Writings

ผ่า “อนาโตมี” การทำงานของสื่อเรื่องคุณแตงโม

เรื่อง รุจน์ โกมลบุตร

ภาพ เก็จมณี ทุมมา

ช่วงนี้การนำเสนอเนื้อหาของสื่อเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคุณแตงโมกลายเป็นข้ออภิปรายในสังคมอย่างรัวๆ ด้านหนึ่งเห็นว่า สื่อทำหน้าที่ได้ดี พิจารณาได้จากเรตติ้งที่พุ่งสูงอย่างไม่น่าเชื่อ แสดงว่าการทำงานของสื่อเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะหากไม่ชอบ คนก็คงไม่ดูกันเยอะขนาดนี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามว่า สื่อกำลังทำหน้าที่แบบล้ำเส้นไปหน่อยไหม เช่น ล้อมหน้าล้อมหลัง และจับจ้องแหล่งข่าวจนอาจสูญเสียความเป็นส่วนตัว หรือการนำเสนอเนื้อหาที่ยืดยาว หยิบประเด็นยิบย่อยมาบอกเล่า กระทั่งไปเบียดบังเวลาและพื้นที่การนำเสนอเนื้อหาอื่นๆ หรือเปล่า

แต่ไม่ว่าสื่อจะทำหน้าที่ไปในทิศทางใด วันนี้จะขออนุญาตบันทึกวิธีการนำเสนอเนื้อหาของสื่อสถาบัน โดยเฉพาะโทรทัศน์ เกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวการเสียชีวิตของคุณแตงโม เพื่อโน๊ตเอาไว้ว่า ปีพุทธศักราช 2565 สื่อใช้วิธีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ดาราคนหนึ่งเสียชีวิตไว้อย่างไรบ้าง จนกระทั่งคนดู “ติด” กันงอมแงม

จากการที่ผู้เขียนสังเกตการทำงานของสื่อ เราอาจจะสรุปแนวทางการนำเสนอเนื้อได้ดังต่อไปนี้

แบบที่หนึ่ง การตัดสินแหล่งข่าว ปกติแล้วการพาดหัวข่าวก็คือการสรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดเพื่อแจ้งให้ผู้รับสื่อได้รับทราบประเด็นอย่างรวดเร็ว แต่ทำไปทำมา กองบก. ได้ (แอบ) ใส่ความคิดเห็นในเชิงตัดสินลงไปด้วย เช่น กรณีคุณแซนที่โดนนักข่าวล้อมในงานรำลึกถึงคุณแตงโม ก็มีสื่อแห่งหนึ่งนำไปฟาดว่า “แซนเหวี่ยงนักข่าว พูดไปก็ไม่เชื่อ จะถามทำไม” หรือกรณีที่สื่อนำคำพูดของแหล่งข่าวมา “ล้อเล่น” เช่น “คุณแม๊” หรือ “กี่เปอร์เซ็นต์” ก็อาจถือได้ว่าเป็นการลดทอนคุณค่า หรือไม่ให้เกียรติแหล่งข่าวหรือไม่

หรือรายการสัมภาษณ์ที่โดยปกติผู้สัมภาษณ์จะทำหน้าที่ซักถาม และสร้างบรรยากาศให้แขกรับเชิญได้พูดให้มากที่สุด แต่ในรายการสัมภาษณ์ยอดฮิต เราจะได้พบเห็นคุณพิธีกร “เม้นต์” แหล่งข่าวเป็นระยะ เช่น ขอโทษนะครับ (ยกมือไหว้พร้อม) อย่าหาว่างั้นงี้เลย ผมว่าคุณแม่ต้องมีทนาย หรือ ผมว่าที่ทนายทำแบบนี้ถือว่าผิดมารยาทมากนะ ฯลฯ ผู้เขียนไม่ค่อยแน่ใจว่าแขกรับเชิญจะรู้สึกยังไง แต่ก็เห็นว่าคนยังดูกันตรึม และก็ยังมีแขกรับเชิญวนเวียนเข้าไปร่วมเวทีดังกล่าว

แบบที่สอง เก็บทุกเม็ดไปนำเสนอ เมื่อคนรับสื่อสนใจล้นหลาม สื่อจึงตอบสนองโดยการนำเสนอเรื่องคุณแตงโมยิบย่อยในระดับนาโน เช่น กล่องทำบุญให้ผู้ล่วงหลับ (หมายถึงคุณแตงโมและญาติ) และกล่องทำบุญให้ผู้จัดงาน กล่องไหนได้รับเงินบริจาคเยอะกว่ากัน หรือประเด็นไปสัมภาษณ์ลุงพล (จำเลยในอีกคดีหนึ่ง) ว่าคิดยังไงกับคดีคุณแตงโม หรือเบอร์เต็มมากถึงขั้นสัมภาษณ์หมอดู คนทรง ฯลฯ ว่า เห็นอะไรในอนาคตบ้าง คดีนี้จะจบยังไง

แบบที่สาม ตีความทุกสิ่งอย่าง วิธีนี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการพัฒนาประเด็นระดับซูปเปอร์นาโนให้กลายเป็นข่าวให้ได้ เช่น ภาพคุณโตโน่ เพื่อนคนหนึ่งของคุณแตงโมร้องไห้ในงานพิธี หรือภาพผู้จัดการของคุณพิงกี้ยืนคุยกับคุณกระติกในงานพิธี ฯลฯ ก็ได้รับการวิเคราะห์จากท่านพิธีกรเล่าข่าวว่าภาพดังกล่าวน่าจะเป็นแบบนั้น และน่าจะมาจากเหตุแบบโน้น ฯลฯ ในขณะที่นักเรียนสื่อก็มักจะถูกสอนไว้ว่า เวลาบรรยายภาพตรงหน้า โดยเฉพาะเรื่องราวที่มีความอ่อนไหวและมีความขัดแย้งสูง ให้บรรยายไม่เกินเลยไปกว่าสิ่งที่เห็น

แบบที่สี่ เอาปากกามาวง วิธีนี้ได้รับการเลือกใช้บ่อยมาก กล่าวคือ รายการจะนำสารพัดคลิปจากกล้องวงจรปิดมาเพลย์ให้ผู้ชมได้ชม แล้วทั้งกองบก. พิธีกร และผู้ชม ก็ช่วยกันพิจารณากลางอากาศเลยว่า คลิปดังกล่าวคืออะไร เห็นใคร ทำอะไรในคลิปบ้าง ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นกี่โมง ก่อนหรือหลังคุณแตงโมตกน้ำ มีอะไรผิดสังเกตบ้าง ภาพตัดต่อหรือเปล่า ฯลฯ จนน่าสงสัยว่ากองบก.ได้กลั่นกรองคลิปเหล่านั้นก่อนที่จะนำมาออกอากาศบ้างหรือไม่ อย่างไร

หากยึดเอาแนวทางการทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวน ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญมากคือ บก.และนักข่าวจะต้องร่วมกันประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานต่างๆ หากพบว่าหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ หรืออ่อนเกินไป ก็ต้องแขวนเอาไว้ก่อน

แต่งานนี้กลายเป็นว่า กองบก. ผู้ประกาศ และผู้ชม ต้องเอาปากกามาวงกันสดๆ ขณะดูคลิป เมื่อดูคลิปจนเหนื่อยแล้ว ก็มักจะได้ข้อสรุปว่า “ไม่มีข้อสรุป” จากนั้นผู้ชมก็จะถูกรบเร้าให้ดูคลิปอันถัดไป ทำนองว่า “เรามีคลิปล่าสุดครับ มีที่นี่ทีเดียว” พร้อมกำปากกาแน่นๆ ไว้ในมือ (วนๆ ไป)

แบบที่ห้า ปิรามิดหัวตั้ง บรรดาคลิปที่ชวนกันเอาปากกามาวงนั้น ผู้เขียนสังเกตว่า มีบางครั้งที่กองบก.วนคลิปไปมาหลายรอบจนเปื่อยแล้ว พิธีกรก็จะเฉลยในตอนท้ายว่า “เรา (พูดอย่างมั่นใจ) ได้รับคำยืนยันจาก (บอกชื่อแหล่งข้อมูล) แล้วว่า คลิปดังกล่าว เป็นคลิปเก่า และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการคลี่คลายคดี”

ผู้ชมอย่างเราก็ได้แต่มองบน แล้วให้ข้าพเจ้าดูตั้งหลายรอบเพื่อ…

เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวแบบปิรามิดนั้น โดยทั่วไป จะมี ๒ แบบ แบบแรกคือ ปิรามิดหัวกลับ คือการบอกสาระสำคัญที่สุดให้ผู้รับสื่อทราบก่อน จากนั้นจึงนำเสนอรายละเอียดเพื่อขยายความ ซึ่งเป็นวิธีที่นักข่าวใช้กันบ่อยที่สุด ดังนั้นในกรณี “คลิปเก่า” ตามตัวอย่างข้างต้น หากรายการประเมินว่า (ยัง?) มีความจำเป็นต้องเปิดให้ชม ผู้ประกาศก็ควรจะบอกว่า “คลิปนี้ไม่มีอะไรจ้า” ให้คนดูรู้ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยเพลย์คลิปสัก ๑ รอบขำๆ ก็พอแล้ว

ส่วนการรายงานข่าวอีกแบบคือ ปิรามิดหัวตั้ง คือการค่อยๆ บอกรายละเอียดทีละเล็กทีละน้อยแก่คนรับสื่อ แล้วจึงเผย “ไคลแม็กซ์” ในตอนท้าย แนวทางแบบนี้นิยมใช้กับข่าวเบา (เช่น ข่าวพ่อลูกพลัดพรากกันหลายสิบปี แต่ก็มาพบกันในที่สุด) คนรับสื่อจะเพลิดเพลินในการติดตามรายละเอียดก่อนที่จะได้รับทราบข้อมูลสำคัญที่สุดในตอนจบ โดยเฉพาะหากเป็นการจบแบบหักมุม ก็จะสร้างการจดจำได้ดี

แต่การให้ดูคลิปจนตาลาย แล้วมาเฉลยในตอนจบว่า “คลิปนี้ไม่มีอะไรจ้า” น่าจะถือเป็นการหักหลังคนดู มากกว่าหักมุมไหม

แบบที่หก ข้ามเส้นส่วนตัว  โดยปกติ คนทุกคน รวมถึงแหล่งข่าว (ไม่ว่าจะไปทำดี-ทำชั่วแบบใดมาก็ตาม) ควรได้รับความคุ้มครองความเป็นส่วนตัว รวมทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่เราก็ยังเห็นนักข่าวเข้าไปมะรุมมะตุ้มแหล่งข่าวจนรู้สึกอึดอัด เช่น กรณีคุณแซนที่ไปร่วมงานพิธีรำลึกคุณแตงโมและถูกนักข่าวล้อมหน้าล้อมหลังดังที่เล่าไปข้างต้น ถึงกับหลุดปากออกมาว่า “ขอโทษนะคะ ช่วยมีมารยาทหน่อย” หรือที่อาจมีภาพที่นักข่าวไปล้อมแหล่งข่าวจนแหล่งข่าวต้องนั่งลงขอพักดมยา

อย่างไรก็ตาม ในสนามข่าวชุลมุนแบบนี้ เราก็ได้เห็นแหล่งข่าวที่รักษาสิทธิ์ตัวเองได้เป็นอย่างดี เช่นกรณีคุณโบ TK เพื่อนคนหนึ่งของคุณแตงโม แถลงข่าวหลังจากไปให้การกับตำรวจ โดยมีเป้าชัดเจนว่าจะแถลงเฉพาะข้อเท็จจริงที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณโบเท่านั้น (เช่น ทำไมเพิ่งมาให้การกับตำรวจหลังเกิดเหตุการณ์ไปแล้วตั้งหลายวัน ฯลฯ) และคุณโบแจ้งกับสื่อไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์ข้อมูลที่คุณกระติก (ผู้จัดการของคุณแตงโม) บอกคุณโบหลังคุณแตงโมตกน้ำในคืนนั้น เพราะคุณโบสัญญากับเจ้าหน้าที่ว่าจะไม่เปิดเผยเรื่องนี้กับสื่อ

หากเราได้ดูการแถลงดังกล่าวจะเห็นว่า มีการจัดเวทีการแถลงข่าวอย่างค่อนข้างเป็นกิจลักษณะ มีระยะห่างระหว่างคุณโบกับกองทัพนักข่าว มีการจัดคิวการถามโดยแจ้งให้นักข่าวยกมือ และคุณโบใช้วิจารณญาณในการเลือกที่จะตอบหรือจะไม่ตอบคำถามนักข่าว

เช่น นักข่าวถามว่า ปกติคุณแตงโมมีพฤติกรรมการปัสสาวะอย่างไร คุณโบตอบว่า ไม่ทราบ และสำทับว่าขอไม่ตอบสิ่งที่เป็นความคิดเห็น เพราะเราควรโฟกัสไปที่ข้อเท็จจริงจะดีกว่า หรือมีบางจังหวะที่โดนนักข่าวถามแทรก เธอก็จะบอกว่า “ยังพูดไม่จบค่ะ ขออภัย ขอพูดต่อได้ไหมคะ”

ในระหว่างการแถลงข่าวกว่าครึ่งชั่วโมงนั้น นักข่าวพยายามป้ายยาหลายหนให้เธอพูดในสิ่งที่ได้ให้การกับตำรวจ แต่คุณโบก็มีสติตั้งมั่น ตอบไป-ยิ้มไป หลายต่อหลายหน ว่า ขอไม่ตอบ ขอไม่ตอบ และขอไม่ตอบนะคะ

ยืนหนึ่ง ยานแม่ เป็นคลิปแห่งปีที่แหล่งข่าวควรศึกษาเพื่อใช้เป็นแบบอย่างในการดีลกับสื่อ           

ทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่า สื่อได้ใช้สารพัดวิธีในการเพิ่มเรตติ้งให้ตัวเอง หากมองในมุมเรตติ้งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถใช้รายการคุยข่าว รายการนิวส์โชว์ รายการสัมภาษณ์ ฯลฯ ในการนำเสนอเนื้อหาให้ “น่าติดตาม” สร้างรายได้มหาศาลแก่สื่อ

แต่หากมองในมุมอื่นๆ เช่น กฎกติกามารยาท วิธีการนำเสนอเนื้อหา การทำบทบาทหน้าที่ต่อสาธารณะ ฯลฯ ก็อยากขอเชิญชวนให้ผู้รับสื่อช่วยถกเถียงกันไปเรื่อยๆ ว่าการทำแบบนี้มันเวิร์คหรือไม่เวิร์ค อย่างไร

เพราะผู้รับสื่อมีความหลากหลาย พวกเขาที่มีรสนิยมแตกต่าง และอาจไม่ได้นิยมการนำเสนอในแบบดังกล่าว ก็ควรมีสิทธิ์ได้รับบริการจากสื่อด้วยใช่ไหม

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
8
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Media

ภาพมันเบลอ หรือ (อุดมการณ์)เธอไม่ชัดเจน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และชวิน ชองกูเลีย . เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

Media

Bangkok Pride 2024 : เรื่องที่พาเหรดปีนี้อยากบอก

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ . มองไปทางไหนก็เจอแต่สีรุ้ง!  เมื่อถนนถูกปิด เสียงดนตรีเร้าใจบรรเลงขึ้น และมวลชนสีรุ้งก็กำลังเคลื่อนตัว เป็นสัญญาณว่าพาเหรด Bangkok Pride 2024 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ผู้คนต่างแต่งกายและแต่งแต้มเรือนร่างด้วยสีรุ้งอันเป็นสัญลักษณ์ของ ...

Writings

ชายผู้สร้างถนนในบรรณพิภพ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  บทนำ “ขอถามได้ไหมคะว่าคุณน้าเป็นคนที่ไหน” “เป็นคนใต้ จังหวัดยะลา แต่ขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ นานจนกระทั่งคนอื่นเขาเข้าใจผิดกันหมดแล้วว่าเป็นคนกรุงเทพฯ” “พอได้ยินเสียงสำเนียงของคุณน้า ก็เลยคิดว่าอาจจะไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์” “ยังติดสำเนียงใต้ใช่ไหม แล้วทองแดงออกเยอะไหมล่ะ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save