Art & CultureWritings

เพลงไทยก่อนจะป็อป

เขียนและภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร

คลื่นความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีส่งผลให้ประเทศไทยรับวัฒนธรรมเกาหลีทั้งการกินอาหาร และซีรีส์จากเกาหลีเต็ม ๆ 

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่วัฒนธรรมเกาหลีมีอิทธิพลต่อไทย นั่นคืออุตสาหกรรมเพลง

ในปัจจุบันนอกจากวงดนตรีแบบที่เล่นกันทั่วไปแล้ว วง T-pop วงบอยแบนด์ – เกิร์ลกรุ๊ปไทยมีรูปแบบการร้องและเต้นอ้างอิงจาก K-pop เสียเป็นส่วนใหญ่

วันนี้วารสารเพรสจึงพาคุณผู้อ่านมาสำรวจวงการเพลงไทยแบบพอสังเขป ก่อนคลื่นความป็อปแบบเกาหลีจะเข้าครอบงำตลาดเพลงไทย

พร้อมแล้วอย่าลืมใส่หูฟัง และเปิดเพลย์ลิสต์ที่เราเตรียมไว้ให้เพื่อเพิ่มความ “ฟิน” จะได้ “อิน” แบบสุด ๆ

2500s : ลูกกรุง VS ลูกทุ่ง

พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด

ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ

ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ

พรหมลิขิต – วินัย จุลละบุษปะ (สุนทราภรณ์)

หนึ่งในเพลงไทยอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ที่ไม่ว่าใครก็ต้องร้องได้หลากหลายบทเพลงในความทรงจำของคนไทย ย่อมต้องมีสักครึ่งหนึ่งเป็นบทเพลงของวงดนตรีลูกกรุงยอดนิยมอย่าง “วงสุนทราภรณ์”

วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หรือวงสุนทราภรณ์ เป็นวงดนตรีไทยสากล ได้รับอิทธิพลมาจากแนวเพลงแจ๊ส ก่อตั้งโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน, เวส สุนทรจามร และคณะนักดนตรีวงไทยฟิล์มของบริษัท ภาพยนตร์ไทยฟิล์ม จำกัด ซึ่งปิดกิจการลงในปี 2482

การก่อตั้งวงดนตรีประจวบเหมาะกับการเกิดความวุ่นวายทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ โดยก่อตั้งขึ้นในปี 2482 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 7 ปีเท่านั้น ในปีเดียวกันนี้เอง ตรงกับปีค.ศ. 1939 เป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มประทุขึ้นในทวีปยุโรป อีกทั้งยังอยู่ในสมัยการนำของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนให้ไทยมีความ “ศิวิไลซ์” แบบชาติตะวันตกมากขึ้น มีวัฒนธรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างการเต้นลีลาศ ทำให้วงสุนทราภรณ์มีบทบาทและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากสังคมไทย

การออกแสดงของวงสุนทราภรณ์ สำหรับชายทั้งนักดนตรีและนักร้องจะใส่สูทผูกเนคไทหรือหูกระต่ายอย่างฝรั่ง ทรงผมตัดแต่งอย่างเรียบร้อยไม่ให้ปรกหน้าส่วนผู้หญิงจะสวมชุดกระโปรงอย่างสมัยนิยม สวมรองเท้าคัทชูหรือรองเท้าส้นสูง ทรงผมแบบสมัยนิยม เสริมภาพลักษณ์ทันสมัย

เพลงลูกกรุงแบบฉบับวงดนตรีสุนทราภรณ์ได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง เรื่อยมาจนถึงยุคสงครามเย็น อันเป็นยุคสมัยสำคัญที่สังคมไทยเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ด้วยสปอนเซอร์เจ้าใหญ่อย่างอเมริกา จึงทำให้วัฒนธรรมอเมริกันไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทย ส่งเสริมความเป็นทุนนิยมและบริโภคนิยมให้กับประชาชนคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม

อย่ามัวอาลัย คิดร้อนใจไปเปล่า

สุขกันเถอะเรา – ศรีสุดา รัชตะวรรณ

รักไม่สำคัญที่จูบไล้ลูบเนื้อตัวกันก่อน

เมตตาจงอย่าใจร้อนเผลอก่อนวิวาห์

จูบในใจ – ฉัตรแก้ว พรภัทร

สีสันของเมืองหลวง ความรักอันฉูดฉาดแต่ยังอยู่ในขนบสะท้อนในหลายบทเพลงของสุนทราภรณ์

ถึงแม้ความหวานซึ้งจากบทเพลงสุนทราภรณ์จะประทับจิตประทับใจชาวกรุงขนาดไหน แต่ความนิยมในเพลงไทยสากลแนวใหม่ก็ตีตื้นเป็นที่นิยมไปทุกหัวมุมถนน

บางกอกในยุคต้น 2500 คราคร่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา หนึ่งในประชากรแฝงของบางกอกมีลูกชายลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของครอบครัวคนบ้านนอก ซึ่งได้รับโอกาสการศึกษาชั้นสูง เรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นคนแรก คนเหล่านี้อาศัยอยู่ทุกตรอกซอกซอยของเมืองกรุง มีสำนึกความเป็นคนชนบทเต็มเปี่ยม

โปรดเถิดดวงใจโปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน

อย่าด่วนหลับนอนอย่าด่วนทอดถอนฤทัย

โปรดเถิดดวงใจ – ทูล ทองใจ

เสียงบรรเลงเปียโนของครูมงคล อมาตยกุล ผสานเสียงแอคคอเดียน (หีบเพลงชัก) บรรเลงโดยครูชาญชัย บัวบังศร เป็นเอกลักษณ์ราวคร่ำครวญถึงนวลนางในช่วงต้น พร้อมเนื้อเพลงหวานซึ้งของครูเบญจมินทร์ ส่งผลให้ทูล ทองใจ เจ้าของเสียงละเมียดมั่นคงโด่งดัง กลายเป็นขวัญใจของคนเดินตลาด

ถึงแม้จะได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างกว้างขวางแต่นักร้อง “เพลงตลาด” อย่างทูล ทองใจ หรือนักร้องเพลงตลาดที่ได้รับความนิยมในสมัยเดียวกันอย่างราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ หรือชาย เมืองสิงห์ กลับไม่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการเดียวกันมากนัก อีกทั้งยังมีการต่อต้านอยู่เนือง ๆ เนื่องจากคนเมืองเขามองว่าเพลงที่มีลูกเอื้อนอย่าเพลงไทยเดิมนั้นไม่ใช่ “เพลงผู้ดี” ฟังแบบเพลงของสุเทพ วงศ์กำแหง หรือชรินทร์ นันทนาคร

สุรพล สมบัติเจริญ เจ้าของฉายาราชาเพลงลูกทุ่งไทย ผู้โด่งดัง เขาโด่งดังขนาดไหน ก็ขนาดที่แฟนเพลงเอาพวงมาลัยห้อยคอเขาตั้งแต่เดินขึ้นเวทีจนล้นคอดั่งในภาพ

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊คเพจ Baracudas

ครั้นช่อง 4 บางขุนพรหม นำ “เพลงตลาด” มาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ตั้งชื่อรายการว่า “ลูกทุ่งกรุงไทย” มีวงดนตรีจุฬารัตน์เข้าร่วม ก็ได้รับคำตำหนิจากผู้ชมทั้งเขียนมาทางจดหมายและการโทรศัพท์มาต่อว่าว่า “ช่อง 4 เอาเพลงบ้าๆ บอๆ มาออก”

แต่หลังจากออกอากาศได้ 6 เดือน ประชาชนเริ่มยอมรับ การเล่นเพลงเริ่มนิยมไปตามวงดนตรีต่าง ๆ เริ่มเรียกวงของตัวเองว่า “วงดนตรีลูกทุ่ง” ส่วนนักร้องยอดนิยมก็เรียกตัวเองว่า เป็น “นักร้องเพลงลูกทุ่ง” ได้เต็มปาก

เพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกกรุง ขับเคี่ยวกันอย่างเมามัน ยึดฐานคนฟังทั้งในกรุงเทพฯ และตามชนบทก่อนจะถูกคลื่นลูกใหม่จำพวกวงสตริงคอมโบเบียดขึ้นมายืนเคียงข้าง

2510s : อิทธิฤทธิ์ยุคทหารจีไอ 

ทำไมไม่ไปอยู่อเมริกา
คุณหญิงดอลลาร์กลับมาทำไมเมืองไทย

แหม่มปลาร้า – สายัณห์ สัญญา

หนึ่งในการเล่าเรื่องในเพลงลูกทุ่งที่เป็นที่นิยมในช่วงต้นทศวรรษ 2510 ปรากฏเนื้อหาหลายส่วนที่พูดถึงผลกระทบของสงครามเวียดนาม

อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยช่วงต้นทศวรรษ 2500 นอกจากจะนำคนอเมริกันและวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่หลั่งไหลเข้ามาแล้ว ข้อตกลง R&R (Rest and Recuperation) ที่ไทยต้องจัดหาพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจให้ทหารต่างชาติ ก็ทำให้เกิดธุรกิจเมียเช่า และย่านเพศพาณิชย์อันโด่งดัง “พัฒน์พงศ์”

ภาพถ่ายสาว ๆ นักเต้นอะโกโก้นุ่งเพียงบิกีนีสุดยั่วเย้าและเจ้าของร้านชาวต่างชาติที่บาร์อะโกโก้ในซอยพัฒพงษ์ช่วงปี 2525

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊คเพจ 50+

เพลงแหม่มปลาร้า ของนักร้องลูกทุ่ง พี่เป้า – สายัณห์ สัญญา เจ้าของฉายา “แหบมหาเสน่ห์” และประโยคออดอ้อนแฟนคลับ “รักสายัณห์น้อย ๆ แต่รักนาน ๆ” เป็นอีกหนึ่งบทเพลงสร้างชื่อให้กับพี่เป้า บทเพลง “แซะ” หญิงสาวชาวไทยที่ถูกหนุ่มจีไอทิ้งตอนย้ายฐานทัพกลับอเมริกา สอดคล้องกับเพลงจดหมายรักจากเมียเช่า ของมานี มณีวรรณ บทเพลงคร่ำครวญถึงทหารจีไอที่ทิ้งเธอไปตอนย้ายฐานทัพกลับอเมริกา

ไอเขียนเลตเตอร์ ถึงเธอ เดียร์จอห์น

เขียนในแฟลตที่ยูเคยนอน จังหวัดอุดร ประเทศไทยแลนด์

จดหมายรักจากเมียเช่า – มานี มณีวรรณ

มานี มณีวรรณ เจ้าของเพลงดัง “จดหมายรักจากเมียเช่า” ขึ้นปกหนังสือ ชีวิตเปลือย

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์

หนึ่งในปัญหาที่ฐานทัพอเมริกาทิ้งไว้หลังย้ายกลับไม่เพียงเรื่อง “เด็กหัวแดง” ซึ่งเกิดจากพ่อที่เป็นทหารจีไอ และแม่ที่เป็นเมียเช่า แต่รวมไปถึงความซบเซาของธุรกิจสถานบันเทิงในย่านค้ากามที่ไม่มีใครใช้บริการหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย

ผับบาร์อะโกโก้ ซึ่งนิยมให้สาว ๆ วัยรุ่นนุ่งน้อยห่มน้อมมาเต้นรูดเสาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มชาวต่างชาติช่วงสงครามเวียดนามล้มหายตายจาก แทนที่ด้วย “ดิสโก้เทค” พื้นที่วาดลวดลายการเต้นแนวใหม่สำหรับวัยโจ๋คนเท่เข้ามาแทนที่ ทั้งยังได้รับความนิยมมากกว่าฟลอร์ลีลาศที่มีอยู่เดิม ด้วยเหตุผลว่าการเต้นรำในทำนองดนตรีร็อคและดนตรีดิสโก้มีความเป็นอิสระมากกว่าลีลาศ 

นับตั้งแต่นั้นมาวัฒนธรรมการกินข้าวนอกบ้าน หรือการพบปะสังสรรค์ย่ามค่ำคืนก็กลายเป็นที่นิยมในเมืองไทย โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ

2520s : บันเทิงเพลงไทย

ถ้าฉันมีสิบหน้า อย่างทศกัณฑ์

สิบหน้านั้นฉันจะหัน มายิ้มให้เธอ

เป็นไปไม่ได้ – The Impossible

“เอลวิส เพลสลีย์” นักร้องผู้ทรงอิทธิพลในอเมริกา เจ้าของฉายา “King of Rock n Roll” ไม่ได้มีอิทธิพลแค่ด้านแฟชันที่ทำให้วัยรุ่นในสมัยนั้นสวมใส่กางเกงขาบาน และเสื้อแหวกอก แต่เอลวิสสร้างแรงบันดาลใจให้กับวงดนตรีในตำนานหลายวงไม่ว่าจะเป็น “เดอะ บีเทิลส์” และ “ควีน”

ในประเทศไทย เอลวิสเป็นแรงบันดาลใจให้วงดนตรีสตริงคอมโบหลากหลายวงในยุคเริ่มต้น ประกอบกับในช่วงปี 2512 สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยได้จัดประกวดวงดนตรีสตริงคอมโบขึ้น นั่นจึงเป็นจุดแจ้งเกิดให้กับ “ดิอิม” หรือ “The Impossibles” (ขณะนั้นใช้ชื่อวง จอยท์ รีแอ็กชั่น) เพราะพวกเขาชนะรางวัลชนะเลิศในเวทีนี้ติดต่อกันถึง 3 สมัย และเป็นวงดนตรีไทยวงแรก ๆ ที่ได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตในยุโรป

แผ่นเสียงอัลบั้ม Hot Peper ของ The Impossibls ในปีพ.ศ.2519 ซึ่งเป็นปีเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา

โดยในอัลบั้มนี้แสดงให้เห็นถึงความนิยมในวัฒนธรรมอเมริกันได้ดีทั้งการใส่เสื้อยืดและผ้ายีนส์ ผู้ชายในยุคนี้นิยมไว้ผมยาว ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัยรุ่นอเมริกาที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม กลุ่มวัยรุ่นพวกนี้จะถูกเรียกว่า “ฮิปปี้” ซึ่งย่อมาจาก “ฮิปสเตอร์”

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊คเพจ Vinylfromhome

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้วงดนตรีแบบสตริงคอมโบได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นความนิยมใน “เทปคาสเซ็ต” ซึ่งมีจำหน่ายมาตั้งแต่ช่วงปี 2510 แต่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปี 2520 แทนที่แผ่นเสียง ซึ่งเสื่อมความนิยมลงไปด้วยเหตุผลสองประกอบการ หนึ่งคือเทปคาสเซ็ตมีกระบวนการผลิตซับซ้อนน้อยกว่าแผ่นเสียง ทำให้ผลิตได้ปริมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ขนาดเล็กกว่า พกพาสะดวกเพรากะทัดรัด และสองคือเทปคาสเซ็ตมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าแผ่นเสียง ทำให้ขายในราคาที่ถูกกว่าได้

แอบรักเธออยู่ในใจ เก็บหัวใจไว้ที่เธอ

วันทั้งวันฉันมองเหม่อ คิดถึงเธอทุกเวลา

รักในซีเมเจอร์ – แกรนด์เอ็กซ์

อีกทั้งวัฒนธรรมสังสรรค์ยามค่ำคืนกำลังเฟื่องฟู ก็ทำให้วงสตริงร่วมยุคสมัยเดียวกันได้ออกแสดงตามสถานบันเทิงต่าง ๆ อันเป็นอีกช่องทางหนึ่งในแสดงผลงานนอกจากการเล่นคอนเสิร์ตหรือการได้เปิดเพลงตามรายการวิทยุ เป็นเหตุผลให้วงสตริงคอมโบในยุคนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่วัยรุ่น เพราะเริ่มเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

อื้อฮื้อหล่อจัง อะฮ้าหล่อจริง

คู่ใครนะนิ้งเป็นบ้า นี่แค่มองสบตา

ห่างกันตั้งสี่วา อะฮ้าใจหายว้าบ

อื้อหือ หล่อจัง – พุ่มพวง ดวงจันทร์

ขณะที่วงดนตรีแบบสตริงคอมโบได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คนในวงการเพลงลูกทุ่งก็ไม่พลาดที่จะกระโดดเข้าร่วมกระแสนี้

พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขณะกำลังแสดงเพลง อื้อหือหล่อจัง ในรายการโลกดนตรี ซึ่งเป็นรายการเพลงของสถานีกองทัพบก ททบ.5 ที่ได้รับความนิยม

จากแฟนเพลงเป็นจำนวนมาก

ขอบคุณภาพจากช่องยูทูป โลกดนตรี POP ON STAGE

ช่วงปลายยุค 2520 เพลงอื้อหือหล่อจัง ของราชินีเพลงลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากหลังจากปล่อยออกมา ด้วยทำนองเพลงบรรเลงโดยวงดนตรีสตริงคอมโบ ผสมผสานกับลูกเอื้อน ลูกหยอดไม่ทิ้งลายลูกทุ่ง อีกทั้งเนื้อเพลงยังมีความสมัยใหม่ ก๋ากั่น เปรี้ยวเข็ดฟัน ก็ทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปได้ไม่ยาก

จึงมาเป็นวณิพกพเนจร

เที่ยวเร่ร่อนร้องเพลงแลกเศษเงิน

วณิพก – คาราบาว

ขณะเดียวกัน “เพลงเพื่อชีวิต” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดิ้นรนต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมก็เป็นอีกหนึ่งแนวเพลงที่ปรากฏขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2520 ไปจนถึงช่วง 2530 จากเหตุการณ์ “ป่าแตก” ที่ทำให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ล้มเลิกการจับปืนต่อสู่ และกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำให้แนวเพลงที่พูดถึงคนเล็กคนน้อยนี้กลับมาเป็นที่นิยมในเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่ง และความ “เฟมัส” ของ จรัล มโนเพ็ชร ยังทำให้ดนตรีโฟล์คซอง หรือดนตรีพื้นบ้านที่พูดถึงวัฒนธรรมชนบท ความสัมพันธ์ของคนและธรรมชาติมาอยู่ในความสนใจของคนเมืองได้ 

อัลบั้มโฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ ผลงานเพลงชุดแรกอย่างเป็นทางการของจรัล มโนเพ็ชร

ประกอบด้วยเพลงดังคุ้นหูมากมาย เช่น เพลงอุ๋ยคำ, พี่สาวครับ, ของกิ๋นคนเมือง เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก Shopee ร้าน SiRi.vintage

สาวสาวอ้ายคนจนจน บ่ มีรถยนต์ขี่ควาย น้องเห็นใจอ้าย

ไปขายควายเหียก่อน ต๋อนยอน  ต๊ะตอนย้อน

ต๊ะตอนหย่อน  ต๋อนยอน ต๋อนยอน

ฮานี้บ่าเฮ้ย – จรัล มโพเพ็ชรและสุนทรี เวชานนท์

บ้านข้าอยู่บนดอยเมฆหมอกลอยเต็มฟ้า

อยู่กลางพงพนาอยู่ตามประสาคนดอย

บ้านบนดอย – จรัล มโนเพ็ชร

2530s  : ยุคล้านตลับ แกรมมี่การันตีความปัง 

จะไปในทันใด จะไปยืนเคียงข้างเธอ

ไปอยู่ดูแลเป็นเพื่อนเธอ ให้เธอหมดความกังวลใจ

ด้วยรักและผูกพัน – ธงชัย แมคอินไตย์

แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์” บริษัทเพลงและความบันเทิงที่อยู่คู่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน ก่อตั้งด้วยหัวเรี่ยวหัวแรงอย่าง เต๋อ เรวัต พุทธินันท์ อดีตสมาชิกวงสตริงคอมโบชื่อดัง “The Impossible”  ผู้พลิกโฉมวงการเพลงไทยไปตลอดการ

แกรมมี่ภายใต้การดูแลของเต๋อ เรวัต ดูแลศิลปินจนประสบความสำเร็จถล่มทลาย ตัวอย่างเช่น ในปี 2527 อัลบั้ม “เมดอินไทยแลนด์” ของคาราบาว ถือเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของคาราบาว และเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดของประเทศไทย โดยมียอดขายเทปราว 5 ล้านตลับ/ก๊อปปี้ ซึ่งไม่มีศิลปินทำลายสถิติยอดขายอัลบั้มนี้ได้จนถึงปัจจุบัน หรือในปี 2529 อัลบั้ม “ร็อค เล็ก เล็ก” ของวงไมโคร ก็ฝากผลงานเพลงดัง ฟังคุ้นหูให้กับวงการเพลงไทยไว้มากมาย เช่น เพลงรักปอนปอน หรือเพลงจำฝังใจที่พ่อเปิดขึ้นมาเมื่อไหร่ เราก็ร้องได้ทุกทีรูปภาพประกอบด้วย ผู้ชม, ฝูงชน, กลางแจ้ง, คน

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

พี่เบิร์ด ขณะแสดงเพลงสบายสบายในรายการ โลกดนตรี

มีผู้ชมเข้าร่วมเป็นจำนวนมากจนล้นออกไปนอกรั้วสถานีโทรทัศน์กองทัพบก

ขอบคุณภาพจากยูทูปช่อง TheAkiNN

เพียงเท่านั้นยังไม่พอ ในปีเดียวกันแกรมมี่พายอดขายอัลบั้ม “หาดทราย สายลม สองเรา” ของพี่เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย พุ่งสู่ 5 แสนตลับเป็นคนแรกของแกรมมี่ และอัลบั้มนี้ถูกจัดให้เป็นอัลบั้มศิลปินชายที่ดีที่สุดของปีนั้น

พลิกล็อคกันน่าดู ถล่มทลาย

พลิกล็อคกันมากมาย แบบเทกระเป๋า

พลิกล็อค – คริสติน่า อากีล่าร์

ด้านศิลปินหญิงก็ไม่น้อยหน้า ในปี 2533 แกรมมี่พายอดขายอัลบั้ม “นินจา” ของคริสติน่า อากีล่าร์ เจ้าของฉายา Queen of Dance เมืองไทย ทะยานสู่ล้านตลับภายในเวลาเดือนครึ่ง มียอดขายรวมสูงถึง 2 ล้านตลับ ทำให้คริสติน่า หรือพี่ติ๊นา กลายเป็นศิลปินหญิงคนแรกของไทยที่มียอดขายทะลุล้านตลับ และสร้างสถิติเป็นอัลบั้มเปิดตัวศิลปินที่มียอดขายสูงที่สุดของแกรมมี่อีกด้วย

ภาพปกอัลบั้ม นินจา ของคริสติน่า อากีล่าร์ คริสติน่า อากีล่าร์

ด้วยแฟนชันนำสมัย ต่างหูห่วงไซส์ใหญ่ที่สุด ทำให้เธอกลายเป็นแฟชันไอคอนิคของยุคนั้นไปเลย

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ secondhandsonline

หลังจากนั้นแกรมมี่ก็พายอดขายอัลบั้มศิลปินหญิงในค่ายทะลุล้านตลับเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นโบ สุนิตากับผลงานเพลงชุดแรก อัลบั้ม “Beau” แนวป็อปร็อคหนักแน่น พร้อมเสียงทรงพลัง ส่งให้อัลบั้มแรกของเธอมียอดขายทะลุหนึ่งล้านตลับภายในเวลาเพียง 28 วัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัลบั้มแรกของค่ายที่มียอดจำหน่ายถึงหนึ่งล้านตลับเร็วที่สุด หรือสาวน้อยมหัศจรรย์ อมิตา ทาทา ยัง กับผลงานเพลงชุดแรกอัลบั้ม “อมิตาทาทายัง” มียอดจำหน่ายกว่า 1.3 ล้านชุดภายในเวลาไม่ถึง 5 เดือนหลังออกจำหน่าย ถือได้ว่าทาทาคือศิลปินที่มียอดขายล้านตลับอายุน้อยที่สุดที่เคยมีมา และทำให้เธอออกอัลบั้ม “TATA 1,000,000 COPIS CELEBRATION” เพื่อเป็นการขอบคุณแฟนเพลง ซึ่งอัลบั้มนี้ก็มียอดขายเกิน 1 ล้านชุดอีกเช่นกัน

นิโคร เทริโอคือศิลปินล้านตลับคนสุดท้ายยุคของเทปคาสเซ็ตจะล่มสลายแทนที่ด้วยแผ่นซีดี โดยนิโคร
ออกผลงานเพลงชุดแรกชื่ออัลบั้ม “กะ-โป-โล-คลับ” เพลงป็อบสดใด ทันสมัย มียอดขายราง 1.2 ล้านตลับ ขณะที่อัลบั้ม “บุษบาหน้าเป็น” เป็นอัลบั้มเทปคาสเซ็ตอัลบั้มสุดท้าย มียอดขายกว่า 2 ล้านตลับ ปิดฉากยุคสมัยของเทปคาสเซ็ตไปอย่างสวยงาม

สำหรับแนวเพลงที่ได้รับความนิยมในยุคล้านตลับนี้ แน่นอนว่าหลีกหนีความ “ป็อป” ไปไม่พ้น แต่ในศิลปินบางคนจะมีการผสมเสียงดนตรีสังเคราะห์เข้าไปในเพลง เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ให้กับบทเพลง โดยหนึ่งในศิลปินที่มีความโดดเด่นในการใช้ดนตรีสังเคราะห์มี คริสติน่า อากีล่าร์ รวมอยู่ด้วย

2540s : ยุคค่ายเล็ก เพลงนอกกระแสที่แมสมาก (?)

ในใจไม่เคยมีผู้ใด จนความรักเธอเข้ามา

ทำให้ดวงตาฉันเห็นความสดใส

…ก่อน – โมเดิร์นด็อก

ช่วงเวลากลางทศวรรษ 2530 จนถึงทศวรรษ 2540 การถือกำเนิดของเวทีประกวดดนตรีถือกำเนิดขึ้นหลากหลายเวที เพิ่มความคึกคักให้กับวงการเพลงไทยเป็นอย่างมาก โดยเวทีที่เป็นระดับตำนานนั้นมีอยู่หลัก ๆ 3 เวที คือ Coke Music Award, Hot Wave Music Award, และ KPN Music Award

ปี 2535 โมเดิร์นด็อก ทีมนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการประกวด Coke Music Award ในประเภทวงดนตรี ก่อนจะคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอบครอง และเซ็นสัญญากับ “Bakery Music” ค่ายเพลงทางเลือกเล็ก ๆ ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของค่ายเพลง 3 เจ้าอย่าง แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์, อาร์.เอส. โปรโมชั่น, และคีตา เอนเทอร์เทนเมนท์ ต่อมาในปี 2537 โมเดิร์นด็อกก็ออกผลงานเพลงชุดแรก อัลบั้ม “เสริมสุขภาพ” มีแนวเพลงอัลเทอร์เนทีฟร็อคเป็นแนวหลัก ส่งให้เพลง “…ก่อน” ซึ่งเป็นเพลงในอัลบั้มติดชาร์ตคลื่นวิทยุยาวนานถึง 1 ปีเต็ม เนื่องจากเป็นเพลงที่มีมิติทางดนตรีที่หลากหลาย แตกต่างไปจากเพลงในยุคเดียวกัน

Coke Music Award เป็นบันไดไปสู่โอกาสการเป็นศิลปินให้กับศิลปินในระดับตำนานมากมายไม่ว่าจะเป็น โจ้ – อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ หรือโจ้ วง Pause ศิลปินในค่าย Bakery Music ที่ชนะเลิศในการประกวดประเภทขับร้องชายเดี่ยว หรือ วงสมเกียรติ ที่ได้รับชนะเลิศการประกวดวงดนตรี ในปี 2553 ซึ่งต่อมาเซ็นสัญญากับค่ายสมอลล์รูม

Bakery Music ค่ายเพลงอินดี้ยุคบุกเบิกที่รวมศิลปินแนวอินดี้ที่ไม่มีใครเมือนในสมัยนั้นไว้มากมาย

ทั้งModerndog, Pause, Yokee Playboy, Triumphs Kingdom, หรือJoey Boy ล้วนแต่เคยสังกัดค่ายเพลงนี้มาแล้วทั้งสิ้น

เธอ เธออย่าเพิ่งไปบอกรักใคร

รอฉันได้หรือไม่ วันที่ฉันจะดีพอ

อยากจะขอเวลาหน่อย มันคงไม่นานเกินไป

สักวันจะดีพอ – บอดี้สแลม

“สวัสดีครับพี่ พอดีช่วงนี้ที่โรงเรียนปิดเทอมอยู่ ผมอยากขอเพลงฤดูร้อน Paradox ให้แอนครับ ถ้าแอนฟังอยู่อยากบอกแอนว่า เราจะรอเจอเธอตอนเปิดเทอมนะ”

ในยุคสมัยที่เราต้องโทรไปขอเพลงกับดีเจ เป็นสื่อรักส่งไปถึงคนในดวงใจ เชื่อว่าวัยรุ่นหลายคนในยุคนั้นต้องนึกคลื่น “HOT 91.5 FM” สถานีวิทยุในเครือเอไทม์มีเดีย และแกรมมี่ ซึ่งได้รับความนิยมจากวัยรุ่น นักเรียนนักศึกษาอย่างล้นหลาม

ในปี 2539 HOT 91.5 จัดงาน “Hot Wave Music Award” งานประกวดวงดนตรีระดับมัธยมศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในปีนี้วงดนตรีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือวงละอ่อน จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งต่อมากลายเป็นวงร็อคระดับตำนานอย่าง บอดี้สแลม ฝากผลงานเพลงฮิตไว้มากมาย เช่น งมงาย, ยาพิษ, และคิดฮอด

ในปีเดียวกันนั้นเองวงดนตรีที่ได้รับรางวัลชมเชยคือ วง Dream Project จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งต่อมา “ลุลา” นักร้องนำของวงก็กลายมาเป็นศิลปินหญิงเดี่ยว ผู้ฝากผลงานดังไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตาหน้ารถ, มองได้แต่อย่าชอบ (เพลงประกอบภาพยนตร์ ATM เออรักเออเร่อ), หรือเรื่องที่ขอ เป็นต้น

ไม่ใช่เหงา ไม่ใช่เผลอ

ที่ฉันนั้นรักเธออย่างง่ายดาย

เสียงของหัวใจ – แอน ธิติมา

สำหรับเวที KPN Music Award ถือเป็นเวทีประกวดร้องเพลงที่เก่าแก่ที่สุด โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2526 จนถึงปัจจุบัน โดยเวที KPN ในยุคแรก ๆ มีการแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือระดับประเทศ ใช้ชื่อว่า “Nissan Award” และระดับยุวชนใช้ชื่อว่า “Yamaha Award” ซึ่งในบรรดาผู้เข้าประกวดทั้ง 2 ประเภท มีผู้ประกวดหลายคนที่ได้รับโอกาสต่อยอดเป็นศิลปิน ตัวอย่างเช่น พี่เบิร์ด – ธงชัย แมคอินไตย ได้รับรางวัลนักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากล ในปี 2527, เจินเจิน บุญสูงเนิน เจ้าของเพลง ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ได้รับนักร้องดีเด่นประเภทเพลงไทยสากลร่วมกับพี่เบิร์ด หรือในประเภทยุวชนก็มี ทาทา ยัง ได้รับรางวัลนักร้องยุวชนยอดเยี่ยมประเภทเพลงสากล ปี 2535 , แอน ธิติมา ได้รับรางวัลนักร้องยุวชนดีเด่น ปี 2534 เป็นต้น

ขณะที่คลื่นความฮอตของวงร็อคและงานประกวดวงดนตรีดำเนินไปอย่างเมามัน

หันมาไม่ทันไร ฮิปฮอปแบบวัยรุ่นเมกันก็ตีขึ้นมายืนเทียบเฉยเลย?!!

กากี่นั้งนะ กากากี่นั้งนะพวกนะเรากากี่นั้งนะ กากากี่นั้ง

กากี่นั้งนะ กากากี่นั้งนะพวกนะเรา กากี่นั้งนะ กากากี่นั้ง

สมาคมตาชั้นเดียว(กากี่นั้ง) – โจอี้บอย

คำว่า “แร็ป” ปรากฏขึ้นในสังคมไทยก่อนคำว่า “ฮิปฮอป” ในช่วงปี 2534 กลุ่มผู้ฟังคนไทยเริ่มทำความรู้จักกับการแร็พจากเพลงดัง “ฝากเลี้ยง” ของเจ เจตริน และเพลง “สู้” ของทัช ณ ตะกั่วทุ่ง หรือทัชทันเดอร์

แต่ในช่วง 2535 เกิดวง TKO จากค่ายคีตา เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่สามารถใช้คำว่า “ฮิปฮอป” ได้เป็นครั้งแรกในวงการเพลงไทย โดยเนื้อหาในเพลงของพวกเขาค่อนข้างแปลกใหม่กับสังคมไทยอยู่ไม่น้อย ทั้งการใช้ภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ, การใช้คำสแลงวัยรุ่น, และการใช้คำทะลึ่งตึงตัง!

ถึงแม้จะแปลกใหม่แต่ก็ไม่ดังอยู่ดี !

สำหรับคนที่ทำให้เพลงฮิปฮอป “ป็อป” ในกลุ่มวัยรุ่น ณ ยุคสมัยนั้นคงจะหนีใครไปไม่ได้นอกจาก โจอี้บอย

โจอี้บอยออกผลงานเพลงชุดแรกในปี 2538 กับค่าย Bakery Music ชื่อ “Joeyboy” มีเพลง “เอ-โพด” และ “รักเธอไม่มีหมด” เป็นเพลงในอัลบั้ม ซึ่งทำให้ต่อมาเพลงของเขาก็ติดอันดับต้น ๆ ของชาร์ตเพลงตามคลื่นวิทยุต่าง ๆ และด้วยแฟชันแบบฮิปฮอปที่ชอบใส่กางเกงขากระบอกตัวใหญ่ ใส่แบบหลุดก้น คาดเข็มขัดไนล่อนปล่อยสายยาวลงมา ก็ทำให้เขากลายเป็นแฟชันไอคอนของวัยรุ่นในยุคนั้นไปเลย

(ซ้ายไปขวา) เหล่านักร้อง / เซเลบริตี้ฮอลลิวูดทั้ง David Beckham, Justin Timberlake, Pharrell Williams และ Nigo กับแฟชั่น Baggy Jeans

แฟชันกางเกงยีน(เกือบ)หลุดก้นสุดฮิตในยุค Y2K

โจอี้บอยร่วมงานกับ Bakery Music อยู่ 4-5 อัลบั้ม ก่อนจะย้ายไปรวมกลุ่มกับศิลปินฮิปฮอปกลุ่มอื่น ๆ เช่น Buddha Bless และสิงห์เหนือเสือใต้เป็นต้น โดยใช้ชื่อค่ายว่า ก้านคอคลับ อยู่ใต้สังกัด แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์

งานชุดสองออกมาปีสี่สี่ กระหึ่มเลยครับกับไอ้งานชุดนี้

แรงเกินเหตุ ก็เลยต้องโดนดี บุคคลมีสี เค้านั้นไม่เข้าใจ

Da Jim Rap Thai – ดาจิม

ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษ 2540 กระแสเพลงฮิปฮอปใต้ดินกลับเสียงดังขึ้นมาถึงบนดิน โดยศิลปินที่โดดเด่นในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นดาจิม เพราะเขาถูกตำรวจจับในข้อหาแต่งเพลงหยาบคายเกินไป พ่อแม่ได้ยินลูกหลานฟังเพลงของดาจิมแล้วไม่ค่อยสบายใจ !

แต่คนจะดัง มาห้าม มาจับ มันก็ดึงกลับไม่ทัน

เช้ามีเรื่องราวก็แปดโมงเช้าครับ เมื่อคืนไปเล่นคอนเสิร์ตแล้วตอนนี้เพิ่งกลับ

ความจริงไม่อยากกลับยังอยากอยู่ต่อครับ แต่ที่ต้องกลับเพราะอยู่ไม่ได้จริงๆ

704 – ดาจิม

อัลบั้มถัดมาดาจิมขึ้นมาทำเพลงบนดิน สังกัดค่ายจีนี่ เรคคอร์ด ลดความรุนแรงของเนื้อหาลงแต่คงไว้ซึ่งมาดกวน ๆ ส่งผลให้อัลบั้ม “Da Jim แร็พไทย” และ “Twilight Zone” เป็นอัลบั้มที่ได้รับความนิยมมากในหมู่วัยรุ่น มีเพลง 704 เนื้อหาของคนเจอดีในโรงแรมเก่าเป็นเพลงสุดฮิต

แน่นอนว่าตอนเราประถมก็เคยลองดี เปิดดูเพลงนี้ตอนดึก ๆ เช่นกัน ระทึกขวัญดีจริง ๆ

ขอผมจับขอผม touch (อย่าทำทะลึ่งเบเบ๋)

นอนบนตักพี่สักพัก (อย่าทำทะลึ่งเบเบ๋)

ทะลึ่ง – ไทยเทเนี่ยม

ช่วงปลายของทศวรรษ 2540 วงฮิปฮอปในตำนานและความทรงจำของเราอย่างวง “ไทยเทเนี่ยม” ดีรับความนิยมสูงสุดในหมวดหมู่วงแนวเพลงฮิปฮอปไทย เนื่องจากแนวดนตรีของไทยเทเนี่ยมมีความเป็นสากลมากกว่าวงอื่น และด้วยแฟชันสุดเท่ของสมาชิกวงก็ทำให้ความนิยมในวงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยอัลบั้มที่ได้ชื่อว่าเป็นตำนาน และทำให้ไทยเทเนียมได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขาศิลปินไทยยอดนิยม ในงาน MTV Asia Awards ปี 2006 คืออัลบั้ม “Thailand’s Most Wanted” มีเพลง “โดน” และ “ทะลึ่ง” เป็นเพลงดังในอัลบั้ม

MV ทะลึ่ง ของศิลปินไทยเทเนี่ยม ได้ลูกเกดเมทินี กิ่งโพยม นางแบบสุดฮอตมาเป็นนางเอกเอ็มวี

นับตั้งแต่ปี 2500 ที่ไทยเปิดทางให้อเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพ ไทยรับเอาวัฒนธรรมแบบอเมริกันเข้ามาด้วย ทำให้ชีวิตประจำวันของคนไทยเริ่มมีหน้าตาแบบสากลมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั้งรสนิยมการเสพความบันเทิง ซึ่งสื่ออย่างภาพยนตร์ ก็มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เพลงแนวแจ๊สแพร่หลายในหมู่พ่อค้าชนชั้นกลาง จนเกิดเป็นวงดนตรี
สุนทราภรณ์

แต่แนวเพลงของสุนทราภรณ์ที่พูดถึงแค่ชีวิตคนเมืองก็ไม่สามารถ “จับใจ” คนทั่วไปได้เท่าเพลงตลาดหรือเพลงลูกทุ่ง ซึ่งชนชั้นกลางอาจมองว่าไร้รสนิยม แต่แท้จริงแล้วเพลงตลาดนั้นบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่มีร่วมกันของคนชนชั้นล่างทั้งที่อยู่ในชนบทและที่ทำงานในเมือง จึงทำให้เพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐไทยจากความสนับสนุนของอเมริกาก็ทำให้ชนชั้นกลางขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนมากชนชั้นกลางเหล่านี้ได้รับการศึกษาดี อ่านออกเขียนได้ จึงมีความ “wannabe ฝรั่ง” ทั้งคำพูดคำจา ท่าทาง หรือแม้แต่การแต่งตัว และยังรับเอาวัฒนธรรมความบันเทิงแบบอเมริกัน นำเอาทำนองอย่างเพลงฝรั่งมาผสมผสานกับเนื้อร้องแบบไทยจนเกิดเป็นวงดนตรีสตริงคอมโบ ซึ่งวงดนตรีสตริงนี้เองก็เป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์งานเพลงในยุคหลัง 2535s เป็นต้นมาเช่นกัน

ในยุคหลังปี 2535s คำว่า โลกาภิวัตน์ ถือกำเนิดขึ้น การสื่อสารรวดเร็วง่ายดายยิ่งกว่าเก่า และการมีอินเทอร์เน็ตใช้ก็ทำให้รสนิยมการดำเนินชีวิต การฟังเพลง การดูหนังอิงอยู่กับวงการบันเทิงอเมริกันหรือฮอลิวูดมากขึ้นไปอีก เราจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมจึงเกิดวงดนตรีทางเลือกมากมายในช่วงต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นอัลเทอร์เนทีฟร็อค หรือฮิปฮอป แม้กระทั่งที่ไม่ได้กล่าวในบนความนี้ก็คือเฮวี่เมทัล หรือเกิร์ลกรุ๊ป (สาว สาว สาว หรือ 2002 ราตรี) และบอยแบนด์ (U.H.T หรือ D2B) ก็เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน แฟนเพลงชาวไทยมีโอกาสในการเลือกเสพแนวเพลงที่ตรงกับความต้องการของตัวเองมากขึ้นไปอีก

พลวัตรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมยังหมุนวนต่อไปดั่งในอดีตจนถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับพลวัตรในวงการเพลง

แต่ไม่ว่ามันจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน แต่เพลงยังคงเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำของยุคสมัยไว้เช่นเดิม

ไทยแลนด์ดินแดนมหัศจรรย์

ฝรั่งมังค่าติดใจอยากมาเที่ยวเมืองไทย

ยาบง ยาบ้า บ้านฉันราคาถูก

กัญชง กัญชา ก็มีปลูก

จำอวดเมืองไทยมันไม่เคยเอาไหน

Amazing Thailand – ไททศมิตร

อ้างอิง

Songtopia. (4 สิงหาคม 2566). โลกดนตรี, 7 สีคอนเสิร์ต และ Coke Music Awards 3 เวทีในตำนานของวงการเพลงไทย | Songman. เข้าถึงได้จาก Youtube.com: https://www.youtube.com/watch?v=RHsWVFdCMWw

GMM Grammy. (13 มกราคม 2018). อัลบั้มปิดตำนานล้านตลับ. เข้าถึงได้จาก Facebook.com: https://www.facebook.com/gmmgrammyofficial/photos/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%

Marketing Oops! (28 กรกฎาคม 2562). เปิด Timeline “10 จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงไทยกว่า 45 ปี” วิเคราะห์ผ่านเพลง-ศิลปินดังแต่ละยุค. เข้าถึงได้จาก marketingoops.com: https://www.marketingoops.com/reports/industry-insight/timeline-10-turning-points-thailand-music-industry/

Nattanam Waiyahong. (20 กุมภาพันธ์ 2565). The Impossible: เส้นทางดนตรีของ ต้อย-เศรษฐา ที่กลายเป็นตำนานของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย . เข้าถึงได้จาก Vouge.co.th: https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/the-impossible

The People. (2566, สิงหาคม 25). ‘เบิร์ด ธงไชย’ จากหนุ่มแบงก์-พนักงานต้อนรับ สู่ศิลปินแห่งชาติ เบอร์หนึ่งในใจตลอดกาล. Retrieved from Thepeople.co: https://www.thepeople.co/culture/music/52144

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2 กันยายน 2566). 3 กันยายน 2544 จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตกะทันหัน ฝากโฟล์คซองคำเมืองไว้ในใจ. เข้าถึงได้จาก Silpa-mag.com: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_38124

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (27 ตุลาคม 2566). พลิกพาณิชย์ศิลป์แบบ “เต๋อ เรวัต” มันสมอง-ผู้ร่วมตั้ง “แกรมมี่” ปฏิวัติเพลงไทยยุคใหม่. เข้าถึงได้จาก Silpa-mag.com: https://www.silpa-mag.com/culture/article_32893

คชาชัย วิชัยดิษฐ. (2548). จุดกำเนิดและการแพร่กระจายของวัฒนธรรมดนตรีฮิพฮอพในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เข้าถึงได้จาก https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/67839

เตชะบูรณะ, ส. (ปีที่ 3). การเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของธุรกิจเพลง ไทยสากลในทศวรรษที่ 2520. วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 126. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/thammasat_history/article/view/78428

ไทยรัฐออนไลน์. (18 เมษายน 2560). ล้านตลับ! ย้อนดู 15 อัลบั้มยอดขายสูงสุด นักร้องหญิงแกรมมี่! เข้าถึงได้จาก Thairath.co.th: https://www.thairath.co.th/news/916485

บุญพิทักษ์ เสนีบุรพทิศ. (12 มกราคม 2565). สุนทราภรณ์์ใต้ปีกพญาอินทรี : อัสดงคตอเมริกานุวัตรกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ในยุุคสงครามเย็น. เข้าถึงได้จาก ejournals.swu.ac.th: https://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/view/14968/12158

ปรกเกศ ใจสุวรรณ์. (2565). พุ่มพวงดวงจันทร์กับการเปลี่ยน(ไม่)ผ่านของเพลงลูกทุ่ง(กลางทศวรรษ 2520 -กลางทศวรรษ 2540). วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 102. เข้าถึงได้จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/thammasat_history/article/view/254846/174733

ไมค์ทองคำ. (8 มีนาคม 2020). บทเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” – ทูล ทองใจ (ออกในปี พ.ศ.2500). เข้าถึงได้จาก Facebook.com: https://www.facebook.com/Goldenmictv/photos/a.251612325004868/1479722518860503/?type=3&locale=th_TH

ยุวรี โชคสวนทรัพย์. (2554). กิจการสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2488 – 2545. เข้าถึงได้จาก sure.su.ac.th: https://sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/id/d657e10d-156a-4268-bb0d-ca165230e14f/fulltext.pdf?attempt=2

วิกิพีเดีย. (20 กันยายน 2566). เคพีเอ็น อวอร์ด. เข้าถึงได้จาก wikipedia.org: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%99_%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94

วิกิพีเดีย. (2566, กรกฎาคม 8). ดาจิม. Retrieved from wikipedia.org: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%A1

วิกิพีเดีย. (10 พฤศจิกายน 2566). ธงไชย แมคอินไตย์. เข้าถึงได้จาก wikipedia.org: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%98%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2_%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%8C

วิกิพีเดีย. (12 พฤศจิกายน 2566). นิโคล เทริโอ. เข้าถึงได้จาก wikipedia.org: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A5_%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AD

วิกิพีเดีย. (27 มกราคม 2566). โมเดิร์นด็อก. เข้าถึงได้จาก wikipedia.org: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E

วิกิพีเดีย. (27 มิถุนายน 2566). สมเกียรติ. เข้าถึงได้จาก wikipedia.org: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4

วิกิพีเดีย. (28 มิถุนายน 2566). สุนิตา ลีติกุล. เข้าถึงได้จาก wikipedia.org: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2_%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5

ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/exhibition/aseantimeline/2504-%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90/

สำนักพิมพ์สมมติ. (28 มกราคม 2565). ดนตรีไทยกับบทเพลงต่อต้านอำนาจรัฐ!!! เข้าถึงได้จาก Sm-thaipublishing.com: https://www.sm-thaipublishing.com/content/10938/thai-music-atiphop

อาเนช มานะกุล. (2011). การวิเคราะห์บริบทการออกแบบปกอัลบั้มเพลงไทยสากล ระหว่างปี พ.ศ. 2510-2550. เข้าถึงได้จาก sure.su.ac.th: https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/3326?src=%2Fxmlui%2Fbrowse%3Ftype%3Dsubject%26value%3D%25E0%25B8%259B%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%259A%25E0%25B8%25B1%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25A1%25E0%25B9%2580%25E0%อิทธิเดช พระเพ็ชร. (25 มกราคม 2023). จาก ‘แหม่มปลาร้า’ ถึง ‘จดหมายจากเมียเช่า’: ฟังเพลงลูกทุ่งไทยในยุค ‘อเมริกันครองเมือง’. เข้าถึงได้จาก The101.world: https://www.the101.world/songs-of-the-americanization-in-thailand/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Writings

‘Dark souls III’ จุดสูงสุดของไตรภาคอันยิ่งใหญ่ ผู้จะสถิตอยู่ในดวงใจของผู้เล่นตลอดไป

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง TW : ในบทความชิ้นนี้มีภาพตัวละครศัตรูที่ทำให้รู้สึกขยะแขยงได้ หากผู้อ่านท่านใดรู้สึกไม่สบายใจ สามารถข้ามหัวข้อ “เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ (ไม่ก็ อี๋)” เพื่ออ่านหัวข้อถัดไปได้เลย ตัวละครของผมตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่คล้ายคุก ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากดาบหักๆ หนึ่งเล่ม ...

Writings

ครบรอบ 45 ปี กับการปรากฏตัวของ Dorami ตัวประกอบหลักผู้คงอยู่เพื่อคนอื่น?

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “โดราเอมอนถูกหนูกัดใบหูจนต้องนำหูออก เขาเศร้าใจมากและร้องไห้จนสีตัวของตัวเองเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้า” ส่วนหนึ่งจากที่มาที่ไปของ ‘โดราเอมอน’ เจ้าหุ่นยนต์อ้วนกลมตัวสีฟ้า ผู้ที่ย้อนเวลามาช่วยเหลือ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความขี้เกียจและไม่สนใจการเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีชีวิตที่สดใสในอนาคต แต่คนที่ทำให้โดราเอมอนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

Writings

Nobuo Uematsu นักประพันธ์ปีศาจผู้เป็นเงาเบื้องหลังซีรีส์เกม ‘Final Fantasy’

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ในที่สุด!! บอสก็ตายสักที” ผมวางจอยเครื่องเกม PlayStation ลงบนพื้นก่อนที่จะชูมือขึ้นด้วยความดีใจ ด้วยระบบของเกม ‘Final Fantasy VII’ ที่ทำให้ต้องจดจ่ออยู่กับการคิดและตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ผมเลยรู้สึกว่าการต่อสู้กับบอสตัวนี้ใช้เวลานานและสูญเสียพลังงานไปมากเหลือเกิน ...

Art & Culture

‘หยำฉา’ คนคั่นเวลาแห่งโลก Dragon Ball

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ให้ฉันจัดการเถอะ ฉันจะจัดการทีเดียวให้หมดทั้ง 5 ตัวเลยคอยดู” บทพูดของ ‘หยำฉา’ หนึ่งในตัวละครของ Dragon Ball เอ่ยขึ้นมาก่อนที่จะโดดเข้าสู่สนามรบ และถูกระเบิดจนต้องไปพบยมบาลหลังจากผ่านไปเพียง ...

Writings

ฉันที่ว่าเก่ง ก็ยังเจ๋งไม่เท่าเธอเลย: ว่าด้วยตัวละครรองที่คอยเสริมพลังให้เหล่าตัวละครหลักคนเก่งจากภาพยนตร์แนว Chick Flick

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี  หมายเหตุ : มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนภาพยนตร์ที่นำมาเล่า เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แนว Chick Flick หรือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ผู้หญิ๊งผู้หญิง’ คือมีผู้หญิงรับบทตัวหลักของเรื่อง มูดแอนด์โทนของงานศิลป์และเสื้อผ้าของตัวละครที่ส่วนใหญ่จะเน้นสีชมพู สีฟ้าเป็นหลัก ...

Writings

“ไหนวะเสียงเบส?” ชวนรู้จัก 5 ตำนานมือเบส ผู้คอยสรรค์สร้างความสมบูรณ์แบบให้โลกแห่งดนตรี

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพจำของวงดนตรีโดยเฉพาะวงดนตรีร็อค (Rock) และอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) มักจะต้องประกอบด้วย นักร้อง กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด และเบส  เมื่อเราฟังดนตรี ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save