เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง
ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง และ ชวิน ชองกูเลีย
.
เมื่อวนมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกฉาบไปด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน หรือแม้กระทั่งรูปโปรไฟล์ของบริษัทต่างๆ ตามโซเชียลมีเดีย ทำให้บางคนตั้งคำถามถึง ‘การฟอกสีรุ้ง’ หรือ ‘Rainbow Washing’ ว่าบริษัทเหล่านี้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เพราะสนับสนุนกลุ่มความหลากหลายทางเพศจริง หรือเป็นเพียงการโฆษณาเพื่อไม่ให้ตัวเองตกขบวนของสังคม
คำตอบคงหนีไม่พ้นต้องสังเกตการณ์การกระทำของบริษัทเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภายในบริษัท สวัสดิการของลูกจ้าง หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนเงินทุนเพื่อกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
เรื่องราวเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี บริษัทต่างๆ เริ่มปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น มีการปรับปรุงจากภายใน ไม่ใช่แค่เรื่องของเพศ แต่ยังรวมไปถึงสิทธิต่างๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่คนภายในบริษัทควรจะได้รับ แม้บางครั้งมันอาจเป็นเพียงการทำเพื่อให้ตัวเองไม่ถูกคว่ำบาตร แต่นั่นก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
แต่ก็เกิดเหตุที่ทำให้ต้องตั้งคำถามอีกครั้ง เมื่ออีเวนต์ที่ใหญ่ที่สุดของเดือนแห่งความหลากหลายอย่าง ‘Bangkok Pride Festival 2024’ ที่จัดขึ้นโดย ‘บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด’ ได้ประกาศผู้สนับสนุนต่างๆ ภายในงาน
บริษัทที่ให้การสนับสนุนนั้นมีหลากหลาย ทั้งบริษัทที่ผู้คนเห็นด้วยว่าสมควรกับตำแหน่งผู้สนับสนุน เพราะพวกเขาแสดงออกถึงการเคลื่อนไหวที่น่าประทับใจ และบริษัทที่ผู้คนยังคงครึ่งๆ กลางๆ ที่จะวิจารณ์ว่าดีหรือไม่
แต่มีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงการปรากฏตัวในฐานะผู้สนับสนุน เพราะบริษัทดังกล่าวถูกพูดถึงในแง่ลบมาตลอด ทั้งเรื่องการ Rainbow Washing รวมถึงการกำหนดสวัสดิการลูกจ้างที่มีประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านอีเวนต์นี้ขึ้น เพราะสำหรับคนที่ร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศและสิทธิมนุษยชนกันมาตลอด นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะยอมรับได้ง่ายนัก
“บางกอกไพรด์เองก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนกับภาคธุรกิจ มันปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องใช้เงินทุน แต่เราไม่อยากให้ใครมาหาผลประโยชน์จากเรา เวลาเราคุย เราจึงมี 3 อย่างที่เอามาพิจารณา หนึ่ง คือเราดูว่าบริษัทหรือแบรนด์นั้นๆ มีสวัสดิการของพนักงานหรือเปล่า มีการทำแคมเปญหรือทำอะไรที่ดูแลพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า สอง คือบริษัทเข้าใจมากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และสาม คือบริษัทเคยมีประเด็นการกดขี่ ดูถูกเหยียดหยามหรือเปล่า แล้วสุดท้ายเราค่อยมาคุยกันเรื่องเงินทุน นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นสำหรับการทำงานของบางกอกไพรด์”
นั่นคือสิ่งที่บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด อธิบายผ่านสื่อเมื่อปี 2023 ซึ่งเมื่อมองมาที่ปี 2024 ก็ได้สร้างคำถามมากมายภายในใจของผู้คน ว่าพวกเราสามารถที่จะขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ไปพร้อมกับองค์กรที่ถูกสังคมตั้งคำถามอย่างหนักได้จริงๆ หรือ
นอกจากนี้ ยังลามไปถึงการตั้งคำถามว่า “งานจำเป็นต้องมีผู้สนับสนุนหรือไม่” ในเมื่อจุดเริ่มต้นของงานก็ไม่ได้มีการรับเงินใดๆ จากผู้สนับสนุนเลย และเมื่อมีผู้สนับสนุน รูปแบบของงานก็ต้องปรับเปลี่ยนไป จนบางคนกล่าวว่า ‘เสน่ห์’ ของงานได้หายไปแล้ว เหลือเพียงงานที่จัดขึ้นเพื่อแสวงหารายได้ ภายใต้ฉากหน้าของการสนับสนุนความหลากหลายเพียงเท่านั้น
ทั้งนี้ มีการเสนอความเห็นว่า ถ้าหากจำเป็นต้องรับการสนับสนุนจริงๆ ก็มีตัวอย่างของงาน ‘Pride in London’ ที่พึ่งจัดขึ้น ที่แม้พวกเขาจะรับการสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าบริษัทเหล่านั้นจะต้องแสดงให้เห็นถึงความ ‘มุ่งมั่น’ ในการสนับสนุนพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศและสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่การมาหาพื้นที่ในการฟอกสีรุ้งให้ตัวเอง
ด้วยการที่บริษัทที่ต้องการมีส่วนร่วมในขบวน pride นั้น จำเป็นจะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรตลอดปี และต้องเข้าร่วมการอบรมต่างๆ เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่เป็นมิตรและครอบคลุมสำหรับพนักงาน หรือการเชื่อมโยงพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ากับชุมชนเควียร์และองค์กรต่างๆ
ท้ายที่สุดเราคงต้องดูกันไปว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ แต่อย่างหนึ่งที่แน่นอนคือ การตั้งคำถามถึงอุดมการณ์เกิดขึ้นมาแล้ว เราหวังได้เพียงว่ามันจะไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้ และหวังว่าอุดมการณ์ที่แข็งแรงเช่นเดิมจะได้กลับมาสยายปีกที่สวยงามของมันอีกครั้ง
บรรณานุกรม
“บางกอกไพรด์ 2023” ว่าด้วย LGBTQIAN+ ผู้ขับเคลื่อน GDP และการตลาดแบบสาดสีรุ้ง.
(2 มิถุนายน 2566). SANOOK. สืบค้นจาก https://www.sanook.com/news/8877842/
#GDRT_Update : 𝗣𝗿𝗶𝗱𝗲 𝗶𝗻 𝗟𝗼𝗻𝗱𝗼𝗻.
(1 มิถุนายน 2567). Genderation . สืบค้นจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=397589633274285&set=a.191499740549943