ArticlesLifestyleSocietyWritings

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ คำทำนาย: เครื่องมือพยุงจิตใจในสภาวะหมดศรัทธาในตนเอง?

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี

ภาพประกอบ: พรวิภา หิรัญพฤกษ์

ในทศวรรษที่ 21 โลกกำลังหมุนไปพร้อมกับการพัฒนาของวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligent หรือ AI) ที่แทบจะทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะหยิบจับทำอะไร ทุกสิ่งล้วนมีข้อมูลรองรับและพิสูจน์ได้ แต่สิ่งเหล่านั้นมันตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนไทยโดยส่วนใหญ่มีร่วมกันนั่นคือ ‘ความเชื่อในเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้’ 

อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาวะที่กำลังตกที่นั่งลำบากจากปัญหาที่ประเดประดังเข้ามาพร้อมกัน สิ่งแรกที่บางคนจะทำคงไม่ใช่การคิดหาสาเหตุ ตั้งสมมติฐาน หรือทำการทดลอง (แก้ไขปัญหา) แต่กลับยกสองมือพนมกราบพลางพูดว่า ‘ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ช่วยลูกช้างด้วยเถิด’

หากคุณคือคนที่เคยเห็น อ่าน ได้ยิน ประสบการณ์ของคนที่ออกมาพูดถึงผลลัพธ์ด้านบวก จากการขอพร กราบไหว้ ถวายบูชาเจ้าแม่ต่างๆ ในโซเซียลมีเดีย คำกล่าวอ้างสรรพคุณเหล่านั้นคงเป็นเหมือนเครื่องมือชักจูงจิตใจให้คนธรรมดาๆ อยากจะทำตามด้วยความหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ดีเหมือนกับเขาและเธอเหล่านั้น แต่แน่ใจแล้วหรือว่าถ้าทำตามแล้วเห็นผล? ถ้าขอแล้วเป็นจริง?       

ในวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘การพยากรณ์โชคชะตาและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจ (2552)’ ของ เรวดี สกุลอาริยะ ตีพิมพ์โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงสาเหตุในการดูดวงไว้ว่า “ผู้รับบริการพยากรณ์โชคชะตาส่วนหนึ่งเป็นบุคคลที่กำลังประสบปัญหาและคาดหวังการเลือกปรึกษานักพยากรณ์โชคชะตาเป็นทางออกสู่แสงสว่าง ด้วยความเชื่อมั่นว่าศาสตร์แห่งการพยากรณ์จะให้คำตอบและคลี่คลายสิ่งที่ค้างคาในใจของตนได้”

ซึ่งในวิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้ระบุลักษณะของบุคคลที่ใช้บริการหมอดูไว้ 6 ลักษณะ ได้แก่ 

1. ต้องการที่พึ่งทางใจ 

2. ต้องการทราบอนาคตเพื่อลดความกังวล 

3. ต้องการเสริมความมั่นใจในการตัดสินใจ 

4. ต้องการทราบแนวทางในการดำเนินชีวิต 

5. ต้องการหลีกเลี่ยงการถูกตีตรา 

6. ต้องการลองของ

จากที่กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนมองว่าตั้งแต่ข้อ 1. ถึงข้อ 4. กำลังสะท้อนความจริงที่น่าเจ็บปวดของการเป็นมนุษย์นั่นก็คือ ‘การหมดศรัทธาในตนเอง’ จนน่าคิดว่าเพราะอะไรกันนะ ที่ทำให้มนุษย์ให้คุณค่ากับสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่ามากกว่าตัวเอง

เห็นได้ดี จึงทำตาม

ส่วนหนึ่งอาจมาจาก ‘การผูกความสำเร็จของตนเองไว้กับคนอื่น’ 

ในโลกที่ทุกอย่างคือการแข่งขัน ก็คงไม่แปลกมากนักที่คนเราจะมีความรู้สึกอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นๆ แต่นั่นก็อาจเป็นการทำร้ายตนเองไปในคราวเดียวกัน เพราะในขณะที่คุณกำลังหลงกับความอยากมีอยู่นั้น คุณอาจจะมองข้ามความจริงที่ว่า พื้นฐานของคนแต่ละคนนั้นต่างกัน และผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะไม่เหมือนกัน

อย่าง ‘I told พระแม่ลักษมี about You’ ที่เป็นกระแสในหมู่คนโสดอยู่ช่วงหนึ่ง เชื่อว่าการขอพรพระแม่ลักษมีจะทำให้เจอคู่ หรือรักใครชอบใครก็แค่บอกลักษณะของคนๆ นั้น ถวายของที่พระแม่ชอบ ท่องบทสวดให้ถูกต้อง พระแม่ก็จะช่วยให้ได้ครองคู่กัน หลังจากชาวเน็ตหลายราย ออกมาแชร์ประสบการณ์ว่าขอแล้วได้ตามคำขอ จนบางคนถึงขั้นเอารูปไอดอลในฝันไปยื่นให้พระแม่พิจารณา ซึ่งนั่นเองทำให้ผู้เขียนต้องถอยกลับมาตั้งหลักและมองกลับไปว่า ท่านช่วยได้จริงหรอ?

โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเยล ได้อธิบายองค์ประกอบของความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความรักไว้ 3 ประการ ดังนี้ ความสนิทสนม (Intimacy) ความใคร่หลง (Passion) ความผูกพัน (Commitment)

ซึ่งถ้านำทั้งความเชื่อและหลักทางจิตวิทยา ที่ถือเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์มาเชื่อมโยงกัน นั่นเท่ากับว่า เราอาจจะต้องจำกัดตนเองให้ชอบแค่คนที่โคจรอยู่ในชีวิตเราเท่านั้นหรือ เพราะถ้าเกิดชอบคนที่ไกลตัวเกินไป โอกาสที่จะสำเร็จก็แทบจะเป็นศูนย์เนื่องจากขาดองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความรัก โดยเฉพาะความสนิทสนมหรือผูกผัน หรือแม้กระทั่งชอบคนใกล้ตัว ก็ใช่ว่าจะได้ตามที่ขอ เพราะสุดท้ายเราอาจจะไม่ใช่สเปกเขาตั้งแต่เริ่มแล้วก็ได้

เพราะไม่รู้จึงดูให้ทราบ

อีกสิ่งที่ทำให้คนหมดศรัทธาในตนเอง ก็คือ ‘ความไม่รู้’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แม้บางครั้งจะวางแผนดีแล้ว แต่ก็ใช่ว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือแผนที่ตั้งใจจะไม่เกิดขึ้น จนบางครั้งคุณอาจจะรู้สึกกลัวและไม่เชื่อว่าตัวเองจะข้ามผ่านสถานการณ์ที่เหนือการควบคุมนั้นได้อย่างไร

ไตรภพ จตุรพาณิชย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และสังคม และหัวหน้าสาขาวิชาสังคมและธุรกิจ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้านครเหนือ ได้อธิบายถึง ‘หลักความเชื่ออำนาจ (Locus of control)’ หรือทฤษฎีที่อธิบายเรื่องความเชื่อว่ามนุษย์มีอำนาจในการควบคุมชีวิตตนเองมากน้อยเพียงใด โดยความเชื่อดังกล่าว เป็นลักษณะทางบุคลิกภาพแบบหนึ่งที่สามารถจำแนกได้เป็นสองฝั่ง คือฝั่งที่เชื่อว่าตัวเองสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้ โดยหลักการคือ หากอยากได้สิ่งใด ต้องลงมือทำและจัดการด้วยตนเอง หรือเรียกว่า อำนาจควบคุมภายใน (Internal locus of control) อีกฝั่งหนึ่งที่เชื่อว่าชีวิตมีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพลกับมนุษย์ ไม่สามารถไปจัดการหรือคาดการณ์อะไรได้ เรียกว่า อำนาจควบคุมภายนอก (External locus of control)

ไตรภพอธิบายว่า ชีวิตมนุษย์มีทั้งส่วนที่ตนเองควบคุมได้ และส่วนที่ตนเองควบคุมไม่ได้ แต่ถ้ามีความเชื่อต่ออย่างหลังมากกว่า ความเชื่อในเรื่องที่มองไม่เห็นก็จะมากขึ้น

“ถ้าใครเชื่อว่าชีวิตของเราล่องลอยเหมือนฟองสบู่ ไปทางนั้นที ทางนี้ที แล้วแต่ใครจะพาไป ถ้ามีความเชื่อนี้เยอะ โอกาสที่เราจะมู[เตลู]ก็อาจเยอะขึ้น”

อย่างกรณีล่าสุดที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียล ติดเทรนด์อันดับ 1 ในแอปพลิเคชัน X (ทวิตเตอร์) อย่าง ‘ทำไมดูเป็นคนดีจัง’ เรื่องเล่าประสบการณ์ดูดวงชวนขนลุกที่เผยแพร่ผ่านช่องยูทูป ‘เดอะ โกสต์ เรดิโอ (the ghost radio)’ ว่าด้วย ‘คุณปอย’ นักเขียนมีชื่อคนหนึ่งที่การงานการเงินรุ่งเรืองดีอยู่แล้ว จนในวันหนึ่งที่เพื่อนของเธอได้แนะนำให้เธอไปดูดวง เพื่อหาวิธีเสริมชะตาอนาคตให้ดีขึ้น เธอจึงได้รู้จักกับหมอดูชื่อดังคนหนึ่ง และหลังจากนั้นชีวิตของเธอก็กลับตาลปัตรเพราะถูกหมอดูขโมยดวง 

หากตัดประเด็นหลักของเรื่องที่ว่า หมอดูอาจทำของใส่ลูกดวงออก และมองให้ลึกลงไป ผู้เขียนมองว่าการหาหมอดูและทำพิธี (ชวนเกาหัว) ต่างๆ ของกรณีนี้ จุดเริ่มต้นของมันมาจากแค่ ‘ความไม่รู้ในเรื่องอนาคต’ ของมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าองค์ประกอบของอำนาจควบคุมภายนอกอย่าง ‘ความไม่รู้’ นี้เองที่มีบทบาทสำคัญในการเลือกหันหน้าพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พิสูจน์ไม่ได้

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

เรื่องความเชื่อเหล่านี้ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่ามีจริงหรือไม่ บางคนก็สมหวัง บางคนก็ผิดหวัง เพราะท้ายที่สุดมันก็ไม่มีอะไรมาการันตีได้ 100% เลยว่า สิ่งของที่บูชา บทสวดที่ท่อง หรือแม้กระทั่งหมอดูที่ไปหา จะบันดาลทุกอย่างให้คุณได้ และสุดท้ายการทำสิ่งเหล่านั้นก็เป็นเพียงแค่การซื้อความสบายใจระยะสั้นๆ ให้กับชีวิตที่ไม่แน่นอน 

ในขณะเดียวกันมันก็อาจจะหมายความว่า คุณอาจจะกำลัง ‘หมดศรัทธาในตนเอง’ เพราะระหว่างที่คุณกำลังถามหาคำตอบให้กับบางสิ่ง เรียกหาภาพของอนาคต และขอแนวทางในการทำอะไรสักอย่าง มันก็เหมือนการตอกย้ำว่า คุณไม่เชื่อมั่นกับสิ่งที่ทำ ไม่มั่นใจกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และรู้สึกไม่มั่นคงกับสิ่งที่เป็นอยู่ จนบางทีก็อาจจะลืมไปว่า คุณกำลังให้ใครหรือสิ่งใด (ที่พิสูจน์ไม่ได้) เป็นตัวกำหนดการกระทำของคุณอยู่ แทนที่จะเป็นสัญชาติญาณหรือความตั้งใจของตัวคุณเอง

ท้ายที่สุด ผู้เขียนก็เข้าใจดีว่ากระบวนการยอมรับสิ่งใดก็ตามของแต่ละคนนั้น มาจากเหตุผลและปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่อย่างน้อยก็อยากให้คุณลองถอยกลับมาตั้งหลัก และลองศรัทธาในศักยภาพของตนเองและให้โอกาสตนเองได้พบเจอกับสิ่งคาดเดาไม่ได้ดูก่อน เพราะไม่ว่าผลลัพธ์จะดีหรือร้ายเพียงใด มันก็เป็นแค่บทเรียนหนึ่งในชีวิตเท่านั้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ลองถามตนเองว่า 

“มันจำเป็นจริงๆ แล้วหรือ ที่ต้องนำชีวิตของคุณไปฝากไว้กับสิ่งที่มองไม่เห็น?

รายการอ้างอิง

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (10 มีนาคม 2565). จิตวิทยา กับ มูเตลู : จะ พ.ศ.ไหน ทำไมคนไทยก็ยังมูเตลู. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psy-talk-2022-mutelu/

เรวดี สกุลอาริยะ. (2552). การพยากรณ์โชคชะตาและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจ. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะจิตวิทยา. สืบค้นจาก https://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/17082/1/rewadee_sk.pdf

โรงพยาบาลเพชรเวช. (22 กุมภาพันธ์ 2564). Theory of love จิตวิทยาของความรัก. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จากโรงพยาบาลเพชรเวชr: https://thematter.co/social/youth-ans-horoscope/176098

Thanyarat Khotwanta. (26 พฤษภาคม 2565). คนรุ่นใหม่ยังเชื่อเรื่องดวงอยู่ไหม? : ยุคสมัยที่ไม่แน่นอน และการเติบโตของธุรกิจสายมูฯ. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก the matter: https://thematter.co/social/youth-ans-horoscope/176098

Worakan J. (26 พฤษภาคม 2564). เผลอโทษคนอื่นเวลาทำไม่ได้ : Locus of Control วิธีคิดที่อาจมาจากความไม่มั่นใจในตัวเอง. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก the matter: https://thematter.co/lifestyle/work-life/locus-of-control/133003

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

ภัยพิบัติในไทยกับความสนใจ ‘แค่กรุงเทพ’

เรื่อง: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ภาพ: Wiroj Sidhisoradej จาก Freepik 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ...

Articles

หลอดไฟในดงไม้ แสงสว่างที่ระบบนิเวศไม่ต้องการ

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ในเมืองกรุงอันแสนกว้างใหญ่ แม้จะเป็นเวลากลางคืนที่ฟ้ามืดสนิท แสงจากไฟถนนและตึกยังคงส่องสว่างเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ และในเมืองที่ไม่มีวันดับแสงนี้ การจะเห็นดาวที่ลอยอยู่เต็มผืนฟ้าช่างยากเหลือเกิน แม้แสงไฟจะเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่ไม่ใช่ทุกที่จะเหมาะสมกับความสว่างไสวนี้ ...

Articles

 I’m cringe but I’m free สะเหล่อแล้วไง ไม่แคร์แล้วกัน

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี “โอ้ยยย ทำไมตอนนั้นสะเหล่อจัง” ความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวขณะที่ล้มตัวลงนอนหลับตาเตรียมฝันดี แต่สมองไม่รักดีกลับขุดภาพความทรงจำอันน่าอับอายขึ้นมาฉาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เล่นมุกแล้วคนทั้งห้องกริบ ทักคนผิดเพราะนึกว่าเป็นเพื่อนตัวเอง ส่งข้อความหาคนที่ชอบเขาอ่านแต่ไม่ตอบ ...

Articles

ต้องอายุเท่าไหร่ ถึงควรจะประสบความสำเร็จ?: ชวนสำรวจนิยามความสำเร็จผ่านตัวละครหลักหลากวัยจาก Only murders in the building

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ คุณเคยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองว่างเปล่าหรือไร้ค่าบ้างไหม? คุณเคยรู้สึกเจ็บช้ำจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าบ้างหรือเปล่า? คุณเคยมองความสำเร็จของคนอื่นแล้วถามตัวเองหรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่? หากคุณเคยรู้สึกหรือเคยถามตัวเองแบบนั้น คุณอาจเป็นเหมือนสามตัวละครหลักจาก Only murders in the ...

Articles

ผม (ไม่) เคย เฉยชากับความตาย

เรื่องและภาพประภาพ: Amphea Warning : บทความชิ้นนี้มีการพูดถึงเนื้อหาของการพยายามอัตวินิบาตกรรมและการสูญเสียของคนใกล้ตัว โปรดอ่านอย่างระวัง ‘อาม่า’ ของผมเสียไปตั้งแต่ตอนที่ผมอยู่ในวัยประถม แม้ช่วงบั้นปลายชีวิต เธอจะเริ่มหลงลืมลูกหลานและอารมณ์รุนแรงไปบ้าง แต่สำหรับลูกทั้ง 8 คนแล้ว เธอยังคงเป็นคนที่ทุกคนในครอบครัวรักมากที่สุดคนหนึ่ง ส่วนผมนั้นไม่ได้มีความทรงจำเกี่ยวกับอาม่ามากนัก ...

Articles

ออกเดินทางมาแล้วแต่ยังไกลจุดหมาย : ตอนนี้ Universal Design พาคนพิการเดินทางไปได้เท่าไหนในไทย

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้วที่คนพิการต้องเรียกร้องสิทธิต่างๆ ทั้งในประเด็นสิทธิในการเข้าทำงาน มุมมองด้านลบที่คนพิการเคยถูกมองว่าไม่มีความสามารถ หรือเคยทำกรรมไว้จึงพิการ และปัญหาความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขาหลังจากที่ต้องสูญเสียทักษะบางอย่างไป การเดินทางเองก็เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ที่คนพิการต้องพบเจอและมีการเรียกร้องมาเป็นเวลานาน จนมีกฎหมายเกี่ยวกับ Universal Design ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save