เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
วรรณกรรมคลาสสิกของอเมริกา เรื่อง The Catcher In The Rye เป็นผลงานของเจ.ดี. ซาลินเจอร์ (J.D.Salinger) ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1951 ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระยะสงครามเย็น มีลัทธิแมคคาร์ธี (McCarthyism) ซึ่งตั้งตามชื่อของวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธี แห่งพรรครีพับลิกัน (Republican Party) คอยกวาดจับผู้ที่ประพฤติตนไม่เป็นอเมริกัน หันไปนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ
หนังสือเล่มนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคมบางส่วนในช่วงนั้น
องค์กรอนุรักษนิยมรวมถึงสมาคมผู้ปกครองในอเมริกาต่างพากันเป็นเดือดเป็นร้อน เมื่อ The Catcher In The Rye จะถูกนำไปบรรจุในหลักสูตรของโรงเรียนมัธยม โดยให้เหตุผลว่านวนิยายเรื่องนี้ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เต็มไปด้วยคำสบถ จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามอยู่พักหนึ่ง
แต่ทว่าในศตวรรษที่ 21 โฮลเดนตัวเอกของเรื่องที่เคยเป็นปัญหาเนื่องจากชอบทำตัวขบถ และขวางโลกก็ได้รับความเข้าอกเข้าใจและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แม้เขาไม่ใช่ตัวละครที่ทำความดี หรือน่านับถือนัก แต่เขาเป็นตัวละครที่จริงใจและมีความเป็นมนุษย์สูงจนกลายเป็นสัญลักษณ์แทนใจของวัยรุ่นในเวลาต่อมา
The Catcher In The Rye ถูกแปลไปหลายภาษาทั่วโลก ซึ่งในไทยได้รับการตีพิมพ์ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ปราบดา หยุ่น ได้นำกลับมาแปลใหม่ และใช้ชื่อว่า “จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์ ปี 2552
คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์ โปรดอ่านอย่างระมัดระวัง
The Catcher in the Rye เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัยรุ่นอายุ 16 ปี ชื่อ‘โฮลเดน คอลฟิลด์’ (Holden Caulfield) ที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนประจำเพนเซย์ก่อนปิดเทอมในช่วงคริสต์มาส เพราะสอบตกเกือบทุกวิชา
การผจญภัยฉบับโฮลเดนได้เริ่มต้นขึ้นจากการที่เขาตัดสินใจหนีออกจากโรงเรียน ใช้ชีวิตอิสระ และใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายอยู่สองสามวันแล้วค่อยกลับบ้าน ก่อนที่พ่อแม่จะรู้ว่าเขาถูกไล่ออก
เรื่องราวระหว่างการเดินทางดำเนินไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาที่เขาประสบพบเจอ รวมไปถึงความรู้สึกต่างๆ ที่เขามีต่อผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะความหดหู่ และความเฟก (fake)
เขาคิดว่าโลกของผู้ใหญ่ล้วนเต็มไปด้วยการโกหกตอแหล (phony) ไม่ว่าจะเป็นครูใหญ่ที่เลือกปฏิบัติกับผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่แต่งตัวดีกว่า หรือเพื่อนของเขาที่โกนหนวด แต่งตัวดีเวลาไปเดท แต่กลับทำตัวทุเรศเวลาอยู่กับเขา รวมถึงพ่อของเขาที่มีฐานะจากการทำงานเป็นทนาย
เขาคิดว่าทุกๆ คนต่างใส่หน้ากากเข้าหากันทั้งนั้น
เขาพยายามถามหาหนทางที่จะคงความจริงใจจากทุกๆ คน และคำตอบที่ได้มาในแต่ละครั้งทำให้เขาเริ่มเข้าใจว่าเมื่อเราเติบโตขึ้นก็ไม่มีใครใส่ใจต่อความจริงใจในการใช้ชีวิต เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการทำยังไงก็ได้ให้ใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้ต่างหาก
โฮลเดนเองก็รู้ตัวว่าเขาก็เป็นนักโกหกที่ยอดเยี่ยมเหมือนกัน เขาโกหกคนอื่นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการและทำให้อีกฝ่ายพอใจ อีกทั้งเขายังโกหกเพื่อปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเขาเอาไว้อีกด้วย ในใจลึกๆ เขากลัวว่าหากพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกไปแล้วจะทำให้ตัวเองผิดหวัง เพราะไม่มีใครที่จะรับฟัง
อย่างไรก็ตามน้องสาวของเขา ‘ฟีบี’ เป็นคนเดียวที่ทำให้เขามีความสุข เพราะเขาสามารถพูดในสิ่งที่อยู่ในใจออกไปได้ โฮลเดนมองว่าพวกเด็กๆ นั้นไร้เดียงสา จริงใจ และปฏิบัติตัวอย่างตรงไปตรงมา ไม่เหมือนพวกผู้ใหญ่ที่ใส่หน้ากากเข้าหากัน
ฟีบีถามเขาว่า นอกจากฟีบี และ‘อัลลี’(น้องชายของโฮลเดนที่เสียชีวิต เพราะโรคลูคีเมีย) มีอะไรที่โฮลเดนชอบบ้างไหมในชีวิต เพราะเขาดูไม่เคยชอบหรือพอใจอะไรในชีวิตเลย สิ่งที่เขานึกออกมีเพียงแค่แม่ชีสองคนที่หิ้วตระกร้าโทรมๆ เพื่อเรี่ยไรเงินบริจาค กับเพื่อนร่วมชั้นของเขา
ตอนที่พบแม่ชีทั้งสองคนบนรถไฟฟ้า เขารู้สึกหดหู่กับข้าวของและกระเป๋าราคาถูกที่แม่ชีใช้ พลันทำให้เขาอดนึกถึงแม่และป้าผู้ร่ำรวยของเขาไม่ได้ ว่าถ้าพวกเขาต้องมาทำการกุศลแบบนี้คงทำไปเพียงเพราะอยากได้หน้า ความจริงใจของแม่ชีที่เขาได้พบและพูดคุยบนรถไฟฟ้าทำให้เขามีความสุข
อีกทั้งกระเป๋าของแม่ชีทำให้เขานึกถึงเรื่องราวในอดีต โฮลเดนกับอดีตรูมเมทของเขามีกระเป๋าเดินทางคนละใบ อดีตเพื่อนร่วมห้องของเขาที่ใช้กระเป๋าราคาถูกได้นำกระเป๋าไปซ่อนไว้ใต้เตียงเพื่อไม่ให้มีใครเห็นกระเป๋าโทรมๆ ของเขา โฮลเดนเลยนำกระเป๋าราคาแพงของเขาไปซ่อนบ้างเพื่อที่เพื่อนจะได้ไม่รู้สึกแย่หรืออาย แต่อดีตเพื่อนร่วมห้องกลับนำกระเป๋าของโฮลเดนออกมาวางไว้ที่ชั้นเพื่อให้ทุกคนที่เดินผ่านเข้าใจว่ากระเป๋าราคาแพงเป็นของเขานั่นเอง
โฮลเดนรู้สึกแย่ ไม่ใช่แค่กับอดีตรูมเมท แต่เขารู้สึกแย่กับสังคมที่หล่อหลอมให้คนคนหนึ่งผูกคุณค่า และความรู้สึกไว้กับวัตถุและภาพลักษณ์ เขาจึงเลือกที่จะหารูมเมทคนใหม่ที่มีฐานะใกล้เคียงกันกับเขา ถึงแม้ว่ารูมเมทคนใหม่จะทำตัวเฟกแค่ไหนก็ตาม แต่อย่างน้อยเพื่อนร่วมห้องผู้มาใหม่ก็ไม่ต้องมารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเมื่ออยู่กับเขา
ในขณะที่คนรอบตัวที่มีสถานะทางสังคมใกล้เคียงกับเขามัวแต่มีความสุขและไม่ได้รู้สึกรู้สาถึงโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมและกดทับผู้คนที่ไม่ได้เกิดมามีโอกาสทางสังคม (social privilege) มากนัก
เขาจึงเลือกที่จะก่นด่าทุกคนที่มีฐานะและสถานะทางสังคมที่ใกล้เคียงกับเขาเพียงในใจเท่านั้น
อีกหนึ่งคนที่เขานึกถึง คือเพื่อนร่วมชั้นที่โดนรุมทำร้ายอย่างสาหัส จากการเรียกคนคนหนึ่งว่าคนอวดดี แทนที่เขาจะถอนคำพูดเพื่อเอาตัวรอด เขากลับกระโดดลงมาจากหน้าต่างและเสียชีวิตในทันที
เรื่องราวนี้ฝังลึกในจิตใจของโฮลเดน ว่าหากไม่ยอมสูญเสียตัวตนของตัวเองก็มีแต่ต้องจากไปเพียงเท่านั้น มันทำให้เขารู้ว่าถ้าไม่สวมหน้ากากก็เอาตัวรอดไม่ได้
โฮลเดนรู้ตัวดีว่าตัวเองกำลังค่อยๆ ร่วงหล่นจากท้องทุ่ง กลายไปเป็นผู้ใหญ่โกหกตอแหลที่เขาแสนเกลียด…
ในเมื่อไม่มีใครที่คอยรับเขาไว้ สิ่งเดียวที่โฮลเดนอยากทำจึงเป็นการปกป้องความไร้เดียงสาในวัยเยาว์ ของเด็กๆ ทุกคนเพื่อที่จะไม่ต้องรู้สึกแตกสลายและกลายเป็นแบบเขาที่ค่อยๆ ตกจากหน้าผา สูญเสียตัวตนให้กับการเติบโต
“…พี่นึกภาพเด็กตัวเล็กๆ เล่นเกมกันอยู่ในทุ่งกว้างใหญ่ เด็กเล็กเป็นพันๆ คน และไม่มีใครอยู่แถวนั้นเลย พี่หมายถึงไม่มีคนตัวใหญ่อยู่เลย นอกจากพี่คนเดียว และพี่ก็ยืนอยู่ที่ขอบหน้าผาสูงที่อันตราย สิ่งที่พี่ต้องทำ คือพี่ต้องเป็นคนคอยรับทุกคนถ้าพวกเขาจะร่วงหล่นตกจากหน้าผา…”
แต่ความจริงแล้ว มันไม่มีหน้าผา ไม่มีใครต้องร่วงหล่นไปที่ไหน มีเพียงเด็กตัวเล็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในทุ่งที่มีรวงข้าวไรย์สูงท่วมหัว และเมื่อโตขึ้นเขาอาจจะเห็นท้องฟ้า อะไรต่อมิอะไรที่สำคัญไปมากกว่าสนามเด็กเล่นที่เคยวิ่งเล่นในวัยเด็ก
หากจะมีสิ่งใดที่จะร่วงหล่นคงเป็นทุ่งข้าวไรย์ที่เหี่ยวเฉา เพราะถูกเหยียบย่ำและลืมเลือนไปตามกาลเวลา สุดท้ายก็จางหายไปจนไม่มีที่ทางให้วิ่งเล่นได้อีกเลย
สุดท้ายเขาก็หนีไม่พ้น… โฮลเดนถูกความเป็นผู้ใหญ่กลืนกินเสียแล้ว เขาไม่มีทางเลือกนอกจากยอมจำนนต่อการเติบโต เขาเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ และเตรียมตัวเพื่อเข้าโรงเรียนใหม่
ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนั้นเขาจะทำอะไรต่อ เขาอาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่จอมโกหกตอแหล เป็นแม่ชีที่เขาพบ เป็นเพื่อนร่วมชั้นของเขา แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ไม่สามารถรู้ได้เหมือนกัน
ในศตวรรษที่ 21 เรื่องราวของโฮลเดนคงจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด แต่ความในใจของโฮลเดน ทำให้เราหวนอาลัยต่อความจริงใจในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยการกระทำของผู้ที่ “ไม่บรรลุวุฒิภาวะ” ได้อีกครั้ง มันทำให้เราอดคิดถึงความตอแหลจอมปลอมของการใช้ชีวิตในสังคมไม่ได้ ว่าเราได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เราเกลียดแสนเกลียดในวัยเด็กไปแล้วหรือยัง
ไม่มีใครร่วงหล่น ไม่มีใครไปไหน มีเพียงแค่ทุ่งข้าวไรย์ที่หายไป จากการถูกลืมเลือนเพราะต้องเติบโต
ขอเพียงอย่าลืมทุ่งข้าวไรย์ที่เคยวิ่งเล่น อย่าลืมจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่เต็มไปด้วยความสุขและความจริงใจ ถึงแม้ในวันนี้คุณจะกลายเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม…
งานที่อ้างถึง
Smiana Journal. (22 มีนาคม 2556). จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น. เรียกใช้เมื่อ มีนาคม 2567 จาก Smiana Journal: https://smiana.wordpress.com/2013/03/22/จะเป็นผู้คอยรับไว้-ไม่ใ/
ปราบดา หยุ่น. (2562). The catcher in the rye จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น. ใน J. D. Salinger, The catcher in the rye. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย: ไลต์เฮ้าส์.
Eat . Pray . Live. (21 มิถุนายน 2562). The Catcher in The Rye. เรียกใช้เมื่อ มีนาคม 2567 จาก Facebook: https://www.facebook.com/100063528129871/posts/1330851240405632/
ไอดา อรุณวงศ์. (2565). “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”: การเมือง | วรรณกรรม ในยุคที่สุนัขไม่ใช่หมาเสมอไป แต่ประชาชนยังเป็นควายเหมือนเดิม. ใน ไอดา อรุณวงศ์, แม่ง โคตรโฟนี่เลย. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย: bookscape.