เรื่อง กุลนารี เสือโรจน์
ข้อมูลจาก Neilson Research ระบุว่า ช่วงล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สัดส่วนการเปิดรับสื่อโทรทัศน์ของคนไทยเติบโตมากถึง 9% โดยรายการที่ได้รับความนิยมมาก คือ รายการข่าวและละคร
คำถามที่ตามมาคือ กลุ่มคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนพิการทางการได้ยินและคนพิการทางการเห็น ซึ่งมีข้อจำกัดทางประสาทสัมผัส (sensory impairment) สามารถเข้าถึงสื่อโทรทัศน์เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารหรือเปิดรับความบันเทิงเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในสังคมได้หรือไม่
คำตอบคือ ‘ได้’ เนื่องจากปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ได้ให้บริการเพื่อการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมาย 3 ประเภท คือ ล่ามภาษามือ (sign language) รวมถึงคำบรรยายแทนเสียง (closed captioning / subtitle) สำหรับคนพิการทางการได้ยิน และเสียงบรรยายภาพ (audio description) สำหรับคนพิการทางการเห็น แต่แม้จะมีบริการส่งเสริมการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ดังกล่าว ก็ยังพบอุปสรรคในการเข้าถึงและใช้บริการอยู่พอสมควร
ในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดให้มีบริการที่เหมาะสม ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ได้มีการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจจากองค์กรคนพิการและองค์การวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหลายประการ ดังนี้
ตัวแทนองค์กรคนพิการทางการได้ยินรายงานอุปสรรคของการใช้บริการล่ามภาษามือในรายการข่าวและการรายงานข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด -19 ประจำวันไว้ว่า จอล่ามภาษามือของสถานีโทรทัศน์บางแห่งมีขนาดเล็กเกินไป บางครั้งมีตัวอักษรอื่นทับหน้าจอล่าม ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า สถานีโทรทัศน์บางแห่งได้ขยายขนาดของล่ามภาษามือ จากเดิมถูกกำหนดสัดส่วนไว้ไม่น้อยกว่า 1 : 12 ของจอโทรทัศน์ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 1 : 2 หรือครึ่งหนึ่งของหน้าจอโทรทัศน์เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่ชัดเจนและแม่นยำในช่วงสถานการณ์โรคระบาด
ส่วนการเข้าถึงรายการบันเทิงทางโทรทัศน์พบว่า คนพิการทางการได้ยินสามารถเข้าถึงรายการบันเทิงทางโทรทัศน์บางรายการผ่านบริการคำบรรยายแทนเสียงได้ ทั้งนี้ ตามประกาศของ กสทช. เรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ ปี 2563 กำหนดจำนวนชั่วโมงขั้นต่ำในการให้บริการคำบรรยายแทนเสียง 60 นาทีต่อวัน พบอุปสรรคในการใช้งานบางส่วนจากความไม่เหมาะสมของตำแหน่งบนหน้าจอของคำบรรยายแทนเสียง การซ้อนทับกับตัวอักษรอื่นบนหน้าจอ รวมถึงอัตราความเร็วในการเปลี่ยนประโยคที่ยากต่อการอ่าน
ด้านคนพิการทางการเห็นจะสามารถเข้าถึงรายการโทรทัศน์ผ่านบริการเสียงบรรยายภาพ ซึ่งกำหนดการให้บริการขั้นต่ำวันละ 30 นาที พบข้อจำกัดด้านปริมาณ ความหลากหลายของประเภทรายการ รวมถึงความไม่เหมาะสมของเวลาในการออกอากาศรายการที่มีเสียงบรรยายภาพ และขั้นตอนที่ซับซ้อนในการใช้รีโมทคอนโทรลเพื่อเข้าถึงเสียงบรรยายภาพ
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าแม้จะมีบริการเพื่อการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์เกิดขึ้นแต่ก็ยังต้องการการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น
ในวันคนพิการสากล หรือ The International Day of Persons with Disabilities (IDPD) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 3 ธันวาคม ปีนี้ มีแนวคิดหลักคือ “Building Back Better: toward a disability-inclusive, accessible and sustainable post COVID-19 world” หรือ การกลับไปสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้แก่โลกหลังโควิด-19 ผ่านสังคมที่คำนึงถึงคนทุกกลุ่มในสังคมและเป็นสังคมที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น ความพยายามที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาบริการส่งเสริมการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์แก่คนพิการจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมเพื่อคนทั้งมวล ให้เป็นสังคมที่ทุกคน…ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดทางร่างกายหรือไม่ ก็สามารถมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงอย่างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง