เรื่อง ตติยา ตราชู
ผลกระทบทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ไทยมีการ ‘ปิดประเทศ’ และประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงและส่งต่อกันเป็นลูกโซ่ ถือเป็นความเร่งด่วนที่รัฐจะต้องรีบเร่งสอดส่ายหาทางออกให้กับประเทศในภาวะวิกฤต ภายใต้แรงกดดันจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่น่ากังขา
การเปิดประเทศและคลายล็อกดาวน์ทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นประตูสู่ทางออกที่ประชาชนต่างพากันมุ่งหวังและตั้งตาคอย ไปพร้อม ๆ กับการรอคอยเงินช่วยเหลือระยะสั้นจากภาครัฐ
กุญแจสำคัญที่ใช้ไขเพื่อเปิดประตูบานนี้ ซึ่งเป็นดอกเดียวกันกับประเทศอื่นทั่วโลกก็คือ วัคซีน
สำหรับแผนการจัดฉีดวัคซีนของรัฐบาลไทย แบ่งฉีดเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกใช้วัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชน 5 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า ผู้ที่มีโรคประจำตัว เจ้าหน้าที่ควบคุมโควิด ประชาชนและแรงงานในพื้นที่ระบาด และผู้สูงอายุ ระยะที่สอง ใช้วัคซีนแอสตราเซเนก้า 61 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของระยะที่ 1 ในจังหวัดที่เหลือ
ประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีน จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ‘หมอพร้อม’ รัฐบาลไม่ได้บังคับให้ต้องฉีดทุกคน ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ในแง่ของจรรยาบรรณวิชาชีพแพทย์ที่ต้องถาม ‘ความสมัครใจ’ ของผู้เข้ารับการรักษาก่อนเสมอ หลังจากที่แพทย์ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอ
แต่ระบบการลงทะเบียนนี้ได้เอื้อให้เกิดการสมัครใจในทุกกลุ่มจริงหรือ?
นิด้าโพล ได้สำรวจผู้สูงอายุจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่างกระจายทุกภูมิภาค เมื่อ พ.ค.-มิ.ย. 2563 พบว่าส่วนมากไม่ใช้โซเชียลมีเดีย และมีมือถือไว้ใช้ติดต่อสื่อสารเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่มีโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ก็มีรวมกันไม่ถึงร้อยละ 20
แน่นอนว่าได้มีผู้ตกหล่นจากการลงทะเบียนผ่านช่องทางนี้เกิดขึ้นแล้ว
บางท่านอาจแย้งว่าก็ให้ลูกให้หลานช่วยลงทะเบียนให้ก็ได้นี่ ผลสำรวจนี้ยังได้โต้กลับข้อคิดเห็นดังกล่าวด้วยสถิติอีกว่า ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 30 ไร้ซึ่งผู้ช่วยเหลือในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร
ผลสำรวจข้างบนสอดคล้องกับข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2559 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่ามีผู้สูงอายุแค่ 6 แสนคนจากทั้งหมด 11 ล้านคนเท่านั้นที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ซึ่งตัวเลขปัจจุบันคงไม่ขยับหนีไปจากนี้มากนัก
ไหนจะความคล้ายของชื่อ ‘หมอพร้อม’ กับชื่อแอปพลิเคชันที่รัฐบาลเคยเปิดให้ใช้ในช่วงโควิดอย่าง เราชนะ ไทยชนะ หรือ หมอชนะ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ จนต้องลำบากไปเสิร์ชในอากู๋กันอีก
อย่างไรก็ตาม รัฐจำเป็นต้องใส่ใจกับกลุ่มผู้ตกหล่นเหล่านี้แค่ไหนกัน?
คณบดีคณะแพทย์ฯ ศิริราชพยาบาลเคยแถลงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า หากประเทศหนึ่งมีจำนวนประชากรซึ่งมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 60-70 ของประชากรทั้งหมด จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) จนไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถแพร่ระบาดได้อีกต่อไป
กรณีของประเทศไทย หากคิดคร่าว ๆ ไทยต้องมีประชากรที่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ประมาณ 40 ล้านคนขึ้นไป จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่ว่า ซึ่งอย่างน้อย ๆ ก็จะสามารถวางใจพอที่จะคลาย ‘ล็อกดาวน์’ ภายในประเทศ
หากรวมกลุ่มผู้สูงอายุทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคนเข้าไปในจำนวนนี้ ก็กินพื้นที่ไปได้ถึง 1 ใน 4 รัฐจึงควรเก็บตกผู้ต้องการฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้ว่าอาจมีผู้ตัดสินใจไม่ขอรับการฉีดวัคซีนด้วยกลัวผลข้างเคียง หรือเหตุผลใด ๆ ก็ตามแต่ มันก็ควรเป็นไปด้วยความสมัครใจว่าจะไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนจริง ๆ ไม่ใช่เพราะปัจจัยอื่นมา ‘บังคับให้ต้องสมัครใจ’
การที่มีผู้สูงอายุตกหล่นเพราะขาดโอกาสในการแสดงเจตจำนงขอรับวัคซีน เป็นการดำรงไว้ซึ่งกลุ่มความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตเพราะโควิด-19และไทยได้ยืดระยะเวลาของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นช้าตามไปอีกด้วย
นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่เปราะบางในตัวเองอยู่แล้ว ยังเป็นความเปราะบางของประเทศที่รัฐพึงต้อง ‘ไม่ลืม’ ให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการออกนโยบายแม้ในภาวะเร่งด่วน โดยเฉพาะห้วงเวลาที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้