SocialWritings

ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 60 กับคำถามประชามติที่ไร้ทางแก้ปัญหา

เรื่อง : ศศณัฐ ปรีดาศักดิ์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งตามข้อเสนอของ “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน

การเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการทำประชามติยกแรกนี้ อาจนับเป็น “ก้าวแรก” เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ที่ยังคงเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน

แล้วรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีที่มาและสร้างปัญหาอย่างไร?

 

ที่มาของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 60

หากจะพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงต้องย้อนความกันก่อนว่าในปี พ.ศ.2559 ประชาชนตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของคสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เมื่อเกิดการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญเดิม (ฉบับปี 50) จึงถูกฉีกทิ้ง

จนมาถึงปี พ.ศ.2559 คสช.จัดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานฯ ปัญหาแรกสุดนี้ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ล้วนมีที่มาและยึดโยงกับคนของคสช.ที่เป็นผู้ก่อการการรัฐประหารทั้งสิ้น

แค่การตั้งต้น ก็แทบไม่เป็นประชาธิปไตยเสียแล้ว

ที่สำคัญคือคสช.ได้ใช้การปิดปากประชาชนในการรณรงค์เพื่อลงประชามติรับหรือไม่รับร่างฯ ดังกล่าว โดยการออกประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559

ประกาศฯ ในข้อที่ 4 ระบุไว้ว่า “ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียง บุคคลสามารถดำเนินการด้วยวิธีการที่ไม่มีลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ และไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น…” และหากประชาชนฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี

แม้จะมีประกาศฯ ดังกล่าวออกมา แต่ประชาชนไม่รู้ขอบเขตในการแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ว่าสามารถพูดถึงได้มากน้อยเพียงใด หลายคนโดนจับกุมเพราะออกไปรณรงค์ค้านร่างฯ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบรรยากาศทางการเมืองในช่วงนั้นจึงเป็นไปด้วย “ความสงบ”

นอกจากนี้หากลองมองในมุมของประชาชน ณ ขณะนั้นจะพบว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะก่อนหน้าร่างรัฐธรรมนูญที่นายมีชัย เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ยกร่างโดยทีมที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯ แต่ร่างฯ ถูกคว่ำกลางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปก่อนแล้ว ถ้าประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัยอีก ก็จำเป็นต้องเดินเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกเป็นครั้งที่ 3 และเนื่องด้วยต้องใช้เวลานานในการร่าง อาจทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากรออีกต่อไป

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ยังมีประเด็นปัญหาในแต่ละมาตรา และข้อจำกัดมากมาย

 

ปัญหาภายในรัฐธรรมนูญฉบับปี 60

ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 “สิทธิ์ของประชาชน” ถูกเปลี่ยนให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ในการดำเนินการ เช่น สิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวกรวดเร็ว ฯลฯ

นั่นหมายความว่ารัฐมีหน้าที่เข้ามาดำเนินการให้ทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งคือหากรัฐไม่ทำหน้าที่เหล่านี้ ประชาชนจะไปเรียกร้องสิทธิ์จากใครได้ไหม เพราะมันไม่ได้เป็นสิทธิ์ของประชาชนต่อไปแล้ว

และประเด็นปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและห้ามเลือกปฏิบัติโดยเหตุแห่งเพศ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ไม่ได้ระบุความหมายของ ‘ชายและหญิง’ กับ ‘เพศ’ ไว้ให้ชัดเจน หากมีผู้ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยกฎหมายที่เกี่ยวของกับเรื่องเพศ เช่น กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส หรือกฎหมายคำนำหน้านาม ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ความไม่ชัดเจนในคำว่าเพศอาจส่งผลต่อการตีความของศาลรัฐธรรมนูญได้

จากปัญหาเรื่องที่มา และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 60  เป็นผลทำให้ช่วงการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 หลาย ๆ พรรคการเมืองจึงชูนโยบายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ขึ้นมาหาเสียง แต่เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย คลื่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญลูกใหญ่กลับเงียบสงบลง

จนมาถึงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2566 รัฐบาลได้จัดตั้ง “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560” มีวัตถุประสงค์คือศึกษาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้พรรคก้าวไกลได้ลาออกจากการร่วมคณะกรรมการฯ ผลสุดท้ายคณะกรรมการฯ สรุปให้ทำประชามติ 3 ครั้งด้วยกัน คือ ครั้งแรกก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อสอบถามว่าประชาชนเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สำเร็จ และก่อนมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และครั้งที่ 3 หลัง สสร.ร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ให้ไปถามประชาชนว่ายอมรับร่างฯ หรือไม่

ในตอนนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ได้มีมติ ครม.เห็นชอบให้ทำประชามติ 3 รอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และเตรียมให้ประชาชาชนชาวไทยจะได้เข้าคูหาอย่างช้าภายใน 21 สิงหาคมนี้ แต่ปัญหากลับอยู่ที่คำถามในการทำประชามติครั้งแรกว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

 

ปัญหาของข้อคำถามประชามติ

หากลองสังเกตจากคำถามจะพบว่า ภายใต้ตัวคำถามสามารถแยกออกได้เป็น 2 ใจความสำคัญ ประการแรก ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประการต่อมา ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์

การที่คณะกรรมการฯ ออกแบบคำถามซ้อนกันในคำถามเดียว เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐบาลต้องการที่จะมัดมือชกให้ประชาชนยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แตะหมวดทั่วไป และหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์

หากเป็นจริงดังว่า ก็ดูเหมือนว่าประชาชนจะวนมาถึงสภาวะไร้ทางเลือกคล้ายกับช่วงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 อีกครั้ง

เพราะถ้าประชาชนส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกแก้ไขหรือทำขึ้นใหม่โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ทั้งที่ความเป็นจริง อาจจะมีคนบางส่วนต้องการให้แตะหมวดใดหมวดหนึ่ง หรือทั้งสองหมวดก็ได้

แต่ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่เกิดขึ้น

ในเมื่อประชาธิปไตยคือการเห็นต่าง จึงมีทั้งบุคคลที่มีความต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญที่สามารถแตะหมวด 1 และหมวด 2 เช่น เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All ออกมารณรงค์ให้คว่ำประชามติ รวมทั้งก็ยังมีบุคคลที่คิดว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ไม่ควรแตะต้องรัฐธรรมนูญหมวด 1 และ 2 และคนที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเลยอีกด้วย

ในที่สุดแล้วเราจึงต้องใช้ประชาธิปไตยเพื่อตัดสินตามเสียงส่วนใหญ่ และรับฟังเสียงส่วนน้อย

ดังนั้นการที่ ครม.มีมติให้ตั้งคำถามการทำประชามติ โดยพ่วงใจความสำคัญซ้อนกันในคำถามเดียว จึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ที่ยืดยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะผลการลงประชามติจากคำถามที่กำกวมเช่นนี้ จะไม่สามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้เลย

สุดท้ายแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ แล้ววันใดที่พวกเราจะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จาก (ตัวแทน) ประชาชน โดย (มติ) ประชาชน เพื่อ (ประชาธิปไตยของ) ประชาชนอย่างแท้จริง


บรรณานุกรม

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (24 กันยายน 2563). รัฐธรรมนูญ2560 : รัฐสภายืด “เปิดสวิตช์แก้รธน.” ยังไม่โหวตร่าง

แก้ รธน. แต่ยื้อตั้งกมธ.ศึกษา 30 วัน. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54278557

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (25 ธันวาคม 2566). กก.ชุดภูมิธรรมเคาะทำประชามติ 3 ครั้ง รอบแรกใช้คำถามเดียว-

ไม่ล็อก สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญ. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/c4nykemlneno

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. (ม.ป.ป.). การร่างรัฐธรรมนูญ (กระบวนการ). สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?t

itle=การร่างรัฐธรรมนูญ_(กระบวนการ)

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. (ม.ป.ป.). ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง. สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index

.php?title=ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

BBC. (25 ธันวาคม 2566). กก.ชุดภูมิธรรมเคาะทำประชามติ 3 ครั้ง รอบแรก ใช้คำถามเดียว-ไม่ล็อก สสร. จัดทำ

รัฐธรรมนูญ. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/c4nykemlneno

BBC. (24 เมษายน 2567). ครม. “คิกออฟ” แก้รัฐธรรมนูญ เคาะทำประชามติ 3 รอบ เข้าคูหายกแรกภายใน ส.ค.

  1. 67. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/articles/cqvn34l5d87o

iLaw. (5 สิงหาคม 2563). ปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 : สิทธิเสรีภาพที่อยู่ภายใต้ “ความมั่นคงของรัฐ”. สืบค้น

จาก https://www.ilaw.or.th/articles/4366

iLaw. (23 สิงหาคม 2563). 10 เหตุผล ประชามติ’ 59 ไม่อาจใช้อ้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญ. สืบค้น

จาก https://www.ilaw.or.th/articles/4440

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

ผู้ดูแลคนพิการคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน

เรื่องและภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ฉันกำลังทำความสะอาดข้าวของเก่าๆ ในห้องเก็บของอยู่ สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นกล่องพลาสติกใสมีฝาปิด ด้านในอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มรูปภาพตั้งเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ  ฉันตัดสินใจนั่งลงบนพื้นแล้วเปิดฝากล่องออก ค่อยๆ หยิบอัลบั้มแต่ละเล่มออกมาเปิดดูด้วยความสงสัย รูปทั้งหมดหลายร้อยใบล้วนเป็นรูปครอบครัวของฉัน มันได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในซองพลาสติกใสของอัลบั้ม ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีใครเขียนวันเดือนปีระบุเอาไว้ ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save