เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์
ภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์

คุณคิดว่าภาพลักษณ์ของการเมืองไทยเป็นอย่างไร? หากถูกถามด้วยประโยคนี้ สิ่งที่ตอบกลับมาก็คงจะมีแต่แง่ลบเสียเป็นส่วนใหญ่ จะให้ตอบเป็นอื่นได้อย่างไรในเมื่อเราก็เห็นๆ กันอยู่ว่าใครจะชนกับใคร จะจับมือใคร จะหักหลังใคร หรือจะเลือกอยู่ฝ่ายไหน พอสังเกตการณ์การเมืองไทยมาเรื่อยๆ ก็อดไม่ได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับละครหรือหนัง แต่ถ้าเป็นหนังก็ต้องมีการเขียนบท สร้างตัวละคร มีตัวเอก มีตัวร้าย มีตัวตลก แล้วก็นำทั้งหมดไปสร้างเนื้อเรื่อง
แล้วการเมืองไทยมีอะไรแบบนั้นไหม?
ตอบได้เลยว่ามี เพราะการที่เราเห็นใครเป็น ‘นักการเมืองดี’ ‘นักการเมืองเลว’ ราวกับว่าบทบาทนั้นถูกเขียนมาไว้อย่างสมบูรณ์ ล้วนมากจากสิ่งที่เรียกว่า ‘วิธีการเล่าเรื่อง’ หรือ ‘Storytelling’ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไปและไม่ทันได้สังเกต แต่สิ่งนี้อยู่คู่กับมนุษย์และสถาบันต่างๆ ทางการเมืองมาอย่างยาวนานจนไม่สามารถจำกัดปีได้อย่างแน่ชัด เรียกได้ว่าหากลิ้นคู่กับฟัน ท่าพระจันทร์คู่กับถั่วเบอร์นาร์ด การเมืองไทยก็คงคู่กับวิธีการเล่าเรื่อง
วิธีที่ 1: ขอเป็นพระเอกในหัวใจเธอ
วิธีสุดคลาสสิกในการทำให้ผู้คนศรัทธาก็คงไม่พ้นวิธีการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กจนโต นั่นคือการสร้าง ‘ฮีโร่’ ซึ่งถ้าเอ่ยถึงคำนี้ก็คงไม่มีใครที่จะนึกถึงเรื่องแย่ๆ เพราะภาพจำของฮีโร่นั้นเต็มไปด้วยสิ่งดีๆ ด้วยเหตุนี้เองเหล่าสถาบันทางการเมืองทั้งหลายจึงพยายามหาผ้าคลุมมาใส่และสร้างวีรกรรมที่แสนจะดีงามให้กับตัวเองอยู่เสมอ
ทว่าการเป็นตัวเอกขี่ม้าขาวในช่วงที่บ้านเมืองสงบสุขก็ดูจะไม่มีใครสนใจนัก ตัวเอกในสถาบันการเมืองเหล่านี้จึงมักจะโผล่มาตอนที่บ้านเมืองย่ำแย่ ฝนแล้ง ปลูกพืชไม่ขึ้น ดินเปรี้ยว ดินทลาย น้ำเน่า แบ่งสัดส่วนที่ดินทำกินไม่เป็น น้ำท่วม เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน โรคระบาด หรือแม้กระทั่งรถทัวร์ไฟไหม้ เรียกได้ว่าหากซูเปอร์แมนชอบโผล่มาตอนผู้ร้ายอาละวาดฉันใด ฮีโร่ในการเมืองไทยเหล่านี้ก็มักจะโผล่มาตอนบ้านเมืองไม่สงบสุขฉันนั้น ในทางกลับกันก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมฮีโร่เหล่านั้นต้องรอให้มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นก่อนถึงจะเริ่มออกโรง ในเมื่อพวกเขาก็มีกำลัง มีพลังวิเศษ และมีอำนาจทางการเมืองที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นแต่แรก
สิ่งที่จะมาพร้อมกับการกอบกู้ของฮีโร่นั้นก็คือ ‘บุญคุณ’ ประชาชนที่ถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเล็ก ไร้กำลัง ทั้งที่เป็นคนจ่ายภาษี เมื่อมีฮีโร่มาโปรดแล้วกลับต้องรู้สึกสำนึกบุญคุณเหล่านั้น ทั้งๆ ที่การช่วยเหลือประชาชนก็เป็นหน้าที่ที่พึงกระทำของผู้มีอำนาจทางการเมืองและเป็นคนกุมงบประมาณของประเทศอยู่แล้ว อีกทั้งต่อให้งบประมาณนั้นจะเป็นงบจากภาษีประชาชน แต่การดำเนินการช่วยเหลือในแต่ละครั้งนั้นก็มักจะมาในนามของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือในนามรัฐบาลภายใต้นายก xxx จึงทำให้เรามักได้ยินประโยคคุ้นหูอย่าง “เขาไม่จำเป็นต้องมาช่วย แต่เขาก็ยังลำบากมา” ซึ่งก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามีเหตุอะไรที่ทำให้คนกุมอำนาจของรัฐไม่จำเป็นต้องมาช่วยคนในรัฐของตัวเอง อย่างที่สำนักข่าว ThaiPublica ได้นำเสนอข่าวกรณีน้ำท่วมปี 2554 ที่ทักษิณ ชินวัตรได้นำของ ‘บริจาค’ มาจัดทำถุงยังชีพพร้อมแปะป้ายชื่อตนเองและพรรคเพื่อไทยจนทำให้หลายฝ่ายออกมาทักท้วง
วิธีที่ 2: แดงกับเขียว
ขั้นตอนที่ 2 หลังจากสร้างฮีโร่เรียบร้อยแล้ว การจะมีแค่ตัวเอกในเรื่องก็คงจะดูน่าเบื่อไป เหล่านักเล่าเรื่องจึงสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมานั่นก็คือ ‘ตัวร้าย’ ความสำคัญของตัวร้ายคือเกิดมาเพื่อสร้างความแตกต่างจนเกิดการเปรียบเทียบกับตัวละครเอก ยิ่งเราเห็นว่าตัวร้ายนั้นมีผลงานแย่เท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมองตัวเอกในแง่ดีมากขึ้น
Angelika Epple และ Walter Erhart ได้กล่าวในวิจัยเรื่อง Practice of Comparing ในปี 2020 ว่าวิธีเปรียบเทียบนี้ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล และถูกใช้มาเรื่อยๆ จนกลายเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง หรือที่เราคุ้นเคยกันคือ ‘การจำแนก’ ทั้งนี้จึงอาจเรียกได้ว่าการเปรียบเทียบนั้นอยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย จนแทบจะกลายเป็นการเรียนรู้พื้นฐานของเราไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้เองเราจึงมักจะมีอารมณ์ร่วมอยากเอาใจช่วยเสมอเมื่อเห็นตัวเอกปะทะกับตัวร้าย สถาบันการเมืองก็ใช้วิธีเดียวกันในการเล่าเรื่องด้วยการสร้างความดีและความเลวขึ้นมา จึงมักมีวาทกรรมอย่าง ‘นักการเมืองดี’ และ ‘นักการเมืองเลว’ ให้เราเห็นอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เราจะเห็นนักการเมืองหลายกลุ่มมักเอาตัวเองไปผูกไว้กับสิ่งที่สังคมตอนนั้นมองว่าดี อย่างการรักชาติหรือรักประชาธิปไตย เป็นต้น
เมื่อเอาตัวเองผูกไว้กับความดีแล้ว วิธีการต่อมาคือการใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘ทวิทัศน์ (Duality)’ หรือการสร้างกรอบการรับรู้ให้มีเพียง 2 ขั้ว ไม่แดงก็เขียว ไม่ขาวก็ดำ ไม่ดีก็เลว กล่าวคือเราจะเห็นสีขาวไม่ชัดถ้าเราไม่เอาสีดำมาตัด ส่งผลให้เมื่อฝั่งหนึ่งถูกมองว่าดีแล้ว อีกฝั่งจะถูกมองว่าเป็นคนเลวไปโดยอัตโนมัติ จนเราลืมไปเลยว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่สองสีคือขาวกับดำ แต่ยังมีสีอื่นๆ ให้เรามองได้อีก อย่างคนเชียร์พรรคก้าวไกลสามารถเป็นอนุรักษ์นิยมได้ คนเชียร์พรรคเพื่อไทยก็สามารถเป็นเสรีนิยมได้ หรือคนเชียร์ภูมิใจไทยไม่จำเป็นต้องอยากได้แค่กัญชาเสรี
การเมืองไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักการเมืองดีและนักการเมืองเลว แต่ยังมีนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน บ้างอาจมุ่งไปที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง บ้างอาจมุ่งไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หรือบ้างอาจมุ่งไปที่การพา ‘เธอ’ กลับมา
วิธีที่ 3: เงินน่ะมีไหม
ตามที่พูดไปว่าบางกลุ่มการเมืองนั้นอาจมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ซึ่งก็ไม่ผิดที่มีความตั้งใจจะให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยหากมองถึงเรื่องความต้องการพื้นฐานของมนุษย์แล้ว ประชาชนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยพอที่จะไปคิดเรื่องนามธรรมอย่างสิทธิ เสรีภาพ อุดมการณ์ จึงมีโอกาสที่จะเลือกสถาบันการเมืองที่มุ่งไปที่การแก้ปัญหาเรื่องปากท้องก่อน โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม ด้วยเหตุผลที่ว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้กินอุดมการณ์เป็นอาหารเช้านั้นก็คงจะเลือกปัจจัยพื้นฐานอย่างเงินที่สามารถเลี้ยงปากท้องมากกว่าฝั่งที่มุ่งนำเสนอขายอุดมการณ์ อย่างที่หลายคนบอกว่าหากท้องยังไม่อิ่ม ก็ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอุดมการณ์
ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าประชาชนจะไม่อยากเลือกฝ่ายที่เน้นชูอุดมการณ์ เพราะหากมองภาพในตอนนี้ฝ่ายที่มีจุดยืนในอุดมการณ์ดูจะอยู่ได้ในระยะยาวมากกว่าและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ผิดกับฝั่งที่มักจะแค่แก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า โดยที่ละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ เพราะหากเศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดประชาชนก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกฝ่ายการเมืองเดิม อีกทั้งจุดยืนของฝ่ายการเมืองใหม่นั้นมองว่าก้าวแรกของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือการปฏิรูปโครงสร้าง เช่น ภาษี มรดก การถือครองที่ดิน ระบบสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งดูจะตอบความต้องการของหลายคนมากกว่า หากไม่ถูกยุบหรือใช้วิชามารแผลงๆ เพื่อหาทางกีดกัน ประโยคที่ว่า “เดี๋ยวรอเลือกใหม่สมัยหน้า” ก็คงจะไม่เกินจริงนัก
วิธีที่ 4: กลับมาได้บ่
“จริงๆ ตอนนั้นมันก็ดีนะ” ประโยคยอดนิยมที่มักจะทำให้เราวนลูปอยู่กับความสัมพันธ์แบบ toxic relationship ซึ่งอาจรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและสถาบันทางการเมืองด้วย อย่างที่บอกว่ามนุษย์มักจะหาสิ่งเปรียบเทียบอยู่เสมอ เมื่อเจอสถานการณ์ที่ย่ำแย่เราก็มักจะหวนคืนไปหา good old days วันคืนเก่าๆ ที่เคยมีความสุข(หรือทุกข์น้อยกว่านี้) เราจึงจะได้ยินประโยคที่ว่า “คิดถึงสมัยท่าน xxx” “สมัยลุง xxx” หรือ “สมัย xxx อะไรก็ดีกว่านี้” จึงไม่แปลกที่เรามักจะเห็นนักการเมืองหน้าเดิมๆ โผล่มาให้เห็นโดยเฉพาะช่วงเวลาการเลือกตั้ง แถมยังมีโอกาสกลับมาได้รับความนิยมอยู่เสมอ ทั้งนี้เราอาจมองหาแค่ตัวบุคคลจนลืมไปว่าปัญหาจริงๆ ที่เป็นอยู่ตอนนี้นั้นเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่ เพราะคนปัจจุบันทำไม่ดี เพราะบาดแผลที่คนเก่าทิ้งไว้ หรือเพราะระบบโครงสร้างการเมืองไม่เอื้อให้เรามีตัวเลือกมากนัก
เมื่อมองการเมืองผ่านวิธีการเล่าเรื่อง เราก็จะเห็นบทบาทหน้าที่และเป้าหมายในการกระทำแต่ละครั้งของบุคคลทางการเมืองมากขึ้น ทั้งนี้จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้มีเพื่อโจมตีหรือสนับสนุนฝ่ายใด เพียงแต่อยากให้เห็นถึงวิธีการสื่อสารและแผนประชาสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมือง
ถึงแม้การรอนักการเมืองขี่ม้าขาวมาช่วยอาจเป็นวิธีที่ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดที่สุดเหมือนกับการรอซุปเปอร์ฮีโร่มาช่วยประชาชน แต่การมีพระเอกขี่ม้าขาว อาจทำให้เราหลงลืมไปว่าการเมืองนั้นยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบ’ อยู่
เรามักจะเชื่อในตัวบุคคลมากกว่าระบบและหวังพึ่งมนุษย์คนดีซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอนและวัดอะไรไม่ได้เลย คำว่าดีคืออะไร เลวคืออะไร ก็ยังคงเป็นคำถามที่โสเครตีสถามมาตั้งแต่แต่ยุคกรีกจนในปัจจุบันก็ยังไม่มีคนหาคำตอบได้ สุดท้ายในสังคมที่คนมองคำว่า ดี-เลว ฮีโร่-ตัวร้าย แตกต่างกันไป เราจึงควรยึดสิ่งที่เป็นกลาง เป็นสากล มีความแน่นอน และวัดผลได้ ซึ่งก็คือก็คือระบบนั่นเอง
รายการอ้างอิง
คลิปแฉกับกฎหมาย ป.ป.ช. สู่การสืบค้นความผิดพลาดบริหารจัดการน้ำท่วมรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”. (2554, พฤศจิกายน 22).
เข้าถึงได้จาก ThaiPublica: https://thaipublica.org/2011/11/video-clips-and-corruption-law/
Epple, A., Erhart, W. & Grave, J. (2020). Practice of Comparing: Towards a New Understanding of a Fundamental Human Practice. Bielefeld: Bielefeld University Press.
เข้าถึงได้จาก: https://www.degruyter.com/document/doi/10.1515/9783839451663/html#APA