไม่แพ้กัน ไม่มีใครแก่เกินจะเจ็บปวดกับชีวิตหรอก เพราะชีวิตก็ยังพาเราไปเจ็บได้อีกเรื่อย ๆ ไม่ว่าวัยไหนก็สามารถเรียนรู้อะไรได้อยู่เสมอ

เอกลักษณ์ในการหยิบจับประเด็นมาเล่าและเจาะลึกไปในแต่ละซีซันแต่ไม่ทิ้งเนื้อเรื่องหลักไว้ข้างหลัง คือความชาญฉลาดที่ต้องให้เครดิตพิเศษกับผู้กำกับและคนเขียนบท ที่สามารถปูเรื่องปูราวออกมาให้ทั้งสนุกและมีสาระ สำหรับเราแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ใช่ entertainment (สื่อบันเทิง) แต่เป็น infotainment (สาระบันเทิง) ที่ย่อยง่ายและถูกปรับมาอยู่ในรูปแบบซีรีส์ที่เผ็ดในด้านการนำเสนอ และกลมกล่อมกับเนื้อหาที่ได้

ความเจ๋งทีไม่ได้หาได้ง่ายในซีรีส์ยุคนี้

อ้างอิง

Jack King , How the writers of Sex Education got queer and trans representation right for season 4 , สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2566 , จาก https://www.gq-magazine.co.uk/article/sex-education-season-4-trans-representation

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Writings

ไขรหัสลับ ‘หน้าตั๋วรถเมล์’ เศษกระดาษบ่งชี้ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เมื่อเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าจะเป็นภาพจำก็คงเป็นระบบ ‘ตั๋ว’ รถเมล์ ทั้งเสียง ‘แก๊บๆ’ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าให้เตรียมเงินจ่ายค่าโดยสารได้แล้ว พร้อมกับตั๋วม้วนยาวที่มีตัวเลขล้อมอยู่เต็มไปหมดและการฉีกตั๋วอย่างฉับไวที่ดูไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไปทำไม ดูเผินๆ จะไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไรของตั๋วนอกจากจะเป็น ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ ...

Writings

‘นักชิมมืออาชีพ’ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกความอร่อย

เรื่องและภาพประกอบ : พนิดา ช่างทอง ผู้เขียนและคนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับอาชีพ ‘นักชิมอาหาร’ หรือ ‘นักวิจารณ์อาหาร’ ในภาพของ Food Critic อาชีพในฝันของผู้ที่ชื่นชอบการกิน แต่สำหรับ ‘นักชิมมืออาชีพ’ หรือ ...

Lifestyle

เมื่อเราไม่อยู่บ้าน หมาจะคิดถึงเราไหมนะ?

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว เมื่อได้เว้นว่างจากการทำงานและการเรียนอันแสนเหน็ดเหนื่อย หลายคนจึงเลือกจะกลับบ้าน ดังนั้น  หากจะเรียกว่าเป็น ‘วันแห่งการกลับบ้าน’ ก็อาจไม่ผิดนัก  หลายครอบครัวอาจมีสมาชิกอย่างพ่อ แม่ ญาติ หรือใครสักคนที่ทำให้อยากกลับบ้านไปหา ...

Writings

สงกรานต์ทั้งที ไม่มีความสงสัยบ้างไม่ได้หรอ?: เมื่อคำถามจากญาติในช่วงเทศกาลแห่งความสุขสร้างความทุกข์ให้ลูกหลาน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: ประโยคคำถามในบทความชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน และคนรอบตัวของผู้เขียนเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ในสายตาผู้อ่าน ภาพวันสงกรานต์หน้าตาเป็นอย่างไร? เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน คงเห็นภาพการสาดน้ำดับร้อน ภาพความสุข รอยยิ้ม ...

Writings

Dear Dorothea ยังมีที่ว่างให้ฉันอยู่ไหม

เขียน กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร บทเปิดจากภาพยนตร์เพื่อน (ไม่) สนิทบอกไว้ว่าทั้งชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน จากการคำนวณด้วยสมการของนักวิทยาศาสตร์ โดยใน 150 คน ...

Writings

ห้ามพลาดกับศึกที่ไม่มีครั้งที่ 2 ใน Haikyuu!!  เดอะมูฟวี่ “ศึกตัดสินแห่งกองขยะ”

เขียนและภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ Haikyuu (ハイキュー!!) หรือ ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลนักเรียนม.ปลายในญี่ปุ่น ผลงานของอาจารย์ฟุรุดาเตะ ฮารุอิจิ ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Weekly Shonen ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save