LifestyleWritings

The Bear ไม่รักได้ไหม เป็นแค่เพื่อนได้หรือเปล่า

เรื่อง : สมิตา พงษ์ไพบูลย์

ภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์

การดูซีรีส์สักเรื่องให้เข้าใจ แค่รู้ว่าใครคือพระเอก-นางเอก ก็ติดตามเนื้อเรื่องได้ไม่ยาก แค่รอดูว่าเขาจะรักกันตอนไหน 

แต่ The Bear (2022) ซีรีส์ของ Disney hotstar จากผู้เขียนและกำกับ คริสโตเฟอร์ สตอเรอร์ ที่ทำคนดูอึดอัดกับห้องครัวแคบ ๆ เลอะเทอะซอส เศษผัก และคราบน้ำมันไปทั่วพื้น ต้องคอยลุ้นว่าใครจะทำเรื่องไม่คาดคิดจนเกิดปัญหาให้ตามแก้อีก พร้อมเอาใจช่วยให้เชฟในชุดขาวไม่ถึงขั้นได้รับรางวัลยิ่งใหญ่ แต่แค่คำชมอาหารจากเพื่อนร่วมงานก็ชื่นใจแล้ว

ภาพจาก FX Networks

ตัวละครหลักคือ คาร์มี่ แสดงโดย เจเรมี ไวท์ เชฟชื่อดังมากประสบการณ์ระดับมิชิลินสตาร์ ผู้หันมารับกิจการร้านขายอาหารที่เน้นวัตถุดิบเนื้อวัวในร้านเก่าๆ ต่อจากพี่ชายที่เสียชีวิต นอกจากพระเอก ยังมีคนที่โดดเด่นกว่าใคร คือ ซิดนี่  แสดงโดย อาโย เอเดบิรี เชฟหญิงรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้สมัครเป็นพนักงานในร้านที่ดูไม่มีอนาคตเพราะต้องการเรียนรู้จากคาร์มี่

นี่คือจุดเริ่มต้นของการตีความ เมื่อผู้ชมเห็นตัวละครหลักสองคน ที่มีสถานะชายหญิง ได้รับความสำคัญในการเล่าเรื่องเทียบเคียงกัน ต้องเป็นพระเอกและนางเอก ที่สุดท้ายจะรักกันแน่นอน 

ภาพจาก FX Networks

หลังจากดำเนินไปจนจบซีซันแรกคนดูถึงกับความงงมาเยือน เมื่อไม่เห็นพระนางเขาจะรักกันสักที กลุ่มคนดูจึงนำวัตถุดิบที่มีคือฉากที่แสดงร่วมกันของ คาร์มี่  กับ ซิดนี่ ไปบิ๊วกันบนโซเชียลมีเดียว่า หรือนี่จะเป็นความสัมพันธ์เชิง สโลวเบิร์น (Slowburn) กล่าวคือเส้นเรื่องความรัก ที่ค่อย ๆ ดำเนินไปเรื่อย ๆ ใช้เวลา ไม่หวือหวา แต่จะสมหวังในตอนท้าย

สุดท้ายผู้สร้างให้สัมภาษณ์กับสื่อธุรกิจบันเทิง Variety ตัดความหวังของแฟนคลับจนสิ้น คริสโตเฟอร์ กล่าวว่าพวกเขาอยากสร้างเรื่องราวที่เกี่ยวกับมิตรภาพ และพันธมิตร (เพื่อนร่วมงาน) เล่าเรื่องราวของคนที่เก่งในงานที่ทำและผลักดันคนรอบข้าง เขาไม่ค่อยเห็นซีรีส์ที่ไม่มีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก เลยคิดว่ามันอาจจะเท่ และน่าสนใจดี ถ้าเขาทำ

และนี่ไม่ใช่กรณีเดียวที่ผู้สร้างต้องการให้ความสำคัญกับมิตรภาพ หรือความรักในรูปแบบอื่นนอกจากความโรแมนติก พบเห็นได้อีกในอนิเมะชื่อดัง ที่เพิ่งเผยแพร่ภาคคนแสดงอย่าง One Piece (2023) สตีเวน เมดา ผู้อำนวยการสร้างสูงสุด (Showrunner)ให้สัมภาษณ์กับสื่อบันเทิง TVLine ว่า ผู้เขียน อย่างเออิจิโร โอดะ ไม่อนุญาตให้นำเรื่องราวไปดัดแปลงจากมิตรภาพลูกเรือเป็นความรักอันโรแมนติกเด็ดขาด

ความสัมพันธ์ที่เหมือนกันของสองเรื่องนี้ มีคำนิยามว่า พลาโตนิก รีเลชั่นชิป (Platonic Relationship) คือความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อน หรือคนรู้จักทั่วไป แต่ไม่มีความโรแมนติก และกิจกรรมทางเพศเกี่ยวข้อง เป็นการอธิบายความรู้สึกเมื่อรู้สึกกับคนคนหนึ่งมาก แค่ไม่ได้ต้องการหอม จูบ ลูบ คลำ อย่างคนรัก

จบความสัมพันธ์เชิงพลาโตนิกของเพื่อนร่วมงาน ที่ต่อเนื่องไปนอกที่ทำงาน เข้าถึงชีวิตส่วนตัว แต่ไม่ถึงเตียงโรยกุหลาบจากซีซันแรก สู่เนื้อหาซีซัน 2 ผู้สร้าง The Bear เลือกจะเล่าความรักอีกสองแบบ 

หนึ่งคือ ความรักโรแมนติกเป็นทางออกจากเรื่องเครียด

สองคือ ความรักมีแค่ตัวเองก็รักได้

เพราะการเล่าพร้อมกันทั้งสองแบบ ทำให้มีตัวเปรียบเทียบ และช่วยให้คนดูไม่หลงไหลไปกับสารที่ชูความรักเพียงด้านเดียว ว่าเมื่อชีวิตมันยาก เครียดจนไม่ได้ผ่อนคลาย ก็ควรหันไปพึ่งความรัก จากคนสักคน ให้ไม่เหงาเกินไป มีอีกคนช่วยแบ่งเบา แต่หากเล่าอย่างนั้น แล้วคนโสดจะทำอย่างไร… 

ในองก์นี้ผู้เขียนชื่นชมการเล่าเรื่องได้ไม่เต็มปากนัก เมื่อใส่ความรักโรแมนติกมาอย่างไม่ใส่ใจเท่ารักพลาโตนิกกับซิดนี่ เพื่อนร่วมงาน หรือรักแบบที่รักคนเดียวซึ่งจะอธิบายในตอนท้าย

ภาพจาก FX Networks

ผู้สร้างแนะนำตัวละครใหม่  แคลร์ แสดงโดย มอลลี กอร์ดอน สาวผู้มีชีวิตชีวาและการงานมั่นคง เป็นคนที่คาร์มี่แอบชอบสมัยเรียน มีตัวตนวนเวียนอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่เคยเห็นในซีซันแรกเลย คราวนี้เข้ามาในฐานะแฟนสาวด้วยความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก 

ในช่วงแรกผู้เขียนเห็นความพยายามของผู้สร้างที่จะซื่อตรงต่อตัวละคร ซึ่งเป็นเชฟที่มุ่งมั่นจนหมกมุ่น ไม่สนใจความโรแมนติก คือการที่พระเอกหลีกเลี่ยงแคลร์ โกหกเบอร์โทรฯ ไม่ให้ช่องทางติดต่อ แต่จากการเข้าหาที่ยากนิดหน่อย เมื่อคาร์มี่ได้เริ่มรักนิดเดียว ก็กลายเป็นรักจนเสียงาน ขัดต่อความคุ้นชิน กลายเป็นความสัมพันธ์ที่รวดเร็วจนประติดประต่อเรื่องราวได้ไม่ไหลลื่น 

เธอปรากฎตัวในจังหวะที่พอดีกับอาการเคร่งเครียดของคาร์มี่ แต่ตัวละครแคลร์จากปลายปากกาและเลนส์กล้องของผู้สร้าง มีหน้าที่เพียงเข้ามายิ้ม ปลอบโยนฝ่ายชาย ช่วยให้เขามีความสุขเพิ่มขึ้น รับฟังอดีตที่หลอกหลอนเขา แล้วภายหลังกลายเป็น ‘สิ่งรบกวน’ ที่ทำให้พระเอกหลงลืมร้านอาหาร ที่เขากำลังปลุกปั้นมันขึ้นใหม่พร้อมความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานหลายชีวิต เธอเป็นอุปสรรคที่ทำให้เขาไขว้เขวจนต้องเลิกรากันไปในที่สุด 

หากการเพิ่มตัวละครแคลร์เข้ามามีเหตุเพียงเพื่อจะบอกว่าพระเอกไม่พร้อมจะรับมือกับงานและเรื่องส่วนตัวไปพร้อมกัน ไม่พร้อมมีความรักรูปแบบโรแมนติก ก็ดูไม่จำเป็น เพราะมันชัดเจนจากมิติอื่น จากเรื่องส่วนตัวที่ค่อย ๆ แง้มให้ดูผ่านอดีตแล้ว

ความบางเบาแต่อันตรายจากการใส่เส้นเรื่องความรักอันหวานชื่น(ในช่วงเริ่ม) ผู้สร้างถ่วงน้ำหนักด้วยชีวิตรักของญาติผู้พี่ ริชาร์ด แสดงโดย อีบอน มอสส์-บาครัค พ่อหม้ายที่ได้โอกาสไปรับลูกหลังเลิกเรียนเป็นครั้งคราว ท่ามกลางความเคร่งเครียด ครั้งนี้คนดูพอยิ้มออกจากอีกหนึ่งตัวละครน่าเอาใจช่วย ผู้ประสบปัญหาที่คนดูรู้สึกได้ในทุกช่วงวัยของชีวิต 

ริชาร์ดเป็นตัวแทนของผู้ที่ไม่รู้ว่าเราเกิดมาเพื่อทำอะไรกันแน่ เขาซุกซ่อนอยู่ภายในร้านอาหารเล็ก ๆ หัวมุมถนนของชิคาโก้ กำลังครุ่นหาประโยชน์ของตัวเองอยู่ที่ชั้นใต้ดิน ในร้านบดเบียดไปด้วยเชฟที่รู้วิธีจะปรุงอาหาร มีญาติผู้น้องท้องแก่คอยจัดการงานเอกสาร คนรุ่นใหม่ก็ดูเก่งจนจะไม่เหลือที่ให้เขา หรือแม้แต่ญาติบ๊อง ๆ ที่ดูจะทำอะไรไม่เป็นยังมีหน้าที่ภายใต้หลังคาเดียวกัน 

ส่วนตัวเขาคอยขยับไปทำนั่นนี่ เสนอที่จะช่วย จะทำประโยชน์ก็กลายเป็นตัวเกะกะที่สร้างปัญหาเสียมากกว่า  แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจะไปอยู่ที่ตรงไหน สุดท้ายจะถูกบีบออกไปเรื่อย ๆ จนถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือเปล่า

จากนั้นการเดินทางของริชาร์ดก็ทำให้เขายิ้มจนคนดูต้องยิ้มตามหลังจอแก้วในมือ สิ่งทีเขาค้นพบไม่ใช่พลังพิเศษจากไหน เป็นเพียงการได้หาที่ที่เหมาะกับตัวเอง เป็นความสามารถที่มีมาตลอดอยู่ข้างใน รอคอยให้หยิบออกไปใช้ ผ่านหลายฉากที่บอกคนดูกลาย ๆ ว่าเขาเข้ากับคนได้ดี มีจุดเด่นด้านการเจรจา แม้การค้นพบจะเริ่มจากการเรียงส้อมในถาดซ้ำ ๆ น่าเบื่ออย่างนั้นทั้งวัน ไปถึงเสิร์ฟอาหารตามรายการที่ลูกค้าสั่ง เทียบไม่ได้กับการปรุงอาหารรสเลิศ หรือซ่อมอุปกรณ์ยุ่งยาก

แต่เมื่อได้เรียนรู้ความสำคัญของมัน ได้เห็น ได้ลอง และได้สัมผัสความอิ่มเอม จากการบริการที่ใส่ใจ จนลูกค้ามีความสุข งานเหล่านี้กลายเป็นการค้นพบความรักในอาชีพ และที่รักที่สุด คือรักในตัวเอง รักล้นอกจนได้เห็นชายวัยกลางคนตาเป็นประกาย เปิดเพลงเทย์เลอร์ สวิฟต์ ร้องลั่นในรถ เป็นอีกรูปแบบของความรักที่มีเพียงตัวเองก็พอ

ภาพจาก FX Networks

เนื้อเรื่องเคร่งเครียดแต่จัดอยู่ในหมวดคอมเมดี้ที่รอชิงรางวัลเอมมีส์ ต้นปีหน้า 2024 ถึง 13 รายการ ดูแล้วทั้งพระนาง และตัวละครอื่น คงไม่มีใครมีความรักอันหอมหวาน ไม่มีทางตัดจบไปสู่ภาพจูบกันอย่างหวานซึ้ง มองมุมหนึ่งอาจจะเป็นซีรีส์แอนตี้ความรักโรแมนติก แต่อีกมุมก็เป็นการนำเสนอความไม่สมหวังหรือได้ดั่งใจตลอดไป มีทั้งสุข เศร้า และน่าเบื่อ เป็นชีวิต ชีวิตที่จริงใจ

ไม่ว่าในซีซั่นต่อไป พระเอกจะลงด้วยความรักหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ได้ตกตะกอนจากความสัมพันธ์พลาโตนิกคือ การที่เขาและเพื่อนร่วมงานจะไม่มีหนทางลงเอยกันเป็นเพราะ

ไม่ใช่ว่าไม่สมควรจะได้รับความรักโรแมนติก เพียงแต่มันไม่จำเป็นที่จะต้องมีก็เท่านั้น

อ้างอิง

TVLine. 2023. “One Piece’s Nami and Zoro Will Never Get Together, No Matter How Hard You ‘Ship Them – Here’s Why” เข้าถึงวันที่ 25 กันยายน 2023. https://tvline.com/interviews/one-piece-nami-zoro-relationship-explained-netflix-interview-1235031973/

Variety. 2023. “How ‘The Bear’ Duo Jeremy Allen White and Ayo Edebiri Mastered the Platonic Partnership — and Why It’ll Stay That Way in Season 2” เข้าถึงวันที่ 25 กันยายน 2023. https://variety.com/2023/tv/features/the-bear-jeremy-allen-white-ayo-edebiris-season-2-1235475312/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Lifestyle

Writings

ผู้ดูแลคนพิการคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน

เรื่องและภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ฉันกำลังทำความสะอาดข้าวของเก่าๆ ในห้องเก็บของอยู่ สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นกล่องพลาสติกใสมีฝาปิด ด้านในอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มรูปภาพตั้งเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ  ฉันตัดสินใจนั่งลงบนพื้นแล้วเปิดฝากล่องออก ค่อยๆ หยิบอัลบั้มแต่ละเล่มออกมาเปิดดูด้วยความสงสัย รูปทั้งหมดหลายร้อยใบล้วนเป็นรูปครอบครัวของฉัน มันได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในซองพลาสติกใสของอัลบั้ม ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีใครเขียนวันเดือนปีระบุเอาไว้ ...

Writings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น ...

Writings

Dear Dorothea ยังมีที่ว่างให้ฉันอยู่ไหม

เขียน กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร บทเปิดจากภาพยนตร์เพื่อน (ไม่) สนิทบอกไว้ว่าทั้งชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน จากการคำนวณด้วยสมการของนักวิทยาศาสตร์ โดยใน 150 คน ...

Writings

ห้ามพลาดกับศึกที่ไม่มีครั้งที่ 2 ใน Haikyuu!!  เดอะมูฟวี่ “ศึกตัดสินแห่งกองขยะ”

เขียนและภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ Haikyuu (ハイキュー!!) หรือ ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลนักเรียนม.ปลายในญี่ปุ่น ผลงานของอาจารย์ฟุรุดาเตะ ฮารุอิจิ ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Weekly Shonen ...

Writings

ตุ๊กตาหมีกับการเป็นสัญลักษณ์ความอบอุ่น 

เขียน : จิตริณี แก้วใจ  ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์  หลายคนคงเคยมีช่วงเวลาที่ชื่นชอบสิ่งที่เรียกว่าตุ๊กตาหมี  เพราะการมีตุ๊กตาหมีให้กอดหรืออยู่เคียงข้างกายนั้น สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย คลายความเหงา และสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี  ซึ่งอาจเป็นเพราะความสามารถพิเศษเหล่านี้ของเจ้าตุ๊กตาหมี ทำให้มีวันที่เรียกว่า ...

Writings

Girls And Boys by Jenny Han เด็กหนุ่มเด็กสาวในแบบฉบับของเจนนี่ ฮานส์

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : จิรัชญา นุชมี และ ศิรประภา ศรีดาจันทร์ หากใครเป็นสาวกซีรีส์ฝรั่งก็คงจะเคยได้ยินชื่อ To All The ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save