LifestyleWritings

ปัญหา 107 ปี ของรถไฟไทยและการเปลี่ยนแปลงใหม่ของระบบการจัดการปัญหาของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ

ภาพ : จิรัชญา นุชมี

ปัญหาเกี่ยวกับระบบของรถไฟไทยนั้น สั่งสมมานานพอ ๆ กับอายุ 107 ปี ของสถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีหลักที่ตั้งอยู่ท่ามกลางกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงประเทศไทย  โดยหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่และยากจะแก้ไข คือ การมีผู้ใช้บริการที่ล้นหลามกว่าแสนคนต่อปี จนสร้างความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และความล่าช้า ซึ่งในปีพ.ศ. 2566 นี้ การรถไฟได้ถือโอกาสจัดการปัญหาด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการของรถไฟไทยใหม่ตามยุทธศาสตร์ที่พัฒนาเพื่อใช้ในปีพ.ศ. 2566-2570  โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีนำร่อง

การเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการใหม่เป็นครั้งที่ 3 นับจากการเปิดใช้บริการครั้งแรกในปีพ.ศ. 2547 ของสถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น  มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนา ควบคุม และตอบสนองต่อผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากขึ้นที่ใช้รถไฟไทยในการเดินทางคมนาคม ทั้งในเชิงท่องเที่ยว หรือ เชิงพาณิชย์ เช่นตัวฉันที่มักจะใช้บริการสถานีดังกล่าวเพื่อเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดอยุธยา และในคราวนี้จึงใช้โอกาสการเดินทางดังกล่าว มองดูเหตุการณ์ ทุกความเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในฐานะผู้ใช้บริการอีกคน

ประวัติศาสตร์ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

หากให้ย้อนถึงอดีตของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น เราสามารถแบ่งยุคสมัยของสถานีดังกล่าวได้เป็น 3  ยุค คือ

1.  สถานีชุมทางบางซื่อ เกิดขึ้นและเปิดให้ใช้บริการเป็นทางการในปีพ.ศ. 2441 และต่อมาในปีพ.ศ. 2470 จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสถานีหลักที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เพราะเป็นอีกหนึ่งสถานีที่สามารถเดินทางได้ทั้งสายเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)

ในตอนนั้นสถานีแบ่งออกเป็น สถานีชุมทางบางซื่อ 1 ที่ใช้เดินทางสำหรับขบวนรถสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ 

สถานีชุมทางบางซื่อ 2 ใช้เดินทางสำหรับขบวนรถสายใต้  ซึ่งสถานีชุมทางบางซื่อได้ปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และรวมเป็นสถานีกลางบางซื่อ

2. สถานีกลางบางซื่อ  เป็นอีกหนึ่งสถานีที่ใช้เวลาปรับปรุงโครงสร้างอยู่นานพอที่จะผ่านยุคสมัยของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย รัฐบาลนายสรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เข้ามาปรับแผนโครงสร้างจากเหตุการณ์ยุบสภาก่อนหน้า จนสามารถเปิดใช้บริการได้อีกครั้งในที่สุด

3. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่พ.ศ. 2556-2564  และเปิดให้ใช้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อพ.ศ. 2566  เป็นการพัฒนาสถานีครั้งล่าสุดที่พัฒนาเส้นทางการเดินรถไฟเชื่อมสถานีต่างประเทศทั้งมาเลเซีย ลาว จีน และสิงค์โปร์  แตกต่างจาก 2 ยุคแรกโดยสิ้นเชิง เพราะโครงสร้างและระบบเป็นรูปแบบปิด

จุดบริการซื้อตั๋วสู่พื้นที่จำหน่ายบัตรโดยสารสำหรับรถไฟทางไกล

โครงสร้างรูปแบบตึกและระบบปิดของสถานีทำให้จุดซื้อตั๋วแปลกตาไป  จนฉันต้องมองไปรอบ ๆ ว่าตนเองอยู่ถูกที่หรือไม่

“ ไปสุราษฏ์ครับ” ลุงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคิวก่อนหน้าพูดขึ้นกับพนักงานขายตั๋วหญิง

“ 350 บาทค่ะ”

แม้จะใช้ระดับเสียงเท่ากันในทุกคำพูดก็ตาม แต่ฉันยอมรับว่าการได้ยินราคาตั๋วที่สูงเกิน 100 บาท ตั้งแต่การซื้อครั้งแรกนั้น     น่าตกใจ  คงไม่ใช่แค่ฉัน…ลุงคนดังกล่าวตอบรับพร้อมกับรีบหยิบเงินออกจากกระเป๋า จนเศษเหรียญในนั้นตกลงบนพื้น ก่อนที่จะยื่นเงินแล้วถามว่า

“ คนแก่มีส่วนลดไหมครับ” และได้คำตอบกลับมาว่า

“ ไม่มีค่ะ”

ในขณะที่เสียงจากจุดบริการซื้อตั๋วตู้ข้างๆ ก็ดังขึ้น

“ 460 บาทค่ะ ”

“ เป็นทหารมีส่วนลดไหมครับ”  อีกครั้งที่มีการถามส่วนลดเกิดขึ้น และฉันก็เข้าใจถึงเหตุผลดี

เมื่อฉันซื้อตั๋วโดยสารของตนเองเสร็จ ระหว่างทางเดิน นายทหารที่อยู่ในชุดกลาสีเรือเมื่อครู่ก็เดินไปพร้อมโอดโอยราคาตั๋วกับเพื่อนอีกคนที่อยู่ในชุดเดียวกัน   ดูเหมือนระบบการบริการที่เปลี่ยนใหม่  นอกจากจะสร้างความสะดวกมากยิ่งขึ้นแล้ว ก็แลกมากับค่าใช้บริการที่แพงขึ้นในบางที่หมาย  แต่ก็อาจจะถูกและสะดวกกว่าการใช้คมนาคมอื่น ๆ  ซึ่งหากสงสัยว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อราคาตั๋วรถไฟ สิ่งเหล่านั้น คือ

1. ระยะทาง ความใกล้ และไกลของสถานีส่งผลต่อราคาตั๋ว ถึงอย่างนั้นแล้วรถไฟก็ยังเป็นพาหนะที่ใช้เดินทางได้มากถึง 48 จังหวัด จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมกว่ารถตู้ หรือรถทัวร์

2. ช่วงเวลาในการเดินทาง  เมื่อช่วงเวลาส่งผลต่อราคาตั๋ว รถไฟไทยจึงอำนวยความสะดวกด้วยการมีแอปที่บอกตารางการเดินรถไฟ เพื่ออำนวจความสะดวกให้กับผู้ใช้งานที่สามารถเลือกเวลาการเดินทางและราคาได้

3. ประเภทรถไฟ รถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ  รถเหล่านี้ล้วนมีราคาตั๋วที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อความเร็วในการเดินทาง

4. ความสะดวกสบายในการเดินทาง  ชั้นโดยสารที่ 1-2 ถือว่าสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางระดับมากที่สุดไปจนถึงระดับกลาง เพราะเป็นตู้นอน มีที่นั่งและแอร์ปรับอากาศ แตกต่างสิ้นเชิงกับตู้ที่ 3

โถงพักคอยผู้โดยสาร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

เมื่อซื้อตั๋วเดินทางเรียบร้อย สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการรอคอยเวลาตามที่ปรากฏบนตั๋ว  “ รถไฟเร็ว 109 เดินทาง 14:30  ปลายทางคืออยุธยา ขึ้นรถที่ประตู B ”

สถานีกลางบางซื่อภายนอกก็ดูจะแตกต่างจากสถานีหัวลำโพงจริง ๆ ทั้งดูเย็นกว่า ทันสมัยกว่า และขนาดใหญ่กว่าด้วยพื้นที่ 241,792 ตารางเมตร ไม่รวมชั้นใต้ดินของสถานี   ดูคุ้มค่ากับงบประมาณ 34,142 ล้านบาทจากสายตาผู้ใช้บริการ  และนั่นทำให้ต้องใช้เวลาเดินสักพักก็มาถึงจุดคอย

 มีผู้คนมากมายหลายเชื้อชาตินั่งอยู่ตามที่นั่งพร้อมกับกระเป๋าสัมภาระที่อยู่บนเก้าอี้ข้างกาย ชวนให้นึกถึงสถานีหัวลำโพงดี

จอ LED แสดงตารางเวลาขบวนรถต่าง ๆ รวมไปถึงรถเร็วหมายเลข 109 เด่นหราอยู่ข้างป้ายที่เขียนเอาไว้ว่า “ขอความร่วมมืออย่าตั้งแถวจนกว่าจะมีประกาศ“  ซึ่งอยู่ถัดจากเชือกกั้นสีน้ำเงิน ดูเหมือนผู้ใช้บริการก็ให้ความร่วมมือ  แม้บางคนที่ยังไม่ค่อยคุ้นชินจะยืนอยู่บริเวณใกล้เคียงก็ตาม

เมื่อถึงเวลา พนักงานก็จะรวมตัวและเรียกให้ผู้ใช้บริการเข้าแถว โดยแถว 1-3 ที่เป็นตั๋วระบุที่นั่งจะถูกพนักงานตรวจตั๋วและทำการสแกนคิวอาร์โค้ดก่อน แล้วจึงจะถูกปล่อยตัวขึ้นไปที่ชานชาลาด้านบนเพื่อจับจองที่นั่งที่ซื้อเอาไว้  หลังจากนั้นจึงเป็นคิวของแถวที่ 4 สำหรับตั๋วยืนอย่างฉัน  ที่หากมีที่นั่งว่างเหลืออยู่ก็อาจจะได้นั่ง

“ เราคิดว่าระบบการจัดการของสถานีกลางบางซื่อส่งผลดีนะคะ ทำให้เป็นระเบียบมากขึ้นหรือก็คือแก้ไขปัญหาความวุ่นวายตอนใช้บริการ  อย่างตอนเข้าแถวก่อนขึ้นไปรอบนชานชาลาก็ทำให้ไม่ต้องแย่งกันขึ้น  อาจจะมีงงบ้างถ้าไปใช้บริการครั้งแรกว่าจะต้องเดินไปตรงไหนกันแน่ เพราะพื้นที่สถานีค่อนข้างใหญ่ แต่ก็มีหลายอย่างที่ดีขึ้นค่ะ มีแอปคอยดูเที่ยวรถ รวมไปถึงรถไฟออกตรงเวลามากขึ้นด้วย” เสียงจากนางสาวธันยาภรณ์ อุ่นเรือน ผู้ใช้บริการรถไฟไทยเป็นประจำพูดขึ้น เมื่อเราสอบถามเกี่ยวกับระบบระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป

ขบวนรถไฟ 109 จากกรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่คุ้นตา

แม้ว่าระบบการจัดการจะเปลี่ยนแปลงไป แต่บนขบวนรถไฟนั้นทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม จนฉันคิดว่าคนรักความวินเทจของรถไฟคงโล่งใจ

ในขณะที่ผู้คนเริ่มแออัดและจับจองที่นั่ง หลายคนที่ซื้อตั๋วยืนก็สงสัยว่าตนเองและครอบครัวจะสามารถนั่งที่ว่างไปก่อนได้หรือเปล่าและบางคนก็ตัดสินใจยืนอออยู่ตรงประตูทางเข้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีลมพัดผ่านคลายความร้อน

ความแตกต่างของรถไฟเร็วกับรถไฟธรรมดา คือ มีสถานีที่แวะน้อยกว่าและทำให้ถึงปลายทางได้เร็วขึ้น เช่น จากสถานีบางซื่อถึงอยุธยา จะแวะสถานีใหญ่เพื่อรับและส่งผู้โดยสารแค่ 3-4 สถานีเท่านั้นแทนที่จะเป็นแวะทุกสถานี

แกร็ก!

เสียงพัดลมตัวหนึ่งที่พยายามจะหมุนดับความร้อนดึงความสนใจหลายคนบนขบวน  เพราะเสียงดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวว่าจะมีชิ้นส่วนพัดลมหลุดกระเด็นออกมาแล้วสร้างความบาดเจ็บให้ตัวเองหรือไม่ นั่นยิ่งทำให้คนในขบวนที่ฉันอยู่ไม่อยากเข้าไปยืนใกล้บริเวณนั้น

ระหว่างที่รถไฟเคลื่อนตัวไปก็จะได้ยินเสียงแม่ค้าที่ขึ้นมาขายของ

“ น้ำไหมจ้ะ ตู้เสบียงไม่มีขายนะ“

” ข้าวไหมจ้ะ ๆ ตู้เสบียงไม่มีขายนะ“ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน หลายคนคงคุ้นชินกับคำว่าซื้อตุนเอาไว้ก่อนดีกว่าเพราะสถานีหน้าจะไม่มีขายแล้วมากกว่า

“เอาน้ำไหมหนู สแกนจ่ายได้นะ” ป้าคนหนึ่งที่มือถือถาดชาไทยสีส้มและกาแฟพูด

“ เอาชาไทยค่ะ ”เป็นเเสียงของฉันที่ไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ แน่นอนว่ารสชาติชาไทยแก้วนั้นหวานชื่นใจ จนกะเดาปริมาณนมข้นหวานที่ละลายตัวได้

ทุกครั้งที่สถานีหยุดจอดก็จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นถึงความแตกต่างบางอย่างจากสถานีต้นทางที่ฉันนั่งมา

ผู้คนที่ดูเร่งรีบเบียดกันขึ้นมาบนขบวนรถไฟจากทุกทิศทาง จนนายสถานีที่อยู่ในชุดกากีสีน้ำตาลและพนักงานให้บริการคนอื่น ๆ ต่างพูดว่าคนเยอะมาก ๆ สงสัยเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาว

“ คนเยอะมากวันนี้ เวลาไม่มีก็ไม่มีจริง ๆ ” นายสถานีคนหนึ่งพูด พลางจ้องมองขบวนรถไฟที่มีคนล้นหลาม ส่วนอีกคนเดินไปลดกระจกหน้าต่าง เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทภายในขบวนรถที่ทำจากเหล็กกล้า ทนแรงดึงสูง และเหล็กกล้าไร้สนิม หรืออลูมิเนียม แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะมันติดอยู่

ในตอนนี้ขบวนรถไฟหมายเลข 109 ดูอึดอัดและที่นั่งว่างก็ไม่เหลืออยู่สักที่ เช่นเดียวกับพื้นที่ยืน คงเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวและเป็นรถไฟเร็วปลายทางเชียงใหม่ จังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยและบ้านของคนบนขบวน 

“  เราใช้รถไฟเดินทางบ่อยมาก แต่ขึ้นจากสถานีดอนเมือง ซึ่งเป็นสถานีเล็กกว่า มีอยู่แค่ 2 ราง แต่คนใช้บริการเยอะมากจนล้นและต้องไปรอขึ้นขบวนถัดไป เวลาใช้บริการก็ได้นั่งบ้างหรือยืนไปถึงอยุธยาเลย“ สุกัญญา สุขหาญกล่าว เธอใช้บริการรถไฟไทยอยู่บ่อยครั้งเพื่อเดินทางกลับบ้าน ซึ่งมีที่หมายคือสถานีอยุธยา และมักจะชาชินกับอุปสรรคปัญหาเรื่องจำนวนผู้ใช้

1 ชั่วโมงกว่าบนรถไฟของฉันกับประสบการณ์เฝ้ามองระบบที่เปลี่ยนไปในฐานะหนึ่งในผู้ใช้บริการคราวนี้   ทำให้เห็นว่าระบบใหม่ของรถไฟไทยที่มีอยู่ในสถานีกลางบางซื่อส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการและสร้างความเป็นระเบียบได้มากขึ้น

ซึ่งท่ามกลางพื้นที่สถานีใหญ่ที่สะอาดขึ้น มีความทันสมัย และการให้บริการจากพนักงานที่ดีขึ้นนั้น ตอบสนองผู้ใช้บริการทั้งภายในประเทศ และสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการต่างเชื้อชาติได้พอๆ กับสถานีหัวลำโพง จากการที่ได้ยินภาษาที่หลากหลายดังเข้าหูตลอดระยะเวลา ทำให้เห็นว่าในตอนนี้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งสถานีหลักที่มีความสำคัญต่ออาเซียนแล้วก็ว่าได้

ถึงระบบของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จะพัฒนาแล้วนั้น  ตัวฉันหรือแม้แต่ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ก็ยังสามารถมองเห็นและรับรู้ปัญหาเดิมที่ยังไม่หายไปของรถไฟไทยได้ นั่นคือ ปัญหารถไฟไทยยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้บริการที่ล้นหลามของคนในประเทศได้ในบางช่วงเวลาอย่างช่วงวันหยุดยาว หรือช่วงเทศกาล เป็นต้น  และความเก่าหรือความวินเทจของขบวนรถไฟไทยที่ยังคงอยู่นั้น สร้างความรู้สึกไม่สะดวกกาย หรือแม้แต่ความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารอยู่ดี

แต่อย่างไรก็ตาม สักครั้งหนึ่งในชีวิต ฉันก็ยังอยากแนะนำให้คุณรู้จัก หรือลองใช้รถไฟเป็นพาหนะต่อไปในอนาคต เพราะการเดินทางด้วยรถไฟสามารถสร้างความรู้สึกและความทรงจำที่เป็นคุณค่าให้กับคุณได้โดยไม่รู้ตัว การได้นั่งรถไฟกลับบ้าน หรือ นั่งรถไฟไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดนั้น นอกจากการเฝ้ารอสถานีปลายทางที่คุณคาดหวังแล้ว ระหว่างทางก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายทั้งจากคนอื่น ๆ หรือแม้แต่ตัวคุณเอง

อ้างอิง :  นักสิทธ์ นุ่มวงศ์ (2554), ระบบและส่วนประกอบเบื้องต้นของรถไฟขนส่งมวลชน, สืบค้นเมื่อ 13 ต.ค. 2566 จาก http://www.cuti.chula.ac.th/twwwroot/journals/old/translog6/p3.pdf

Veerasak p (มปป), เช็คราคาตั๋วรถไฟ, สืบค้นเมื่อ 13 ต.ค. 2566 จาก https://www.bolttech.co.th/blog/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%8B%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F

DDproperty editorial team (2566), สถานีกลางบางซื่อหรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีรถไฟใหญ่อันดับ 1ในอาเซียน, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2566 จาก www.ddproperty.com

Jiratchaya Chaichumkun (2020), สำรวจเส้นทางการวิ่งรถไฟไทย วิ่งไปถึงจังหวัดไหนบ้าง,

สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2566 จาก https://thematter.co/quick-bite/railway-thailand/128951

ผู้จัดการออนไลน์ (2566), กรมรางเผยสถิติคนใช้รถไฟ, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2566 จาก https://mgronline.com/business/detail/9660000041925

        Wikiwand (มปป), สถานีกลางบางซื่อ, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 จาก https://www.wikiwand.com/th/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

สารภาพบาปนักชอปกระเป๋าแฟบ กับคู่มือไม่ให้ตัวเองต้องกินมาม่าในสิ้นเดือนนี้

เรื่องและภาพประกอบ: จุฑาภัทร ทิวทอง นักช็อปสายบิวตี้อาจเคยสังเกตหลายแบรนด์ที่ออกเครื่องสำอางคอลเลกชันใหม่กันแทบทุกเดือน พร้อมเหล่าอินฟลูมากมายที่โฆษณากันเกรียวกราวว่า ‘ของมันต้องมี’ พ่วงกับโปรโมชันลดราคาที่ดูเหมือนจะจำกัด แบบที่นานๆ ครั้งจะมาที ทั้งที่ในความเป็นจริงก็วนมาอยู่ทุกเดือน หลายคนก็อาจเป็นเหมือนฉัน ที่ตื่นเต้นทุกคราเมื่อได้เห็น ได้ดู และได้ยินปรากฏการณ์ข้างต้น สุดท้ายก็เผลอใจกดสินค้าลงตระกร้าในแอปสั่งของออนไลน์แทบทุกครั้งไป ...

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Features

หนังสือดี อยาก ‘หลอก’ ต่อ โดย ยมทูตในห้องนอน

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ยมทูต น. ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน. ยมทูต น. ผู้ดำเนินเรื่องจากวรรณกรรมเยาวชน ‘จอมโจรขโมยหนังสือ’ โดยได้รับหน้าที่เป็นยมทูตของ ลีเซล ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save