เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, ทยาภา เจียรวาปี, ภัสรา จีระภัทรกุล และ พนิดา ช่างทอง
เชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีผู้หญิงเก่งในใจตัวเองกันทั้งนั้น แต่จะเป็นใคร มีลักษณะนิสัยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้สึกส่วนตัว
เพื่อส่งท้ายเดือนแห่งสตรีนี้ กองบรรณาธิการของเราอยากทำความรู้จักผู้หญิงเก่งของแต่ละคนอีกครั้ง เพื่อจะได้เข้าใจนิยามของคำว่าว่าผู้หญิงเก่งให้ชัดเจนกว่าเดิม
ไอริณ อายุ 21 ปี นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาโฆษณา ชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไอริณกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 และเริ่มมีงานมากขึ้นตามสาขาวิชาที่เรียน สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เธอผ่อนคลายในยามเหนื่อยล้าคือ ‘งานศิลปะ’ และนั่นเองที่ทำให้เราได้รู้จักกับ ‘ผู้หญิงเก่ง’ ในมุมมองของเธอ
‘FAHFAHS’ หรือ ‘ณภัทร คันธารักษ์’ เป็นนักวาดภาพประกอบ ครีเอเตอร์ และเจ้าของแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่รวบรวมสินค้าทั้งงานศิลปะและงานฝีมือ (Art & Craft) จากศิลปินชื่อดังมากมาย เธอมียอดผู้ติดตามใน Facebook และ Instagram กว่า 1 แสนบัญชี
ไอริณบอกว่าที่ FAHFAHS เป็นผู้หญิงเก่งในมุมมองของเธอนั้นก็เพราะความ ‘ไปสุด’ ในความชอบของตัวเอง โดยกว่า FAHFAHS จะเปลี่ยนความชอบให้เป็นรายได้ได้ ก็ใช้เวลาหลายปี และยังต้องลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะมีวันนี้
นอกจากจะเป็นผู้หญิงเก่งแล้ว ในสายตาไอริณ FAHFAHS ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เธอทุ่มเทกับความชอบของตัวเองจนสามารถต่อยอดสิ่งนั้นเป็นธุรกิจได้อีกด้วย เหมือนกับ FAHFAHS ที่เมื่อสนใจสิ่งใดก็จะศึกษาเรื่องนั้นอย่างละเอียดจนสามารถทำมันออกมาได้สำเร็จ
“พอติดตามไปเรื่อยๆ ก็ได้เห็นเรื่องราวว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง เขาทุ่มสุดตัว และในขณะเดียวกันก็จัดการธุรกิจของเขาได้ดี เราเองก็อยากทุ่มเทอะไรที่ชอบไปให้สุดเหมือนเขา”
‘โอม’ อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อให้ โอม นิยามผู้หญิงเก่งสักคน เขานั่งคิดอยู่พักหนึ่งก่อนจะกล่าวว่า
“คือถ้านิยามมันอธิบายไม่ถูกน่ะสิ แต่ถ้าให้นึกถึงผู้หญิงเก่งสักคนหนึ่งตอนนี้ ก็คิดว่าเป็น ‘พี่จา’ นะ”
เขาเล่าย้อนกลับไปตอนที่ตัวเขาเพิ่งจะขึ้นปี 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาอยากย้ายจากกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย (เอกฟิล์ม) ไปเรียนวิทยุโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล เพราะเพิ่งค้นพบว่าตัวเองเรียนฟิล์มแล้วไม่มีความสุขและไม่ได้สนุกอย่างที่วาดฝันไว้
แม้ตัวเขา ณ ตอนนั้นจะลังเลใจผสมกับกลัวที่ต้องเปลี่ยนสายเรียนกลางคันและต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ บวกกับความกังวลว่าเขายื่นเรื่องเปลี่ยนเอกช้าไปหรือเปล่า แต่ท่ามกลางความรู้สึกที่ปะปนกัน กลับมีคนหนึ่งคนที่ช่วยทำให้เขารู้สึกดีขึ้น ซึ่งก็คือ ‘พี่จา – จารุณี สุขสม’ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
“ช่วงที่จะเปลี่ยนเอก เราเครียดมาก เพราะไม่รู้ว่าต้องคุยกับใคร หรือต้องเดินเอกสารยังไง เลยตัดสินใจปรึกษาพี่จา และพี่จาก็พร้อมช่วยตลอดเวลา แม้จะเวลาเลิกงานก็ส่งข้อความไปสอบถามได้”
ในสายตาของโอม พี่จาเป็นมากกว่าเจ้าหน้าที่คณะฯ แต่เป็นเหมือนครอบครัวที่พร้อมให้คำปรึกษา รวมถึงเป็นที่พึ่งพาในเวลาที่ไม่รู้ว่าต้องจัดการปัญหาอย่างไร
“คือไม่รู้พี่จารับมือได้ยังไงนะกับการที่เรามีเรื่องให้เดินไปถามพี่เขาไม่เว้นแต่ละวัน และบางทีก็ถามคำถามซ้ำๆ ตามประสาคนกลัวจะยื่นเอกสารผิด แต่พี่เขากลับไม่เคยวีนหรือตอบคำถามส่งๆ เลย คือพี่เขาเก่งมากที่ควบคุมอารมณ์ได้ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากๆ”
ปัจจุบันนี้แม้ว่าโอมจะได้ย้ายไปเรียนในเอกที่มอบความสุขให้เขาตามความตั้งใจ แต่เขาจะไม่มีวันลืมผู้หญิงเก่งอย่าง ‘พี่จา’ ที่ช่วยเขาในวันที่รู้สึกไม่มีความสุขเป็นที่สุด
‘พริก – อภิชญา ศรีนิธิชญานนท์’ อายุ 23 ปี ฟรีแลนซ์ฟิล์มเมกเกอร์ (Freelance Film Maker)
พริกเริ่มทำงานตั้งแต่เรียนจบในฐานะคนเขียนบทซีรีส์ จึงมีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับในเวลาไม่นาน ดังนั้น เมื่อถามถึงผู้หญิงเก่งในชีวิตพริกแล้ว พริกจึงเลือกที่จะตอบว่า ‘ตัวเอง’ อย่างไม่ลังเล
พริกบอกว่า คนแต่ละคนบนโลกใบนี้ย่อมผ่านเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งดีและร้าย การที่เราจะมองว่าตัวเองเป็น ‘คนที่ไม่ดีพอ’ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก แต่การสลัดความคิดด้านลบเหล่านั้นออกจากตัวกลับไม่ได้ง่ายเลย
“บางทีเราอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่ดีพอไปทั้งชีวิตเลยก็ได้ แต่เมื่อวันที่เราเติบโตขึ้นและมองย้อนไปในอดีต บาดแผลเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่สอนให้เราเติบโต การยอมรับความเจ็บปวดของตัวเองและพยายามเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ว่าบอกว่าเราเป็นคนเก่ง”
“คือจริง ๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเก่งหรอก แต่การที่ผ่านอะไรมากมายจนเป็นเราวันนี้ได้คือเก่งแล้ว เพราะแต่ละคนก็มีช่วงชีวิตและเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่เหมือนกัน การที่บอกว่าฉันลำบากกว่าเธอมันพูดยากนะ ปัจจัยที่ทำให้เราโตมามันไม่เหมือนกัน แต่กว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ เราว่าทุกคนก็เก่งกันคนละแบบ”
ตัวพริกในอดีตมักคิดเสมอว่าตัวเองไม่ดีพอ จนเมื่อโตขึ้น ประสบการณ์ในชีวิตนำพาให้เธอมองย้อนกลับไปถึงตัวตนในอดีตที่มักกล่าวโทษและด้อยค่าตัวเอง จึงได้มองเห็นว่าแท้จริงแล้วการที่เธอก้าวผ่านอดีตมาได้อย่างปลอดภัย ย่อมหมายความว่า ‘พริก’ เป็นพริกที่เก่งที่สุดในช่วงชีวิตที่ผ่านมาแล้ว
‘แบม’ อายุ 26 ปี ฟรีแลนซ์ออแกไนซ์เซอร์กองประกวดนางงาม
“เราก็เจอคนหลากหลายแบบนะ เราทำงานในวงการนางงามมีแต่คนเก่ง ๆ ผู้หญิงที่ทั้งสวยทั้งฉลาด ผู้หญิงที่สู้ชีวิต ผู้หญิงที่กล้า มั่นใจ” ปัจจุบันแบมเป็นฟรีแลนซ์ ออแกไนซ์เซอร์ จัดการกองประกวด หลังจากที่ก่อนหน้านี้เธอเคยสมัครเข้าประกวดในเวทีมิสแกรนด์ในจังหวัดหนึ่ง
การได้เข้าไปลองประกวดในครั้งนั้น ถึงแม้จะไม่ได้คว้าชัยชนะบนเวทีมาได้ แต่เธอก็เล่าว่าการเข้าประกวดเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ จากที่ไม่มีความมั่นใจ กลับกลายเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ เธอจึงค้นพบว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ตามหาอาจไม่ใช่มงกุฎหรือสายสะพาย แต่เป็นตัวตนและเป้าหมายใหม่ที่เธอได้พบระหว่างทาง
สำหรับคำตอบของคำถามสำคัญที่ว่า “แล้วผู้หญิงแบบไหนที่แบมมองว่าเก่ง?” แบมคิดอยู่นาน เพราะเธอเจอกับคนหลากหลาย ทั้งผู้หญิงที่อยู่ในวัยเดียวกันกับเธอ ผู้หญิงที่มีอายุและประสบการณ์ชีวิตมากกว่า ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่าหรือแม้กระทั่งเด็กผู้หญิงที่เริ่มฝึกฝนเพื่อเข้าประกวดนางงาม ทั้งทรานส์วูแมน (Trans Woman) ซึ่งเธอคิดว่าทุกคนมีเรื่องราวที่ต่างกันและทุกคนก็เก่งในแบบของตัวเอง
“ฉันว่าผู้หญิงน่ะ เก่งทุกคนนะ คำตอบอาจจะดูโลกสวย แต่ทุกคนย่อมเจอเรื่องที่ยากและทุกคนก็ย่อมมีเรื่องที่น่าภูมิใจ และการที่ทุกคนผ่านมันมาได้ หรือแม้อาจจะยังผ่านไม่ได้ในตอนนี้ก็เก่งมากแล้ว”
เมื่อลองให้นึกถึงผู้หญิงที่เธอยึดถือเป็นต้นแบบ แบมเอ่ยอย่างไม่ลังเลว่าคือตัวเอง เพราะเธอนับถือตัวเอง และได้ให้นิยามของผู้หญิงเก่งในสายตาของเธอว่า คนที่เก่งสำหรับเธอ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด คือคนที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร มีเป้าหมายอะไร มีความเชื่อมั่นในตัวเอง รักตัวเองและให้เกียรติตัวเอง เธอมองว่าการที่สามารถรักและเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
“ผู้หญิงที่เก่ง ก็คือตัวฉันเองนี่แหละ”