ArticlesSocietyWritings

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี

ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้นโบายของพรรคที่มีโอกาสขึ้นมาบริหาร ไม่สามารถตอบโจทย์สิ่งที่ทุกคนต้องการ

ยิ่งเป็นประเทศที่มองเผินๆ ดูเหมือนกับว่ามีเพียงแค่สองพรรคการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจการบริหารกัน ระหว่างพรรคสายเสรีนิยม ลาน้ำเงิน อย่าง ‘พรรคเดโมแครต’ (Democratic party) และ พรรคอนุรักษ์นิยม ช้างแดงอย่าง ‘พรรครีพับลิกัน’ (Republican party) ดังนั้น คงไม่ต้องบอกเลยว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร หากพรรคที่ตัวเองเชียร์ไม่ชนะการเลือกตั้ง เพราะนอกจากพวกเขาจะต้องอยู่ภายใต้นโยบายที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างสุดขั้ว ยังต้องเสียเวลาชีวิตถึง 4 ปี เพื่ออยู่ใต้การปกครองของพรรคที่พวกเขาไม่ได้เลือก

แต่พรรคการเมืองแค่สองพรรคเท่านั้นหรือ? และพรรคการเมืองเล็กๆ ไปอยู่ที่ไหนกันในการเลือกตั้งครั้งนี้

ทำความเข้าใจกลไกการเลือกตั้งสหรัฐฯ

        

ก่อนไปทำความรู้จักพรรคเล็ก มารู้จักกลไกการเลือกตั้งของอเมริกาก่อน อเมริกามีระบบการเลือกตั้งแบบ ‘Electoral college’ แม้ประชาชนจะเข้าคูหาไปเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่ตนชื่นชอบ แต่โดยหลักการแล้วพวกเขากำลังลงคะแนนเสียงให้บุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ‘คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี’ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากพรรคภายในรัฐ เพื่อไปลงคะแนนเสียงแทนประชาชนอีกที หากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนในรัฐ ผู้สมัครคนนั้นจะได้คะแนนจากผู้เลือกตั้ง หรือ ‘Electoral votes’ ทั้งหมดของรัฐไปเลย

Electoral votes มาจาก จำนวนผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีตามที่กฎหมายกำหนด บวกกับสว. อีก 2 คน ซึ่งแต่ละรัฐจะมีจำนวน Electoral votes ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของรัฐ ยิ่งรัฐใดมีประชากรเยอะ จำนวน Electoral votes ก็จะมีมากตามไปด้วย

ดังนั้น หากประชาชนต้องการได้ประธานาธิบดีที่ตัวเองหมายปอง สิ่งที่ต้องทำคือเลือกแคนดิเดตจากพรรคที่ชอบ และภาวนาให้พรรคนั้นๆ ชนะในเขตอื่นๆ ของรัฐให้มากที่สุด เพื่อจะได้ครองเสียง Electoral votes ทั้งหมดของรัฐ เพราะหากไม่ชนะขาดลอย คะแนน Electoral votes จะเป็นของพรรคที่ได้คะแนนเยอะกว่าโดยปริยาย เช่น การเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ที่แม้ว่าพรรค Republican จะชนะการเลือกตั้งในรัฐแคลิฟอร์เนียไป 10 เขต แต่กลับไม่ได้ Electoral votes เลยแม้แต่เสียงเดียว เพราะเสียง Electoral votes รวมสว. อีก 2 คน ทั้งหมด 55 เสียงของรัฐนี้จะตกเป็นของพรรค Democrats ที่ชนะไป 43 เขต เพราะถือว่าคะแนนเสียงเยอะกว่า

ระบบดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘Winner takes it all’ หรือ ‘ผู้ชนะกินรวบ’ เนื่องจากระบบนี้เอื้อให้พรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงมากกว่าที่ได้รับ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งจากประชาชนก็ได้ เพราะแม้ว่าพรรคที่แพ้จะได้คะแนนเสียงบางส่วนจากประชาชน แต่พรรคที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนรวมกันเยอะกว่ากลับได้เสียง Electoral votes ทั้งหมดของรัฐนั้นไปเลยทันที
ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองลงแข่ง 4 พรรค ได้แก่ พรรค A, B, C และ D ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรค D ชนะการเลือกตั้ง จากการได้คะแนนเสียงรวมเยอะที่สุด คิดเป็น 40% จากจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ทั้งหมด ทั้งๆ ที่คะแนนเสียงอีก 60% ไม่ได้เลือกพรรค D และกระจายไปอยู่ที่พรรคอื่นๆ แต่ด้วยคะแนนรวมของพรรค D ที่สูงกว่าพรรคอื่นๆ ทำให้ได้ Electoral Votes ทั้งหมดของรัฐไปนั่นเอง

ระบบดังกล่าวมีส่วนบีบให้ประชาชนไม่กล้าโหวตเลือกพรรคเล็ก เพราะกลัวว่าจะเป็นการดึงคะแนนของพรรคใหญ่ จนทำให้ Electoral votes ทั้งหมด ตกไปอยู่กับพรรคใหญ่ที่พวกเขาอาจจะไม่ได้ชื่นชอบในนโยบาย  

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่  

ภาพจำของคนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจการเมืองต่างประเทศอย่างจริงจัง อาจจะเข้าใจว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีแค่ 2 พรรคการเมือง เพราะสื่อทุกเจ้ารายงานแค่การแข่งขันอันดุเดือดของ ‘Kamala Harris’ จาก Democrats และ ‘Donald Trump’ จาก Republican หรือเมื่อย้อนดูรายชื่อประธานาธิบดี ก็จะเห็นเพียงตัวแทนจากพรรคน้ำเงิน (Democratic party) และพรรคแดง (Republican party) สลับกันแพ้ชนะไปมาเป็นเวลาสิบๆ ปี ทว่าในความเป็นจริง พรรคการเมืองในสหรัฐฯ มีมากกว่า 10 พรรค ซึ่งพรรคเล็กแต่ฝันใหญ่เหล่านี้ ต่างก็มีนโยบายที่ดีและมีจุดยืนที่ชัดเจนไม่ต่างอะไรจากพรรคใหญ่ทั้งสองเจ้า เพียงแต่สื่อไม่ค่อยรายงานถึง จนทำให้พรรคเหล่านี้หลุดหายออกไปจากภาพจำของใครหลายๆ คน

Libertarian Party พรรคสีเหลืองสดใสที่ฝักใฝ่เสรีภาพของประชาชน

‘Libertarian Party’ ก่อตั้งเมื่อปี 1971 เป็นพรรคใหญ่อันดับสามจากจำนวนพรรคทั้งหมด ปัจจุบันมีสมาชิกพรรคมากถึง 700,000 กว่าคน โดยปีนี้พรรคได้ส่ง ‘Chase Oliver’ อดีตผู้ชิงตำแหน่งสว. และเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายขาย (Sales Executive) จากรัฐจอร์เจียร์ เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และ ‘Mike Ter Maat’ อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักการจัดการและการงบประมาณแห่งสหรัฐฯ เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

จุดยืนหลักของ Libertarian คือ ความพยายามแยกรัฐออกจากประชาชน โดยพยายามให้รัฐแทรกแซงเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนให้น้อยที่สุด ด้วยการลดบทบาทของรัฐและเพิ่มเสรีภาพให้ประชาชนมากขึ้น

พรรคให้ความสำคัญกับนโยบายหลายด้าน เช่น นโยบายเชิงเศรษฐกิจ อย่างการลดการจัดเก็บภาษี และนโยบายเชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างการผลักดันกัญชาให้ถูกกฎหมาย และสนับสนุนสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

แม้จะไม่เคยมีตัวแทนพรรคเข้าไปนั่งตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ความโดดเด่นของ Libertarian คือการดันพรรคตัวเองขึ้นมาเป็นพรรคอันดับสามตามหลังพรรคใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปีได้ แม้จะก่อตั้งมาเพียงแค่ 52 ปีเท่านั้น จึงถูกมองว่าเป็นพรรคที่ใช้ระยะเวลาเติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา และยังคงเดินหน้าตามล่าเสียงสนับสนุนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้รู้ดีกว่าในเกมการแข่งขันครั้งนี้ พวกเขาไม่สามารถล้มช้างแดงอย่าง Republican และลาน้ำเงินอย่าง Democrats ได้เลย

Green Party พรรคเขียวไม่หวังเหนี่ยวทรัพย์ เน้นขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม

หากความยั่งยืนหรือ sustainablity กำลังเป็นเทรนด์ปัจจุบันและเป็นความหวังของอนาคต คงไม่มีพรรคไหนที่จะสอดรับกับกระแสนี้ไปมากกว่า พรรค ‘Green Party of the United States’ พรรคขนาดใหญ่อันดับที่หกของอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2001 และมาพร้อมกับสมาชิกพรรคกว่า 200,000 คน

แคนดิเดตประธานาธิบดีของพรรคคือ ‘Jill Stein’ นักฟิสิกส์หญิงและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ของการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงครั้งนี้ ที่พรรค Green ส่งเธอเข้าชิงตำแหน่ง โดยมีแคนดิเดตรองประธานาธิบดีของพรรคคือ ‘Butch Ware’ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และหนึ่งในสมาชิกวงฮิปฮอปดูโอ้อย่าง Slum Prophecy จากรัฐแคลิฟอร์เนีย

ตลอดอาชีพการทำงานในฐานะนักฟิสิกส์ Jill ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพอากาศที่เกิดจากมลพิษโรงงานเหมืองแร่เป็นอย่างมาก และในฐานะนักการเมือง เธอก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลและพูดถึงสถานการณ์โลกอยู่บ่อยครั้ง เช่น วิจารณ์การสนับสนุนอิสราเอลของอดีตประธานาธิบดี Joe Biden และเรียกร้องให้ยุติสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่พรรคยึดมั่นและให้ความสำคัญ นโยบายส่วนใหญ่ของพรรคจึงยึดโยงกับสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งหมด เช่น สนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ด้านนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืนและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แน่นอนว่าพรรค Green ก็เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ไม่เคยมีตัวแทนพรรคขึ้นเป็นผู้นำระดับประเทศ แต่หากมองในเชิงสถิติจะพบว่า พรรค Green เป็นอีกหนึ่งพรรคหนึ่งที่น่าจับตามองในฐานะคู่แข่งพรรคใหญ่ เพราะ เมื่อย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 พรรค Green ที่นำโดย Jill Stein ได้รับคะแนนเสียงสูงถึง 1,500,000 เสียงเลยทีเดียว แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับคะแนนเสียงที่สองพรรคใหญ่ได้รับ แต่ก็มากพอที่จะให้พรรคใหญ่อย่าง Democrats ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าพรรค Green เป็นส่วนหนึ่งในการดึงคะแนนเสียงโหวตจนทำให้ Hilary Clinton แพ้ Donald Trump ในศึกการเลือกตั้งครั้งนั้น ซึ่ง Jill ก็ออกมาปฏิเสธคำครหาดังกล่าว พร้อมตอกหน้าข้อสังเกตของพรรค Democrats ว่า “เป็นข้ออ้างที่น่าสมเพช”

Constitution Party เลือดแท้ของพรรคสายอนุรักษ์นิยม

หากคุณมองว่า Republican เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมสุดโต่งที่เกลียด Democrats มากที่สุดในการแข่งขันชิงอำนาจบริหารแล้ว อาจหมายความว่าคุณยังไม่รู้จัก Constitution Party’ ดีพอ เพราะถ้าคุณลองเปิดเว็บไซต์ของพรรค Constitution สิ่งที่คุณจะเห็นคือหน้าเว็บที่เต็มไปด้วยคลิปโจมตีและภาพการ์ตูนเสียดสีพรรคน้ำเงินในระดับที่ Republican ก็ยังไม่เคยทำ

Constitution Party ก่อตั้งปี 1990 และถูกมองในฐานะฝาแฝดของ Republican มาโดยตลอด อาจเพราะนโยบายที่ใกล้เคียงและความเชื่อของพรรคที่ขัดแย้งกับ Democrats โดยสิ้นเชิง นั่นคือการประกาศตัวเองว่าเป็นพรรคที่เชื่อในวิถี Pro-life หรือพรรคที่ต่อต้านการทำแท้งอย่างเด็ดขาด อีกทั้งยังส่งเสริมค่านิยมการสร้างครอบครัวแบบดั้งเดิม หรือครอบครัวที่มี พ่อ-แม่-ลูก และไม่มองว่าบ้านที่มีความสัมพันธ์แบบ พ่อ-พ่อ-ลูก หรือ แม่-แม่-ลูก เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ จึงทำให้พรรคต่อต้านการรับเลี้ยงบุตรโดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นอย่างมาก และยืนกรานว่าจะไม่มีกฎหมายเอื้อหรือปกป้องกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นพิเศษ นอกจากนี้  พรรค Constitution ยังมีนโยบายอื่นๆ เช่น การไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามของชาติอื่น ซึ่งคล้ายกับนโยบายของพรรค Republican อีกด้วย

เมื่อจุดยืนของพรรคเป็นเช่นนี้ ผู้นำพรรคก็ย่อมมีความเชื่อเหมือนกัน จึงทำให้ชื่อของ ‘Randall Terry’ นักการเมืองและผู้ก่อตั้ง Operation Rescue องค์กรต่อต้านการทำแท้งและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมเสริมทัพด้วย ‘Stephen Broden’ บาทหลวงและอดีตแคนดิเดตตำแหน่งผู้แทนเขตที่ 30 ของรัฐเท็กซัสจากพรรค Republican รัฐที่ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ด้วยความสุดโต่งระดับนี้ คงไม่ต้องบอกว่าชะตากรรมในการเลือกตั้งแต่ละครั้งของพรรคเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ทำให้พรรคยังคงอยู่ได้ก็เป็นเพราะจุดยืนที่ชัดเจน (มากๆ) ซึ่งดึงดูดใจสายอนุรักษ์นิยมเลือดแท้นั่นเอง

การเลือกตั้งเมื่อปี 2016 พรรคกวาดคะแนนไปได้ถึง 203,091 เสียง ถึงแม้จะคิดเป็นเพียง 0.2% จากจำนวนผู้ลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดในปีนั้น แต่ก็ทำให้พรรค Constitution เป็นไพ่ลับชั้นดีของ Democrats ในการดึงคะแนนจาก Republican เลยก็ว่าได้ เพราะหากคิดตามระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่กล่าวไปข้างต้น ก็จะพบว่าเป็นไปได้ยากที่พรรคเล็กจะเอาชนะพรรคใหญ่ได้ แต่อย่างน้อยการมีพรรคที่สามารถดึงคะแนนเสียงไม่มากก็น้อยจาก Republican ได้ ก็จะลดโอกาสที่คะแนนเสียงของ Republican จะเยอะกว่า Democrats ทันที และโอกาสในการชนะเสียง Electoral votes ทั้งหมด ก็จะตกไปที่ Democrats มากขึ้นโดยที่พวกเขาไม่ต้องทำอะไรเลย

โลกคู่ขนานและการ Endorsed ของคนในวงการบันเทิงสหรัฐฯ

      นอกจากลีลาการหาเสียงที่ปลุกเร้าอารมณ์ และวาทะโต้แย้งของตัวแทนจากสองพรรคใหญ่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นสีสันของการเลือกตั้งอเมริกา ก็คงหนีไม่พ้นเสียงสนับสนุนจากคนในวงการบันเทิง

แม้ว่าเสียงสนับสนุนของคนดังจะไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าใครจะได้นั่งประจำในห้องรูปไข่อันทรงเกียรติของทำเนียบขาว แต่มันสามารถสะท้อนจุดยืนและความคิดของคนชนชั้น Elite หรือชนชั้นที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งเป็นภาพที่หาได้ยากมากในสังคมไทย แต่ในสังคมอเมริกา การออกตัวสนับสนุนพรรคการเมืองอย่างชัดเจนของเหล่าคนดังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คนธรรมดาอย่างเราๆ จะได้เห็นทุกๆ สี่ปี

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อพรรคการเมืองที่ปรากฏอยู่ในโพสต์ข้อความสนับสนุนของคนบันเทิงที่ออกมาในโซเชียลแทบทั้งหมดก็หนีไม่พ้น Democrats และ Republican แต่ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งโลกนี้ไม่มีพรรค Democrats และพรรค Republican ภาพที่เราจะได้เห็นอาจจะต่างออกไปจากตอนนี้ จนอดคิดไม่ได้ว่า “หากพรรคเล็กกลายเป็นพรรคใหญ่ คนดังจะเลือกสนับสนุนพรรคไหนกันนะ?”

         เกณฑ์ที่จะใช้ตัดสินเรื่องนี้ได้ อาจจะต้องเทียบนโยบายหรือจุดยืนของพรรคเล็กกับพรรคใหญ่ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ซึ่งเมื่อลองวิเคราะห์ก็สรุปออกมาได้ว่า พรรค Democrats ต้องการลดภาษีสินค้าคล้ายพรรค Libertarian และต้องการเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนเหมือน พรรค Green อีกทั้งสามพรรคมีนโยบายสนับสนุนการทำแท้งเหมือนกัน ในขณะที่พรรค Constitution ค่อนข้างใกล้เคียงกับ พรรค Republican อยู่พอสมควร ในเรื่องการไม่เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองของประเทศอื่นๆ และการต่อต้านการทำแท้ง

อีกหนึ่งเกณฑ์ตัดสินคือความสนใจของคนดังต่อประเด็นหรือสถานการณ์โลก ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ออกสื่อและการมีส่วนร่วมในแคมเปญต่างๆ ทำให้ผู้เขียนคาดเดาแนวทางการสนับสนุนพรรคเล็กของเหล่าคนดังหากโลกนี้ไม่มีสองพรรคใหญ่ได้ดังนี้

ดังนั้น ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าหากพรรคเล็กกลายมาเป็นพรรคใหญ่ และหากพรรคใหญ่ทั้งสองเจ้าไม่มีอยู่จริง ภาพที่เราอาจได้เห็นก็อาจจะเป็นคนดังที่ออกมาโพสต์ภาพคู่หัวใจสีอื่นๆ นอกเหนือจากสีแดงสีน้ำเงิน พร้อมแคปชั่น I vote for…. ตามด้วยชื่อพรรคเล็กๆ ที่ลงแข่งขันก็เป็นได้

แพ้ทุกครั้งแต่ยังเดินหน้าต่อ

นอกเหนือจากทั้ง 3 พรรคที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีพรรคการเมืองขนาดเล็กที่อุดมการณ์ชัดเจนอีกมากมาย โดยสามารถแบ่งจากแนวคิดทางการเมือง เช่น พรรคฝ่ายขวาอย่าง ‘American Solidarity Party’, ‘American Independent Party’ หรือพรรคฝ่ายซ้ายอย่าง ‘Party for Socialism and Liberation’, ‘Socialist Workers Party’ ไปจนถึงพรรคเล็กที่ต้องการแก้ปัญหาเฉพาะทางจนกลายเป็นสีสันของการเลือกตั้ง เช่น ‘Rent Is Too Damn High Party’ ที่มีจุดยืนในการเรียกร้องค่าเช่าที่พักราคาเป็นธรรมในรัฐนิวยอร์ก ‘Legal Marijuana Now Party’ พรรคที่ต้องการให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายทั่วประเทศ และ ‘Prohibition Party’ พรรคที่ก่อตั้งเมื่อ 155 ปีก่อน ที่ยึดจุดยืนดั้งเดิมตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันคือ ต่อต้านการขายและบริโภคแอลกอฮอลล์ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการคว้าชัยชนะของพรรคเล็กในศึกการเลือกตั้งที่มีประเทศมหาอำนาจเป็นเดิมพันคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในระบบการเมืองแบบ Winner takes it all ของสหรัฐฯ จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า “เพราะเหตุใดพรรคเหล่านี้ยังลงมาเล่นการเมืองอยู่ทั้งๆ ที่รู้ตัวดีว่าไม่สามารถเอาชนะได้?”

สิ่งที่ผู้เขียนตระหนักได้จากการถามตัวเองคือ ชัยชนะอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับการได้แสดงจุดยืน ความเชื่อ และนโยบายที่พรรคยึดถือ เพราะแน่นอนอยู่แล้วว่าทุกพรรคพยายามเสนอความเชื่อที่พรรคมีต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม ซึ่งความเชื่อเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกใจหรือตรงตามความต้องการของทุกคนไปเสียทั้งหมด ดังนั้น การมีอยู่ของพรรคเหล่านี้ จึงไม่ใช่การอยู่เพื่อล้มพรรคใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการมีอยู่เพื่อรองรับประชาชนบางกลุ่มในสังคมที่คาดหวังจุดยืนและนโยบายบางอย่างที่ตรงกับความเชื่อและค่านิยมของพวกเขามากที่สุด แม้ว่าจะรู้ดีว่าการลงคะแนนเสียงของพวกเขาอาจจะไม่เยอะพอจะพลิกเกมได้ แต่อย่างน้อย ก็ยังดีกว่าการลงคะแนนเสียงที่มีค่าให้พรรคที่ไม่สะท้อนความเชื่อของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย

อ้างอิง

สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ. เข้าถึงได้จาก สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย: https://th.usembassy.gov/th/us-elections-2020-th/elections-faqs-th/

Amarintv. (18 ตุลาคม 2567). เปิดเหตุผล ทำไมสหรัฐฯ มีพรรคใหญ่เพียง 2 พรรค ส่วนไทยมีหลายพรรคการเมือง. เข้าถึงได้จาก Amarintv: https://www.amarintv.com/spotlight/economy/detail/68205#google_vignette

Barry C. Burden. (30 เมษายน 2024). Third parties will affect the 2024 campaigns, but election laws written by Democrats and Republicans will prevent them from winning. เข้าถึงได้จาก The conversation: https://theconversation.com/third-parties-will-affect-the-2024-campaigns-but-election-laws-written-by-democrats-and-republicans-will-prevent-them-from-winning-226877

Ballotpedia. Constitution Party presidential nomination, 2020. เข้าถึงได้จาก Ballotpedia: https://ballotpedia.org/Constitution_Party_presidential_nomination,_2020

Ballotpedia. List of political parties in the United States. เข้าถึงได้จาก Ballotpedia: https://ballotpedia.org/List_of_political_parties_in_the_United_States

Chase Oliver for president & vice president. About. เข้าถึงได้จาก Chase Oliver for president & vice president: https://votechaseoliver.com/about/

CNN politics. Presidential Results. เข้าถึงได้จาก CNN politics: https://edition.cnn.com/election/2020/results/president

Dessi Gomez, Tom Tapp. (4 พฤศจิกายน  2024). Trump Celebrity Endorsements: A Full List Of Celebrities Supporting The Ex-POTUS. เข้าถึงได้จาก Deadline: https://deadline.com/gallery/donald-trump-celebrity-endorsements-kid-rock-jon-voight/

Durin Hendricks. (12 พฤศจิกายน 2019). Minor Parties in US Make Gains in Local Elections. เข้าถึงได้จาก VOA: https://www.voanews.com/a/usa_us-politics_minor-parties-us-make-gains-local-elections/6179269.html

Jenna Ross. (3 พฤศจิกายน 2020). This animated map shows how U.S. states have voted since 1976. เข้าถึงได้จาก world economic forum:  https://www.weforum.org/agenda/2020/11/animated-map-u-s-presidential-voting-history-by-state-1976-2016/

Joey Kahn. (16 กันยายน 2015). Third Party Platforms: Where Do America’s Smaller Parties Stand on the Big Issues?. เข้าถึงได้จาก KQED: https://www.kqed.org/lowdown/19498/where-do-americas-third-parties-stand-on-key-national-issues-downloadable-chart

Libraries. American Government and Politics in the Information Age (10.6 Minor Parties). เข้าถึงได้จาก Libraries: https://open.lib.umn.edu/americangovernment/chapter/10-6-minor-parties/

Mary Whitfill Roeloffs. (4 พฤศจิกายน 2567). Harris And Trump’s Biggest Celebrity Endorsements: Joe Rogan Endorses Trump, Lady Gaga Backs Harris. เข้าถึงได้จาก Forbes: https://www.forbes.com/sites/maryroeloffs/2024/11/04/harris-and-trumps-biggest-celebrity-endorsements-joe-rogan-endorses-trump-citing-elon-musk/

PPTV Online. (4 ตุลาคม 2567). เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: ทำไมมีแค่ 2 พรรค “รีพับลิกัน” VS “เดโมแครต. เข้าถึงได้จาก PPTV Online: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/234007

Stein ware 2024. Meet the Candidates. เข้าถึงได้จาก Stein ware 2024: https://www.jillstein2024.com/meet_the_candidates

Terry Broden 2024. The Candidates. เข้าถึงได้จาก Terry Broden 2024: https://www.terry2024.com/candidates

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Writings

วัวหายล้อมคอก ไฟไหม้ฟาง กับการแก้ปัญหาของรัฐไทย 

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ‘วัวหายล้อมคอก’ และ ‘ไฟไหม้ฟาง’ สำนวนที่เข้ากันดีกับการแก้ปัญหาในสังคมของรัฐไทย ที่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยมาคิดหาวิธีแก้ไข หรือไม่ก็ตั้งท่าจะแก้ไขแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง จนมันก็สายเกินจะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ทันท่วงที ...

Articles

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร “You were amazing” “เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save