SocialWritings

ผู้ดูแลคนพิการคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน

เรื่องและภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์

ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ฉันกำลังทำความสะอาดข้าวของเก่าๆ ในห้องเก็บของอยู่ สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นกล่องพลาสติกใสมีฝาปิด ด้านในอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มรูปภาพตั้งเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ 

ฉันตัดสินใจนั่งลงบนพื้นแล้วเปิดฝากล่องออก ค่อยๆ หยิบอัลบั้มแต่ละเล่มออกมาเปิดดูด้วยความสงสัย

รูปทั้งหมดหลายร้อยใบล้วนเป็นรูปครอบครัวของฉัน มันได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในซองพลาสติกใสของอัลบั้ม ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีใครเขียนวันเดือนปีระบุเอาไว้ ฉันจึงต้องนั่งทบทวนความทรงจำของตัวเองระหว่างที่นั่งดูภาพไปด้วย 

เท่าที่สังเกตเห็น รูปเหล่านี้มักจะถูกบันทึกไว้ขณะที่พวกเรา 5 คนไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะหากย้อนเวลากลับไปในช่วงเวลาก่อนปี 2559 ครอบครัวของฉันมักไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดสงกรานต์ทุกปี 

ฉันจำไม่ได้หรอกว่าเราไปเที่ยวที่ไหนกันมาบ้าง แต่คงไปมาหลากหลายที่น่าดู เพราะบางรูปเราก็ยืนอยู่บนภูเขาถ่ายรูปคู่กับป้ายผู้พิชิต บางรูปเราก็ยืนเล่นน้ำอยู่ในทะเล บางรูปเราก็นั่งดูพระอาทิตย์ตกดิน และบางรูปเราก็กำลังเลือกซื้อของฝากกัน 

ถึงแม้ว่าภาพบรรยากาศและทิวทัศน์จะแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมกับที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามช่วงวัย แต่สีหน้า แววตา และรอยยิ้มที่สะท้อนความสุขหรรษาของพวกเราไม่เปลี่ยนไปเลยสักนิด ราวกับว่าวันเวลาเหล่านั้นไม่เคยไหลเวียนผ่านพ้นไป ถ้าหากเป็นได้เช่นนั้นจริงก็คงจะดี เพราะหลังจากปี 2559 เป็นต้นมา ครอบครัวของเราก็ไม่เคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวด้วยกันอีกเลย

“อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”

มีใครเคยบอกไว้เช่นนั้น แต่ฉันไม่รู้เลยว่า ‘อะไร’ ที่ว่านี้จะเลวร้ายเกินกว่าที่ใครจะคาดเดาได้ เพราะในปลายปี 2558 คนสำคัญคนหนึ่งในครอบครัวประสบอุบัติเหตุร้ายแรง จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

แม้เราจะรู้สึกโล่งใจที่เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ข่าวร้ายที่ทุกคนตั้งรับไม่ทันคือเขากลายเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว ต้องมีคนช่วยทำกายภาพควบคู่ไปกับคอยดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะกลับมาใช้ชีวิตตามเดิมได้ 

ท่ามกลางความสับสนในตอนนั้น ครอบครัวเราพยายามปรับตัวทุกด้านภายในระยะเวลาอันสั้น เริ่มต้นด้วยการผลัดเวียนกันนอนเฝ้าเยี่ยมที่โรงพยาบาล เรียนรู้วิธีการดูแลและให้ความช่วยเหลือคนพิการ นับตั้งแต่พาเข้าห้องน้ำ ช่วยเปลี่ยนเสื้อผ้า รวมไปถึงทำกายภาพเบื้องต้น อีกทั้งต้องวางแผนย้ายบ้านเพื่อรองรับการใช้ชีวิตใหม่ของเขา เนื่องจากบ้านหลังเดิมของเรายกสูงและไม่มีทางลาด จึงไม่เหมาะกับคนพิการที่ใช้รถเข็น

หลังจากที่พวกเราทั้ง 4 คน รวมถึงญาติพี่น้องเวียนวนไปมาระหว่างบ้านและโรงพยาบาลนานนับหลายเดือน อาการหลังจากการผ่าตัดก็ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถพาเขาออกจากโรงพยาบาลและกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังใหม่ได้ แต่เนื่องจากทุกคนจำเป็นต้องกลับไปเรียนหนังสือและทำงาน ทำให้ไม่มีใครสามารถอาศัยอยู่กับเขาตลอดเวลาเหมือนเช่นเคย พวกเราจึงเลือกจะจ้าง ‘ผู้ดูแลคนพิการ’ มาอยู่ดูแลเขา 24 ชั่วโมง คนอื่นๆ ในครอบครัวจะได้ไม่ต้องคอยพะว้าพะวังหรือนึกเป็นห่วงเขามากนัก

เมื่อพวกเราทุกคนในครอบครัวสามารถยอมรับความจริง พยายามปรับตัวและดำรงอยู่กับสถานการณ์นี้ได้แล้ว ความโศกเศร้าเสียใจก็ค่อยๆ จางหายไปจนแทบไม่เหลือ ความสดใส รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะดังเช่นในอดีตเริ่มหวนคืนกลับมาสู่ครอบครัวของเราอีกครั้ง 

แม้ว่ารูปถ่ายของครอบครัวเราจะไม่เหมือนเดิมจวบจนปัจจุบันนี้ก็ตาม

หลังผ่านพ้นวิกฤตทุกอย่างมาได้ ก็ดูเหมือนกับว่าครอบครัวเราจะกลับมามีความสุขและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง

แต่ในความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้ดูแลคนพิการคนแรกที่เข้ามาอยู่ใต้หลังคาบ้านเดียวกันไม่สามารถเข้ากับพวกเราได้ ทั้งลักษณะนิสัย การควบคุมอารมณ์และความรับผิดชอบในการทำงาน บ้านของเราจึงเต็มไปด้วยความอึดอัด พวกเราพูดคุยกันด้วยเสียงกระซิบกระซาบ หัวเราะได้ไม่เต็มเสียง และทำหน้าตาบึ้งตึงกันเกือบตลอดทั้งวัน

จนกระทั่งวันหนึ่งที่ผู้ดูแลคนนี้ขอลาเดินทางกลับบ้านของตนเองและไม่กลับมาอีก ครอบครัวของเราจึงต้องรีบเร่งหาผู้ดูแลคนพิการคนใหม่มาทำหน้าที่แทน โดยติดต่อไปทางศูนย์จัดส่งพนักงานดูแลคนพิการ

ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ครอบครัวของเรามีโอกาสได้รู้จักกับ ‘พี่หน่อย’ ผู้ดูแลคนพิการที่เข้ามาเติมเต็มครอบครัวของเรา

ครั้งแรกที่ได้เจอกัน ฉันก็ได้แต่นึกหวังว่าพี่หน่อยจะสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบ้านของเราได้จริงๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องสามารถทำหน้าที่คอยดูแล ช่วยเหลือ และอยู่เป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับคนพิการในครอบครัวเราได้

แต่ใครกันจะคาดคิดว่าพี่หน่อยสามารถทำทุกอย่างได้มากกว่าที่ฉันคาดหวังไว้หลายเท่า เพราะหลังจากอยู่ร่วมกันไปสักระยะหนึ่งแล้ว ฉันก็พบว่าสิ่งที่พี่หน่อยมอบให้ครอบครัวเราไม่ใช่เพียงการดูแลคนพิการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและใจของพวกเราทุกคนในบ้านด้วย

หน้าที่แรกที่พี่หน่อยเริ่มต้นในแต่ละวันทำก็คือ ช่วยคนพิการในครอบครัวเราทำกิจวัตรยามเช้า ทั้งการอาบน้ำและสวมเสื้อผ้า ก่อนจะขี่จักรยานหรือนั่งมอเตอร์ไซค์ออกไปยังตลาดเพื่อหาซื้อวัตถุดิบกลับมาทำอาหารที่บ้าน ซึ่งพี่หน่อยไม่เคยทำอาหารสำหรับเขาเพียงคนเดียว แต่ยังเตรียมอาหารไว้เผื่อสำหรับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวด้วย 

เมื่อทานอาหารเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงเวลาเตรียมตัวออกกำลังกาย พี่หน่อยจะเป็นคนช่วยพาเขายืนบน ‘Standing Wheelchair’ หรือวีลแชร์ที่ปรับให้ยืนได้ เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสลงน้ำหนักตัวไปที่เท้าและขาแทนการนั่งอยู่บนเก้าอี้เฉยๆ ตลอดทั้งวัน 

ในช่วงบ่ายเป็นเวลาของการฝึกเดิน พี่หน่อยต้องคอยช่วยพยุงตัวเขาและอธิบายวิธีการลงน้ำหนักตัวให้ถูกจุด หลังจากนั้นก็พาเขาเข้าห้องน้ำอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนผ้าอ้อมและสวนปัสสาวะ เนื่องจากคนพิการในครอบครัวเราไม่สามารถขับถ่ายได้เหมือนคนทั่วไป ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จึงต้องสวนปัสสาวะเพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีของเสียค้างอยู่

ถัดมาในช่วงเย็น พี่หน่อยจะช่วยเขาออกกำลังกายแบบง่ายบนเตียง เช่น การออกแรงที่แขนและขา หรือการนั่งก้มตัวเพื่อยืดกล้ามเนื้อ และในบางวันที่มีนักกายภาพมาทำกายภาพให้ที่บ้าน พี่หน่อยก็จะคอยยืนอยู่ช่วยข้างเตียงและเรียนรู้วิธีการออกกำลังกายแบบใหม่ๆ เพิ่มเติมจากนักกายภาพ ส่วนในบางวันที่คนพิการของเราอยากนั่งรถเข็นออกไปเที่ยวนอกบ้าน พี่หน่อยก็จะพาเขานั่งรถเข็นและไปเดินเล่นเป็นเพื่อน

พอตกดึก พี่หน่อยต้องพาเขาอาบน้ำและสวนปัสสาวะ ก่อนจะช่วยจับเขายืนบน Standing Wheelchair อีกครั้งในรอบวัน หลังจากนั้นถึงจะเป็นเวลานอน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเวลาพักผ่อนที่แท้จริงของผู้ดูแลคนพิการ แต่ถ้าหากคนพิการรู้สึกไม่สบายตัวหรือต้องการบางสิ่งบางอย่างยามค่ำคืน ก็เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลที่จะต้องตื่นขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเขาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวันที่มีเวลาว่าง พี่หน่อยมักจะหาอะไรทำเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องอยู่เฉยๆ ทั้งการทำงานบ้าน ทำสวน หรือแม้แต่ทดลองทำขนมเพื่อให้ทุกคนได้ทานกัน และด้วยความอัธยาศัยดีของพี่หน่อย ครอบครัวเราจึงมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านมากหน้าหลายตา คนพิการของเราที่อาศัยอยู่ในบ้านเกือบตลอดทั้งวันจึงไม่รู้สึกเหงามากนัก เพราะมักจะมีเพื่อนบ้านแวะเวียนเข้ามาทักทายอยู่เสมอ

นับตั้งแต่ที่พี่หน่อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของครอบครัวเรา ฉันก็สัมผัสได้ว่าทุกคนพลอยได้รับความสุขสดใสจากผู้ดูแลคนนี้มาด้วยกันหมด พวกเราพูดคุยทุกเรื่องกันได้อย่างสบายใจ หัวเราะด้วยกันในทุกๆ วัน และยังคอยแบ่งปันความรู้สึกไม่ว่าจะดีหรือร้ายร่วมกันอยู่เสมอ โดยมีพี่หน่อยรับรู้ทุกเรื่องราวของเราด้วย

ถ้าหากครอบครัวเราขาดพี่หน่อยไป อาจจะต้องมีใครสักคนเลิกทำงานเพื่อมาดูแลเขาเต็มเวลาด้วยตัวเอง หรือต่อให้เราจ้างผู้ดูแลคนอื่นมาแทนที่ ฉันก็มั่นใจได้ว่าพวกเราทั้ง 5 คนอาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นครอบครัวที่เต็มเปี่ยมด้วยรอยยิ้มเช่นเดิมได้อีก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพี่หน่อยจะสำคัญกับครอบครัวของเรามากเพียงใด แต่ด้วยสายตาคนอื่นด้านนอกที่มองพี่หน่อยเป็นเพียงลูกจ้างธรรมดา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกเราทางสายเลือด ผนวกกับความขี้เกรงอกเกรงใจของตัวพี่หน่อยเอง ทำให้ทุกครั้งเวลาที่เราจะถ่ายรูปครอบครัวด้วยกัน พี่หน่อยจึงชอบเสนอตัวเป็นคนถือกล้องถ่ายให้ หรือถ้ามีโอกาสได้เข้ามาอยู่ร่วมกับพวกเราในภาพ ก็มักจะหลบไปยืนอยู่ข้างๆ ด้วยความคิดที่ว่าตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกของครอบครัวนี้

ดังนั้นทุกครั้งที่ครอบครัวของฉันถ่ายรูปร่วมกัน จะไม่มีใครขอให้พี่หน่อยยืนหลบอยู่ด้านหลังกล้องและทำหน้าที่เป็นคนถ่ายรูปให้พวกเรา 5 คน แต่เราทุกคนมักจะเรียกให้พี่หน่อยเดินเข้ามาอยู่ในภาพร่วมกับครอบครัวของเราเพื่อบอกให้คนอื่นๆ ที่มองเห็นภาพนี้รับรู้ว่า… 

“พี่หน่อยไม่ใช่ผู้ดูแลคนพิการหรือลูกจ้างทั่วไป แต่พี่หน่อยคือสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว ผู้ทำให้บ้านหลังนี้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง”

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 60 กับคำถามประชามติที่ไร้ทางแก้ปัญหา

เรื่อง : ศศณัฐ ปรีดาศักดิ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งตามข้อเสนอของ ...

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save