เรื่องและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร
“FikFap” เว็บไซต์สื่อลามกรูปแบบใหม่ เรียกตัวเองเป็น “The TikTok of Porn”
TikTok แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่แสดงเนื้อหาแบบคลิปสั้น ความยาวไม่เกิน 15 นาที เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2016 มีจุดเด่นตรงที่ใช้ระบบกอริทึมเสิร์ฟเนื้อหาให้กับผู้ใช้งานได้อย่างเจาะจงและตรงใจ แต่กระแสตอบรับในช่วงแรกกลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก กระแสตอบรับในประเทศไทยช่วงแรกมีแรงต้านเยอะ เนื่องจากในช่วงแรกคนมองว่าเนื้อหามีความ “แว้นสก๊อย” ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของหนุ่มสาววัยรุ่น คึกคะนอง บริโภคสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเปิดเผย แสดงตัวตนล่อแหลม ไม่ละอายต่อการกระทำทางเพศที่ไม่เหมาะสม และตอบโต้กับคนในอินเทอร์เน็ตอย่างหยาบคายและไร้เหตุผล บางคนก็ใช้คำแรง ๆ ว่า TikTok เป็นแอปพลิเคชันที่พวก “ตลาดล่าง” (คำล้อเลียน เหยียดชนชั้นต่อวัฒนธรรมแว้นสก๊อย) เล่นกัน
แต่สถานการณ์ของ TikTok ก็กลับมาดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การล็อกดาวน์ในหลายเมืองทั่วโลกทำให้ผู้คนไม่ได้ออกจากบ้านบ่อยนัก ทำให้ความบันเทิงหาได้จากสื่อในมือ และ TikTok ก็ตอบโจทย์ความบันเทิงที่ผู้คนทั่วโลกต้องการ เนื่องจากเป็นคลิปสั้น สนุก อีกทั้งสร้างการมีส่วนร่วมได้มาก
และแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเบาลงแล้ว แต่การเติบโตของ TikTok ก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลจาก We are Social บริษัทดิจิทัลเอเจนซี ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย สื่อ
โฆษณาออนไลน์ทั่วโลก ระบุว่า ในปี 2023 TikTok มียอดผู้ใช้งานในหมวดวิดีโอให้ความบันเทิงและเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานใช้เวลาด้วยมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจาก YouTube
ขณะเดียวกัน TikTok ก็ยังเป็นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่ผู้ใช้งานในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ใช้งานเฉลี่ยยาวนานถึง 23 ชั่วโมง 28 นาที ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 19.7% หรือคิดเป็น 3 ชั่วโมง 51 นาที
อีกทั้งความนิยมของ TikTok ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียหลายเจ้าออกฟีเจอร์คลิปสั้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการรับสารที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน Instagram ที่ออกฟีเจอร์ Instagram Reels ฟีเจอร์สร้างสรรค์คลิปสั้น เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2020 และเปิดให้งานในประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคม 2021 หรือแอปพลิเคชัน YouTube ที่ออกฟีเจอร์ YouTube Shorts ฟีเจอร์สร้างสรรค์คลิปสั้น ความยาวไม่เกิน 1 นาที เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ปี 2020 และเปิดให้งานในประเทศไทยช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2021
“เว็บดูหนังโป๊” ติดท็อปใน 20 เว็บไซต์ที่มีคนเข้าถึงมากที่สุด
การจัดอันดับโดย Similarweb บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์และรวบรวมข้อมูลของอิสราเอล 20 อันดับเว็บไซต์ที่มีคนเข้าถึงมากที่สุด ปี 2023 ในรายงานของ We are Social พบว่า มีเว็บสื่อลามก 4 เว็บไซต์ ติดท็อป 20 อันดับเว็บไซต์ที่มีคนเข้าถึงมากที่สุด คือ
อับดับที่ 10 XVIDEO.COM มีผู้เข้าถึง 3.08 พันล้านคนต่อเดือน
อันดับที่ 12 PORNHUB.COM เจ้าของเดียวกับ XVIDEO มีผู้เข้าถึง 2.69 พันล้านคนต่อเดือน
อันดับที่ 14 XNXX.COM มีผู้เข้าถึง 2.45 พันล้านคนต่อเดือน อันดับที่ 19 VK.COM สื่อโซเชียลมีเดียสัญชาติรัสเซีย ซึ่งมี “ชื่อเสีย” ด้านการดูดคลิปจาก เซ็กส์ครีเอเตอร์ (Sex Creator) ในเว็บต่าง ๆ มาลงโดยที่เจ้าของไม่ยินยอม มีผู้เข้าถึง 1.41 พันล้านคนต่อเดือน
ขณะเดียวกันการจัดอันดับ 20 อันดับเว็บไซต์ที่มีคนเข้าถึงมากที่สุดโดย Semrush บริษัทที่ให้บริการเครื่องมือ SEO (Search Engine Optimization) และบริการข้อมูลเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์อื่น ๆ สัญชาติอเมริกัน พบว่า มีเว็บสื่อลามก 5 เว็บไซต์ ติดท็อป 20 อันดับเว็บไซต์ที่มีคนเข้าถึงมากที่สุด คือ
อันดับที่ 4 PORNHUB.COM มีผู้เข้าถึง 10.2 พันล้านคนต่อเดือน
อันดับที่ 5 XVIDEO.COM มีผู้เข้าถึง 8.77 พันล้านคนต่อเดือน
อันดับที่ 10 XNXX.COM มีผู้เข้าถึง 3.74 พันล้านคนต่อเดือน
อันดับที่ 12 SPANKBANK.COM มีผู้เข้าถึง 3.02 พันล้านคนต่อเดือน
อันดับที่ 15 XHAMSTER.COM มีผู้เข้าถึง 2.62 พันล้านคนต่อเดือน
กำเนิด “TikTok of Porn”
กระแสความนิยมของ TikTok นอกจากจะส่งผลต่อพฤติกรรมการรับสารที่เปลี่ยนไปแล้ว ส่งผลต่อให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ต้องเพิ่มช่องทางการสร้างสรรค์วิดีโอสั้นแล้ว TikTok ยังส่งผลให้เกิดแพลทฟอร์มเผยแพร่ “Pornography (สื่อลามก)” ในรูปแบบที่ต่างออกไปอีกด้วย
“FikFap” เว็บไซต์สื่อลามกที่นำเสนอในรูปแบบวิดีโอแนวตั้ง เหมาะสำหรับการแสดงผลของสมาร์ทโฟน สามารถปรับแต่งการแสดงผลให้ตรงกับความชอบทางเพศของเราได้ ทั้งยังได้แรงบันดาลใจในการออกแบบหน้าเว็บไซต์จาก TikTok ถึงขนาดใช้คำเคลมแรงว่า “The TikTok of Porn”
ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบันจะมีเพียง 20 ล้านคนต่อเดือน หรืออาจน้อยกว่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นเว็บไซต์สื่อลามกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากจับกระแสการใช้งานวิดีโอแนวตั้งที่ได้รับความนิยมมาเป็นจุดเด่น และเว็บไซต์สื่อลามกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็ยังไม่มีเจ้าไหนทำฟีเจอร์วิดีโอแนวตั้งเช่นกัน แต่ข้อสังเกตที่พบคือเนื้อหาใน FikFap ยังไม่หลากหลายพอที่จะตอบสนองผู้ใช้งานที่มีเพศวิถีที่หลากหลาย
กฎหมายควบคุมสื่อลามกในต่างประเทศมีแนวโน้มเปิดเสรีมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังไม่คืบหน้า
ในปัจจุบัน หลายประเทศยังมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมสื่อลามกอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มในการผ่อนปรนการบังคับใช้อยู่มาก เนื่องจากทัศนคติของคนในสังคมไม่ยึดมั่นในแนวคิด “ศีลธรรมอันดี” ที่บังคับคนในสังคมให้อยู่ในกฎเกณฑ์อันดีงานที่ตั้งไว้อย่างเข้มข้นเหมือนในอดีต
ในบทความวิจัย เรื่อง “ภาพโป๊: กฎหมายสื่อลามกและศีลธรรม” ของจอมพล พิทักษ์สันตโยธิน เผยแพร่เมื่อปี 2559 ได้ยกตัวอย่างการควบคุมภาพโป๊ในประเทศอังกฤษว่า กระแสความเคลื่อนไหวเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในโลกตะวันตกมีส่วนในการบังคับใช้กฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยกตัวอย่างคดี R v Peacock ในปี 2009 นาย Michael Peacock ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและดำเนินคดีในความผิดตาม Obscene Publication Act 1959 เนื่องจากเขาลงโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตขายดีวีดีโป๊ที่มีการนำาเสนอภาพความรุนแรงทางเพศระหว่างชายและชายในแบบซาโดมาโซคิสม์ มีฉาก การเฆี่ยนตี (Erotic spanking) การลักพาตัวไปทรมาน (Kidnapping) การข่มขืน (Rape) การยัดกำปั้นเข้าไปในทวารหนัก (Fisting) และการปัสสาวะรดตัว (Urophilia) ซึ่งทำให้ผู้ดูเกิดความเสื่อมเสียทางศีลธรรม (Deprave) และเสื่อมทรามทางจิตใจ (Corrupt)
ต่อมาในปี 2012 ศาลซึ่งประกอบไปด้วยคณะลูกขุนทั้งชายและหญิงลงมติว่าดีวีดีเหล่านั้นไม่มีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียทางศีลธรรม (Deprave) และเสื่อมทรามทางจิตใจ (Corrupt) เนื่องจากกลุ่มคนที่จะดูดีวีดีเหล่านี้ก็คือกลุ่มคนที่เป็นเกย์และมีรสนิยมทางเพศแบบซาโดมาโซคิสม์อยู่แล้ว ไม่ใช่ประชาชนโดยทั่วไป ชัยชนะของ Michael Peacock นอกจากจะเป็นการท้าทายศีลธรรมทางเพศตามศาสนาคริสต์แล้ว ยังทำให้ภาพที่นำเสนอกิจกรรมทางเพศแบบ fisting ที่เคยอยู่ในรายการต้องห้ามของ Crown Prosecution Service (หน่วยงานที่รับผิดชอบการฟ้องคดีอาญาของอังกฤษ) ไม่ถือเป็นสิ่งลามกอีกด้วย บีบให้ขอบเขตของกฎหมายสื่อลามกให้แคบและเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในเรื่องเพศก็ยิ่งมากขึ้น
ขณะที่บทความวิจัย เรื่อง “การเปรียบเทียบกฎหมายควบคุมสื่อลามกของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น” ของภูมิพัฒน์ สุขเนตร เผยแพร่เมื่อปี 2564 ระบุว่าในประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะการบังคับใช้กฎหมายคล้ายกับประเทศไทย คือ สามารถครอบครองสื่อลามกอนาจารได้และผู้นั้นต้องมีวุฒิภาวะแล้ว แต่ในประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้เผยแพร่สื่อลามกอนาจารที่ โดยสื่อลามกอนาจารนั้นจะต้องผ่านการเซ็นเซอร์ของสงวนทั้งชายและหญิง ขณะที่ประเทศไทยนั้นการผลิตเพื่อเหตุผลส่วนตัวหรือเพื่อการค้าก็ดี หรือการเผยแพร่แก่บุคคลอื่น โฆษณาว่าสื่อลามกหาได้จากที่ใด มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว กฎหมายการควบคุมสื่อลามกในประเทศไทย ยังควบคุมไปถึงการเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยกำหนดอยู่ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) ผู้ที่นำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะลามกและข้อมูลนั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ในระบบคอมพิวเตอร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถึงกฎหมายการควบคุมสื่อลามกของไทยจะเข้มงวดเพียงใด ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีทัศนคติเป็นบวกกับการทำให้สื่อลามกถูกกฎหมาย โดยงานวิจัย “สื่อลามกบนอินเทอร์เน็ต : พัฒนาการของตลาดสื่อลามกและความถดถอยของสังคมไทย” ของ ดร.หนึ่งหทัย ขอผลกลาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และดร. สถิตโชค โพธิ์สะอาด ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยแพร่เมื่อปี 2563 พบว่า เหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสื่อลามกควรถูกกฎหมายมากที่สุด อันดับแรกคือเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการระบายความใคร่ รองลงมาคือ ยิ่งปิดกั้นจะยิ่งยุยงให้เยาวชนอยากเข้าถึงมากขึ้น ขณะที่เหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสื่อลามกควรผิดกฎหมายมากที่สุด อันดับแรกคือจะทำให้เกิดอาชญากรรม เช่น การข่มขืน การค้าประเวณีเป็นต้น รองลงมาคือ ทำให้เกิดปัญหาสังคม เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การทำแท้ง มอมเมาเยาวชน
ขณะเดียวกัน บทความวิจัยเรื่อง “สื่อลามกอนาจารกับปัญหาการข่มขืน” ของนรชิต จิรสัทธรรม จักรกฤช เจียวิริยบุญญา และพงศธร รีชัยวิจิตรกุล เผยแพร่เมื่อปี 2563 ชี้ว่าหากระดับของการปิดกั้นสื่อในประเทศนั้น ๆ เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้อัตราการข่มขืนลดลงตามไปด้วยตามแนวทางจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของ ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ (Sigmund Freud) แต่หากตีความด้วยแนวคิดเรื่อง “ผลของการทดแทนกัน (Substitution Effect)” ในวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ สื่อลามกถูกกฎหมายจะทำให้อัตราการข่มขืนลดลง เพราะช่วยให้มีความหลากหลายในการนำเสนอกิจกรรมทางเพศที่ตรงกับจินตนาการเรื่องเพศของผู้คน ทำให้พวกเขาสามารถเลือกบริโภคสื่อลามกเป็นสินค้าทดแทนกิจกรรมทางเพศที่อาจไปล่วงละเมิดผู้อื่น ทำให้มีพื้นที่ในการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศได้อย่างถูกกฎหมาย และอาจยังส่งผลให้อัตราการข่มขืนลดลงได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นเหตุผลในการโต้แย้งความเห็นของกลุ่มคนที่เห็นว่าสื่อลามกควรผิดกฎหมายได้
นอกจากนั้น ความเห็นที่ว่าอาจทำให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ในความเป็นจริงแล้วการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร สามารถป้องกันได้โดยการให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย (Safe sex) ด้วยวิธีการต่าง ๆ อีกทั้งในประเด็นเรื่องการทำแท้งในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนที่เป็นเพศหญิง การตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ตั้งครรภ์อย่างยิ่ง อีกทั้งคงไม่มีผู้หญิงคนไหนต้องการตั้งครรภ์เพื่อไปทำแท้ง ขณะเดียวกันนโยบายของรัฐก็ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การให้บริการการฝังยาคุมกำเนิดฟรี สำหรับผู้เข้ารับบริการกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ต้องการคุมกำเนิด หรืออยู่ในภาวะหลังคลอด หรือหลังแท้ง และสำหรับผู้เข้ารับบริการกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป เฉพาะกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หรือการแก้ไขกฎหมายให้ผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้ ไม่มีความผิด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ยังสนับสนุนค่าบริการการยุติการตั้งครรภ์เป็นเงิน 3,000 บาทแก่หน่วยบริการ ส่งผลให้ประชาชนจะได้รับบริการในราคาที่ถูกลง ดังนั้นการสรุปว่าสื่อลามกควรผิดกฎหมายด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น จึงเป็นการสรุปโดยขาดความหนักแน่นของตรรกะ
การที่เว็บไซต์เผยแพร่เนื้อหาสื่อลามกติดอันดับต้น ๆ ของเว็บไซต์ที่มีคนเข้าถึงมากที่สุดก็บ่งบอกถึงความสนใจของคน และการเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มเสพสื่อลามกใหม่ ๆ อย่าง FikFap จึงถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้รับสารที่เปลี่ยนไป ความพยายามในการควบคุมสื่อลามกแบบเดิมอาจไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปในยุคที่ผู้คนเป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสารได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ความท้าทายของการควบคุมสื่อลามกจึงไม่ใช่ประเด็นจะทำอย่างไรให้คนในสังคมไม่ดูหนังโป๊อีกแล้ว แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้คนที่มีวุฒิภาวะได้เข้าถึง หรือผลิตเนื้อหาสื่อลามกได้อย่างถูกกฎหมาย และเพิ่มมาตรการควบคุมสื่อลามกเด็ก (Child Pornography) รวมถึงเนื้อหาสื่อลามกที่ไม่ผ่านการยินยอมจากบุคคลที่ปรากฏในสื่อให้เข้มงวดมากขึ้นต่างหาก
บรรณานุกรม
PPTV Online. (4 ตุลาคม 2564). ตร. เตือนผิด กม. แพร่เนื้อหาลามก ลง “OnlyFans” เร่งดำเนินคดีคู่รักมีเพศสัมพันธ์ริมถนน. เข้าถึงได้จาก PPTVHD36.COM: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/157782
PPTV Online. (3 กุมภาพันธ์ 2565). “Sex Creator” อาชีพลับรายได้งาม จาก “น้องไข่เน่า” สู่ “เดียร์ลอง” คลิปต้องห้ามคนทำติดคุก คนครอบครองเสี่ยงคุก! เข้าถึงได้จาก PPTVHD36.COM: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/156751
Sanook. (21 กุมภาพันธ์ 2565). Vk คืออะไร? ทำไมมักโผล่เป็นข่าวในไทย. เข้าถึงได้จาก SANOOK.COM: https://www.sanook.com/men/77645/
Varasarn Press. (27 กันยายน 2566). ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ ไทยไฟเขียวกฎหมายทำแท้ง แต่มีโรงพยาบาลรับทำน้อย เพราะกลัวบาป. เข้าถึงได้จาก VARASARNPRESS.COM: https://www.varasarnpress.co/archives/3769
We Are Social. (26 January 2023). The Changing World of Digital In 2023. เข้าถึงได้จาก WEARESOCIAL.COM: https://wearesocial.com/uk/blog/2023/01/the-changing-world-of-digital-in-2023/
ZORT. (25 มกราคม 2023). ทำความรู้จัก YouTube Shorts คืออะไร? นำมาต่อยอดธุรกิจได้อย่างไร. เข้าถึงได้จาก ZORTOUT.COM: https://zortout.com/blog/youtube-shorts-2กรุงเทพธุรกิจ. (17 มีนาคม 2565). TikTok บูมยุคโควิด เปิดสาเหตุคนเสพติด “คลิปสั้น
กรุงเทพธุรกิจ. (17 มีนาคม 2565). TikTok บูมยุคโควิด เปิดสาเหตุคนเสพติด “คลิปสั้น” ที่อาจไม่ใช่ความสุขแท้จริง. เข้าถึงได้จาก BANGKOKBIZNEWS.COM: https://www.bangkokbiznews.com/tech/993941
จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน. (2559). ภาพโป๊: กฎหมายสื่อลามกและศีลธรรม . วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 89.
จิรสัทธรรม นรชิต, และ จักรกฤช เจียวิริยบุญญา และพงศธร รีชัยวิจิตรกุล. (2563). สื่อลามกอนาจารกับปัญหาการข่มขืน. วารสารเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การจัดการ, 8-9.
เจ้าคอร์กี้ในโหลดอง. (28 สิงหาคม 2563). THIS IS ALL ABOUT “เคล็ดลับการแต่งนิยาย”. เข้าถึงได้จาก READAWRITE.COM: https://www.readawrite.com/c/aa65434f2ac0dfd683580d9e10863bf0
ณัฐมน สะเภาคำา. (2563). ความปรารถนาใหม่ของวัยรุ่นสก๊อยในยุคทุนนิยมและความทันสมัยลื่นไหล. วารสารสตรีนิยมไทย “จุดยืน”, 29. เข้าถึงได้จาก https://wsc.soc.cmu.ac.th/journal/issue_upload/0.77422200-1625046361.pdf
ภูมิพัฒน์ สุขเนตร. (2564). การเปรียบเทียบกฎหมายควบคุมสื่อลามกของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น. วารสารวิชาการไทยวิจัยและการจัดการ, 7-8. เข้าถึงได้จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/TRDMJOPOlSU/article/view/252030/177904
หนึ่งหทัย ขอผลกลาง และสถิตโชค โพธิ์สอาด. (1 เมษายน 2563). โครงการวิจัยสื่อลามกบนโลกอินเทอร์เน็ต : พัฒนาการของตลาดสื่อลามกและความถดถอยของสังคมไทย.เข้าถึงได้จาก NBTC.GO.TH: https://lib.nbtc.go.th/book-detail/2364/not-login