ผลวิจัยชี้ วันทอง, ทุบโต๊ะข่าว, ฟ้าหินดินทราย และแฉ มีโฆษณาเกินเวลา เพราะการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้เบียดบังเวลาของผู้บริโภค แนะควรมีการตรวจสอบและบทลงโทษที่ชัดเจน
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดงานแถลงข่าวจากงานวิจัย “โฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลา ทางช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัล”ของนางสาวบุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ ผ่านระบบประชุมออนไลน์ (zoom meeting)
สาระสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กำหนดให้รายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศ 1 ชั่วโมง มีโฆษณาได้ไม่เกิน 12 นาที 30 วินาที ดังนั้นจะมีเนื้อหารายการเหลือ 47 นาที 30 วินาที แต่ผลวิจัยพบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 34 ตัวอย่าง ละครเรื่องวันทอง (2564) มีเนื้อหา 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ รายการทุบโต๊ะข่าวและซุปตาร์พาตะลุย มีเนื้อหา 44 นาที 14 วินาที ส่วนละครเรื่องฟ้าหินดินทราย (2564) กับข่าวภาคค่ำ มีเนื้อหา 46 นาที 45 วินาที และสุดท้ายรายการแฉ มีเนื้อหา 47 นาที
นางสาวบุณยาพรกล่าวว่า จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์หารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial – TVC) เป็นหลัก จึงทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งเป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับโฆษณา แต่รับไม่ได้กับโฆษณาแฝง และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที
นอกจากนี้นางสาวบุณยาพร ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะให้มีโฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ต้องจำกัดเวลาในการเผยแพร่ รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันควรสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.
ด้านนางสาวโสภิดา วีรกุลเทวัญ ผู้แทนคณะอนุกรรมการ ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ (สอบ.) กล่าวว่า กสทช. ควรให้ความจริงจังในการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่เกี่ยวกับการโฆษณา รวมทั้งมีบทลงโทษที่ชัดเจน เช่น ให้รายการที่กระทำผิดงดออกอากาศชั่วคราว, ลงโทษผู้ผลิตสินค้าที่ลงโฆษณา หรือมีมาตรการจำกัดเวลาโฆษณาหรือจำกัดประเภทรายการที่โฆษณาได้ นอกจากนี้ควรมีหน่วยงานที่เฝ้าระวังโฆษณาแฝงหรือควบคุมการโฆษณาในโทรทัศน์โดยเฉพาะที่ทำงานในเชิงรุก และมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคร้องเรียน ทั้งนี้ หากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการก็ควรได้รับบทลงโทษเช่นกัน นอกจากนี้ ควรตรวจสอบลักษณะของการโฆษณาเกินจริงควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากผู้ชมโทรทัศน์มีความหลากหลายตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิดหรือหลงเชื่อโฆษณาได้ง่าย
ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมีโฆษณาทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการมีโฆษณาแฝงและรายการแนะนำสินค้าในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า นอกจากนี้หากพบว่าโฆษณาและโฆษณาแฝงของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นเด็ดขาด