เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ‘ผู้หญิงเก่ง’ ได้จริงหรือ ในเมื่อคำว่า ‘เก่ง’ ของแต่ละคนตีความได้หลากหลาย นั่นแสดงว่าผู้หญิงเก่งจึงมีนิยามที่ไม่ตายตัว
เนื่องด้วยเดือนแห่งสตรีนี้ กองบรรณาธิการของเราจึงอยากชวนผู้อ่านมาสำรวจนิยามของผู้หญิงเก่งจากคนต่างเพศ หลากวัย หลายอาชีพ เพื่อค้นหาคำตอบว่าใครคือผู้หญิงเก่งในแบบของพวกเขา และเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น
‘แพง’ อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
‘แพง’ ไม่ได้มีนิยามตายตัวว่าผู้หญิงเก่งต้องเป็นแบบไหน เพราะเธอคิดว่าคำว่าเก่งของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันอยู่แล้ว
“เราคิดว่าผู้หญิงทุกคนเก่งอยู่แล้วที่สามารถใช้ชีวิตและเป็นตัวของตัวเองได้ในแต่ละวัน คือวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ เผชิญโลกจนถึงทุกวันนี้ได้ ทุกคนก็เก่งกันหมดแล้ว”
สิ่งที่ทำให้นักศึกษาแพทย์ปี 3 วัย 21 ปี ที่กำลังเตรียมสอบและยุ่งมากอย่างเธอได้พักผ่อนจากช่วงเวลาที่เคร่งเครียดคือ ‘การดูหนัง’ นั่นทำให้ผู้หญิงเก่งในสายตาของเธอช่วงนี้คือ ‘เอ็มม่า สโตน’ (Emma Stone) นักแสดงหญิงชาวอเมริกัน วัย 35 ปี ที่เพิ่งคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 จากเวทีออสการ์ ครั้งที่ 96 ประจำปี 2024 จากภาพยนตร์เรื่อง Poor Things (2024)
แพงติดตามผลงานการแสดงของเอ็มม่าหลายเรื่อง เช่น The Amazing Spider-man (2012), La La Land (2016) และ Cruella (2021) เธอรู้สึกว่าความสามารถในการแสดงของเอ็มม่านั้นยอดเยี่ยมสมกับรางวัลที่ได้รับ โดยเฉพาะ ‘การสื่อสารด้วยสายตา’ ที่มักจะทำให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตัวละครอย่างลึกซึ้ง จนบางทีแพงก็รู้สึกเหมือนตัวเองได้กลายเป็นตัวละครนั้นที่เอ็มม่าแสดง
“การที่จะมองว่าใครเป็นคนเก่ง ถ้าสมมติเราไปสัมผัสเขา เราก็จะรู้สึกว่าเขาเก่งในแบบนี้ มันก็เหมือนกับการดูหนัง เราเลยสัมผัสได้ว่าการแสดงของเขามันดีจังและเราชอบ”
ฉากที่ทำให้แพงมั่นใจว่าเอ็มม่าเป็นนักแสดงหญิงที่เก่ง มาจากเรื่อง La La Land ที่ใช้สายตาสื่อสารถึงความรู้สึกที่ต่างกันระหว่างนางเอกที่ยังรักพระเอกอยู่ และนางเอกที่ไม่ได้รักพระเอกดังเดิมแล้ว และเอ็มม่าก็แสดงความรู้สึกนามธรรมเหล่านั้นออกมาผ่านสายตาได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ เอ็มม่าจึงเป็นหนึ่งในผู้หญิงเก่งสำหรับแพง จนผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่าสายตาของ ‘เอ็มม่า’ จะเป็นเช่นไร หากเธอมีโอกาสได้อ่านความรู้สึกของ ‘แพง’ ผู้หญิงคนหนึ่งที่เห็นว่าเธอเป็นผู้หญิงที่เก่งเพียงใด
‘ทิวเขา’ อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาสเปนและลาตินอเมริกันศึกษา ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทิวเขาเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และนิยามตัวเองว่า “กะเทย” อีกทั้งยังเป็นผู้ชื่นที่ชอบการประกวดนางงามเวที Miss Universe เป็นชีวิตจิตใจ
เขาเล่าว่าแม้ในปัจจุบันจะเห็นข้อถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับเวที Miss Universe แต่ในฐานะแฟนคลับตัวยง เขากลับมองว่าเวทีนี้เป็นสื่อบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ที่เล่าเรื่องราวที่น่าประทับใจของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนให้แฟนนางงามได้นำไปพูดคุยกันต่อได้อย่างกว้างขวาง และเป็นพื้นที่ในการเล่าเรื่องของผู้หญิงในฐานะปัจเจก
นิยามคำว่า “ผู้หญิงเก่ง” ในมุมมองของทิวเขา คือ ผู้หญิงที่ทำตามความฝันและความต้องการของตนเอง โดยเขาได้ยกตัวอย่าง โศภิดา จิระไตรธาร หรือ นิ้ง ผู้ชนะการประกวด Miss Universe Thailand 2018 ให้ฟัง
“นิ้ง โศภิดา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากในฐานะผู้หญิงที่ทำตามความฝัน เธอกล้าที่จะลาออกจากงานประจำในอาชีพผู้จัดการธนาคาร เพื่อมาทำตามความฝันของตนเองในฐานะนางแบบ เป็นเราคงไม่กล้าทิ้งเงินเดือนเยอะขนาดนั้น (หัวเราะ)”
ทิวเขากล่าว
ทิวเขาบอกด้วยว่า นิ้ง โศภิดาเองพิสูจน์ให้เห็นว่าชีวิตไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ไม่มีคำว่าสายเกินไปในการทำสิ่งที่ตนเองต้องการ เธอแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้หญิงสามารถตามหาตัวตนและความฝันได้ตลอดเวลาตราบใดที่ยังใฝ่ที่จะฝัน
‘เปรม’ อายุ 43 ปี พนักงานรักษาความปลอดภัย
“ก็ต้องคนแบบภรรยาผมนี่แหละ”
เปรม พนักงานรักษาความปลอดภัยวัย 43 ปี กล่าวหลังจากถามว่าผู้หญิงเก่งสำหรับเขาคืออะไร ในขณะที่กำลังเล่นกับลูกสาวอายุประมาณ 5 ขวบไปด้วย
เขาเล่าให้ฟังว่ารู้จักกับภรรยามาตั้งแต่สมัยยังเรียนที่บ้านเกิด (จังหวัดชัยภูมิ) แต่ได้มาทำความรู้จักกันอย่างจริงจังหลังจากเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองหลวง
“อยู่แถวบ้านมันไม่มีงานทำขนาดนั้น เลยเลือกมาตรงนี้ดีกว่า อย่างน้อยก็มีงานทำ ตอนแรกก็มาคนเดียวนี่แหละ จนมาเจอเขา (ภรรยา) ที่เข้ามาหางานทำเหมือนกัน”
เปรมเล่าต่อว่าหลังจากรู้จักกับภรรยา ก็ได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น จนตัดสินใจว่าจะเริ่มสร้างครอบครัว เลยเลือกที่จะลาออกจากงานที่ทำอยู่และกลับไปแต่งงานกันที่บ้านเกิด
“ช่วงแรกมันก็อยู่ได้แหละ จากเงินเก็บจากอะไร แต่พอนานเข้า รู้สึกว่าเงินเราไม่พอแล้ว”
หลังจากที่รู้ตัวว่าภรรยาตั้งท้องลูกสาว เปรมก็เริ่มคิดว่าหรือควรที่จะกลับไปทำงานในเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้เขาเลือกที่จะให้ภรรยาที่กำลังท้องอยู่กับบ้านที่ชัยภูมิ ส่วนเขาจะไปทำงานและส่งเงินไปให้
“ก็ทำงานส่งเงินไปได้ประมาณ 1-2 ปี จู่ๆ ภรรยาก็โทรมาว่ากำลังเข้าเมืองมานะ มารับหน่อย ไอ้เราก็งง เขาแกล้งเราเปล่าวะ (หัวเราะ)”
เขาเล่าว่าภรรยาอยากให้ลูกอยู่กับพ่อก็เลยมาอยู่ในเมืองด้วยกันดีกว่า และภรรยาก็จะช่วยเขาหาเงินไปด้วย
“ผมเลยบอกว่าภรรยาผมเป็นคนที่เก่งมาก เพราะต้องทำทั้งงานพาร์ทไทม์ ไหนจะเลี้ยงลูกอีก แถมมีช่วงนึงที่ต้องทำงานบ้านตลอดเลย ตอนที่ผมถามเขาว่าไม่เหนื่อยเหรอ เขาก็บอกว่าไม่ แต่พอผมแบ่งงานบ้านมาทำบ้าง ผมรู้เลยว่ามันโคตรเหนื่อย”
ปัจจุบันเปรมเลือกที่จะทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ส่วนภรรยาทำงานที่ร้านสะดวกซื้้อ ซึ่งภรรยาเขาจะทำงานในช่วงกะกลางวันจนถึงเย็น ส่วนเปรมจะทำงานตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงเช้ามืด ซึ่งขณะที่สัมภาษณ์ลูกสาวก็ยังอยู่กับคุณเปรม เพราะภรรยายังไม่มารับ (เวลาตอนนั้นประมาณ 6 โมงเย็น)
“ก็สลับกันไป ช่วงกลางวันที่ผมอยู่บ้าน ผมก็จะเป็นคนทำงานบ้าน ส่วนภรรยาก็เลิกงานแล้วมารับลูกกลับไปนอน ก็มีวันหยุดที่จะได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าบ้าง แต่ปกติก็สลับกันแบบนี้”
เปรมก็หวังว่าสักวัน พวกเขาจะได้อยู่พร้อมหน้ากันมากขึ้น แล้วไม่ต้องสลับกันทำงานแบบนี้อีก
‘ยอด’ อายุ 75 ข้าราชการเกษียณ
เมื่อลองให้ยอดนึกภาพของผู้หญิงที่เก่งที่สุดในชีวิต คำตอบที่เขาเอ่ยออกมาด้วยความรวดเร็วก็หนีไม่พ้นประโยคเรียบง่ายที่ว่า
“ก็ต้องเป็นคุณแม่ของผมสิ”
ในขณะที่พูดถึงคุณแม่ สายตาของยอดยังคงเต็มไปด้วยความสุขใจราวกับว่าได้ย้อนกลับไปในห้วงอดีตที่ผ่านมา เขาเล่าว่า คุณแม่ของเขาเป็นผู้หญิงที่ตั้งใจเลี้ยงดูครอบครัว สามารถดูแลลูกๆ ได้ในทุกเรื่อง และอบรมสั่งสอนให้เขาเติบโตมาได้อย่างดีที่สุดเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้
ถึงแม้ว่ายอดจะเอ่ยถึงคุณแม่ด้วยความชื่นชมมากเพียงใด เขากลับไม่สามารถบอกเล่าถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวความประทับใจที่เขามีต่อคุณแม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า เขามีความประทับใจในตัวคุณแม่อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีเหตุการณ์ใดที่โดดเด่นออกมาอย่างแจ่มแจ้งในความทรงจำของเขา เพราะสุดท้ายแล้ว คุณแม่คนนี้ก็เป็นคุณแม่ที่ดีที่สุดสำหรับเขา