SocietyWritings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย

เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ จนอาจหลงลืม “สัตว์ในสงคราม” เผ่าพันธุ์อื่นที่มนุษย์ยัดเยียดบทบาทให้รับความเสี่ยงแทน 

อย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทางการออสเตรเลียเคยส่งม้าไปช่วยรบกว่าแสนตัว แต่มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่เหลือรอดกลับมา นั่นแสดงว่ามิได้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย แต่บรรดาสัตว์อื่นๆ ก็เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ องค์กรอนุสรณ์เพื่อสัตว์ในสงครามแห่งออสเตรเลีย (Australian War Animal Memorial Organisation : AWAMO) จึงกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันระลึกถึงสัตว์ในสงคราม (National War Animal Day) ของออสเตรเลีย

เนื่องในโอกาสนี้ เราจึงอยากพาผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่บทเรียนวิชา “ประวัติสัตว์” ว่าด้วย สัตว์ 3 ชนิด ใน 3 สงคราม กับบทบาทผู้ช่วยเหลือของมนุษย์

“แชร์ อามี” พิราบนักส่งสาร

ปี 1918 ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ใกล้สิ้นสุดลง ที่แนวรบป่าอาร์กอนน์ (Argonne Forest) ในฝรั่งเศสติดกับพรมแดนเยอรมนี กองกำลังทหารอเมริกัน หรือ “The Lost Battalion” จำนวนกว่า 500 ชีวิต เพิ่งรู้ว่าตนเองเป็นเพียงหน่วยเดียวที่พลัดหลงออกมาจากกองกำลังผสมอเมริกัน-ฝรั่งเศส และโชคไม่เข้าข้าง กองกำลังเยอรมันเริ่มรุดเข้ามาปิดล้อม พวกเขาจึงใช้นกพิราบที่ฝึกมาบินไปส่งจดหมายขอกำลังปืนใหญ่จากกองกำลังที่อยู่รอบนอก และเพียงไม่นาน ห่ากระสุนปืนใหญ่ก็ไล่กองกำลังเยอรมันไป…แต่แล้วทิศทางกระสุนปืนใหญ่ก็ผิดพลาด มันเบนมายิงที่พวกเขาแทน…

กองกำลังทหารอเมริกันตัดสินใจใช้นกพิราบที่เหลืออยู่ 3 ตัว บินไปส่งพิกัดอีกครั้ง นกสองตัวแรกถูกยิงจนร่วงไม่เป็นท่า ความหวังสุดท้ายตกอยู่ที่ “แชร์ อามี” (Cher Ami) มันบินไปพร้อมกับแคปซูลจดหมายที่ติดไว้กับขา ทว่ามันถูกกระสุนยิงทะลุลำตัว เข้าตา และขาข้างหนึ่งจนขาดวิ่น แต่มันยังประคองปีกบินไปไกลกว่า 40 กิโลเมตร…และแล้ว ห่ากระสุนปืนก็เบนทิศทางกลับไปยิงใส่กองกำลังเยอรมันอีกครั้ง

แชร์ อามี ช่วยชีวิตกองกำลังทหารอเมริกันไว้ได้เกือบ 200 ชีวิต ด้วยกระดาษเพียงใบเดียว หลังจากนั้นมันถูกส่งตัวไปรักษาทันที และได้รับการดูแลอย่างดีตลอด 8 เดือน ก่อนจะจากไปในปี 1919 

ร่างของบุรุษไปรษณีย์มีปีกตัวนี้ถูกเก็บรักษาไว้โดย พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ สมิธโซเนียน (Smithsonian National Museum of Natural History) และยังได้รับเหรียญกล้าหาญ “ครัวซ์ เดอ แกรร์” (Croix de Guerre) สำหรับทหารที่ต่อสู้เพื่อชาติ จากกองทัพฝรั่งเศสอีกด้วย

“มากาวา” หนูยักษ์นักดมระเบิด

ทุ่นระเบิดคือสิ่งหนึ่งที่หลงเหลือจากสงครามกลางเมืองกัมพูชา และมันพร้อมที่จะระเบิดทุกเมื่อหากใครบางคนเผลอไปเหยียบเข้า จากรายงานปี 2021 ของศูนย์ปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดกัมพูชา (Cambodia Mine Action Authority) ระบุว่า ตั้งแต่สงครามกลางเมืองปี 1979 มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดรวมทั้งสิ้นราว 65,000 ราย

กระทั่งในปี 2016 “มากาวา” (Magawa) หนูยักษ์แอฟริกัน (Gambian Pouched Rat) อายุ 3 ปี ที่ถูกฝึกให้ดมกลิ่นเพื่อตรวจหาวัตถุระเบิด (TNT) จากโครงการ “HeroRATs” ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สัญชาติเบลเยียม “APOPO” (Anti-Personnel Landmines Detection Product Development) ที่สำนักงานใหญ่แทนซาเนีย ถูกส่งมาช่วยดมกลิ่นวัตถุระเบิดที่จังหวัดเสียมราฐ กัมพูชา

ด้วยพรสวรรค์ในการดมกลิ่น ความเร็วในการเคลื่อนที่ และน้ำหนักตัวที่เบา ทำให้มากาวาดมเจอวัตถุระเบิดได้เร็วกว่าอุปกรณ์ตรวจจับของมนุษย์ โดยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี มากาวาช่วยชาวกัมพูชากู้ทุ่นระเบิดได้มากกว่า 100 ลูก และอาจช่วยชีวิตมนุษย์ไว้หลายพันคน

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2020 มากาวาจึงได้รับเหรียญทองเกียรติยศจากองค์กรการกุศลเพื่อสัตว์ป่วย (The People’s Dispensary for Sick Animals : PDSA) ของสหราชอาณาจักร ก่อนจะปลดประจำการในปีถัดไป และจากไปอย่างสงบในปี 2022

“เพทรอน” สุนัขอินฟลูฯ นักกู้ระเบิด

เรื่องราวของสุนัขกู้ระเบิดอาจเป็นเรื่องที่ผู้อ่านคงเคยได้ยินกันอยู่บ้าง เพราะอย่างที่รู้กัน  สุนัขมีประสาทรับกลิ่นที่ดีกว่ามนุษย์มาก เช่นเดียวกันกับ “เพทรอน” (Patron) สุนัขกู้ระเบิดขวัญใจชาวยูเครน มันปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เมืองแชร์นีฮิว (Chernihiv) โดยในปี 2022 ทีมปฏิบัติงานเผยว่ามันกู้ระเบิดและเจออาวุธไปกว่า 150 ชิ้น

นอกจากเพทรอนจะนำความปลอดภัยมาให้ชาวยูเครนแล้ว มันยังส่งความน่ารักให้กับผู้คนทั่วโลกผ่านบัญชีอินสตาแกรม “patron_dsns” ที่มีผู้ติดตามกว่า 4 แสนบัญชี และยังมีการทำแอนิเมชันให้ความบันเทิงและความรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย 

เพทรอนและผองเพื่อนมีกองทุนการกุศลสำหรับรับเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสัตว์ไร้บ้านจากสงคราม อีกทั้งเพทรอนยังได้เจอกับผู้นำต่างประเทศและตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เสมือนตัวเชื่อมความสัมพันธ์ให้ยูเครนกับนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้ ในปี 2022 เพทรอนจึงได้รับเหรียญกล้าหาญ ชั้น 3 (Order for Courage, 3rd class) จากประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ที่มอบให้ผู้กล้าในสงครามยูเครน

เพทรอนยังคงออกปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่กองทัพรัสเซียยังไม่หยุดทิ้งระเบิดลงบนผืนแผ่นดินยูเครน

“กระทั่งในยามสงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ก็ยังคงอยู่ พวกมันปกป้องเรา นำทางเรา และคอยย้ำเตือนให้เรารู้ว่าเราเป็นที่รัก ในการนี้ เราจึงมีหน้าที่ให้เกียรติบรรดาสัตว์สงครามด้วยความอบอุ่นและความเคารพ เพื่อตอบแทนสำหรับทุกสิ่งที่มันได้ทำเพื่อเรา”

ดีน ลี (Dean Lee) ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของอนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกออสเตรเลีย (Shrine of Remembrance) ได้กล่าวไว้ในวันระลึกถึงสัตว์ในสงคราม ปี 2023

รายการอ้างอิง

aljazeera. (2022, มกราคม 12). ‘A hero is laid to rest’: Cambodia’s landmine-sniffing rat dies. Retrieved from aljazeera: https://www.aljazeera.com/news/2022/1/12/a-hero-is-laid-to-rest-cambodias-landmine-sniffing-rat-dies

apopo. (n.d.). HeroRATs. Retrieved from apopo: https://apopo.org/herorats/

Australian War Memorial. (n.d.). National Day for War Animals. Retrieved from awm: https://www.awm.gov.au/national-day-for-war-animals

Bieniek, A. (2016). Cher Ami: The Pigeon that Saved the Lost Battalion. Retrieved from worldwar1centennial: https://www.worldwar1centennial.org/index.php/communicate/press-media/wwi-centennial-news/1210-cher-ami-the-pigeon-that-saved-the-lost-battalion.html

Shevchenko, V. (2023, สิงหาคม 19). Cat and dog influencers help Ukrainians cope with war. Retrieved from bbc: https://www.bbc.com/news/world-europe-66509999

Shrine Melbourne. (2023, กุมภาพันธ์ 14). ‘Paws and reflect’: War Animal Remembrance Day. Retrieved from shrine: https://www.shrine.org.au/paws-and-reflect-war-animal-remembrance-day

Treisman, R. (2022, เมษายน 20). Meet Patron, a bomb-sniffing Jack Russell terrier who has become a Ukrainian hero. Retrieved from npr: https://www.npr.org/2022/04/20/1093729899/meet-patron-a-bomb-sniffing-jack-russell-terrier-who-has-become-a-ukrainian-hero?fbclid=IwAR10cFoQAI1Ak69YAB7s_JE-m1urOKEz5A_leeO1CZIGWu61gKqA3PyHObM

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Articles

‘Vice President’ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งนี้สำคัญไฉน?

เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง ภาพ : สิทธิเดช สายพัทลุง ในสมรภูมิการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เรามักมองเห็นคือภาพของคนกำลังเฉือนคมกันเพื่อช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งภาพแสนคุ้นเคยกำลังจะย้อนกลับมาอีกครั้ง เพราะในวันที่ 5 พ.ย. ที่ใกล้เข้ามานี้ ...

Writings

พัฒนาการจริยธรรมสื่อ : ศึกษาเปรียบเทียบการนำเสนอข่าวกราดยิงโคราช ปี 2563 – หนองบัวลำภู ปี 2565

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ พรวิภา หิรัญพฤกษ์ และ สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “ยอดตายยังไม่นิ่ง “XXXคลั่ง” ...

Writings

ครั้งหนึ่งในชีวิต ฉันเคยเป็น “ผู้พิชิต” อสุจิ

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกอย่างมันเริ่มมาจากวันนั้น วันที่อากาศร้อนอบอ้าว เสียงพัดลมในห้องเรียนดังแหง่กๆ บ่งบอกว่ามันได้ทำหน้าที่อย่างหนักหน่วงมายาวนาน แน่นอนว่าสภาพอากาศแบบนี้ ไม่มีใครที่จะไปมีสมาธิตั้งใจเรียนหรอก หากแต่บทเรียนในคาบนั้นมันค่อนข้างที่จะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กนักเรียนผมสั้นเท่าติ่งหูวัยคอซองอยู่พอตัว ...

Writings

“ #2024เสรีบูลลี่ ” แค่พูดเล่นหรือทำจริง ?

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา (1) ปี 2024 ได้ดำเนินมาถึงครึ่งปีแล้ว และนับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างแท้จริง วิถีชีวิตเก่า ๆ ที่ล้าหลังถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม ...

Writings

การ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวปาเลสไตน์ ภายใต้คำกล่าวอ้างว่าทำไปเพื่อกำจัด ‘ฮามาส’ แต่ชาวปาเลสไตน์ ≠ ฮามาส

เรื่อง: พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ALL EYES ON RAFAH รูปภาพที่มีตัวอักษรเล็กๆ ราวสิบบรรทัด ถูกแชร์ซ้ำไปมาอยู่บนสตอรี่ หน้าอินสตาแกรมของใครหลายคน ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คนรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในเมืองราฟาห์ เขตพื้นที่สุดท้ายที่ชาวปาเลสไตน์สามารถอาศัยอยู่ได้ในฉนวนกาซ่า สิ่งนี้คืออะไร ทำไมเราถึงต้องจับตามอง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save