เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์
อาจารย์รัฐศาสตร์มธ. ชี้ไทยอาจส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ยากขึ้น เนื่องจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ พร้อมแนะนักธุรกิจไทยเตรียมตัวหาตลาดเสริม ด้านรัฐฯ ต้องเตรียมนโยบายตั้งรับสินค้าทะลักจากจีน
จากกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ผลกระทบจากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น เพราะนโยบายของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าด้วยอัตราร้อยละ 10 จากประเทศที่มีดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้สินค้าจากไทยที่ส่งไปยังสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อของผู้บริโภคลดลง และแนะนำให้กลุ่มผู้ประกอบการไทยหาตลาดอื่นเป็นตลาดเสริม เพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณการส่งออกที่อาจจะน้อยลงจากกำแพงภาษี
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องส่งออกแล้ว การที่ทรัมป์มีนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 60 ยังอาจส่งผลให้สินค้าจากจีนในสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องการซื้อน้อยลง ส่งผลให้สินค้าจากจีนซึ่งส่งออกไปสหรัฐฯ ขายได้ลดลง จีนจึงจะต้องมองหาตลาดอื่นเพื่อระบายสินค้าแทน “ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าสินค้าที่ค้างอยู่ในประเทศจีนมักจะระบายออกมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเผชิญปัญหาสินค้าทะลักมาจากจีนหลายระลอกแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจากจีนอีก สินค้าจากจีนจะไหลมาที่ไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องรับมือ”
ปองขวัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ไทยมีโอกาสจะได้ประโยชน์จากการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน เนื่องจากหากจีนจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นเพื่อหลบเลี่ยงการปิดกั้นด้วยภาษี ไทยอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับฐานการผลิตใหม่
สำหรับมุมมองด้านการทูตนั้น ปองขวัญ กล่าวว่าการทูตของทรัมป์มีลักษณะแบบยื่นหมูยื่นแมว (transactional diplomacy) คือพร้อมจับมือกับไทย หากว่าสามารถสร้างข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจได้ ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในตอนนี้ ยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน โดยมีเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยมีพื้นที่ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เองก็ตาม
“ทรัมป์อาจจะไม่ได้สนใจประเทศไทยขนาดนั้น ในฐานะที่จะให้เป็นพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการอยู่ข้างอเมริกา เขาจะไปสนใจเฉพาะว่า เขาจะทำยังไงให้จีนไม่แซงหน้าอเมริกาไป ทำยังไงให้เศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะมองเรื่องการค้าเป็นหลัก ไม่ได้มองเรื่องบทบาทการเป็นมิตรของเมืองไทย” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ประเทศคู่ค้า 5 อันดับที่ไทยส่งออกสินค้าไปมากที่สุดในปี 67 ได้แก่ สหรัฐฯ มูลค่า 9.20 แสนล้านบาท, จีน มูลค่า 6.30 แสนล้านบาท, ญี่ปุ่น มูลค่า 4.13 แสนล้านบาท, มาเลเซีย มูลค่า 2.15 แสนล้านบาท และไต้หวัน มูลค่า 8.39 หมื่นล้านบาท
อ้างอิง
ฐานเศรษฐกิจ. (28 ก.ค. 2024). เปิด 5 อันดับ ตลาดส่งออก-นำเข้า-ไทยขาดดุลการค้า ครึ่งทางปี 67. เข้าถึงได้จาก thansettakij. https://www.thansettakij.com/business/tradeจ-agriculture/602818#