SocialWritings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน และกว่า 40% เป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี อย่างไรก็ตามอินเดียกลับยังคงความเชื่อในการแบ่งชนชั้นตามระบบวรรณะ ที่มีประวัติความเป็นมามากกว่า 3,000 ปี ความเชื่อนี้แบ่งแยกความเป็นคนจากชาติกำเนิดอันมีพื้นเพมาจากความเชื่อทางศาสนาฮินดู

ระบบวรรณะในอินเดียแบ่ง ‘คน’ ออกเป็น 4 ชนชั้น ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ (Brahmins) ที่เป็นนักบวชและผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา วรรณะกษัตริย์ (Kshatriyas) ที่เป็นชนชั้นปกครองและนักรบ วรรณะแพศย์หรือไวศยะ (Vaishyas) ที่เป็นประชาชนทั่วไปหรือพ่อค้า และวรรณะศูทร (Shudras) ที่เป็นชนชั้นแรงงานหรือคนรับใช้

นอกจากนี้ ยังมีคนที่ถูกจัดให้เป็น อวรรณะ หรือ จัณฑาล (Chandala) ซึ่งกำเนิดจากพ่อแม่ที่แต่งงานกันข้ามวรรณะ โดยคนกลุ่มนี้จะถูกมองว่าน่ารังเกียจ ไม่สามารถประกอบอาชีพใดๆ เพื่อทำมาหากินได้ เพราะไม่ถูกมองว่าเป็น ‘คน’

อย่างไรก็ตาม จัณฑาลทั้งเพศชายและเพศหญิงก็ยังมีคุณค่ามากกว่ากลุ่มคนที่สังคมไม่รู้ว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง อย่าง ‘ฮิจรา’ (Hijra)

ฮิจรา เป็นคำภาษาฮินดู มีที่มาจากตำนานศักดิ์สิทธิ์กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของรามเกียรติ์ หรือรามายณะฉบับอินเดียใต้ ว่า “ครั้งหนึ่งพระรามถูกเนรเทศ มีกลุ่มคนออกมาส่งพระรามถึงนอกเมือง พระรามจึงบอกแก่คนเหล่านั้นว่า ให้ทั้งชายและหญิงเช็ดน้ำตาและกลับเข้าเมืองไปเสีย แต่ ณ ที่แห่งนั้นมีกลุ่มคนที่ยังยืนรอพระรามอยู่กว่า 14 ปี เพราะพวกเขาไม่ใช่ทั้งชายและหญิงจึงไม่กลับเข้าเมือง เมื่อพระรามกลับมาพบจึงให้พรคนกลุ่มนี้ให้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ อวยพรก็สมหวัง สาปแช่งก็เป็นจริง และเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ฮิจรา”

คำว่าฮิจรา จึงเป็นคำที่ใช้กล่าวถึงกลุ่มคนที่เป็นเพศหลากหลายมานับพันปี

เมื่อบุคคลที่เป็นเพศหลากหลายในประเทศอินเดียเปิดเผยความเป็นตัวตนออกมา ว่าไม่ได้เป็นทั้งเพศชายและเพศหญิง สังคมจะปฏิเสธพวกเขา แม้แต่ครอบครัวก็ขับไล่อย่างไม่ใยดี เนื่องมาจากค่านิยมทางเพศที่ฝังลึกในจิตใจของผู้คนและอคติทางสังคม พวกเขาไม่สามารถประกอบอาชีพใดๆ ได้ อย่างมากก็เป็นขอทาน หรือโสเภณี

คนกลุ่มนี้จึงต้องมารวมตัวเพื่อพึ่งพาอาศัยกันเป็นชุมชนฮิจราอันเป็นชุมชนศักดิ์สิทธิ์ เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าฮิจราได้รับพรจากพระรามให้คำอวยพรของพวกเขาเป็นจริง สิ่งนี้จึงกลายเป็นอาชีพให้ฮิจราได้ทำมาหากิน โดยพวกเขาจะแต่งตัวด้วยชุดส่าหรีและแต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางตามกำลังทรัพย์ให้สะสวยพอที่จะเป็นตัวแทนจากพระเจ้าในการรับจ้างอวยพรในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น วันแต่งงาน วันเกิดของทารก ผู้ที่ได้รับพรมีความเชื่อว่าชีวิตของพวกเขาจะประสบความสำเร็จตามคำอวยพรของเหล่าฮิจรา

นอกจากให้คำอวยพร ฮิจรายังสามารถสาปแช่งให้พบเจอกับโชคร้ายและเคราะห์กรรมได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนเคารพและให้เกียรติฮิจราในฐานะของผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์

แม้ฮิจราไม่ถูกยอมรับด้วยบรรทัดฐานทางสังคมของอินเดียที่มองว่ามนุษย์มีเพียงเพศชายและเพศหญิง แต่ฮิจราก็อยู่รอดด้วยความเชื่อของคนในสังคม จากจุดต่ำสุดกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนเคารพบูชาได้อย่างย้อนแย้ง

แต่สิ่งที่น่าตระหนักถึงมากกว่านั้น คือฮิจราไม่ได้ต้องการเป็น ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’ แต่พวกเขาอยากได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองคนหนึ่งในสังคม เช่น สวัสดิการทางการแพทย์และการศึกษา ที่พวกเขายังไม่ได้รับอย่างเท่าเทียมกับพลเมืองอื่นๆ เพราะรัฐบาลมองว่าพวกเขาเป็น ‘เพศที่สาม’

การรณรงค์ของพวกเขาเริ่มได้ผล ในปี 2014 ศาลสูงสุดของอินเดียได้มีคำตัดสินยอมรับสถานะเพศที่สามด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม อนุญาตให้ระบุเพศในเอกสารทางการได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขกฎหมายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ได้แก่ การยกเลิกการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 ว่าด้วยการกำหนดให้การรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรม ซึ่งการยกเลิกนี้มาจากคำพิพากษาของศาลสูงสุดของอินเดียเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ๆ ที่ร่างโดยชนชั้นปกครองที่ปราศจากความเข้าใจในอัตลักษณ์และความต้องการที่แท้จริงของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังทำให้เกิดปัญหาตามมาอยู่บ่อยๆ  เช่น การกำหนดคำนิยามของกลุ่มคนข้ามเพศที่คลุมเครือ ส่งผลให้มีความไม่ชัดเจนและช่องโหว่ อาทิ คนข้ามเพศคือบุคคลที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด หรือหมายถึงบุคคลที่ทำการผ่าตัดแปลงเพศแล้วกันแน่ ขณะที่การระบุเพศในบัตรประจำตัวต้องมีหลักฐานการผ่าตัดแปลงเพศมาก่อน ซึ่งขัดกับที่ศาลสูงสุดตัดสินยอมรับเพศที่สามทุกคนและอนุญาตให้แก้ไขเพศในเอกสารทางการได้

นอกจากนี้กฎหมายที่ร่างมาเพื่อส่งเสริมสิทธิ์ให้แก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กลับไม่ได้ให้ความคุ้มครองที่เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป เช่น ความผิดในการล่วงละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกายบุคคลหลากหลายทางเพศ มีโทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปี หากเป็นความผิดเดียวกันแต่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิง จะกลายเป็นมีโทษตั้งแต่จำคุกตลอดชีวิตถึงประหารชีวิต

การเปิดกว้างทางเพศที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียอาจสะท้อนให้เห็นว่า การเปิดรับ (ยัง) ไม่เท่ากับ ‘การยอมรับ’ และแม้อินเดียมองเห็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ…

แต่ (ยัง) ไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง


อ้างอิง

กัญญารัตน์ อรน้อม. (2566). “ฮิจรา – กะเทยอินเดีย” ทำไมถึงมีวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ในการสาปแช่ง?. สืบค้นจาก https://www.silpa

mag.com/culture/article_100489

รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี. (ผู้สร้าง). (2565). ชีวิตที่ต้องสู้ของคนข้ามเพศในอินเดีย. [Youtube] สืบค้นจาก https://youtu.be/

NQ2p1s8HiB8?si=U0-hiGXlFTqUQdsi

Histofun Deluxe.  (5 สิงหาคม 2566). วรรณะของอินเดียคืออะไร?.  [Facebook]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/

100063673755691/posts/pfbid02c46EwZZnEjELoiNpT4cLZ1WtPY6GRp76NbBBBKr3U4qLrx3Dwxhx8iBMibi3saafl/?

SPECTRUM.  (28 มีนาคม 2566). กะเทยนี่แหละที่รอพระรามกลับบ้านมานาน 14 ปี!. [Facebook]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com

/276483199710024/posts/pfbid023eUY4DBaEAvh53XJ7yjpMnUgSzuXhrXJ4ptyqnMNPB99sNnNxUEGxGuyTLRti8Eol/?

ThaiPBS. (2023). 10 อันดับประเทศประชากรมากที่สุดในโลก. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/329511

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Social

Writings

‘SLAPP’ วิธีการปิดปากสื่อรูปแบบใหม่ ไม่เจ็บกาย แต่ร้ายไม่ต่างกัน

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นว่ามีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย โดยหนึ่งประเด็นที่เรียกได้ว่า ‘สั่นสะเทือน’ วงการสื่อจนหลายองค์กรต้องออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือ ประเด็นที่นักข่าวประชาไทและช่างภาพถูกจับกุม ...

Writings

ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 60 กับคำถามประชามติที่ไร้ทางแก้ปัญหา

เรื่อง : ศศณัฐ ปรีดาศักดิ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งตามข้อเสนอของ ...

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

ผู้ดูแลคนพิการคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน

เรื่องและภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ฉันกำลังทำความสะอาดข้าวของเก่าๆ ในห้องเก็บของอยู่ สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นกล่องพลาสติกใสมีฝาปิด ด้านในอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มรูปภาพตั้งเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ  ฉันตัดสินใจนั่งลงบนพื้นแล้วเปิดฝากล่องออก ค่อยๆ หยิบอัลบั้มแต่ละเล่มออกมาเปิดดูด้วยความสงสัย รูปทั้งหมดหลายร้อยใบล้วนเป็นรูปครอบครัวของฉัน มันได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในซองพลาสติกใสของอัลบั้ม ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีใครเขียนวันเดือนปีระบุเอาไว้ ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save