เรื่องและภาพประกอบ: สิทธิเดช สายพัทลุง

เกมซีรีส์ Metal Gear หรือ Metal Gear Solid (MGS) คือชื่อที่เรียกได้ว่าเป็นเกมที่ทำเงินได้มากที่สุดของบริษัทเกมจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง ‘Konami’ ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยเกมตู้หยอดเหรียญ ซึ่ง Metal Gear ถูกรังสรรค์โดยผู้กำกับเกมระดับตำนาน ที่แฟนเกม MGS สรรเสริญเขาด้วยชื่อที่หลากหลาย ทั้ง ‘นักดูหนังที่สร้างเกมได้นิดหน่อย’ หรือแม้กระทั่ง ‘ราชาแห่งการสร้างเกม’

ฮิเดโอะ โคจิม่า (Hideo Kojima) คือนามของราชาคนนั้น เขาได้ใช้ความสามารถของเขาในการสร้างจักรวาลของ MGS ออกมาได้อย่างล้ำลึก ทั้งในด้านของการเล่าเรื่องที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความชอบในการดูหนังของเขา ไปจนถึงเกมการเล่นต่างๆ ภายในเกมที่เรียกได้ว่าย้อนกลับไปเล่นตอนนี้ก็ยังรู้สึกไม่ตกยุคเลย
แม้เขาจะได้รับการขนานนามจากเหล่าผู้เล่นที่บูชาเขาเป็นดั่งเทพเจ้ามากขนาดไหนก็ตาม แต่ในชีวิตจริงเขาก็เป็นเพียงพนักงานเงินเดือนในบริษัทแห่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อเป้าหมายของทั้งสองฝั่งไม่ไปในทางเดียวกัน ก็ต้องตัดสินใจว่าจะยอมเปลี่ยนความคิด หรือไม่ก็แยกย้าย และใช่… โคจิม่าเลือกอย่างหลัง
เหตุการณ์นี้ทำให้ Metal Gear Solid V: The Phantom Pain กลายเป็นเกมลำดับสุดท้ายที่โคจิม่าได้ทำหน้าที่ทั้งหมดของเขา และแม้จะไม่ได้ร่วมเดินทางไปจนสุดทาง แต่ก็ยังคงพูดได้อย่างเต็มปากว่า Metal Gear Solid ลำดับสุดท้ายนี้มีความนึกคิดของโคจิม่าอบอวลอยู่เต็มไปหมด และมันจะยังคงเฉิดฉายดั่งแสงแห่งรุ่งอรุณต่อไป แม้เจ้าของที่สร้างมันมาจะไม่อยู่แล้วก็ตาม
ราชาผู้ทำให้อาณาจักรเจริญรุ่งเรือง
ฮิเดโอะ โคจิม่า เริ่มทำงานให้กับ Konami ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1986 และได้รับหน้าที่ให้กำกับเกมแรกของซีรีส์ Metal Gear เกมสงครามลอบเร้น (Action Adventure, Stealth Game) ที่ระบบการเล่นโดดเด่นกว่าหลายเกมในยุคนั้นอย่าง ‘Metal Gear’ ในปี ค.ศ. 1987 เพื่อลงให้กับคอมพิวเตอร์ MSX2 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของทั้งซีรีส์เกม Metal Gear และเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของโคจิม่าด้วยเช่นกัน

หลังจากการปล่อยตัวเกม ‘Metal Gear 2: Solid Snake’ ในปี ค.ศ. 1990 พวกเขาก็ไม่ปล่อยเกมซีรีส์นี้อีกเลยเป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนผ่านไปถึงปี ค.ศ. 1998 โคจิม่าและทีมก็กลับมาอีกครั้งกับเกมใหม่ของพวกเขา ในชื่อของ ‘Metal Gear Solid’ เกมอันดับที่สามของจักรวาล Metal Gear
เกมใหม่นี้ลงให้กับเครื่องเกมที่พลิกประวัติศาสตร์การเล่นเกมไปตลอดกาลอย่าง ‘PlayStation 1’ และมันทำให้เกมซีรีส์นี้ยิ่งใหญ่มากขึ้น เพราะมันสามารถขายได้ถึง 7 ล้านชุดทั่วโลก ซึ่งในยุคที่ยังไม่มีแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต การขายได้มากขนาดนี้ บริษัทไม่จำเป็นต้องสร้างเกมใหม่ไปอีกประมาณ 2-3 ปีเลยทีเดียว

เมื่อตำนานถูกเล่าขานขึ้นมาแล้ว มันก็จะยังคงถูกพูดถึงต่อไปเรื่อยๆ เกมซีรีส์ Metal Gear โดยเฉพาะภาคหลัก ไม่เคยทำยอดขายได้ต่ำกว่า 1 ล้านแผ่นเลย ทั้ง MGS2: Sons of Liberty กับยอดขาย 7 ล้านชุด, MGS3: Snake Eater 4 ล้านชุด, MGS4: Gun of the Patriots 7 ล้านชุด, MGS: Peace Walker 2 ล้านชุด, และภาคหลักสุดท้ายที่โคจิม่าเป็นคนกำกับอย่าง MGS5: Ground Zeroes และ MGS5: The Phantom Pain ที่ยอดรวมทั้งสองสามารถขายได้มากถึง 15 ล้านชุดทั่วโลก

เรียกได้ว่าเกมตระกูลนี้สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับทาง Konami ได้อย่างมหาศาล แต่มันก็อาจยังไม่พอที่ทำให้พวกเขาไปต่อกับมัน เพราะในปี ค.ศ. 2015 ปีเดียวกับที่ MGS5: The Phantom Pain ถูกปล่อยให้เล่น
ฮิเดโอะ โคจิม่าก็ลาออกจากบริษัทที่อยู่มาอย่างยาวนานกว่า 29 ปี…
ก่อนที่อีกไม่นานเขาจะก่อตั้งบริษัทใหม่เพื่อสร้างเกมแบบที่ต้องการอีกครั้ง ในชื่อของ ‘Kojima Production’

เมื่อเป้าหมายของเหล่าขุนนางเปลี่ยน ราชาก็ต้องเปลี่ยนตาม
การลาออกของโคจิม่าครั้งนี้ ทำให้เกิดการพูดถึงเป็นวงกว้างว่าเพราะอะไร และเป้าหมายที่ถูกพุ่งไปก็คือต้นสังกัดเก่าอย่าง Konami อย่างไม่ต้องสงสัย บางคนก็ว่าเพราะ Konami บังคับให้โคจิม่าทำแต่เกม MGS จนเขาไม่พอใจ บ้างก็ว่าเพราะสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม หรือบ้างก็ว่าเพราะโคจิม่าอยากเป็นเจ้าของบริษัทด้วยตัวเอง
แต่คำตอบที่ดูจะเป็นจริงมากที่สุด ก็คือ ‘เพราะเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน’ เนื่องจากในช่วงเวลาปี ค.ศ.2010 – ค.ศ.2012 นั้น Konami ได้ออกเกมมือถืออย่าง Dragon Collection และ Sengoku Collectiion ซึ่งมันทำเงินให้กับบริษัทเป็นจำนวนมหาศาล แต่ในทางกลับกันตลาดเกมในช่วงเวลานั้นประสบปัญหาในการสร้างเกมคุณภาพสูงหรือเกมระดับ AAA เพราะต้องใช้ทั้งระยะเวลาที่ยาวนาน งบประมาณที่มาก และกำลังคนจำนวนมหาศาล ซึ่งมันเป็นแนวเกมที่ทางโคจิม่าชอบทำเสียด้วย
ในเมื่อทางใหม่ที่พึ่งลองสร้างเงินได้อย่างมหาศาล แต่ทางเก่าที่เคยทำเลยติดขัดและใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ มันไม่แปลกที่ทาง Konami จะหันเหหัวเรือไปสนใจการสร้างเกมมือถือแทน และเพราะเช่นนั้นเอง โคจิม่าก็ไม่จำเป็นสำหรับบริษัทอีกต่อไป

จนเมื่อการมาถึงของประธานคนใหม่อย่าง ฮิเดกิ ฮายาคาวะ (Hideki Hayakawa) ในปี ค.ศ. 2014 นำมาสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในบริษัท และประจวบเหมาะกับช่วงจังหวะที่สัญญาจ้างของโคจิม่ากำลังจะหมดอายุพอดี มันทำให้ช่วงสุดท้ายของการสร้าง MGS5 : The Phantom Pain โคจิม่าเลือกจะใช้วันลาหยุดของตัวเองทั้งหมด และรอให้ถึงวันที่สัญญาจ้างของเขาสิ้นสุด อันเป็นจุดสุดท้ายระหว่างเขาและ Konami

MGS5: The Phantom Pain จึงถูกเรียกว่า ‘เกมที่ยังสร้างไม่เสร็จ’ เนื่องจากช่วงโค้งสุดท้ายของเกม เจ้าของงานตัวจริงไม่ได้อยู่ดูจนถึงที่สุด มันส่งผลถึงขั้นว่า Konami ไม่ยอมที่จะให้โคจิม่าที่เป็นผู้กำกับ ขึ้นไปรับรางวัลที่ MGS5 ได้รับจากงาน Game Awards แต่ให้นักแสดงผู้ให้เสียงพากย์ตัวละครหลักเป็นคนขึ้นไปรับแทน
แม้ราชาลาจากดินแดน แต่แสงที่ทิ้งไว้ยังคงส่องสว่างต่อไป
ปี ค.ศ. 2012 Konami ได้มีการปล่อยตัวอย่างเกม MGS5: Ground Zeroes ออกมาให้ทั้งโลกได้สัมผัสกัน พร้อมกับโปรแกรมที่ใช้สร้างเกมใหม่ของทาง Konami อย่าง ‘FOX Engine’ ซึ่งทางโคจิม่าก็เป็นหัวเรือหลักในการสร้างโปรแกรมนี้ด้วย
ในขณะเดียวกันก็ได้มีทีมสร้างเกมปริศนาปรากฏขึ้นมา ชื่อของพวกเขาคือ ‘Moby Dick Studio’ ที่มาพร้อมกับเกมอย่าง ‘The Phantom Pain’ ซึ่งมันสร้างเสียงฮือฮาจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังคงไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมอะไรนอกจากชื่อเจ้าของทีมสร้างเกม จัวคิม มอเกร็น (Joakim Mogren)

ค.ศ. 2013 ทุกอย่างก็ถูกเปิดเผยว่าแท้จริง จัวคิมก็คือโคจิม่า (หากสลับตัวอักษรคำว่า Joakim จะได้เป็นคำว่า Kojima) และ ‘The Phantom Pain’ ก็คือตัวเกมจริงๆ ของ MGS5 ไม่ใช่ Ground Zeroes ที่เป็นเพียงตัวชิมลางก่อนภาคหลักจริงจะถูกปล่อยออกสู่สาธารณชน
แนวคิดของเกมภาคนี้คือ ‘The Man Who Sold the World’ หรือ ‘ชายผู้หลอกลวงโลกทั้งใบ’ โดยเป็นชื่อเพลงของศิลปินในตำนานอย่าง เดวิด โบวี (David Bowie) ซึ่งเขาเป็นศิลปินที่โคจิม่าชื่นชอบมาก จนนำไปสู่การดัดแปลงแนวคิดจากเพลงของโบวี ให้กลายมาเป็นเนื้อเรื่องบางภาคของ MGS
‘ตัวปลอม’ คือคำอธิบายที่เห็นภาพชัดที่สุด ทั้งการปลอมตัวเป็นจัวคิมของโคจิม่า เนื้อหาภายในเกมที่ทำให้รู้สึกขนลุกเมื่อรู้ความจริง หรือในเกมที่จะมีเพลง ‘The Man Who Sold the World’ ให้ผู้เล่นได้เปิดฟัง ก็ยังไม่ใช่เวอร์ชั่นของเดวิด โบวี แต่เป็นเวอร์ชั่นของมิดจ์ ยัวร์ (Midge Ure) แม้กระทั่งชื่อภาคอย่าง ‘The Phantom Pain’ ก็ยังหมายถึงอาการเจ็บปลอมที่เกิดกับผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะไป
แม้จะถูกเรียกว่าเกมที่สร้างไม่เสร็จ แต่ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่โคจิม่าได้วางแผนเอาไว้ก่อนที่ตัวเขาจะแยกทางไป มันแข็งแรงมากเสียจนเขาไม่ต้องอยู่เพื่อคุมงานเลยก็ยังได้ ทั้งเกมการเล่นที่โดดเด่นและท้าทาย เนื้อเรื่องที่เข้มข้นและคมคาย รวมไปถึงคัตซีนภายในเกมที่ทั้งการวางมุมกล้องและการภาษาภาพต่างๆ มันแสดงออกมาชัดมากว่าเขานั้นได้แรงบันดาลใจมาจากหนังอย่างแน่นอน
มันทำให้รู้ว่าตัวโคจิม่านั้นรักในเกมซีรีส์นี้มากขนาดไหน และเกมนี้ก็ควรจะเป็นเกมที่เขาได้เฉิดฉายในฐานะผู้กำกับมากที่สุด แต่มันก็จบลงแบบที่ไม่ได้สวยงามนัก…
เมื่อราชาถูกไล่ เหล่าไพร่ก็พร้อมจะตามไปทุกที่
หลังออกมาจาก Konami ไม่กี่เดือน โคจิม่าและลูกทีมเก่าของเขาก็ได้กลับมาอีกครั้งในชื่อของ ‘Kojima Production’ พร้อมกับการประกาศว่าเกมที่เขาสร้างหลังจากนี้จะอยู่ภายใต้ความร่วมมือของ Kojima Production และบริษัทเจ้าใหญ่ระดับกลืนกินวงการอย่าง ‘Sony Interactive Entertainment’

จนในปี ค.ศ.2019 เกมใหม่จากทีม Kojima Production ก็ถูกปล่อยออกมาให้ทุกคนได้ยลโฉมอย่างเต็มที่ ในชื่อของ ‘Death Stranding’ โดยได้นักแสดงดังมากหน้าหลายตาอย่าง นอร์แมน ลีดัส (Norman Reedus), ทรอย เบเกอร์ (Troy Baker), เลอา แซดู (Lea Seydoux) ไปจนถึงแมดส์ มิคเคลสัน (Mads Mikkelsen) ก็มาร่วมแสดงเป็นตัวละครภายในเกมด้วยเช่นกัน
ทั้งขนาดของแผนที่ที่เข้าขั้นมหึมา แนวคิดของเกมที่จำเป็นต้องตีความกันเป็นอาทิตย์ ไปจนถึงรูปแบบการเล่นที่แตกต่างจากเกมในตลาดจนทำให้ผู้เล่นรู้สึกไม่ชิน และแน่นอน วิธีการเล่าเรื่องแบบโคจิม่าก็กลับมาอีกครั้ง
มันทำให้ ‘Death Stranding’ กลายเป็นชื่อที่จะถูกพูดถึงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และมันแทบจะตะโกนเข้าไปในหูของเหล่าผู้ศรัทธาในโคจิม่าว่า ‘โคจิม่ากลับมาแล้ว’
ในปี ค.ศ. 2021 ‘Death Stranding’ สามารถทำยอดขายไปได้มากถึง 5 ล้านชุดทั่วโลก รวมไปถึงชนะรางวัลในหลากหลายสาขา ทั้งการกำกับเกมยอดเยี่ยม เพลงประกอบเกมยอดเยี่ยม และที่ใหญ่ที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘PC Game of the Year’ จากงาน ‘Golden Joystick Awards’
ซึ่งเหมือนเป็นสัญญาณว่ายังคงมีผู้เล่นอีกมากมายที่รอ ‘เกมของโคจิม่า’ ให้ออกมาสู่ตลาดอยู่เสมอ และมันยิ่งทำให้ตัวตนของเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่พนักงานคนหนึ่งของ Konami อีกต่อไป
เพราะตอนนี้สำหรับบางคน เขาไม่ต่างอะไรกับราชาที่พร้อมจะมีคนติดตามไปทุกที่
แต่กุญแจห้องสมบัติ ดันติดตัวราชาไปด้วย
แม้โคจิม่าจะออกจากบริษัทไป แต่ชื่อลิขสิทธิ์ของ ‘Metal Gear Solid’ ยังติดอยู่กับทาง Konami ซึ่งมันทำให้โคจิม่าไม่สามารถทำอะไรเกี่ยวกับชื่อเกมที่เขาใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตในการสร้างมันขึ้นมาได้เลย แต่มันเหมือนจะมีสิ่งนึงติดตัวเขาไปด้วย

ในวงการการสร้างเกมได้เกิดมุกตลกขึ้นมาอย่างนึง คือ “หากพบข้อผิดพลาดใน FOX Engine วิธีเดียวที่จะแก้ไขได้ คือคุณต้องไปถามโคจิม่า” เพราะหลังจากที่โคจิม่าออกมา ทาง Konami ก็ไม่สามารถที่จะใช้งานตัว ‘FOX Engine’ ในการสร้างเกมใหม่ๆ ได้อีก ทำได้เพียงใช้มันสร้างเกมชื่อเก่าๆ ที่เคยใช้โปรแกรมตัวนี้ในการสร้างมันขึ้นมาเพียงเท่านั้น
มันทำให้ภาคล่าสุดอย่าง ‘Metal Gear Solid Delta: Snake Eater’ ที่เป็นการนำ MGS3: Snake Eater มาสร้างใหม่ ทาง Konami ก็ยังต้องไปเลือกใช้โปรแกรม ‘Unreal Engine 5’ แทนที่จะใช้โปรแกรมที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมา

ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้เหมือนราชา
แม้เรื่องราวการไปถึงจุดสูงสุดจนกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งของโคจิม่าจะดูสวยหรูมากแค่ไหน แต่หากย้อนกลับไปมองในด้านของสังคม เราจะเห็นเพียงพนักงานในบริษัทคนหนึ่งถูกบีบให้ลาออกเนื่องจากความไม่สอดคล้องกันของตัวบุคคลและบริษัท
ที่มันยังคงสามารถพบเจอได้ทั่วไปในสังคมปัจจุบัน แม้คุณจะทำงานให้กับบริษัทนี้มานานขนาดไหน หรือจะสร้างเม็ดเงินให้กับพวกเขาไว้มากมายเท่าไหร่ แต่สุดท้ายสถานะของคุณและบริษัทก็ยังเป็นเพียงพนักงานและนายจ้าง พวกเขายังสามารถที่จะปลดคุณออกได้ทุกเมื่อ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นตัวของคุณเอง ทั้งสุขภาพ สังคมรอบตัว ไปจนถึงช่องทางในอนาคต ทั้งหมดล้วนยังรอให้คุณไปสำรวจและผจญภัยอยู่เสมอ อย่าละทิ้งทุกอย่างเพื่องานที่ไม่รู้ว่าจะทิ้งคุณเมื่อไหร่ เพราะขนาดราชาที่ผู้คนยกย่อง ยังต้องกลายเป็นคนว่างงานอยู่ช่วงนึงเลย
Why are we still here? Just to suffer?
ทำไมเราถึงยังอยู่ตรงนี้อีก? เพื่ออยู่กับความทรมานงั้นเหรอ?
คาสึฮิระ มิลเลอร์ (Kazuhira Miller) หนึ่งในตัวละครที่เราจะได้พบภายในเกม
บรรณานุกรม
Askagamedev. (21 พฤศจิกายน 2556).the trouble with AAA Game development. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก https://askagamedev.tumblr.com/post/67707201036/the-trouble-with-aaa-game-development
Derek Strikland. (9 พฤศจิกายน 2564). Konami: Metal Gear Solid series tops 57.7 million sales.
เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก
konami group corporation. (มิถุนายน 2567). Profile of Directors. เรียกใช้เมื่อ ตุลาคม 2567 จาก https://www.konami.com/corporate/en/data/profile.html