Art & CultureWritings

“ไหนวะเสียงเบส?” ชวนรู้จัก 5 ตำนานมือเบส ผู้คอยสรรค์สร้างความสมบูรณ์แบบให้โลกแห่งดนตรี

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์

ภาพจำของวงดนตรีโดยเฉพาะวงดนตรีร็อค (Rock) และอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) มักจะต้องประกอบด้วย นักร้อง กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด และเบส 

เมื่อเราฟังดนตรี สิ่งที่เท่และโดดเด่นสุดๆ คงไม่พ้นเสียงริฟส์ (Riffs)กีตาร์เท่ๆ หรือโซโล่กลองโหดๆ แต่กลับกัน เครื่องดนตรีพื้นฐานที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกือบทุกวง หน้าตาคล้ายกีตาร์ แต่มีสายใหญ่ 4 สาย เสียงดุ่งๆ ทุ้มต่ำ อย่าง ‘เบส’ มักจะถูกมองข้ามอยู่บ่อยครั้งเมื่อเทียบกับเครื่องดนตรีชิ้นอื่น

หากพูดกันในทางเทคนิค เบสและกลองเป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กันอยู่แล้ว เพราะเครื่องดนตรีทั้งสองทำหน้าที่ในการควบคุมจังหวะของเพลง อีกทั้งเสียงทุ้มต่ำของเบสนี่เองที่ทำให้เพลงนั้นๆ มีความหนักแน่น เต็มเสียง และเปี่ยมด้วยพลัง 

หลายคนที่เป็นมือเบสก็อาจจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการเล่นกีตาร์มาก่อน แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งมือเบสนั้นมักจะถูกมองข้ามทั้งจากคนฟังและแม้กระทั่งนักดนตรีเอง จนถึงขั้นมีการสร้างมีม (Meme) ล้อเลียนมือเบสกันทั่วโลกอินเทอร์เน็ตว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครสนใจ

ทั้งนี้ หลายคนอาจจินตนาการไม่ออกเลยว่าหากขาดเสียงเบสไปแล้ว โลกแห่งดนตรีในทุกวันนี้จะหน้าตาเป็นยังไง จึงอยากชวนให้ทุกคนได้รู้จักกับ 5 มือเบสระดับตำนานทั้งในฐานะศิลปินเดี่ยว และจากวงที่เราอาจคุ้นเคยกัน เพื่อเป็นการยกย่องและสรรเสริญผู้ปิดทองหลังพระเหล่านี้ ที่ทำให้บทเพลงที่ถูกเล่นออกมานั้นงดงามอย่างไร้ที่ติ

Flea แห่งวง Red Hot Chili Peppers

Red Hot Chili Peppers (RHCP) วงดนตรีแนว อัลเทอร์เนทีฟร็อค (Alternative rock), ฟังก์ร็อค (Funk Rock) จากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หากจะต้องหาคำภาษาไทยมาอธิบายความเป็น RHCP และ ฟังก์ ก็อาจจะเรียกได้ว่าดนตรีแนวนี้มีความ ‘โจ๊ะ’ เพราะเสียงเบสอันโดดเด่นที่คอยสร้างลวดลายและเร้าอารมณ์ให้กับเพลง ทำให้เบสมีหน้าที่มากกว่าเป็นเครื่องดนตรีสำหรับควบคุมจังหวะ กล่าวคือฟังก์และเบสเป็นของคู่กันเลยก็ว่าได้ ซึ่งผู้ที่สรรค์สร้างไลน์เบสให้กับวงมีชื่อว่า Michael Peter Balzary หรือที่แฟนๆ คุ้นเคยกันดีในนาม ‘Flea’

Flea เป็นที่รู้จักกันในความบ้าระห่ำ ดุเดือด เรียกได้ว่าใส่สุดในทุกงาน สิ่งที่ทำให้ Flea กลายเป็นมือเบสระดับตำนาน นอกจากการแก้ผ้าขึ้นเวที Woodstock ในปี 1999 แล้ว เขายังโดดเด่นในการใช้เทคนิค ‘Slap’ หรือการตบเบส ซึ่งเทคนิคนี้ทำให้เสียงเบสนั้นยิ่งมีความหนักแน่นและเพิ่มความรู้สึก ‘โจ๊ะ’ ขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ไลน์เบสอันเป็นเอกลักษณ์ของ Flea ที่แม้เพียงแค่มีเสียงเบสขึ้นมาในท่อนอินโทรก็ทำให้ทุกคนนึกชื่อเพลงได้ทันที เพลงของ RHCP นั้นเรียกได้ว่าเสียงเบสโดดเด่นทุกเพลงจริงๆ 

หากต้องการฟังเสียงเบสที่ Flea นั้น Slap ไว้อย่างถึงใจ ก็คงจะเป็นเพลง Coffee Shop นอกจากนี้แล้วเพลง Aeroplane และ Give It Away ก็ยังโดดเด่นและนำเสนอความเป็นฟังก์ร็อคไว้ได้อย่างดีไม่แพ้กัน

ภาพ : Stefan Brending

John Deacon แห่งวง Queen

คงจะมีน้อยคนที่ไม่รู้จักชื่อ Queen วงร็อคคลาสสิคระดับตำนาน ที่มีฟรอนต์แมนอย่าง Freddie Mercury ผู้ถูกกล่าวขานว่าเป็นไอคอนร็อคสตาร์แห่งยุค เพลงที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดของ Queen ก็คงไม่พ้น Bohemian Rhapsody ด้วยจังหวะ ทำนอง คีย์ของเพลงที่ค่อนข้างหลากหลายและซับซ้อน ทำให้เพลงนี้เป็นเหมือนงานนิทรรศการหรือประสบการณ์การเดินทางที่หาไม่ได้จากที่ไหน 

อย่างไรก็ดี หลายคนอาจเพลิดเพลินกับประสบการณ์จากเพลง Bohemian Rhapsody จนแทบไม่ได้สังเกตไลน์เบสของ John Deacon ที่ทำหน้าที่เติมเต็มความหนักแน่นให้กับบทเพลงนี้ ถึงแม้ไลน์เบสเพลงนี้จะไม่ได้โชว์ความรวดเร็วในการเล่น หรือการ Slap เบสที่ดุดัน แต่ด้วยการประสานเสียงร้องและดนตรีจากทุกคนในวง โดยมีเบสของ John Deacon เป็นดังกาวที่เชื่อมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน จึงทำให้ทุกอย่างในเพลงๆ นี้ออกมาสมบูรณ์แบบ 

นอกจากนี้แล้ว ถ้าพูดถึงความโดดเด่นของ John Deacon คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงเพลง Another One Bites The Dust ที่เขาเป็นคนเขียน เมโลดี้ที่ติดหู รวมถึงไลน์เบสที่เป็นเอกลักษณ์เรียกได้ว่าเพียงแค่อินโทรที่เป็นเสียงเบสขึ้น แฟนวง Queen ก็คงอดร้องตามไม่ได้ นอกจากนี้เขายังได้เขียนเพลงอื่นๆ อีก เช่น You’re My Best Friend, Black Chat, I Want to Break Free ฯลฯ กล่าวได้ว่า John Deacon เป็นฟันเฟืองสำคัญที่วงขาดไม่ได้ และทำให้ Queen เป็น Queen ในแบบที่เรารู้จักในทุกวันนี้

ภาพ : Phil Dent via Getty Image

Cliff Burton แห่งวง Metallica

  เป็นที่รู้กันดีว่า กีตาร์ กลอง เบส เป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กับดนตรีเมทัล (Metal) หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปอาจเรียกได้ว่าเป็นดนตรีเมทัลไม่ได้

Metallica ก็เป็นอีกหนึ่งวงที่ทุกตำแหน่งนั้นมีความโดดเด่นในตัวเองเป็นอย่างมาก และถ้าหากพูดถึงเบสของ Cliff Burton สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันน่าตื่นเต้น ก็คือความ ‘หาทำ’ ในการใช้เอฟเฟกต์เพื่อ ‘distort’ ซาวด์ของเบส ให้มีความดุดัน ราวกับเบสของเขากำลังกรีดร้อง ซึ่งเข้ากับความเป็นเมทัลได้อย่างดี เสียงเบสของ Cliff Burton นั้น โดดเด่นจนถึงขั้นว่าเขาได้ใช้เบสโซโล่ในเพลง Orion จากอัลบั้มขึ้นหิ้งอย่าง Master of Puppets 

“There’s a little bass solo in Orion, it’s right next to the little guitar solo. No one will probably be able to tell that it is a bass, but it is” 

(มีท่อนโซโล่เบสเล็กๆ ท่อนหนึ่งที่อยู่หลังท่อนโซโล่กีตาร์เล็กๆ อีกที คงไม่มีใครรู้หรอกว่ามันเป็นเสียงเบส แต่นั่นแหละ มันเป็นเสียงเบส) 
Cliff Burton ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rock Hard 

เบสโซโล่ท่อนนี้อาจกลายเป็นปริศนาตลอดไปเลยก็ว่าได้ ถ้าเหล่าแฟน เมทัลไม่ได้ไปตามหาและแกะโน้ตโซโล่ท่อนนี้ เนื่องจากระหว่างที่พวกเขากำลังออกทัวร์หลังปล่อยอัลบั้ม Master of Puppets ในปี 1986 นั้น ได้เกิดอุบัติเหตุรถทัวร์คอนเสิร์ตเสียหลักจนทำให้ Cliff Burton เสียชีวิต เราจึงไม่ได้มีโอกาสเห็นเขาเล่นท่อนนี้แบบสดๆ เลย อย่างไรก็ดี ความอัจฉริยะในการสรรค์สร้างดนตรีของเขายังคงอยู่และเป็นต้นแบบให้มือเบสรุ่นหลังๆ ต่อไป

ภาพ : Ross Marino via Getty Image

Marcus Miller

หากถามคนเรียนดนตรีหลายคน พวกเขาคงบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าดนตรีแนวแจซ (Jazz) ที่เต็มไปด้วยโน้ตแสนซับซ้อนนี่แหละคือสิ่งที่ชวนปวดหัวที่สุดแล้ว แต่เมื่อฟัง Marcus Miller เล่นเบส กลับรู้ไม่รู้สึกถึงความติดขัดในการเล่นเลยแม้แต่น้อย ด้วยการที่เขามักจะใช้เบสที่ไม่มีช่องคั่นในการกดโน้ต (Fretless Bass) ทำให้เสียงเบสที่ Marcus Miller ได้เล่นออกมานั้นนุ่มนวลไร้ที่ติ และยิ่งทำให้เราเพลิดเพลิน หลงใหลไปกับกลิ่นอายของความเป็นแจซ ราวกับดนตรีบำบัดที่เมื่อยิ่งฟังแล้วยิ่งไม่สามารถหยุดได้

Marcus Miller เป็นนักดนตรี, นักแต่งเพลง, Producer และ Sound Composer ชาวอเมริกัน เขามีความหลากหลายในด้านดนตรีเป็นอย่างมาก แต่แนวที่ดูจะโดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้กับเขาที่สุดนั่นก็คือแจซ นอกจากนี้เขายังเคยได้ร่วมงานกับศิลปินระดับตำนานหลายคนอย่าง Mariah Carey (เพลง Vision of Love), Frank Sinatra (เพลง L.A. Is My Lady), Elton John (เพลง Victim of Love), Luther Vandross ในหลายอัลบั้ม และตำนานคนอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน นอกจากนี้เขายังมีผลงานในด้านการทำดนตรีประกอบหนัง ยกตัวอย่างเรื่อง Marshall (2017) ที่นำแสดงโดย Chadwick Boseman เรียกได้ว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังวงการ Hollywood ทั้งในสายดนตรีและภาพยนตร์อย่างแท้จริง

อัลบั้มล่าสุดอย่าง Laid Back ที่ปล่อยในปี 2017 ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเป็นการรวมกันของดนตรีแนว แจซ (Jazz), โซล (Soul), ฟังก์ (Funk) และ อาร์แอนด์บี (R&B) แถมช่วงท้ายอัลบั้มก็ยังแอบผสมความ ฮิปฮอป (Hip-hop) เข้ามาอีกด้วย ความไหลลื่นของเบส การลงน้ำหนักในการดีดและ Slap ที่ทำให้ทุกโน้ตของเขานั้นดูมีมิติ และทำให้แนวเพลงที่มีความหลากหลายของเขานั้นเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์

ภาพ : Christian Nordström

Carol Kaye

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ Carol Kaye แต่หากพูดถึงศิลปินอย่าง The Beach Boys, Frank Sinatra, Nancy Sinatra, Sonny & Cher และศิลปินชื่อก้องโลกอีกมากมาย หลายคนคงพอจะรู้จักชื่ออยู่บ้าง แต่รู้หรือไม่ว่า Carol Kaye ถือเป็นอีกหนึ่งมือเบสที่ทำเพลงใน Studio Sessions หรือก็คือผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์บทเพลงของศิลปินระดับตำนานเหล่านี้

นอกจากผลงานด้านการทำเพลงให้กับศิลปินแล้ว เธอยังมีผลงานการทำเพลงประกอบให้กับรายการทีวีโชว์ในช่วงยุค 60s – 70s รวมถึงทำดนตรีประกอบภาพยนตร์อีกนับครั้งไม่ถ้วน หากลองรวบรวมผลงานของเธอที่มีการบันทึกและให้เครดิตไว้ ก็จะพบว่าเธอมีผลงานมากกว่า 10,000 ผลงาน 

ไม่เพียงเท่านั้น Carol Kaye ยังมีผลงานที่โด่งดังและทุกคน “ต้อง”เคยได้ยินแน่นอน นั่นก็คือการเล่นเบสให้กับเพลงประกอบทีวีโชว์ เรื่อง Hawaii Five-O (1968) ที่ใช้เป็นดนตรีประกอบรายการต่างๆ กันอย่างปรากฏการณ์ 

เป็นที่น่าเสียดายที่ช่วงแรกของการเดินทางในสายงานดนตรีของเธอนั้นอาจไม่ได้รับการบันทึกไว้ทั้งหมด ไม่อย่างนั้นเราคงได้มีโอกาสชื่นชม ยกย่องความสามารถของเธอในฐานะมือเบสที่คอยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเหล่าศิลปินที่เป็นตำนานอีกมากมาย

ในบางครั้งความโดดเด่นของเครื่องดนตรีอื่นอาจทำออกมาได้ดีเป็นอย่างมาก จนเราแทบจะไม่ได้สังเกตว่าเบื้องหลังความเท่ของเครื่องดนตรีเหล่านั้นมีเสียงทุ้มๆ ของเบส คอยเป็นเหมือนฝ่ายซัพพอร์ต ทำให้การเล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นไหลลื่น กลมกลืนไปด้วยกัน สร้างความความหนักแน่นสร้างเอกลักษณ์ให้กับเพลง และรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกของดนตรี ทำให้เกิดนึกกลับไปว่าโลกที่ ‘ไม่มีเสียงเบส’ นั้นจะไร้สีสันและไร้ซึ่งชีวิตเพียงใด

ภาพ : David Zaworski
อ้างอิง
  • Arun Starkey. (16 October 2022). Flea’s six best basslines with the Red Hot Chili Peppers. เข้าถึงได้จาก Far Out Magazine: https://faroutmagazine.co.uk/flea-six-best-basslines-red-hot-chili-peppers/
  • Danny Ilett. (24 January 2023). “I was in my sixth year as a studio guitarist when one day the bass player didn’t show up. The producer asked me…” How Carol Kaye became a session bass icon. เข้าถึงได้จาก Guitar World: https://www.guitarworld.com/features/carol-kaye-interview-2023
  • Discography. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก Marcus Miller: https://www.marcusmiller.com/discography
  • Mick Wall. (20 September 2022). Cliff Burton: the life and death of the ultimate metalhead. เข้าถึงได้จาก Louder (Metal Hammer): https://www.loudersound.com/features/cliff-burton-the-story-of-the-ultimate-metalhead
  • Tom Taylor. (16 October 2023). The Queen songs written by John Deacon. เข้าถึงได้จาก Far Out Magazine: https://faroutmagazine.co.uk/the-queen-songs-written-by-john-deacon/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Features

สารบัญปัญหาสำนักพิมพ์

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Articles

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร “You were amazing” “เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต ...

Writings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย และ ศิรประภา จารุจิตร จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ คำนำ งานหนังสือ ...

Articles

Look Back: มองย้อนไป…กับหัวใจที่ต้องเดินหน้าต่อ

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘Look Back’ “ถ้าตอนนั้นทำอีกแบบหนึ่ง มันจะเป็นยังไงนะ?” ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save