Writings

ข่าวเลขเด็ด: สิ่ง “งมงาย” ที่บ่งบอกสภาพเศรษฐกิจ

เรื่อง:  ชวิน ชองกูเลีย ศิรประภา จารุจิตร และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์

ภาพ: รุ่งไพลิน บัวศรี

“ชาวบ้านแห่ขอเลขเด็ด”

“คอหวยไม่พลาด”

“โซเชียลแห่ตีเลขเด็ด”

…เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกคุ้นเคยกับรูปแบบประโยคเหล่านี้กันพอสมควรจากการอ่านข่าวต่างๆ ในแต่ละวันจนอดนึกสงสัยไม่ได้ว่าทำไมบางทีจึงเห็น ‘ข่าวเลขเด็ด’ บ่อยยิ่งกว่าข่าวประเภทอื่นๆ เสียอีก

ข่าวเลขเด็ดมีความสำคัญกับคนไทยมากเพียงนั้นเชียวหรือ

หากต้องการรู้ถึงความสำคัญของข่าวเลขเด็ด อาจต้องพูดถึงสิ่งที่เปรียบเสมือนต้นตอสำคัญของข่าวเลขเด็ดนั่นก็คือ ‘สลากกินแบ่งรัฐบาล’ หรือที่เรียกติดปากกันว่า ‘หวย’ ก่อน

สลากกินแบ่งฯ หรือหวย คือกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ที่สามารถพลิกชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ เปรียบเสมือนแผ่นกระดาษที่ช่วยหล่อเลี้ยงความหวังที่จะ “อยู่ดีกินดี” ของผู้คนที่เหนื่อยหน่ายต่อการหาเงินเลี้ยงชีพ เพราะเพียงแค่เลือกตัวเลขที่ชอบ หยิบแผ่นกระดาษที่ใช่ และถูกรางวัล ใครก็อาจกลายเป็นเศรษฐีได้เพียงชั่วข้ามคืน

กล่าวกันว่า สลากกินแบ่งฯ หรือหวยเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับเหล่าชาวไทยนักวาดฝันหวาน สังเกตได้จากเนื้อหาจากสำนักข่าวต่างๆ ที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าวการออกรางวัล ข่าวผู้ถูกรางวัล รวมไปถึงข่าวเลขเด็ด ซึ่งบอกถึงที่มา การตีความเลข และความเชื่อของผู้คนที่ใช้สำหรับการตามหาตัวเลขเพื่อนำมาซื้อหวย ข่าวเลขเด็ดจึงน่าจะมีความสำคัญและเปรียบเสมือนความหวังของคนไทยส่วนหนึ่งหรือไม่

ข้อมูลจาก ‘ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน’ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า จำนวนผู้เล่นสลากฯ ในปี พ.ศ.2562 มีประมาณ 22.7 ล้านราย และจำนวนผู้เล่นสลากฯในปี 2564 เพิ่มเป็น 24.6 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี อีกทั้งยังพบว่า รายได้กองสลากของประเทศไทยสูงขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2561-2565 ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยลงนับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทีมผู้ศึกษา ซึ่งเรียนวิชา วส.211 การรายงานข่าว คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องการหาคำตอบว่า ข่าวเลขเด็ดทั้งหลายมีรูปแบบการนำเสนออย่างไร และข่าวเลขเด็ดมีความสัมพันธ์กับสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยอย่างไร

วิธีการศึกษาคือ ศึกษาจำนวนข่าวที่เกี่ยวข้องกับเลขเด็ดจากสำนักข่าว 2 แห่ง คือสำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ที่มีนโยบายเน้นข่าวเบา และสำนักข่าวมติชนออนไลน์ที่มีนโยบายเน้นข่าวหนัก ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2561 จนถึง พ.ศ.2565 โดยการใช้วิธีการค้นหา เลขเด็ด -คำที่ไม่ต้องการ (เช่น สรุปข่าว รวมข่าว ครูปรีชา ฯลฯ) เพื่อดูจำนวนครั้งต่อปี และตัวอย่างของการออกข่าวเกี่ยวกับเลขเด็ด รวมทั้งศึกษาตัวเลขทางเศรฐกิจในด้านต่างๆ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศไทย  ฯลฯ

รูปแบบการนำเสนอข่าวหวย

การนำเสนอข่าวเลขเด็ดมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น การเปิดสถิติเลขเด็ดในแต่ละปี ข่าวการตีความเลขเด็ดด้วยวิธีการต่างๆ หรือข่าวแนะนำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนเดินทางไปขอเลขเด็ด และถึงแม้ว่าข่าวเหล่านี้จะถูกนำเสนอให้เห็นเป็นประจำ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้เองไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องซะทีเดียว

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ออกแนวปฏิบัติเรื่อง ‘เรื่องการนำเสนอข่าว และภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากพนัน  พ.ศ. 2565 เพื่อรณรงค์ให้สื่อไม่นำเสนอเนื้อหาที่งมงาย และสนับสนุนการเสี่ยงโชค ทว่าในการปฏิบัติจริง สื่อหลายสำนักกลับละเลยแนวปฏิบัติฯ ดังกล่าว ทีมผู้ศึกษาพบว่า สามารถแบ่งประเภทการนำเสนอข่าวเลขเด็ดเป็น 5 ประเภท  ดังนี้

  1. คน – เป็นเลขที่ได้มาจากบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และเสียชีวิตแล้ว เช่น

ฮาย อาภาพร จุดธูปให้โชค เห็นเลขเด็ดชัดมาก อวยพรขอให้รวยส่งท้ายปี

https://www.matichon.co.th/entertainment/news_4353579 (30 ธ.ค. 66)

  1. สัตว์ – เป็นเลขที่ได้มาจากสัตว์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เช่น งู หรือสัตว์ที่มีความแปลกประหลาด เช่น

โซเชียลตื่นตัวตีเลขจิ้งจก 2 หัว ชาวเน็ตวิเคราะห์ 4-2-7 มาแน่!

https://www.thairath.co.th/news/society/1081330 (26 ก.ย. 60)

  1. เหตุการณ์ – เป็นเลขของวัน และเวลาเกิด ของเหตุการณ์ต่างๆ เช่น

เลขดังวันวาเลนไทน์มาแรง คอหวยกว้านซื้อเกลี้ยงแผง

https://www.matichon.co.th/region/news_3824400 (15 ก.พ. 66)

  1. สิ่งของ – เป็นเลขจากสิ่งของหรือวัตถุต่างๆ เช่น

ส่องทะเบียนรถ “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่ไป วังนาคินทร์ “คำชะโนด” พรุ่งนี้

https://www.thairath.co.th/news/politic/2254137 (30 พ.ย. 64)

  1. ความฝัน – เป็นเลขที่ได้มาจากการตีความความฝันส่วนบุคคล เช่น

ความหมาย “ฝันว่ากินขี้” และ “เลขเด็ด”

https://www.thairath.co.th/horoscope/belief/2386650 (9 พ.ค. 65)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนำเสนอข่าวเลขเด็ดจะขัดต่อแนวปฏิบัติฯ แต่ข่าวเหล่านี้กลับเป็นข่าวที่ได้รับความนิยมจากผู้คนกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ เห็นได้จากการที่สำนักข่าวหลายสำนักมีหน้าเว็บไซต์เฉพาะสำหรับเนื้อหาข่าวเรื่องสลากกินแบ่งฯ และเลขเด็ด รวมถึงยังมีการนำเสนอข่าวเลขเด็ดในเกือบทุกวัน

ข่าวเลขเด็ดกับภาวะเศรษฐกิจ

สิ่งที่น่าแปลกคือรายได้ของกองสลากที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยลงนับตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เป็นไปได้ไหมว่า การที่ผู้คนนิยมการอ่านข่าวสลากกินแบ่งฯ ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เกิดจากความคาดหวังที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตเพิ่มขึ้นผ่านการซื้อสลากกินแบ่งฯ ซึ่งสืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัวดี

จากการศึกษาพบว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีนั้น สำนักข่าวมติชน และไทยรัฐ มีการนำเสนอข่าวหวยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 จำนวนการนำเสนอข่าวหวยของสำนักข่าวมติชนและสำนักข่าวไทยรัฐ

จากตารางที่ 1 จะพบว่า สำนักข่าวมติชนนำเสนอข่าวเลขเด็ดประมาณ 61 ชิ้นในปี 2561 และเพิ่มขึ้นเป็น 114 ชิ้นในปี 2565 ขณะที่สำนักข่าวไทยรัฐนำเสนอข่าวเลขเด็ดประมาณ 299 ชิ้นในปี 2561 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,240 ชิ้นในปี 2565

ข้อน่าสังเกตก็คือ ในปี 2564 จะพบว่า สำนักข่าวไทยรัฐนำเสนอข่าวเลขเด็ดลดลงเล็กน้อย เพราะมีการนำเสนอข่าวอื่นมากขึ้น เช่น ผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงจนมีการล็อคดาวน์ ข่าวโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ข่าวตาลีบัน และข่าวผู้กำกับโจ้ ฯลฯ นอกจากนี้ ในปี 2565 สำนักข่าวไทยรัฐได้มีการนำเสนอข่าวเลขเด็ดที่มีแหล่งข่าวเป็นหมอดูและอาจารย์ทางโหราศาสตร์ ซึ่งเดิมเคยเน้นแต่เรื่องดวงชะตา ต่อมาได้มีการพูดถึง “ตัวเลข”มากขึ้น

ขณะที่ข่าวหวยถูกนำเสนอมากขึ้น แต่ตัวเลขทางเศรฐกิจของไทยในช่วงเวลาเดียวกันกลับมีแนวโน้มขาลง จากข้อมูลต่อไปนี้

  1. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศไทย

ตารางที่ 2 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศไทย (ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย)

จากตารางที่ 2 จะพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไปที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาเคลื่อนไหวขึ้นลงบ่อย เพื่อวัดเงินเฟ้อพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ มีเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี กล่าวคือปี 2561 ดัชนีราคาฯ อยู่ที่ร้อยละ 99 ส่วนปี 2565 ดัชนีราคาฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 103

  1. อัตราการว่างงานในประเทศไทย

ตารางที่ 3 อัตราการว่างงาน (ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย)

จากตารางที่ 3 จะพบว่าอัตราการว่างงานในประเทศไทย เมื่อเข้าสู่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ขณะที่ในปี 2565 มีอัตราการว่างงานลดลง เพราะมีการผ่อนคลายมากขึ้น ผู้คนจึงกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น

  1. จำนวนคนไทยที่มีหนี้

ตารางที่ 4 จำนวนคนไทยที่มีหนี้ (ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย)

จากตารางที่ 4 จำนวนคนที่เป็นหนี้สถาบันการเงิน โดยไม่รวมหนี้นอกระบบ จะเห็นว่าจากปี 2561-2565 คนไทยที่มีหนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ ปี 2561 มีคนเป็นหนี้จำนวนประมาณ 20 ล้านคน และปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคน

4. หนี้ครัวเรือนต่อ GDP

ตารางที่ 5 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP (ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย)

จากตารางที่ 5 จะพบว่า ข้อมูลหนี้ครัวเรือนจะครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน ไม่รวมหนี้นอกระบบระบบ เทียบกับ GDP จะเห็นว่าจากปี 2560-2564 มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ปี 2561 ไตรมาสที่ 4 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 83 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 ในไตรมาสเดียวกันเมื่อปี 2564 และแม้ว่าในปี 2565 จะลดลงเป็นร้อยละ 91 แต่ก็ยังคงสูงกว่าในปี 2561

 ตามหาเลขเด็ดจากข่าวเลขเด็ด: ความท้าทายต่อสภาพเศรษฐกิจ

จากภาพรวมตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสอดคล้องกันทั้งหมดนี้ อาจแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวดีได้สร้างผลกระทบต่อผู้คนให้พวกเขาเกิดความดิ้นรนในการหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายดำรงชีวิต ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสนใจในการตามหาเลขเด็ดเพื่อนำไปใช้ซื้อสลากกินแบ่งฯ ด้วยความหวัง สำนักข่าวที่ต้องการตอบสนองความสนใจของประชาชน จึงเลือกนำเสนอข่าวเลขเด็ดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

‘ทฤษฎีไร้บรรทัดฐาน’ ของ Durkheim  (1957 อ้างในสรวิชญ์) อธิบายว่า เมื่อสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้ผู้คนในสังคมเกิดความสับสนไม่รู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด จึงไม่ยอมยึดถือบรรทัดฐานสังคมเดียวกัน ขณะที่ Robert K. Merton (1985 อ้างในสรวิชญ์) ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า สังคมที่เปลี่ยนแปลงนั้นกดดันตัวบุคคลด้วยเช่นกัน เนื่องจากสังคมให้คุณค่ากับความสำเร็จ และหนึ่งในองค์ประกอบของความสำเร็จคือความร่ำรวย แต่มีเพียงกลุ่มคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับโอกาสจนสามารถประสบความสำเร็จตามที่สังคมให้คุณค่าได้ ส่วนกลุ่มคนที่ไม่ได้รับโอกาสจึงต้องหาทางบรรลุเป้าหมายโดยแสดงพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ของสังคม และการซื้อสลากกินแบ่งฯ ซึ่งก็คือการเล่นพนันประเภทหนึ่ง ถูกรวมอยู่ในพฤติกรรมแบบ ‘ความท้าทาย (Rebellion)’ เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านั้นประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว

แต่คำถามคือ หนทางแบบนั้นยั่งยืนต่อคนและสังคมหรือไม่


เอกสารอ้างอิง

สรวชิญ์ ฤทธิจรูญโรจน์. (กันยายน 2560). โครงการศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อ เป็นฐานข้อมูล ในการ

จัดทํานิทรรศการเรื่อง “หวย”. เรียกใช้เมื่อ พฤศจิกายน 2566 จาก http://knowledge-center.museumsiam.org/uploads/siam/book/68/006709/sample/006709.pdf

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (23 กุมภาพันธ์ 2566). หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤตแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม?. เรียกใช้เมื่อพฤศจิกายน 2566 จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย BANK OF THAILAND: https://projects.pier.or.th/household-debt/

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). EC_EI_018 เครื่องชี้สถานการณ์ด้านแรงงาน. เรียกใช้เมื่อ พฤศจิกายน 2566

จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย BANK OF THAILAND: https://app.bot.or.th/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=111&language=TH

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). EC_EI_027 เครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาคของไทย 1/. เรียกใช้เมื่อ พฤศจิกายน

2566 จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย BANK OF THAILAND: https://app.bot.or.th/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=409&language=th

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). EC_MB_039 เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน 1/. เรียกใช้เมื่อ พฤศจิกายน 2566

จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย BANK OF THAILAND: https://app.bot.or.th/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=775&language=TH

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

Am I OK? สามสิบก็ยังไม่สายที่จะ ‘รู้ตัว’

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ คุณคิดว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นเพียงเพื่อนกันจริงไหม  เมื่อภาพเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสองสาวกำลังนอนหันหน้าเข้าหากันบนเตียง และดูเหมือนกำลังคุยเรื่องที่ชวนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันอยู่ พร้อมเรื่องย่อว่า ‘เพื่อนรัก’ สองคนที่สนิทกันมาเกือบทั้งชีวิตกำลังต้องแยกย้ายกันไปเติบโต เพราะเธอคนหนึ่งต้องไปทำงานอีกซีกโลก ในขณะที่อีกคนเพิ่ง ‘รู้ตัว’ ว่าอาจเป็นเลสเบียนในวัย 32 ...

Writings

ขนมครกจิ้มไม่จิ้ม

เรื่อง : ตามติดชีวิตไอดอล ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “เราโกรธมาก ไม่แถมน้ำตาลให้เราแล้วเราจะกินยังไง” “ขนมครกเขาไม่ใส่น้ำตาล ถ้าใส่น้ำตาลบ้านเรามันคือขนมถังแตก แกคนที่ไหนเนี่ย?” (ถกสนั่นโซเชียล ขนมครกต้องจิ้มน้ำตาลไหม?, 2566) ...

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Media

ภาพมันเบลอ หรือ (อุดมการณ์)เธอไม่ชัดเจน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และชวิน ชองกูเลีย . เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save