เรื่องและภาพประกอบ : พรวิภา หิรัญพฤษ์

‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ โครงการที่ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำลุ่มแม่น้ำยม ที่ถูกพับเก็บใส่หีบและฝังลงหลุมไปหลายต่อหลายครั้ง แต่มันกลับถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม จ.สุโขทัยครั้งล่าสุด โดยรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเราควรนำโครงการนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัย
การที่มีคนพูดว่าจะนำเอาโครงการนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง สำหรับชาวบ้านต.สะเอียบ จ.แพร่แล้ว สิ่งนี้ไม่ต่างจากการปลุกผีที่ตายไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพ และแน่นอนว่ามันทำให้พวกเขาไม่พอใจ ถึงขั้นต้องเผาหุ่นแทนตัวนักการเมือง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้ผู้มีอำนาจรู้สึกอะไรขึ้นมาบ้าง แต่เสียงตะโกนผ่านการกระทำนี้จะถูกส่งไปถึงท่านๆ ไหม นั่นเป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามดูกันต่อไป แต่การพูดถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นว่ามันคือทางออกของปัญหาน้ำท่วม ทำให้ภายใต้โพสต์ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ แสดงความคิดเห็นไปในเชิงว่า ถ้ามันเป็นสิ่งที่ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อแลกกับประโยชน์ของคนมากมาย ชาวบ้านก็ควรจะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม
แต่ที่ชาวสะเอียบไม่ยอมสละ เป็นเพราะพวกเขาเห็นแก่ตัวจริงหรือเพราะสิ่งใดกันแน่
นี่ไม่ใช่คำถามที่ส่งต่อให้ผู้อ่านไปคิดเอง และคำตอบของมันก็คือ…
เขาไม่ได้ปกป้องพื้นที่ตรงนั้น เพียงเพราะมันเป็น ‘บ้าน’ ที่พวกเขาหวงแหน
ทว่า เป็นเพราะโครงการแก่งเสือเต้นนี้จะไม่มีทางแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงต่างหาก
ต้องขอย้อนความก่อนว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้ เป็นโครงการที่ผุดขึ้นมาครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2516 และถูกคัดค้านอย่างรุนแรงโดยชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด และแม้ว่าเรื่องนี้จะถูกปลุกผีขึ้นมาหลายครั้งหลายหน แต่ไม่ว่าจะปลุกขึ้นมากี่รอบในหลายช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา จนครั้งล่าสุดที่รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลปัจจุบันกล่าวถึง กำแพงการต่อต้านของชาวบ้านก็ไม่มีทีท่าจะพังลงหรือสั่นคลอนแม้แต่น้อย
หากคิดตามหลักการบริหารทรัพยากรน้ำ สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาคทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่มีทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมได้ หรือแม้กระทั่งการสร้างเขื่อนเพื่อปกป้องสุโขทัยซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ ก็คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เพราะเขื่อนจะป้องกันปัญหานี้ได้เฉพาะตอนที่ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น หากว่าฝนตกท้ายเขื่อนเมื่อใด แก่งเสือเต้นก็ไร้ความหมาย หรือหากไม่มองไปถึงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่แค่เรื่องของการกักเก็บน้ำจากแม่น้ำยม เขื่อนดังกล่าวก็มิได้มีประสิทธิภาพมากพอให้ควรค่าแก่การสร้าง เพราะมันกักน้ำได้ไม่ถึงหนึ่งในสามของแม่น้ำยม จากปริมาณน้ำกว่า 3,000 ล้านลบ.ม. มันสามารถกักไว้ได้ราว 900 ล้านลบ.ม. หรือถ้าลองเทียบเป็นเศษส่วน ก็นับว่าไม่ถึง 1 ใน 3 ด้วยซ้ำ
หรือว่ามันอาจจะมีคุณประโยชน์ในด้านอื่นๆ ให้เราพิจารณา
เมื่อลองพิจารณาจากแง่เศรษฐกิจแล้ว ตามรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) เมื่อพ.ศ.2534 บันทึกไว้ว่า เราจะได้ประโยชน์จากโครงการในแต่ละปีรวมแล้วประมาณ 905 ล้านบาทจาก 5 ด้าน ซึ่งก็คือ
- ด้านผลผลิตทางการเกษตร
- ด้านพลังงานไฟฟ้า
- ด้านน้ำเพื่อการอุปโภคและอุตสาหกรรม
- ด้านการป้องกันอุทกภัย
- ด้านการประมง
โดยไม่รวมด้านป่าไม้ที่จะได้เพียงช่วง 3 ปีแรกในการดำเนินโครงการ
แม้ว่าจะเป็นรายได้ที่ดูไม่น้อยเลยสำหรับจังหวัดแพร่ในเวลานั้น แต่ก็ไม่คงไม่มากพอกับสิ่งที่คนในพื้นที่จะต้องเสียไป บ้านของชาวสะเอียบ จะต้องจมลงไปในน้ำพร้อมกับวิถีชีวิตของพวกเขา ยิ่งแล้วกับในปัจจุบัน ที่สะเอียบมีความมั่นคงในการสร้างรายได้อยู่สูง ด้วยการเป็นแหล่งผลิต ‘สุราพื้นบ้าน’ ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท รวมถึงการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านไปโดยปริยาย และยังไม่รวมภาษีที่รัฐฯ ได้จากธุรกิจชุมชนแห่งนี้ด้วย
นอกจากแง่มุมด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกด้านหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลยนั่นก็คือ สิ่งแวดล้อม ที่แทบจะเป็นประเด็นหลักๆ ที่ถกเถียงกันมา
‘ผืนป่าแม่ยม’ ดินแดนที่อุดมไปด้วยไม้สัก ที่กินพื้นที่ 284,218.75 ไร่ ตั้งแต่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ไปจนถึง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เป็นที่ผืนสุดท้ายในประเทศไทยที่เรียกได้ว่าเป็น พื้นที่อนุรักษ์ป่าสักทอง ความเติบโตของป่านี้ เดินเคียงกันไปกับความสมบูรณ์ของธรรมชาติทั้งพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่า
จากวิจัยเรื่องแม่น้ำยม ป่าสักทอง วิถีชีวิตคนสะเอียบ ที่ชาวบ้านและนักวิจัยร่วมกันทำขึ้นมาในพ.ศ.2547 พบว่าในป่าแห่งนี้ มีพืชผักราว 90 ชนิด ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านตลอดทั้งปี จากการเก็บของป่าขาย มีสมุนไพร 190 ชนิด และบางชนิดเป็นวัตถุดิบในการผลิตสุราพื้นบ้าน มีปลากว่า 80 ชนิดในแหล่งน้ำ และสัตว์ป่าอีกนับไม่ถ้วนในป่า ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถตีราคาเป็นตัวเงินได้ แต่ตัวเลขนั้นไม่สามารถประเมินค่าที่แท้จริงของธรรมชาติได้เลย
“ธุรกิจโรงงานสุรา ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านกาแฟร้านอาหาร ตลอดเวลา 35 ปีที่คัดค้าน มันเกิดธุรกิจเหล่านี้ขึ้นมา แล้วถามว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียไป ร่วมถึงป่าไม้ ระบบนิเวศ การหาของป่า ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง ที่ยังต้องใช้ประโยชน์จากป่า แบบนี้รัฐเยียวยาไม่ไหวหรอก” คำกล่าวจากอาทิตย์ ขวัญยืน หรือพี่ดิว หนึ่งในผู้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่นอกจากจะพูดในฐานะผู้คัดค้านแล้ว เขายังถ่ายทอดสารนี้ในฐานะลูกหลานชาวสะเอียบที่พยายามรักษาบ้านของตัวเองไว้ พร้อมกับทิ้งท้ายชวนให้ผู้เขียนได้ไปลองสัมผัสบรรยากาศป่าสักทองที่กลับมาเติบโตอย่างสวยงามและอุดมสมบูรณ์ หลังจากที่รัฐได้เคยให้สัมปทานแก่เอกชนเข้ามาตัดไม้
ทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถผลิตซ้ำขึ้นมาได้อีก
และนี่ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ของชาวบ้านสะเอียบไม่ยอมสละ แต่เป็นสมบัติส่วนรวมที่เราทุกคนต้องรักษาไว้ต่างหาก
อ้างอิง
thaipoor.(18 ตุลาคม 2565).วิจั๋ยจาวบ้าน แก่งเสือเต้น.เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก https://www.oknation.net/post/detail/634d2dc3b457a07dd4e1768d
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด. เขื่อนแก่งเสือเต้น ปัญหาอยู่ที่ไหน.เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/01/n36.pdf
คุณหญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย.(เมษายน 2537).เขื่อนแก่งเสือเต้น.เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/01/n39.pdf
สัมภาษณ์ อาทิตย์ ขวัญยืน
สัมภาษณ์ สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาคทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์