SocietyWritings

การส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 40 คน “กลับบ้าน” กับ ฉากหลังสิทธิมนุษยชนไทย

เรื่อง: พิชญา ณ วาโย

“ดิฉันยืนยันว่ากลับโดยสมัครใจ ไม่เช่นนั้นก็มีการลากสิ ไม่มีการลาก เดินขึ้นไปปกติ ไม่มีอะไรทั้งนั้น สมัครใจค่ะ”

คำกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์  ภายหลังการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวน 40 คน กลับไปยังประเทศจีน

นายกรัฐมนตรีออกมายอมรับว่า รับรู้กระบวนการส่งกลับชาวอุยกูร์มาโดยตลอด พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาอาจมีความผิดพลาดในการดำเนินการ แต่หลังจากการหารือกับผู้นำจีน ทางการจีนให้คำมั่นสัญญากับไทยว่าผู้ที่ถูกส่งกลับจะได้รับความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้จึงมีการตัดสินใจส่งตัวกลับไปยังจีน

“เราพยายามทำดีที่สุดแล้ว และมั่นใจในจีนว่า สิ่งที่เขาให้คำมั่นกับเรา ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำระดับสูงของเขาจะดูแลอย่างดี นี่คือผู้นำระดับโลกก็ควรรับฟังได้”

ขณะที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวขณะเดินทางไป “เยี่ยม” ชาวอุยกูร์ที่เยือนเมืองคาซือ โดยนำสื่อมวลชนเดินทางไปด้วยว่า จีนเป็นประเทศที่ปกครองตามกฎหมาย ฉะนั้นการที่ชาวอุยกูร์กลับมาประเทศจีน คนไทยไม่ต้องกังวล ทุกคนอยู่กับครอบครัวมีความสุข และรัฐบาลจีนจะดูแลอย่างดีให้มีชีวิตอย่างปกติ

แม้ท่าทีของรัฐบาลไทยจะเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของชาวอุยกูร์ แต่กรณีดังกล่าว นานาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนต่างกังวลถึงชะตากรรมของชาวอุยกูร์ โดยเกรงว่า พวกเขาอาจเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อเดินทางกลับถึงจีน และต่างพากันตั้งคำถามว่าไทยกลายเป็นเครื่องมือในการช่วยฟอกขาวการทารุณกรรมชาวอุยกูร์ของรัฐบาลจีนหรือไม่

“นี่เป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย ซึ่งมีการห้ามอย่างเด็ดขาด ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการทรมาน ทารุณกรรม หรือการทำร้ายที่ไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนได้หากถูกส่งกลับ”

นายโวลเกอร์ เติร์ก (Volker Turk) ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แถลงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงหลักการไม่ส่งกลับ (Non-Refoulement) ซึ่งกำหนดว่า รัฐต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน

หลักการดังกล่าวอยู่ในมาตรา 3 ของ “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ” ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และมาตรา 7 ของ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองระหว่างประเทศ” รวมถึง “พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565”  ตามมาตรา 13 ว่าด้วยการห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตราย

นอกจากนี้รัฐสภายุโรปได้แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการผ่านการลงคะเเนนรับรองญัตติประณามไทยเรื่องการส่งชาวอุยกูร์ไปยังจีน ด้วยเสียงโหวตสนับสนุน 482 เสียง ต่อ 57 เสียง สมาชิกรัฐสภายุโรปเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) เป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศไทยยุติการส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศ พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สามารถเข้าถึงผู้แสวงหาที่พักพิงชาวอุยกูร์ที่ถูกกักกันทั้งหมดได้โดยไม่มีข้อจำกัด และให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของพวกเขาอย่างโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ไทยเพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2570  ตำแหน่งนี้มีหน้าที่หลักในการสอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนรัฐไทยกลับดำเนินการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเสียเอง

กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การละเมิดได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับบทบาทและคำมั่นสัญญาของไทยที่ให้ไว้กับนานาชาติ

 

ไทยยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนจริง หรือเป็นแค่ฉากหน้าบนเวทีโลก?

ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ปี 2557 ตำรวจจังหวัดสงขลาจับกุมชาวอุยกูร์จำนวน 220 คน ใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซีย ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ทั้งหมดถูกดำเนินคดีฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย จากนั้นถูกส่งตัวไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเดียวกันทางการไทยในยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้จับกุมตัวชาวอุยกูร์อีกหลายสิบคนและถูกส่งไปยังศูนย์กักตัวคนต่างด้าวหลายแห่งทั่วประเทศ

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 รัฐบาลทหารปล่อยตัวผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์ประมาณ 170 คนเดินทางไปประเทศตุรกี แต่เพียงสัปดาห์ถัดมาทางการไทยกลับส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คน กลับไปยังประเทศจีน โดยปรากฏภาพพวกเขาถูกคลุมศีรษะและสวมกุญแจมือขณะถูกส่งตัว จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของคนเหล่านั้น

แม้จะมีความคาดหวังจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลทหาร สู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ว่าควรจะแก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าการกดปราบผู้ลี้ภัยและคนคิดต่างยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง

รายงานของรัฐสภายุโรปต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทยระบุว่า นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนกว่า 1,960 ราย รวมถึงเยาวชนไทยมากกว่า 280 ราย ถูกตั้งข้อหาหรือพิพากษาลงโทษเพียงเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีอานนท์ นำภา มงคล ถิระโคตร และอัญชัญ ปรีเลิศ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง พวกเขาถูกตัดสินจำคุกอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพราะออกมาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นโดยสงบ บางรายต้องเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุดถึง 50 ปี

ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถือว่าเป็นกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย คือการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย อย่างไรก็ตามคดีกลับหมดอายุความในสมัยรัฐบาลแพทองธาร โดยปราศจากการดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคือพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และสส.พรรคเพื่อไทย ที่หนีออกนอกประเทศจนคดีหมดอายุความ

เหตุการณ์เหล่านี้ตอกย้ำความจริงที่ว่าประเทศไทยยังไร้ความหวังแม้มีการเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับไม่มีการดำเนินมาตรการใด ๆ หรือท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมารัฐไทยยังคงใช้มาตรการกดปราบและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังดำรงอยู่

หากไทยต้องการกลับไปเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก ไม่ใช่เพียงแค่การสมัครเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ หรือการประกาศจุดยืน แต่ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำที่ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างแท้จริง

มิใช่เพียงฉากหน้าที่สร้างขึ้นบนเวทีโลก


บรรณานุกรม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ. (2025). นักสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเรียกร้องไทย ‘ยกเลิก ม. 112’.สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2568. จาก https://www.benarnews.org/thai/news/th-unhrc-112-abolishion-01312025073420.html

BBC Thai. (2025). สมัครใจกลับหรือไม่-ถูกส่งลึกลับปกปิด: เปิด 5 ข้อกังขา ไทยส่งกลับชาวอุยกูร์ให้จีนท่ามกลางกระแสโลกประณาม. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2568. จาก https://www.bbc.com/thai/articles/cj677j4r6jno

European Parliament. (2025). Human rights breaches in Thailand, Sudan, and Azerbaijan.สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2568. จาก https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20250310IPR27234/human-rights-breaches-in-thailand-sudan-and-azerbaijan

Prachachat. (2025). นักสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเรียกร้องไทย ‘ยกเลิก ม. 112’.สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2568. จาก https://www.prachachat.net/world-news/news-1763453

The Active. (2025). ส่ง ‘อุยกูร์’ กลับจีน… ไทยอยู่ตรงไหน ? บนแผนที่สิทธิมนุษยชนโลก. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2568. จาก https://theactive.thaipbs.or.th/read/uyghur-human-rights

Thai PBS. (2025). OHCHR กังวลปมไทยส่ง 40 อุยกูร์กลับจีน ห่วงความปลอดภัย. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/349732

Thai Rath. (2025). ส่งชาวอุยกูร์กลับจีน คำถามถึงบทบาทสมาชิก UNHRC และสิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2568. จากhttps://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105117

 The Standard. (2024). ภูมิธรรมเยือนซินเจียง-คาซือ ร่วมคณะสื่อไทยดูพัฒนาการจีน ยืนยันไร้วาระซ่อนเร้น สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568. จาก https://thestandard.co/phumtham-uyghur-visit/

The Bangkok Insight. (2024). พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ลาออกจาก ส.ส. เพื่อไทย. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2568 จาก https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/general/1397941/

SDG Move. (2024). ไทยได้รับคัดเลือกเป็นคณะมนตรี UNHRC -โฆษกนายกฯ ชี้เป็นโอกาสไทยผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2568. จาก https://www.sdgmove.com/2024/10/10/thailand-member-unhrc/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Writings

ในยุคแห่งความไม่แน่นอนนี้ หรือการบนบาน….จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่แสดงตัวตนของคน Gen Z?

เรื่อง : สมิตานันท์ จันสุวงษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “ถ้าผลสอบไฟนอลได้ A ล้วนจะงดกินน้ำหวานหนึ่งเดือน” “ถ้ากดบัตรคอนเสิร์ตได้โซนที่ต้องการ เดี๋ยวจะมาแจกเงินให้ follower” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ...

Writings

อคติสู่มุมมองใหม่: การเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยกับภาพลักษณ์ของเมียฝรั่งในเพลงลูกทุ่ง

เรื่อง : โอปอล ศิริภัสษร พลอยชมพู วงศ์ยาไชย ศิรภัสษร ศิริพานิช อภิวัฒน์ สุชลพานิช ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ลักษณะของเมียฝรั่ง ...

Writings

งานศพแบบมนุษย์นิยม: บอกลาอย่างไรสำหรับคนไร้ศาสนา

เรื่อง : รณรต วงษ์ผักเบี้ย ‘ความตาย’ เป็นคำที่ให้ความรู้สึกห่างไกลในขณะเดียวกันก็ใกล้ชิดกับเรามากกว่าที่คิด สุญญากาศแห่งความตายนั้นยากแท้หยั่งถึงเกินจิตสำนึกของมนุษย์คนหนึ่ง แต่มัจจุราชก็เฝ้ารอทุกชีวิตอยู่ทุกหัวมุมถนนเช่นกัน เมื่อร่างกายของเราหยุดทำงานและทิ้งไว้เพียงลมหายใจสุดท้าย บรรยากาศรอบตัวปกคลุมไปด้วยความโศกเศร้าของคนที่รัก สุดท้ายมนุษย์เราก็ปลดปล่อยความเศร้าและความทรงจำผ่านพิธีกรรมแห่งการบอกลาที่เรียกว่า ‘งานศพ’ วันปีใหม่เพิ่งจะผ่านพ้นมาไม่นาน ผู้คนนึกถึงการเริ่มต้นใหม่ ความสุขที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ ...

Shot By Shot

แม่คนที่สอง

เรื่องและภาพ: ปิยะพร สาวิสิทธิ์ “แม่ หล่าอยากกินไอติม” เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กน้อยในหมู่บ้านที่เปล่งออกมาอย่างกระตือรือร้นเมื่อเห็นรถขายไอศกรีมซิ่งผ่านหน้า ทว่าเมื่อมองกลับไปหาคนที่เด็กน้อยเรียกว่า ‘แม่’ ก็เห็นเพียงแต่หญิงที่มีรอยย่นบนผิวหนังและดูมีอายุเกินกว่าที่เด็กราว 5 – 6 ขวบจะเรียกว่าแม่ได้  เมื่อพิจารณาดูแล้วก็คงเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในชนบท ภาพของเด็กๆ ที่อยู่กับผู้สูงอายุแทนที่จะเป็นพ่อแม่ ...

Articles

หลอดไฟในดงไม้ แสงสว่างที่ระบบนิเวศไม่ต้องการ

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ในเมืองกรุงอันแสนกว้างใหญ่ แม้จะเป็นเวลากลางคืนที่ฟ้ามืดสนิท แสงจากไฟถนนและตึกยังคงส่องสว่างเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ และในเมืองที่ไม่มีวันดับแสงนี้ การจะเห็นดาวที่ลอยอยู่เต็มผืนฟ้าช่างยากเหลือเกิน แม้แสงไฟจะเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่ไม่ใช่ทุกที่จะเหมาะสมกับความสว่างไสวนี้ ...

Articles

ต้องอายุเท่าไหร่ ถึงควรจะประสบความสำเร็จ?: ชวนสำรวจนิยามความสำเร็จผ่านตัวละครหลักหลากวัยจาก Only murders in the building

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ คุณเคยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองว่างเปล่าหรือไร้ค่าบ้างไหม? คุณเคยรู้สึกเจ็บช้ำจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าบ้างหรือเปล่า? คุณเคยมองความสำเร็จของคนอื่นแล้วถามตัวเองหรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่? หากคุณเคยรู้สึกหรือเคยถามตัวเองแบบนั้น คุณอาจเป็นเหมือนสามตัวละครหลักจาก Only murders in the ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save