เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย
ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง
แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน
บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ถูกเห็นคุณค่าน้อยที่สุด แต่กลับเป็นระบบขนส่งที่สำคัญที่สุดระบบหนึ่ง
.
‘หมวด 4’ คืออะไร ทำไมจำยากจัง?
หากเรียกตามหน้าที่ รถคันเล็กคันน้อยเหล่านี้คือ ‘รถ Feeder’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘เส้นทางหมวด 4’
อ้างอิงจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเดินทางบนถนนทั้งหมดตั้งแต่รถสาธารณะ รถยนต์ส่วนตัว ไปจนถึงการทำใบขับขี่อย่าง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เส้นทางหมวด 4 มาจากการแบ่งประเภทรถโดยสารประจำทางเป็น 4 ประเภท โดยหมายถึง เส้นทางการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร ซึ่งอาจประกอบด้วย เส้นทางสายหลักสายเดียว หรือเส้นทางสายหลักและเส้นทางสายย่อย ซึ่งแยกออกจากเส้นทางสายหลักไปยัง อำเภอ หมู่บ้าน หรือเขตชุมชน ส่วนหมวด 1 หมายถึงรถในเขตเมือง หมวด 2 หมายถึงรถที่วิ่งจากกรุงเทพฯ ออกไปจังหวัดต่างๆ และหมวด 3 หมายถึงรถที่วิ่งระหว่างจังหวัด
หน้าที่เล็กๆ แต่คือรากที่ลึกที่สุด
เชื่อว่าทุกคนคงรู้ว่ากรุงเทพฯ คือหนึ่งในเมืองที่รถติดที่สุดในโลก
อ้างอิงสถิติจาก INRIX บริษัทผู้พัฒนาระบบการวิเคราะห์การขับขี่และการเดินทาง ในปี พ.ศ. 2565 กรุงเทพมหานครติดอันดับ 32 พื้นที่ที่รถติดที่สุดในโลก และหากเปรียบเทียบแค่ในทวีปเอเชีย พื้นที่แห่งนี้ครองอันดับ 2 โดยเป็นรองเพียงแค่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี
สาเหตุหลักของรถติดในกรุงเทพฯ คือผังเมืองแบบ Super Block ที่แปลว่า ‘พื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่’ ซึ่งสรุปใจความให้ง่ายก็คือเมืองที่มีซอยตันเป็นจำนวนมาก การเดินทางของผู้คนส่วนใหญ่จึงต้องนำรถออกมาวิ่งบนถนนเส้นหลักเส้นเดียวกัน และเมื่อรถทุกคันมุ่งสู่ถนนเส้นเดียวกันก็นำไปสู่ภาวะรถติดนั่นเอง
จากการศึกษาของ UddC Urban Insight ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง พบว่าในปี พ.ศ. 2563 มี ‘ซอยตัน’ กว่า 45% ในกรุงเทพฯ
ในผังเมืองที่มี ‘ซอยตัน’ อยู่เป็นจำนวนมาก การจะพาผู้คนที่อาศัยอยู่ในซอยเหล่านี้ออกมาถึงถนนสายหลัก หากไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวก็คงหนีไม่พ้นการมีระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถพาผู้คนออกสู่โลกภายนอกได้ ยิ่งถ้ามีรถที่วิ่งอย่างสม่ำเสมอก็คงดี
ด้วยนิยามจาก ขบ. ที่ให้รถเส้นทางหมวด 4 เป็นเส้นทางแยกจากเส้นทางหลักไปยังชุมชน รถเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนกับ ‘เส้นเลือดฝอย’ ที่วิ่งแทรกเข้าไปในตรอกซอกซอยต่างๆ ซึ่งแอบซ่อนอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ และเมื่อการขยายตัวของเมืองมาควบคู่กับการมาของรถไฟฟ้าหลายสายที่มีหน้าที่ส่งผู้คนไว้เพียงจุดใหญ่ๆ จุดหนึ่ง ซึ่งก็คือสถานีรถไฟฟ้า สิ่งที่จะมารับช่วงต่อในการพาผู้คนแยกไปตามถนนเล็กย่อยต่างๆ จนถึงปลายทางก็คือรถ Feeder นั่นเอง
แล้วทุกวันนี้รถ Feeder มันดีพอหรือยังนะ…?
ถ้ารากที่ลึกที่สุดยึดไว้ไม่อยู่ แล้วลำต้นจะแข็งแรงได้อย่างไร?
แม้หน้าที่ของ Feeder จะต้อง Feed คนเข้าสู่ระบบขนส่งที่ใหญ่กว่า แต่หน้างานจริงก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้นเสมอไป ปัจจุบันถึงแม้เมืองจะขยายตัวขึ้น ซอยบางซอยขยายจนกลายเป็นถนนใหญ่ แต่เส้นทางรถเมล์บางส่วนกลับไม่เติบโตตาม ด้วยปัจจุบันการเดินรถประจำทางเหล่านี้เป็น ‘การให้สัมปทาน’ กับผู้ประกอบการ (ซึ่งส่วนมากเป็นเอกชน) ที่มาขอสิทธิ์เดินรถสายนั้นๆ โดยไม่มีการหนุนเงินทุนใดๆ จากภาครัฐ
ยกตัวอย่าง ในปัจจุบัน รถ Feeder เหล่านี้มักจะให้บริการถึงแค่ช่วงเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม ในขณะที่รถเมล์ส่วนใหญ่มักจะวิ่งจนถึง 4-5 ทุ่ม ในอีกความหมายคือ เส้นเลือดฝอยที่จะเป็นผู้รับช่วงต่อส่งผู้คนให้ถึงบ้านกลับหมดลงก่อนเส้นเลือดใหญ่เสียอีก สุดท้ายใครก็ตามที่กลับบ้านดึกก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไปกับรถอื่นๆ เช่น แท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ ที่ต้องพึ่งพาโชคชะตาว่าจะรอนานไหมอีกเช่นกัน
หากอ่านแล้วรู้สึกไม่ดีกับผู้ประกอบการ รถ Feeder ว่าทำไมรับหน้าที่ให้บริการมาแล้วไม่ยอมทำให้เต็มที่จนถึงดึกดื่น ลองคิดกลับกันว่า ถ้าตัวเราเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเอาตัวรอดเอง ก็คงไม่อยากลงทุนให้ ‘เข้าเนื้อ’ ตัวเองเช่นกันในเมื่อช่วงดึกๆ ไม่ได้มีผู้โดยสารเต็มคันเหมือนชั่วโฒงเร่งด่วน หากฝืนวิ่งไปก็คงขาดทุน เรื่องนี้จึงยังคงเป็นปัญหางูกินหางต่อไป
นอกจากเวลาที่ไม่ตอบโจทย์ สภาพรถเองก็เป็นที่น่าห่วงไม่แพ้กัน เมื่อรถที่วิ่งอยู่นั้นคือเงินของผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียว ความใหม่หรือเก่าจึงขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ด้วย หากเป็นเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการมากหรือลงทุนแล้วคุ้มค่า ก็ยังพอจะมีรถที่ใหม่ให้ใช้งาน แต่หากเป็นสายเล็กๆ ที่ไม่มีทุนมากพอจะซื้อรถคันใหม่ ก็อาจพบรถที่มีสภาพตรงกันข้ามแทน
เมื่อดูทะเบียนรถ Feeder บางคันพบว่ามีอายุมากกว่า ‘รถเมล์ครีมแดง’ ขสมก. ที่เป็นภาพจำของรถเมล์ไทยเลยด้วยซ้ำ โดยเมื่อรถเมล์ครีมแดงชุดที่ให้บริการในปัจจุบันมีอายุ 33 ปี รถสองแถวเหล่านี้ก็คงต้องบวกอายุเพิ่มเติมไปอีก
แต่ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ ภาพจำของรถ Feeder เหล่านี้ก็คือ ‘รถสองแถว’ ที่เป็นการนำรถกระบะมาดัดแปลงส่วนท้ายให้สามารถโดยสารได้ น้อยสายที่จะใช้รถเมล์คันเล็กที่มีต้นทุนสูงกว่า
อย่างที่กล่าวไปว่ารถสองแถวคือ รถกระบะดัดแปลง ความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่รถสองแถวขาดไป ไม่ว่าจะเป็นจากการที่ต้องเดินลงถนนเพื่อขึ้นรถ หรือสภาพรถที่ด้านหลังเปิดโล่ง เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่ารถประเภทอื่น
นอกจากนี้ จากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่สนใจและเคยใช้บริการรถ Feeder ก็ยังมีความรู้สึกว่ารถเหล่านี้เข้าถึงยากและไม่เป็นมิตร โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่เคยใช้บริการ เพราะจุดจอดของรถ Feeder มักไม่มีสัญลักษณ์ใดบ่งบอก ดังนั้น ถ้าหากไม่ใช่ผู้โดยสารในพื้นที่ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่ารถอยู่ที่ไหน และนอกจากจะดูยากแล้ว ยังมีความสะเปะสะปะ ไม่ได้รวมกันเป็นจุดเดียวเหมือนกับประเทศที่เจริญแล้ว
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่ที่สุดในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออกซึ่งก็คือบริเวณ ‘ตลาดมีนบุรี’ จุดดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพู กับรถเมล์ที่วิ่งมาจากในตัวเมืองและรถที่จะวิ่งออกไปยังชานเมือง เช่น ลำลูกกา หนองจอก ลาดกระบัง โดยได้สรุปจุดขึ้นรถทุกสาย (ที่มีข้อมูล) ไว้ในรูปด้านล่าง
จะเห็นได้ว่าจุดขึ้นรถแต่ละสายมีความกระจัดกระจายพอสมควร หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลมาก่อนก็อาจเกิดความสับสน
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสิ่งที่จะได้พบเมื่อเดินทางไปถึงสถานที่ดังกล่าวด้วยรูปแผนที่ภายในสถานีรถไฟฟ้าตลาดมีนบุรี ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม. หรือ MRTA)
จะเห็นได้ว่าป้ายแผนที่บอกจุดต่อระบบขนส่งอื่นมีเพียงแค่ 2 จุดคือ ป้ายรถเมล์บริเวณวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีและซอยสีหบุรานุกิจ 12 ซึ่งอยู่ไกลออกไปและไม่ตรงกับข้อมูลที่เก็บได้หน้างานจริง เช่น ป้ายรถเมล์ใต้สถานีรถไฟฟ้าที่อยู่หน้างานจริงมีอยู่แต่ในแผนที่กลับไม่มี หมายความว่า แม้แต่แผนที่ที่มาจากหน่วยงานรัฐเองข้อมูลก็ยังไม่ครบถ้วนถูกต้องเลย
ภาครัฐกำลังหลงทาง หรือมองไม่เห็นตั้งแต่แรก
ในปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาเดินรถที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ คุณภาพและความปลอดภัยที่หาได้ยากในรถ Feeder จะพบว่าสาเหตุหลักมาจากภาครัฐไม่ได้ให้ความสนใจกับระบบขนส่งสาธารณะมากนัก ทั้งการไม่บูรณาการระหว่างขนส่งระบบต่างๆ ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ อีกทั้งยังมองว่าการให้บริการรถสาธารณะคือ “ธุรกิจ” ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนไว้ทั้งหมด
เมื่อผู้ประกอบการเดิมยกธงขาวก็มักจบที่การเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเดินรถแทนโดยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะลงเอยแบบผู้ประกอบการรายก่อนหน้าหรือไม่ และถ้าหากไม่มีผู้ประกอบการสนใจเดินรถเส้นทางนั้นต่อ เส้นทางนั้นก็อาจจะหายไปจากความทรงจำในที่สุด
แม้ในปัจจุบันรัฐบาลจะกำลังลงทุนโครงการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหารถติด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทางด่วน 2 ชั้นหรือการสร้างรถไฟฟ้า แต่เมื่อมองกลับมาที่ระบบขนส่งสาธารณะแล้ว กลับไม่เห็นอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันนัก เพราะแค่เพียงการเชื่อมต่อระบบให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายก็ยังไม่ค่อยมีให้เห็น
ส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่าการจะแก้ปัญหารถติดได้ดีที่สุด คือการทำให้รถออกมาวิ่งบนท้องถนนน้อยที่สุดและเพิ่มรถ Feeder ให้ครอบคลุม อย่างน้อยในระยะสั้นก็ควรสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐเพื่อให้ผู้ประกอบการมีทุนจัดหารถที่มีคุณภาพมากขึ้นมาให้บริการและในขณะเดียวกัน ขบ. เองก็ควรเข้มงวดกับผู้ประกอบการในการทำตามเงื่อนไขที่ให้ไว้มากขึ้น
การพัฒนารถ Feeder เหล่านี้เพื่อให้สามารถเป็นที่พึ่งพาของคนในพื้นที่โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจึงอาจเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีรถยนต์ และไม่ใช่ทุกคนที่อยากเอาชีวิตไปเสี่ยงอยู่ท้ายรถกระบะ
สุดท้ายแล้ว ความใส่ใจที่รัฐบาลมีต่อประชาชนคงเห็นได้จากระบบขนส่งสาธารณะเล็กๆ เหล่านี้ เพราะหากเรื่องเล็กน้อยถูกสนใจก็อาจส่งผลต่อภาพใหญ่…และบางที รากฝอยเหล่านี้อาจส่งผลต่อลำต้นก็ได้
รายการอ้างอิง
ผลวิเคราะห์เผย กรุงเทพฯ เมืองรถติดอันดับ 2 ในเอเชีย ปี 2565
https://www.prachachat.net/general/news-1190075
สงสัยไหม ทำไมกรุงเทพฯ มีซอยตันเยอะ
https://urbancreature.co/blind-alley/
รถโดยสารมาตรฐาน 2 (ง)
ผ่าต้นตอ ‘ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ’ ผลพวงจากการวางผังเมืองยอดแย่ ทำกรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งซอยตัน
https://www.salika.co/2018/12/10/truth-about-traffic-problem-in-bangkok/
รถโดยสารหมวด 4 ในกรุงเทพมหานคร (ขึ้นตรงกับกรมการขนส่งทางบก) (ลงเพื่อทำฐานข้อมูลเท่านั้น)
https://vanthailand2015.blogspot.com/2018/12/4.html
30 YEARS 30 STORIES 30 ปีกับ 30 เรื่องราวของรถเมล์ครีมแดง
https://web.facebook.com/media/set/?set=a.1605420922906136&type=3