SocialWritings

ทำไมขบวนล้อการเมืองงานบอล ‘อ่อม’

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ 

ภาพ : ศิริญาพร ดำน้อย, ผกาวรรณ นิติกาญจนา และ กิตติศักดิ์ ชัยฤทธิ์

หลายคนคงพอจำได้ว่า วันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา มีการจัด ‘งานบอล’ หรือ ‘การแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 1‘ (คนละงานกับงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่นักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสกลับมาพบปะกันในกิจกรรมนี้

นอกจากงานบอลจะเป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างนักศึกษาธรรมศาสตร์และนิสิตจุฬาฯ แล้ว ยังมีจุดเด่นอื่นๆ ที่ทำให้หลายคนตั้งตารอกันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตศิลปิน การแปรอักษรโต้ตอบกันระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นจอ LED แทนการให้นิสิตนักศึกษาต้องขึ้นไปรับแสง UV แบบเต็มที่ รวมไปถึง ‘ขบวนล้อการเมือง’ ที่ทำหน้าที่ราวกับกระจกสะท้อนสภาพสังคม ณ เวลานั้นๆ

แต่เมื่อชื่องานเปลี่ยน วัตถุประสงค์ของการจัดงานก็ย่อมเปลี่ยน เนื่องจากงานฟุตบอลสานสัมพันธ์มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ ‘สานสัมพันธ์’ ระหว่างสองมหาวิทยาลัย ไม่ได้เน้นที่การแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมืองเป็นไฮไลท์ของงาน และดูเหมือนว่าความคาดหวังของผู้ชมคงจะไม่ได้รับการเติมเต็มเท่าใดนัก เพราะหนึ่งในเสียงสะท้อนจากผู้ชมที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยรับชมงานบอลครั้งนี้กลับปรากฏประโยคที่ว่า

“งานบอลปีนี้อ่อม”

นอกจากนี้ ยังมีหลายเสียงกล่าวว่าเมื่อเสิร์ช #งานบอลจุฬาธรรมศาสตร์ ในทวิตเตอร์ ก็มักจะเจอแต่รูปดารา ไม่ค่อยมีการพูดถึงบรรยากาศงาน การแปรอักษร หรือขบวนล้อให้เห็นมากนัก รวมถึงยังกล่าวว่า การแปรอักษร ‘ทำไม่ถึง’ และขบวนล้อการเมืองก็ยังไม่มีประเด็นที่ ‘ฟาด’ มากพอ

ที่กล่าวมานั้นเป็นความเห็นที่พบได้ทั่วไปในวงสนทนาของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ติดตามงานบอลหรือบนไทม์ไลน์ในโลกโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้งานบอลธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งนี้ ออกมาได้ค่อนข้างไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับครั้งล่าสุดที่จัดเมื่อปี 2563 รวมถึงครั้งอื่นๆ ที่จัดก่อนหน้านั้น

เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้งานบอลปีนี้ ‘ไปไม่สุด’ ทาง Varasarn Press จึงติดต่อสัมภาษณ์ ‘มู่หลาน – ธันยชนก ชาลีเขียว’ ชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘มิราเบล – วิวิศนา อุ่นใจ’ ชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ ฝ่าย PR กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปัญหา 1 : งบประมาณล่าช้า

มู่หลาน : เราวางแผนตั้งแต่ปลายมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ ต้นกุมภาพันธ์เราวางแผนกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมสร้างทุกอย่าง แต่เราไม่มีเงินเพื่อซื้อวัสดุ เช่น ไม้ ทำให้ไม่มีอุปกรณ์ขึ้นโครง

ด้วยความเป็นงานบอล เราเลยไม่อยากใช้งบประมาณของกลุ่มอิสระเอง จึงทำให้การเริ่มงานนั้นช้า งบก้อนแรกที่มาคือวันที่ 5 มีนาคม และงานบอลจัดวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งที่มาของงบคือเงินของสปอนเซอร์ล้วนๆ ไม่ได้ใช้งบที่เป็นค่าเทอมนักศึกษาเลย ทางผู้ดำเนินโครงการ ทั้งประธานโครงการ และประธานฝ่ายขบวนก็ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว  นอกจากนี้ยังมีเรื่องการให้งบที่เป็นการให้ทีละก้อน งบก้อนแรกที่เราได้ยังแทบจะไม่พอซื้อไม้ ก้อนต่อมาที่ได้คือวันที่ 10 มีนาคม และต่อจากนั้นก็คือวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งก็ใกล้ถึงวันจัดงานแล้ว

ปัญหา 2 : โดนจับตามอง 

หากใครติดตามกระแสงานฟุตบอลบนสื่อโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ อาจเคยพบเห็นรูปภาพหลายรูปที่เป็นภาพของชายนิรนามยืนมองกลุ่มขบวนล้อการเมืองที่ทำงานอยู่ใต้ตึกกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าคนแปลกหน้าคนนั้นคือใคร

การโดนจับตามองส่งผลต่อการทำงานของขบวนล้อการเมืองหรือไม่?

มู่หลาน : โดยส่วนตัวคิดว่า การส่งคนมาด้อมๆ มองๆ ไม่มีทางที่เขาจะรับรู้เนื้อหาทั้งหมดของขบวนเราได้อยู่แล้ว ด้วยความสูงที่จำกัดของตึกกิจกรรมนักศึกษา ทำให้เราต้องแยกชิ้นส่วนในการทำหุ่นแล้วไปประกอบที่หน้าสนามศุภชลาสัย แต่ปัญหาของประเด็นนี้คือเรื่องความปลอดภัยของนักศึกษาทำไมมหาลัย ถึงปล่อยให้มีคนเหล่านี้เข้ามาได้ อีกเรื่องหนึ่งคือกลัวของหาย เพราะของตรงนั้นมันเยอะมาก ป้ายผ้าเรามี 30 กว่าป้าย เราไม่รู้ว่าเขาจะมากางดูทีละอันไหม

ปัญหา 3 : คำเตือนจาก ‘ผู้ใหญ่’

เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า ขบวนล้อการเมืองมักมีปัญหาเรื่องความล่อแหลมที่ ‘ผู้ใหญ่’ หลายท่านไม่ชอบใจเกือบทุกปี บางปีถึงขั้นมีตำรวจมาฉุดกระชากป้ายจากมือนักศึกษาบริเวณหน้างานเสียด้วยซ้ำ

ขบวนปีนี้โดนทางผู้ใหญ่เซนเซอร์เยอะไหม?

มู่หลาน : ก่อนหน้านี้ผู้บริหารเรียกเราไปคุยว่าเนื้อหาในขบวนมีอะไรบ้าง เขาอ้างเหตุผลที่ขอดูว่า เวลามีตำรวจเข้าชาร์จจะได้ช่วยเหลือนักศึกษาได้ ดังนั้นถ้าจะให้เขาปกป้องเรา เขาก็ต้องรับรู้ด้วยว่าในขบวนมีเนื้อหาอะไรบ้าง แต่เราคิดว่ามันไม่ควรให้ตำรวจเข้ามายุ่งตั้งแต่แรก มันไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา

วันซ้อมใหญ่มีผู้บริหารมาดูด้วย เราก็ไม่ได้เอาป้ายขึ้นหรอก แต่ด้วยบทพากย์ ผู้บริหารก็มีความเห็นว่าไม่โอเค เขาโทรมาบอกว่าอยากคุยด้วย เราก็เลยต้องเข้าห้องดำ เขาพูดกับเราว่ามีบางจุดที่ไม่เหมือนที่ตกลงกันไว้ แล้วเขาก็ขอดู

ป้ายผ้า 33 ป้าย จะมี 2 ป้ายเท่านั้นที่ล่อแหลมในส่วนของบทพากย์ เขาบอกว่าไม่อยากให้โจมตีเรื่องสำนักงานจัดการทรัพย์สินของจุฬาฯ เพราะเป็นงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ แต่คำถามคือสานสัมพันธ์ใคร? นิสิตนักศึกษา หรือผู้บริหาร? สิ่งที่เขากังวลคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารทั้งสองมหาลัยฯ นิสิตนักศึกษาเขาโอเค

คืนวันที่ 30 มีนาคม หลังจากเข้าห้องดำ เราได้รับสายโทรศัพท์และข้อความกดดันตลอดจากเจ้าหน้าที่กิจกรรมนักศึกษา เขาพูดกับเราประมาณว่า อยากเห็นขบวนล้อการเมืองในงานบอลเป็นครั้งสุดท้ายเหรอ ไม่ได้อยากเซนเซอร์แต่เป็นห่วงจริงๆ แต่ความจริงคือ ทุกป้ายผ้าเราได้ปรึกษาอาจารย์ที่เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์แล้วเรียบร้อย 

แล้วเรื่องป้าย ม.112 และศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ล่อแหลมมากๆ ล่ะ?

มู่หลาน : ในเช้าวันงาน อาจารย์และผู้บริหารเข้ามาหาเรา และเขาก็ขอให้เซนเซอร์ป้ายที่เขียนว่า “ขบวนนี้ห้ามพูดถึงม.112” หรือไม่ก็เอาออกไปเลย เราจึงปฏิเสธไปเพราะป้ายนี้ตกลงกันตั้งแต่ตอนอยู่มหาลัยแล้ว เขาจึงแนะนำให้เราเปลี่ยนเป็นเลขโรมันเพราะยังไงสารที่จะสื่อก็มีเท่าเดิม คำถามคือทำไมเราสื่อสารตรงๆ ไม่ได้ เราเลยไม่ยอม

สุดท้ายเขาจึงยื่นข้อเสนอว่าให้ถมขาวทับ ตอนแรกเราจะรับข้อเสนอนี้ เพราะต่อให้ถมขาวมันก็ยังอ่านออกอยู่ดี เราแค่อยากให้ป้ายของเราได้เอาเข้าไปในงาน และเขาก็พูดประมาณว่า ถ้าไม่แก้อาจมีการฉุดกระชากหน้างาน สุดท้ายเราก็ตกลงกันว่าจะกากบาทคำว่า “ห้าม” แล้วเขียนคำว่า “ไม่มี” แทน เพราะสารที่เราจะสื่อก็ยังมีเท่าเดิม

ในส่วนของขบวนที่เป็นศาลเจ้าแม่ทับทิม ฝั่งผู้บริหารไม่พอใจมาก ตอนแรกจะเป็นอีกกลอนหนึ่ง แต่เราเปลี่ยนหน้างานเพราะเขาบอกว่ามันแรงเกินไป

“เราทำงานนี้แค่เพราะอยากสื่อสารงานศิลปะ ทำไมเราต้องมานั่งเครียดขนาดนี้ด้วย”

ปัญหา 4 : ความเป็นอยู่ของทีมงานในวันก่อนงานบอล

มิราเบล : ในส่วนของที่พัก ที่สนามมีให้เป็นโรงยิม เราก็กินนอนอยู่ที่นั่น พอเป็นโรงยิมก็ไม่มีใครถอดรองเท้า เวลานอนก็เหมือนเรานอนกับเท้าใครบ้างก็ไม่รู้ เพราะไม่มีที่นอนที่อื่นแล้ว พัดลมก็น้อย ส่วนที่มีแอร์คือหน้าห้องน้ำ ห้องน้ำในโรงยิมมีแค่ห้องน้ำชาย ถ้าจะไปห้องน้ำหญิงต้องเดินอ้อมออก แล้วตอนดึกแถวนั้นก็มืด ไม่มีใครกล้าเดินอ้อม กลายเป็นว่าชายหญิงต้องใช้ห้องน้ำด้วยกัน ทั้งๆ ที่ตรงนั้นมีทั้งห้องน้ำชายและหญิง แต่กลับเปิดให้ใช้แค่ห้องน้ำชาย

เรื่องข้าว คือมีวันหนึ่งเราฝากฝ่ายสวัสดิการซื้อข้าวเพราะสมาชิกเราทำงานหนักมากๆ เราเลยแบ่งงบของกลุ่มไปซื้อข้าวให้คนที่ทำงาน สรุปวันนั้นข้าวที่เราได้คือข้าวบูด มีคนกินแล้วท้องเสีย 4 คน เข้าโรงพยาบาลอีก 1 คน เขาก็บอกว่าเราไปเอาข้าวช้าเองหรือเปล่า เลยได้ข้าวบูด

ปัญหา 5 : โดนตัดทิ้งไม่ให้ออกอากาศ

งานฟุตบอลสานสัมพันธ์ในครั้งนี้มีสปอนเซอร์เป็นบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยอย่าง ‘AIS’ ทำให้บรรยากาศในงานฟุตบอลได้เผยแพร่ออกสู่สายตาผู้คนทั่วไปผ่านการถ่ายทอดสดด้วย ทว่าเมื่อถึงเวลาเฉิดฉายของขบวนล้อการเมือง กลับเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันหน้างานขึ้น

ขบวนล้อการเมืองไม่ได้รับการถ่ายทอดสดใช่ไหม?

มิราเบล : เรามีทีมพากย์เสียงขบวนล้อการเมืองสองทีม คือพากย์เพื่อให้คนในสนามฟังและพากย์เพื่อใช้สำหรับออกอากาศ ฝั่งคนพากย์ออกอากาศเข้าไปเตรียมตัวในห้องเรียบร้อยแล้ว แต่ทีมงาน AIS ก็แจ้งเราที่เป็น PR มาว่า จะตัดการออกอากาศในส่วนของขบวนล้อการเมือง นักพากย์เราที่เตรียมตัวอยู่ในห้องก็งงไปเลย เราส่งเขาไปเพราะเขาอยากพากย์ขบวนการเมือง แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้พากย์

ปัญหา 6 : หากโดนคดีตอนนี้จะเสี่ยงเกินไป

สปอนเซอร์ในปีนี้มีผลต่อการทำขบวนล้อการเมืองไหม?

มิราเบล : สปอนเซอร์ไม่ได้มีผลขนาดนั้น ที่หลายคนมองว่าขบวนออกมาเบากว่าปีอื่นๆ สาเหตุน่าจะเป็นเรื่องทางกฎหมายมากกว่า คือถ้าโดนคดีช่วงนี้ข่าวจะเงียบมาก ไม่เหมือนกับช่วงปี 2563-2564 ที่ทุกคนจะตื่นตัว พอเป็นตอนนี้ก็เหมือนกับว่าไม่มีใครอยากรับความเสี่ยงตรงนี้ หุ่นหลายๆ ตัวในขบวนก็ค่อนข้างจะสื่อโดยตรงเลย เช่น กรอบรูป หรือหุ่นเชฟ Ratatouille ตอนแรกมีมงกุฎแต่เราก็เอาออกเพราะไม่อยากให้ใครมารับความเสี่ยงตรงนี้ไปด้วยถ้าเกิดโดนฟ้องขึ้นมาจริงๆ

สุดท้ายนี้มีอะไรอยากฝากไหม?

มิราเบล : อยากฝากถึงฝ่ายจัดงานที่เกี่ยวข้องเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น วันที่เราอยู่หน้างาน เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน คือเพื่อนเราถูกไม้หน้าสามฟาดปากแตกตอน 5 ทุ่ม และไม่มีกล่องพยาบาลอยู่แถวนั้น พอสอบถามไปก็บอกว่าที่นี่ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุก็เลยไม่ได้ซื้อมา 

มู่หลาน : งานบอลครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่องค์กรนักศึกษาจัดกันเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่เป็นคนจัด และเป็นงานที่สเกลใหญ่มากๆ เข้าใจว่าอาจจะมีบกพร่องและผิดพลาดกันบ้าง แต่เรื่องการดูแลการปฐมพยาบาลก็ควรจะมี ด้วยสถานที่ที่เราต้องไปเตรียมตัวเป็นโรงยิมที่ใหญ่ขนาดนั้น เป็นศูนย์รวมของทุกขบวน งบสวัสดิการก็ไม่พอ เรื่องข้าว รวมถึงสวัสดิการการขนส่งที่มีปัญหาเรื่องการนัดเวลา  สุดท้ายแล้วการจัดงานครั้งนี้ก็เป็นงานแรกที่ใหญ่ขนาดนี้ จัดได้ประมาณนี้ก็ถือว่าโอเค และยังได้ลองอะไรใหม่ๆ อย่างการแปรอักษรบนจอ LED ก็คิดว่าการทำงานในครั้งนี้คงได้อะไรกลับมา

.

ทั้งนี้ Varasarn Press ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ทางด้าน รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ผู้ทำหน้าที่ช่วยอำนวยการฝ่ายต่างๆ ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ครั้งนี้ อธิบายถึงเหตุการณ์การเรียกนักศึกษาผู้ทำขบวนเข้าไปคุยว่า

“คือเราเชิญมาคุยครับว่าจะมีอะไรยังไงบ้างในขบวน จริงๆ แล้วผมถือว่าเป็นเรื่องเสรีภาพของนักศึกษา แต่ว่าสิ่งที่เรากังวลก็คือไม่อยากให้มันมีคดีอะไรเกิดขึ้น เพราะนักศึกษาจะเป็นคนรับผิดชอบถ้าหากเกิดอะไรขึ้น มันเดือดร้อนนักศึกษา เราก็แค่พยายามช่วยดูว่าอันไหนดูอันตราย”

อีกทั้งยังกล่าวว่า เขาไม่ได้ทำการเซนเซอร์ผลงานชิ้นใดของนักศึกษา เพราะจะเห็นได้ว่า ในวันงาน นักศึกษาก็สามารถนำผลงานออกไปแสดงเดินขบวนได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีผลงานบางส่วนที่ไม่เหมาะสมในความคิดเห็นของเขาก็ตาม 

“มีเรื่องผลงานบางส่วนที่จุฬาฯ เขาอาจจะไม่ค่อยสบายใจที่เราทำไป ผมก็คุยกับนักศึกษาว่า ครั้งนี้มันเป็นงานฟุตบอลสานสัมพันธ์นะ เราจะไปทำอย่างนั้นเหรอ แต่ในที่สุดเขาก็แสดงผลงานออกมาได้เต็มที่ ไม่ได้มีการเซนเซอร์สักตัวเลยครับ”

การพูดคุยชี้แจงในครั้งนี้อาจคลายความสงสัยของผู้ชมเกี่ยวกับสาเหตุของความ ‘อ่อม’ ที่เกิดขึ้นในงานบอล และกล่าวได้ว่าท่ามกลางปัญหาที่มากมายถึงเพียงนี้ การได้เห็นผลงานของขบวนล้อการเมืองได้ออกไปเฉิดฉายท่ามกลางสายตาผู้คน อาจนับได้ว่าประเด็นต่างๆ ที่จะสื่อสารในครั้งนี้ยังคงชัดเจนและเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้า แม้ว่าจะไม่ได้พื้นที่บนไทม์ไลน์ทวิตเตอร์มากเท่ารูปดาราก็ตาม

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
10
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
2

More in:Social

Shot By Shot

แผงขายอาหารริมทาง (เท้า) ยามเช้า แผงเสบียงสีเทาราคาย่อมเยาของชาวออฟฟิศ

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ในเช้าวันเร่งรีบของ ‘มนุษย์เงินเดือน’ เหล่ามดงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แทบจะไม่มีแม้แต่เวลาหยุดพักกินข้าวหรือมีเงินเดือนพอจะแวะกินร้านอาหารดีๆ ได้ตลอด สิ่งที่พอจะช่วยชีวิตให้ยังคงมีเงินเก็บอยู่ ก็คงเป็นอาหารประเภทที่สามารถซื้อและพกพาไปได้ในราคาที่ไม่สูงนัก ซึ่งก็คืออาหารจากรถเข็น หาบเร่ แผงลอยอาหาร หรือที่เรียกรวมกันว่า ‘หาบเร่แผงลอย’ ...

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

Writings

‘SLAPP’ วิธีการปิดปากสื่อรูปแบบใหม่ ไม่เจ็บกาย แต่ร้ายไม่ต่างกัน

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นว่ามีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย โดยหนึ่งประเด็นที่เรียกได้ว่า ‘สั่นสะเทือน’ วงการสื่อจนหลายองค์กรต้องออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือ ประเด็นที่นักข่าวประชาไทและช่างภาพถูกจับกุม ...

Writings

ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 60 กับคำถามประชามติที่ไร้ทางแก้ปัญหา

เรื่อง : ศศณัฐ ปรีดาศักดิ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งตามข้อเสนอของ ...

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save