เรื่องและภาพประกอบ : ปาณิสรา ช้างพลาย
Varasarnpress ชวนคุณมาเปิดบันทึกลับ ฉบับ Gen Z ถึงมุมมองที่มีต่อการ “ดูดวง” ว่าเบื้องหลังความเชื่อ และคำทำนายต่าง ๆ นั้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้การดูดวงเป็นที่นิยมในหมู่ Gen Z ตั้งแต่วัยมัธยม ไปจนถึงวัยเริ่มทำงาน
จากการเผยแพร่แบบสอบถามทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 15-20 มีนาคม 2565 มี Gen Z ในช่วงอายุระหว่าง 17-25 ปี เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 100 คน ซึ่งแบ่งเป็น คนที่นับถือศาสนาพุทธ 73% (73 คน), คนที่ไม่นับถือศาสนาใด 20% (20 คน), คนที่นับถือศาสนาคริสต์ 2% (2 คน) และอื่น ๆ อีก 5% (5 คน) โดยมีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถาม ดังนี้
- เพศชาย จำนวน 7 คน
- เพศหญิง จำนวน 67 คน
- LGBTQIAN+ จำนวน 20 คน
- ไม่ระบุเพศ จำนวน 6 คน
จากการสำรวจ “ราศี” ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด สามารถนำมาจัดเป็น 5 อันดับราศีที่มีเกณฑ์จะเสียเงินให้กับการดูดวงมากที่สุด ได้ดังนี้
อันดับที่ 1 ราศีกันย์ : 13%
อันดับที่ 2 ราศีเมษ : 10%
อันดับที่ 3 ราศีพฤษภ : 9%
อันดับที่ 4 ราศีกรกฎ : 9%
อันดับที่ 5 ราศีพิจิก : 9%
ผลสำรวจจากคำถาม “คุณชื่นชอบในศาสตร์การดูดวงประเภทใดมากที่สุด” พบว่า ประเภทที่มีคนเลือกตอบมากที่สุดคือ ‘ไพ่ยิปซี/ไพ่ทาโรต์’ 59% (59 คน) ไพ่ยิปซีเป็นศาสตร์การทำนายที่ได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศไทยและสากล ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยการอ่านความหมายและตีความจากรายละเอียดที่แฝงนัยยะต่าง ๆ ไว้บนหน้าไพ่ ซึ่งความหมายของไพ่อาจเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องราวในชีวิต รายละเอียดเหตุการณ์ ความสัมพันธ์ หรือบุคลิกตัวตน หมอดูจะตีความและนำมาเชื่อมโยงกับบทสนทนา หรือปัญหาที่นำมาดูดวง พร้อมทำนายเหตุการณ์ แนะนำแนวทางแก้ไข รวมถึงให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ
7 อันดับศาสตร์การดูดวงที่ Gen Z ชื่นชอบมากที่สุด ได้แก่
- ไพ่ยิปซี/ไพ่ทาโรต์ : 59%
- ศาสตร์ตัวเลข (วันเกิด, เบอร์มือถือ, ฯลฯ) : 10%
- โหราศาสตร์ไทย/ยูเรเนี่ยน (ใช้ดวงดาวทำนาย) : 9%
- เซียมซี : 6%
- ไพ่ออราเคิล : 6%
- ดูลายมือ/ลายเท้า : 5%
- อื่น ๆ : 5%
41% ของผู้ตอบแบบสอบถาม บูชาเครื่องราง หรือของขลังที่มีไว้เสริมดวง นอกจากนี้คน Gen Z ส่วนใหญ่มักจะดูดวงเพราะต้องการหาคำตอบหรือหนทางแก้ไข
จากคำถาม “คุณนับถือหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดต่อไปนี้บ้าง” (ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 41% (41 คน) บูชาเครื่องรางหรือของขลังที่มีไว้เสริมดวง ในขณะที่ 39% (39 คน) ไม่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด อีก 24% (24 คน) นับถือเทพเจ้าในด้านต่าง ๆ 18% (18 คน) บูชาพระเครื่อง และอื่น ๆ อีก 3% (3 คน) จากตัวเลขของผู้ที่บูชาเครื่องรางหรือของขลังที่มีไว้เสริมดวง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดนั้น อาจกล่าวได้ว่าแม้ Gen Z จะมีภาพลักษณ์ที่ดูหัวสมัยใหม่ ปฎิเสธเรื่องลึกลับหรืองมงาย แต่ในความเป็นจริงคน Gen Z บางส่วนก็ยังต้องการที่พึ่งทางจิตใจบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องคลายกังวลจากปัญหาต่าง ๆ ที่แบกรับไว้ ทำให้การบูชาเครื่องรางของขลังและกระแสเรื่องการดูดวงได้รับความนิยมสูง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ตามความหนักใจที่ Gen Z มีต่ออนาคตของตน
สอดคล้องกับผลสำรวจในคำถาม “คุณดูดวงเพราะเหตุผลใด” โดย 71% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มักจะดูดวงเพราะต้องการหาคำตอบหรือหนทางแก้ไขในประเด็นที่ตนเองสนใจ
ผู้ตอบแบบถามสอบถาม 71% (71 คน) ระบุสาเหตุที่ดูดวงว่า ‘ต้องการหาคำตอบหรือหนทางแก้ไขในประเด็นที่ตนเองสนใจ’ รองลงมาคือ ‘ต้องการรู้ผลคำทำนายในแง่บวก เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี หรือสร้างขวัญกำลังใจ’ เป็นสัดส่วนกว่า 59% (59 คน) อันดับที่สามคือ ‘ต้องการคำยืนยันในสิ่งที่ตนเองรู้อยู่แล้ว เพื่อช่วยในการตัดสินใจ’ ซึ่งคิดเป็น 56% (56 คน) อันดับที่สี่คือ ‘เพื่อความบันเทิงส่วนตัว’ 53% (53 คน) อันดับที่ห้าคือ ‘เพื่อทดสอบผลคำทำนายว่าตรงกับความเป็นจริงหรือไม่’ 46% (46 คน) และอันดับสุดท้ายคือ ‘ต้องการรู้ผลคำทำนายในแง่ลบ เพื่อเตือนตัวเองให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง’ 32% (32 คน)
ตัวเลขจากทั้ง 2 ข้อมูลที่กล่าวมานั้น อาจสรุปได้ว่า ความนิยมในการดูดวง รวมถึงการบูชาเครื่องรางหรือของขลังเสริมดวงต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นของ Gen Z เป็นผลมาจากความยากลำบากในการตั้งตัวของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะจากปัญหาส่วนตัวต่าง ๆ หรือความคาดหวังของสังคมที่กลายเป็นบรรทัดฐานให้ต้องก้าวข้ามหากไม่อยากถูกแปะป้ายว่าเป็นคนที่ล้มเหลว การดูดวงใน Gen Z อาจเป็นมากกว่าแค่ทำนายอนาคต แต่สะท้อนภาพความกังวลใจที่ต้องการหาคำตอบ หรือหนทางแก้ไขว่าปัญหาที่เผชิญอยู่จะผ่านไปอย่างไร
‘ความสัมพันธ์’ ‘การเรียน-การงาน’ และ ‘การเงิน’ ปัญหาที่ Gen Z แบกไว้และนำไปดูดูวง
ผลสำรวจจากคำถาม “คุณดูดวงในหัวข้อ/ปัญหาใดบ้าง” (ผู้ตอบสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า หัวข้อที่มีคนเลือกตอบมากที่สุดคือ ‘ความรัก/ความสัมพันธ์’ 88% (88 คน) รองลงมาคือ ‘การเรียน’, ‘การงาน’ และ ‘การเงิน/โชคลาภ’ ตามลำดับ โดยปัญหาที่ Gen Z ส่วนใหญ่เลือกนำไปดูดวงนี้ สะท้อนภาพได้ว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับ ความสัมพันธ์ การเรียน การงาน และเรื่องเงิน เป็นอย่างมาก และอาจเป็นความกดดันที่แบกไว้โดยไม่รู้ตัว จึงส่งผลต่อพฤติกรรมในการหันมาใช้บริการการดูดวงเพื่อเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจสู่ทางออกของปัญหาที่ต้องเผชิญ
6 ปัญหาที่ Gen Z แบกไว้และนำไปดูดวง
- ความรัก/ความสัมพันธ์ : 88%
- การเรียน : 83%
- การงาน : 78%
- การเงิน/โชคลาภ : 78%
- สุขภาพ : 49%
- ปัญหาส่วนตัวเฉพาะเรื่อง : 45%
สำรวจค่าใช้จ่ายที่ Gen Z ใช้ในการดูดวง
ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 48% (48 คน) ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายในการดูดวงต่อครั้ง เป็นจำนวนเงินต่ำกว่า 100 บาท ในขณะที่อีก 46% (46 คน) มีค่าใช้จ่ายประมาณ 100-500 บาท ส่วนผู้ที่ตอบแบบสอบถามอีก 6% (6 คน) มีค่าใช้จ่ายในการดูดวงเป็นจำนวน 500-1,000 บาท โดยประมาณ
ความถี่ในการดูดวงแต่ละครั้งของ Gen Z
- 1 – 3 เดือน : 44%
- 6 เดือนดู 1 ครั้ง : 21%
- 1 ปี ดู 1 ครั้ง : 14%
- 1 – 2 สัปดาห์ : 13%
- อื่น ๆ : 8%
มุมมองของ Gen Z ต่อการดูดวง
เมื่อถามถึงมุมมองต่อการดูดวงว่า “การดูดวงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่อ้างอิงจากหลักสถิติ” พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 57 คน ‘ไม่แน่ใจ’ รองลงมาคือ ‘เห็นด้วย’ จำนวน 30 คน และ‘ไม่เห็นด้วย’จำนวน 13 คน ในขณะที่ข้อ “การดูดวงเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติที่อาศัยการหยั่งรู้ การใช้ลางสังหรณ์ หรือจิตใต้สำนึก” พบว่า 49 คนนั้น ‘ไม่แน่ใจ’ รองลงมาคือ ‘เห็นด้วย’ จำนวน 40 คน และ ‘ไม่เห็นด้วย’ จำนวน 11 คน สำหรับคำถาม “การดูดวงเป็นเรื่องของการคาดเดา การสังเกต โดยอาศัยข้อมูลเชิงจิตวิทยา” พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ‘เห็นด้วย’ เป็นจำนวนกว่า 70 คน รองลงมาคือ ‘ไม่แน่ใจ’จำนวน 28 คน และ ‘ไม่เห็นด้วย’ จำนวน 2 คน สุดท้าย “การดูดวงยิ่งมีราคาแพง คำทำนายที่ได้จะยิ่งตรง/มีแนวโน้มจะเป็นจริงมากขึ้น” พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 72 คน ‘ไม่เห็นด้วย’ รองลงมาคือ ‘ไม่แน่ใจ’ จำนวน 16 คน และ ‘เห็นด้วย’ จำนวน 12 คน
เมื่อถามถึง “ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการดูดวง” พบว่า หลังจากการดูดวง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ‘มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น’ จำนวน 60 คน รองลงมาคือ ‘อยากใช้บริการดูดวงต่อ ๆ ไป’ จำนวน 58 คน “ความทุกข์/ความเครียด/ความกังวล ลดลง/หายไป” จำนวน 54 คน และ “ได้รับแนวทางในการแก้ปัญหา” จำนวน 50 คน จากตัวเลขนี้สะท้อนทัศนคติของ Gen Z ที่ค่อนข้างมีมุมมองต่อการดูดวงในแง่บวก และเลือกใช้การดูดวงเพื่อตอบความกังวลใจให้รู้สึกมั่นใจกับทางที่จะเลือกเดินมากขึ้น
นอกจากนี้ในผลสำรวจเรื่อง “คุณเชื่อในคำทำนายที่ได้รับมากน้อยเพียงใด” พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เลือกเชื่อใน ‘คำทำนายที่ตรงกับชีวิต/ลักษณะนิสัยตนเอง’ มากที่สุด จำนวน 75% (75 คน) ขณะที่มีผู้ตอบแบบถามที่เลือกเชื่อ ‘คำทำนายทั้งหมด’ มีเพียงแค่ 3% (3 คน) เท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ Gen Z จะหาทางออกให้ปัญหาบางเรื่องด้วยการดูดวง แต่การใช้วิจารณญาณที่จะเลือกเชื่อคำทำนายก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกเชื่อบางส่วนหรือด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
Gen Z เชื่อในคำทำนายที่ได้รับมากน้อยเพียงใด
- เชื่อในสิ่งที่ตรงกับชีวิต/ลักษณะนิสัยตนเอง : 75%
- เชื่อเฉพาะในด้านที่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองคิด : 48%
- เชื่อเฉพาะในด้านที่ดี : 44%
- ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ : 9%
- ไม่เชื่อเลย : 5%
- เชื่อเฉพาะในด้านที่ไม่ดี : 3%
- เชื่อทั้งหมด : 3%
- อื่น ๆ : 2%
จากคำถาม “เรื่องใดที่หมอดูทักคุณและคุณคิดว่าตรงมาก” มีผู้ตอบทั้งหมด 103 เรื่อง สามารถนำมาจัดอันดับเรื่องที่หมอดูทักและตรงที่สุดได้ 8 หมวด ซึ่งหมวดที่มีคนตอบมามากที่สุดคือ ‘พื้นฐานนิสัย’ จำนวน 24.3% หรือคิดเป็น 25 คน โดยหมวดอื่น ๆ สามารถเรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้
- พื้นฐานนิสัย : 24.3%
- ครอบครัว/ความรัก/ความสัมพันธ์ : 23.3%
- การเรียน/การงาน : 22.3%
- การเงิน/โชคลาภ : 13.6%
- สุขภาพ : 4.9%
- อุปสรรค/ปัญหาชีวิต : 4.9%
- อุบัติเหตุ : 3.9%
- การเดินทาง : 2.9%
โดยมีตัวอย่างคำทัก เช่น “ทักว่าสวย ผ่านเข้ารอบ ได้รางวัล เลือกเอกที่อยากเรียน”, “…หมอดูทำนายว่าจะมีอุปสรรค ณ ขณะที่ได้รับคำทำนาย เราไม่เชื่อเลย เพราะเหตุการณ์ทุกอย่างปกติมาก จนถึงวันสำคัญจริง ๆ กลับมีอุปสรรคตามที่หมอดูทำนาย ทำให้งานของเราไม่สำเร็จ”
ในด้าน “เรื่องใดที่หมอดูทักคุณและคุณคิดว่าไม่ตรงเลย” มีผู้ตอบทั้งหมด 86 เรื่อง สามารถนำมาจัดอันดับเรื่องที่หมอดูทักและไม่ตรงที่สุดได้ 6 หมวด ซึ่งหมวดที่มีคนตอบมากที่สุดคือ ‘ครอบครัว/ความรัก/ความสัมพันธ์’ จำนวน 51.2% หรือคิดเป็น 44 คน โดยหมวดอื่น ๆ สามารถเรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้
- ครอบครัว/ความรัก/ความสัมพันธ์ : 51.2%
- การเรียน/การงาน : 17.4%
- การเงิน/โชคลาภ : 11.6%
- สถานการณ์ชีวิต : 11.6%
- สุขภาพ : 5.8%
- พื้นฐานนิสัย : 2.3%
โดยมีตัวอย่างคำทักที่น่าสนใจ เช่น “จะมีสามีที่เป็นผู้ชาย แต่เราเป็น LGBTQ”, “จะได้แฟนสวย สาวรุมจีบ กูเป็นตุ๊ดค่าาาา”, “เรื่องผู้ชายที่บอกว่าจะมีเข้ามาในชีวิต ซึ่งความจริงไม่มีเลยค่ะ แค่เข้ามาทักว่าสวัสดียังไม่ค่อยจะมี”, ‘ในห้องที่หอมีผีกะเทยอยู่’
ทั้งนี้ จากระยะเวลาการเก็บข้อมูลที่จำกัดและการกระจายของแบบสอบถามที่อยู่ในวงแคบ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่ามุมมองหรือความเชื่อในศาสตร์การดูดวงสอดคล้องกับมุมมองของคน Gen Z ส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคมไทยหรือไม่ แต่การเก็บข้อมูลครั้งนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การดูดวงได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคน Gen Z อย่างไรบ้างในปัจจุบัน
แล้วคุณคิดอย่างไรกับการดูดวง หรือเคยถูกหมอดูทักเรื่องไหนแล้วจำได้ไม่ลืม
ร่วมแชร์ประสบการณ์การดูดวง ฉบับ Gen Z ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Varasarnpress