InterviewWritings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

“กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ข้าพเจ้าพอใจและรักในทุกสิ่งที่มี เมื่อหันไปมองคุณเคนต์อีกครั้ง ก็เห็นว่าหล่อนจ้องมองมาอยู่แล้ว

“แล้วเธอเรียกตัวเองว่าอะไรล่ะ” หล่อนถาม

“ผู้หญิง” ข้าพเจ้าตอบในทันที

“อย่างนั้น ฉันก็เรียกเธอว่าผู้หญิง”

LADYS (ลาดิด)

จากหนังสือ Ms. Kent and Me คุณเคนต์และข้าพเจ้า

สำนักพิมพ์แซลมอน

“ข้าพเจ้า” ตัวละครไม่ระบุเพศ ไม่ระบุวัย และไม่ระบุอาชีพ ปล่อยให้จินตนาการของนักอ่านลื่นไหลไปตามตัวอักษร เป็นหนึ่งในตัวละครที่ถูกประกอบสร้างผ่านปลายปากกาของ “ลาดิด – ณชนก ยุวภูมิ”นักเขียนอิสระ วัย 26 ปี

ลาดิดโลดแล่นอยู่ในแวดวงนิยายแซฟฟิก (หญิงรักหญิง) ถ่ายทอดความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เลสเบียน ด้วยความเชื่อที่ว่า “คนบางคนก็รอเห็นตัวเองอยู่บนหน้าวรรณกรรมเหมือนกัน”

01: ABOUT LADYS

 ทำไมต้องชื่อ “LADYS”

ก่อนหน้านี้มันมาจาก Lady’s Lady เราเพิ่งมาเปลี่ยนเป็น LADYS ด้วยความที่อัตลักษณ์ทางเพศของเรามันค่อนข้างลื่นไหล และเรารู้สึกว่า Lady’s Lady กับ ณชนก มันดูเป็นคนละคน

ความจริงในศัพท์แพทย์หลายๆ คำ “DYS” มันคือความผิดปกติ มันให้ความรู้สึกว่า นี่คือความผิดพลาดหรือเปล่า (หัวเราะ) และ LADYS มันดูไม่ชาย ไม่หญิง และก็อาจจะไม่ใช่คนด้วยซ้ำ เป็นอะไรที่กลางมากๆ เลยเอามาใช้

อะไรในงานเขียนของคุณที่ตะโกนคำว่า “LADYS” ออกมา

เวลานักอ่านมาบอก เขาจะบอกว่านิยายเราใจดี

สำหรับเรา การจบที่ใจดีไม่ได้แปลว่าตัวละครต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าให้เรามองนิยายตัวเอง เรารู้สึกว่าตัวละครของเรามัน Drive ด้วยความเป็นมนุษย์ ซึ่งมนุษย์มันเต็มไปด้วยอารมณ์ ทั้งความกังวล หรือความสุขที่ก็ไม่ได้สุขขนาดนั้น และการที่เรามองมนุษย์เป็นมนุษย์ อันนั้นคือความใจดี

สไตล์การเขียนแบบ “LADYS” ทำให้นักอ่านเข้าถึงยากใช่ไหม

ถูกต้อง เราชอบการเขียนแบบ “กระแสสำนึก”* มาก มากๆ (ลาดิดย้ำ) เรารู้สึกว่ามันเป็นการเขียนที่แสดงความเป็นมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดและความรู้สึกในหัว

ความจริงกระแสสำนึกมันเป็นการใช้คำที่เปลือง คุณก็แค่พูดออกมาตรงๆ ก็ได้หรือเปล่า แต่มนุษย์มันมากกว่านั้นไง เราไม่ได้พูดถึงก้อนหินนี่

*  การเขียนแนวกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) เป็นวิธีการเล่ารูปแบบหนึ่ง ที่จำลองกระแสความคิดและความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งไม่หยุดนิ่ง ไหลไปเรื่อยๆ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเสี้ยววินาที ตามประสบการณ์ที่เคยรับรู้ นักเขียนแนวกระแสสำนึก เช่น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ  (Virginia Woolf), เจมส์ จอยส์ (James Joyce) และ ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka)

แล้วไม่กังวลว่าคนจะไม่อ่านเหรอ

เราเขียนแซฟฟิกอยู่แล้ว ถ้ากะจะแมสไปทำอย่างอื่นนานแล้วเปล่า มันเป็นงานฝั่งที่เราทำเพื่อ Legacy เราไม่ต้องการให้พอตายไปแล้ว มีคนขุดงานมาอ่านแล้วเขารู้สึกแบบ ทำไมงานมันเป็นอย่างนี้วะ เราเลยทำในแบบที่เราอยากทำ

ถ้าบอกว่าอยากอ่านนิยายยูริ ผู้หญิงสวยสองคน แบบ “ผู้หญิง” มีให้อ่านเต็มเลย เยอะมากๆ ซึ่งมันเป็นข้อดีของคนที่ชอบหรือเห็นตัวเองทับกับคนที่ตรงตามบิวตี้สแตนดาร์ด…แต่ว่าเราไม่เห็นตัวเองในนั้น

02: LADYS IS FLUID

ความยากง่ายของการสร้างตัวละครที่มีความลื่นไหลทางเพศ

เราเป็น Non-Binary (ไม่นิยามเพศตัวเองว่าเป็นหญิงหรือชาย) และ Pansexual (ไม่ยึดติดกับเพศของอีกฝ่าย) เพราะฉะนั้นความยากที่จะเขียนเรื่องความลื่นไหลทางเพศ สำหรับเราไม่มี ส่วนความง่ายคือพอดีว่าเราเป็น ถ้ายากหน่อยคือในบางมิติเราไม่ได้รู้ไปทั้งหมด โดยเฉพาะมิติใดก็ตามที่ทับกับความเป็นแม่ ความเป็นผู้ให้กำเนิด เรายังไปไม่ถึง เพราะเรายังมองภาพตัวเอง ณ จุดๆ นั้นไม่ออก

ช่วยยกตัวอย่างตัวละครของคุณที่คิดว่าแปลกใหม่ในแวดวงนิยายแซฟฟิกหน่อย

ตัวละคร “ข้าพเจ้า” ตัวละครซึ่งไม่ระบุชื่อ จากเรื่อง “Ms. Kent and Me คุณเคนต์และข้าพเจ้า” สารตั้งต้นแรกที่เราเขียนขึ้นมาคือช่วงนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า “สาวดุ้น” ในวงการนิยายยูริ คือตัวละครที่มีอวัยวะเพศแบบเพศชายทางการแพทย์หรือองคชาติ ซึ่งถ้าเป็นเรา (อ่าน) เราจะเซ็ง หมายความว่าอาจมีคนที่เป็นทรานส์วูแมน (ชายที่แปลงเพศหรือมองตัวเองเป็นหญิง) ที่เขาเห็นแล้วมันสะกิดใจแบบ ฉันมีแบบนี้ แต่ฉันก็รู้สึกว่าตัวเองเป็น “ผู้หญิง” เหมือนกัน เราเลยอยากเขียนอะไรที่ทำให้คนอ่านรู้สึกชอบตัวละครนี้ไปแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าใต้ผ้าเขามันเป็นอะไร เพราะฉะนั้นการบรรยายตัวเองว่าข้าพเจ้ามันเลยดูเป็นกลาง

อีกตัวละครหนึ่งคือ “เจ๋” จากเรื่อง “Orlando in a Glimpse หากเล่าถึงออร์ลันโด” ณ วันที่เริ่มเล่า เจ๋เป็นทรานส์แมนที่มองตัวเองเป็นผู้ชาย เขาเล่าย้อนกลับไปในวันที่มองตัวเองเป็นทอมคนหนึ่ง ซึ่งตลอดเรื่องเขาจะเรียกตัวเองว่า “ผม” แต่ตอนที่เขาพูดกับคนอื่นเขาจะพูด “ค่ะ” มันลื่นไหล และเราก็เรียกนิยายเรื่องนี้ว่าแซฟฟิก เจ๋ได้เจอกับคนคนหนึ่งชื่อ “ออร์ลันโด” ซึ่งเป็นผู้ชาย แต่อยากเป็นผู้หญิง และเจ๋ชอบออร์ลันโด บางครั้งเจ๋ก็มองเห็นออร์ลันโดเป็นผู้หญิง และยังชอบออร์ลันโดอยู่ มันมีความลื่นไหล

เราต้องการตัวละครที่เหมือนเรา (หัวเราะ) เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ณ วันพรุ่งนี้เราจะอยากเป็นอะไร และคนที่เราชอบจะเป็นอะไร เราเลยอยากสร้างตัวละคร 2 ตัวนี้ขึ้นมา

03: LADYS’S UTOPIA

กระแสตอบรับของงานเขียน ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร

ถ้าถามว่ากระแสตอบรับมันมากพอให้เราทำเป็นอาชีพได้ไหม คือทำได้ เพราะว่าทุกวันนี้ก็ทำอาชีพเดียว แต่เรามีหลายนามปากกามาก มันกระจายอยู่ในตลาดและรวบรวมพลัง (เงิน) กัน ความใฝ่ฝันของเราคือกำจัดทุกอันทิ้งให้เหลือแค่ LADYS โดยที่มันเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งทุกวันนี้ยังทำไม่ได้

กลุ่มเป้าหมายเรายังไม่มากพอ ยังคงตามหาอยู่ เราต้องการคนมากกว่านี้ สมมติเราบอกว่า เราอยากทำซีรีส์เหมือนกันนะ…แต่มันยังทำไม่ได้ ด้วยแนวการเขียนมันยัง (คิดคำพูด) พูดเป็นภาษาทุกวันนี้ มันยัง “ไม่ฟิน” เข้าใจได้แต่ก็ยังพยายามหาตลาดอยู่

 

แล้วอะไรคือแพสชันในการเขียนต่อไป

งานเขียน…ถ้ามันไม่ดัง งานมันก็จะตายไปกับเรา แต่ถ้าสมมติว่ามันดัง มันจะเป็น Legacy อย่างนามปากกา LADYS เรามองมันในฐานะ Legacy ของตัวเราเอง ซึ่ง Legacy มักจะไม่ได้เงิน (หัวเราะ)

เราไม่ใช่คนดังที่เปิดพอดแคสต์ขึ้นมาช่องหนึ่ง พูดเรื่องราวของตัวเองแล้วจะมีคนมาฟัง แต่ถ้ามันอยู่ในนิยาย อย่างน้อยมันมีคนอ่าน การที่พยายามให้ตัวละครมีความหลากหลายและความลื่นไหลทางเพศแบบตัวเราเอง เราคิดว่าคนบางคนก็รอเห็นตัวเองอยู่บนหน้าวรรณกรรมเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่ามันมีความหมายกับการเขียนของเรา โดยที่ไม่ขึ้นกับตัวเงิน

 

คิดว่าอะไรที่จะทำให้นิยายแซฟฟิก “ส่งเสียง” ได้ดังขึ้น

งานแซฟฟิกมันยังตีพิมพ์โดยนักเขียนอิสระเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนักเขียนอิสระเสียงเบามากนะ ถ้าถามว่าวรรณกรรมแซฟฟิกมันจะบูมขึ้นได้ยังไง ในฐานะนักเขียนเราคิดว่า ถ้าสำนักพิมพ์ที่ใหญ่มากพอมาจับ มันจะดีกว่านี้ ในวงการวรรณกรรม พอทำให้มันดังขึ้นแล้ว เงินทุนก็จะเริ่มมา บางคนที่เขาเขียนฝั่งยูริโรแมนซ์หนักๆ เขาอาจจะอยากเขียนอย่างอื่นเหมือนกันก็ได้ แต่ว่ามันขายไม่ได้ เขาจะเขียนทำไม

ถ้าเงินมันไหลเข้ามาให้นักเขียนมากพอที่จะเห็นว่า ต่อให้ฉันเขียนแนวนี้มันก็น่าจะขายได้เหมือนกันนะ มันก็จะไหลไปเอง มันไม่ควรเป็นแบบในหัวเราตอนนี้ที่วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะดังแน่เลย แต่ก็เขียนอยู่ดี มันค่อนข้างเศร้า

 

สรุปแล้วการสร้างตัวละครที่มีความลื่นไหลทางเพศสามารถสร้างอิมแพกต์ให้สังคมได้ไหม

เรารู้สึกว่าสิ่งใดปรากฏอยู่ในสื่อมากพอ สิ่งนั้นจะโดนทำความเข้าใจไปเอง พอมันมีวรรณกรรม หรือสื่ออื่นๆ ให้เราได้เลือกเสพมากพอ เราจะเข้าใจความเจ็บปวด โดยที่เราไม่ต้องไปร่วมเป็นผู้เจ็บปวด

ถ้าเราปล่อยให้สื่อที่มีแต่ Cisgender, Heterosexual, Straight* ครองโลกและไม่มีพื้นที่ของเรา มันก็แค่นั้น แล้วใครจะมาเข้าใจเรา

* Cisgender คือ ผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศกำเนิด

Heterosexual คือ ผู้ที่มีรสนิยมทางเพศและรู้สึกดึงดูดทางเพศต่อเพศตรงข้าม

Straight คือ ผู้ที่มีรสนิยมทางเพศตรงกับขนบธรรมเนียมและหลักศาสนา

ให้สัมภาษณ์ ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2023

ขอร่วมแสดงความยินดีกับนามปากกา “LADYS” และ “สำนักพิมพ์ลาดิดและมูนสเคป” สำหรับผลงานนิยายแซฟฟิกจำนวน 2 เล่ม ทั้ง “Orlando in a Glimpse หากเล่าถึงออร์ลันโด” และ “Take a Sip, Apocalypse หนนั้นวันโลกแตก” ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าจัดแสดงในส่วนนิทรรศการภายใต้ธีม “Borderless ไร้พรมแดน” ในงาน “Taipei International Book Exhibition 2024” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์ 2024 ณ เมืองไทเป ไต้หวัน


รายการอ้างอิง

LADYS. (2565). Ms.Kent & Me คุณเคนต์และข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แซลมอน.

NGThai. (17 พฤษภาคม 2562). หลากหลายโฉมหน้าของเพศสภาพในปัจจุบัน. เข้าถึงได้จาก ngthai: https://ngthai.com/cultures/2540/gender-diversity-in-current/

 

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
7
Love รักเลย
6
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Interview

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

Interview

When I live at Dome

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร ความฝันอย่างการได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองภายในหอพักนั้นอาจเป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน แม้จะไม่ใช้พื้นที่อบอุ่นและสะดวกสบายเทียบเท่ากับบ้าน  แต่การอยู่หอนอกจากจะสนับสนุนการเรียนแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องของการมีสังคม ซึ่งจะจริงหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยการกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ...

Writings

ดารา งานดูหนัง กับคำตอบจาก ‘คนโรงหนัง’

เขียนและภาพ จิรัชญา นุชมี ‘โรงหนังเดี๋ยวนี้ชอบเอาดาราศิลปินมาดูหนังด้วย ทำทำไม’ ‘ก็มัวแต่เอานักแสดงซีรีส์วายมาดูหนังไง’ ‘นายทุนมันก็หากินกับติ่งง่ายเกินเนาะ’ เป็นการตั้งคำถามของชาวเน็ตที่เห็นเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อยู่เสมอ เมื่อค่ายโรงหนังเจ้าใหญ่จัดรอบหนังเชิญศิลปิน หรือ นักแสดง มาดูภาพยนตร์ร่วมกันกับแฟนคลับ และมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันหลังจากดูหนังจบ โดยตั๋วหนังจะมีราคาสูงกว่ารอบหนังปกติเป็น 500-600 ...

Writings

เปิดมุมมองผู้ออกข้อสอบพรีแอดมิชชั่น ข้อสอบที่จริงใจสำหรับ #Dek67 เป็นไง …?

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวมอหก และ ชาวเด็กซิ่ว ทุกคน แน่นอนว่าตอนนี้ต้องเป็นช่วงที่หัวปั่นอยู่กับการอ่านหนังสือ เก็งข้อสอบย้อนหลังกว่าหลายปี อย่างแน่นอน ...

Writings

กว่าจะได้ทำหนัง และความช่วยเหลือจากอาจารย์ใหญ่

เขียนและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร กลางวัน / ภายใน / คาเฟ่สักที่ บลูนั่งกินกาแฟอยู่ในคาเฟ่ ท่ามกลางเสียงพูดคุยของผู้คน กำแพงด้านข้างประดับไฟคริสต์มาส XCU ปากที่กำลังจรดขอบแก้วกาแฟ2 SHOT ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save