
เขียน สมิตา พงษ์ไพบูลย์
ภาพ ศิรประภา ศรีดาจันทร์ประเภท สัมภาษณ์
ข่าวทางเลือก ที่เลือกได้“ข่าวที่เสพอยู่ จริง ๆ แล้วเป็นแค่ความคิดเห็น หรือเป็น fact (ข้อเท็จจริง) วินาทีที่ทวิตหนึ่งทำให้คล้อยตาม เกิดอารมณ์ร่วมจะต้องตอบตัวเองให้ได้ ว่าทำไมถึงเกิดความรู้สึกอย่างนั้น”ในยุคที่เรื่องของข่าว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่แค่ในทีวีจอแก้ว หรือบนหน้าหนังสือพิมพ์กระดาษอีกต่อไป การเป็นคนรุ่นใหม่จึงมีสื่อทางเลือกให้ตัดสินใจได้เอง และถึงแม้ไม่เลือก ข่าวก็จะโผล่ขึ้นมาบนหน้าจอที่ไถไปมาอย่างไม่ได้ตั้งใจเอง ข่าวจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งเพราะสื่อข่าวที่หลายหลายขึ้น จึงเกิดการถกเถียงว่าแท้จริงแล้ว แบบไหนคือข่าว สิ่งไหนคือข่าวที่ดี แล้วช่องทางติดตามข่าวที่ดีที่สุดมีอยู่จริงหรือไม่จากการสัมภาษณ์ มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ นักวิชาการทางด้านความรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเชื่อว่ารายการข่าวที่ดีที่สุด สำหรับคนรุ่นใหม่ คือรายการที่พวกเขาเลือกเองโดยเหตุผลคือการมองที่ประโยชน์ระยะยาว เชื่อว่าเมื่อคนรุ่นใหม่มีสิทธิในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่อยากเข้าถึง เลือกสื่อเองแล้ว จะมีศักยภาพ และความสามารถที่หากเกิดประสบการณ์ตรงก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ“ถ้าสิ่งที่เขาเคยแชร์เป็น fake news (ข่าวลวง) ประสบการณ์นี้สำคัญที่จะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ และมองต่อไปว่า ถ้าไม่อยากตกหลุมพรางสิ่งเหล่านี้อีก ควรจะไปเสาะแสวงหาจากแหล่งข้อมูลไหน มันสำคัญกว่าที่จะบอกว่า ไปดูแหล่งนี้เถอะ”“เมื่อเขาคลิก หรือติดตามใครที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ (ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์) เพื่อที่จะทำให้ไม่ตกประเด็นใหม่ ๆ หรืออยู่ดี ๆ เขาอาจจะรู้สึกอินกับบางสิ่งมาก เช่น อินกับข่าวการเมือง แล้วก็คล้อยตามอินฟลูเอนเซอร์คนนั้น การได้คิดว่าทำไมถึงคล้อยตาม ควรคล้อยตามจริงไหม และข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือจริงไหม เป็นกระบวนการที่สำคัญ ถ้าเจอแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ ต้องบอกกับตัวเองได้ว่านี่เป็นแหล่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มีอคติอยู่ เป็นข่าวลวงอยู่ มันอาจจะยาก แต่ประสบการณ์จะช่วยเอง”อาจารย์มนต์ศักดิ์ยังเชื่อว่า หมดหน้าที่ที่ผู้ใหญ่จะต้องบอกว่าคนรุ่นใหม่ควรบริโภคข่าวสารแบบใด เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ดีกว่า ผู้ใหญ่ควรจะให้เวลาคนอีกรุ่นได้ทดลองบริโภคข่าวสารจากแหล่งข่าวที่คนรุ่นเดิมไม่ถูกใจ อย่างไม่ตัดสิน เพื่อได้ค้นหาว่าจริง ๆ แล้วข้อมูลนั้นมันทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร “บางที แหล่งข่าวหรือสำนักข่าวในปัจจุบัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง 100%มันก็ยังมีความคิดเห็นอยู่ในเนื้อหา” พร้อมยกตัวอย่างว่า ยังมีสื่อที่ เอาเรื่องราวจากโซเชียล จากติกตอกมานำเสนอเป็นข่าวอยู่ ดังนั้น เขาจึงมองว่า ทำไมคลิปติกตอกเป็นข่าวได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้สำคัญแล้วว่าแหล่งข่าว จะเป็นอย่างไรอาจไม่ได้สำคัญอีกต่อไป แต่ “หัวใจสำคัญคือการตั้งคำถามกับที่มาน่าจะดีที่สุด”อาจารย์วารสารฯ มองว่าการหาแหล่งข้อมูล อาจจะเริ่มต้นจากความอยากรู้ เขาค่อนข้างมั่นใจว่า ทันทีที่กระบวนการ ทำให้เจนซีอยากรู้เกี่ยวกับหัวข้อ หรือปัญหาใด จะเกิดกระบวนการค้นหาเองโดยอัตโนมัติ“ผมกล้าการันตีได้เลย เพราะพวกเขาใช้แพลตฟอร์มอยู่แล้ว พื้นฐานก็มีทวิตเตอร์ (X) ติกตอก อินสตาแกรม อย่างน้อยบนทวิตเตอร์ก็จะเห็นการขับเคลื่อนของข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา” “สำหรับคำว่าข่าว ขึ้นอยู่กับวิธีการให้คำนิยาม ตอนนี้มันเหมือนเป็นการต่อสู้ระหว่างความเก่ากับความใหม่ ถ้าเอาจริง ๆ ตอนนี้ก็มีอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นตัวแทนข่าว เช่น พี่แยม (ฐปณีย์ เอียดศรีไชย) มีเฟสส่วนตัวแล้วแชร์เนื้อหาว่า ตามนายกอยู่อเมริกาแล้วเจอเหตุการณ์นี้ แบบนี้เป็นข่าวหรือเปล่า หรือ ชัยนนท์ ชัยนนท์ (ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์) ที่ทวิตอยู่ตลอด นั่นเป็นข่าวหรือเปล่า มันลื่นไหลมากเลย อย่างเช่นสรยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) พูดในห้องส่ง พอมันมีการตัดทอน มาโพสในเฟสต่อ แล้วคนก็แชร์ต่อ ตีความต่อ ก็ต้องถามว่านี่คือข่าวหรือเปล่า มันอาจจะเป็นข่าวในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้สอดรับกับคำนิยามแบบเก่าแล้ว เด็กก็อาจจะชอบเสพ ติดตามชัยนนท์ แล้วก็รู้ว่ามันเกิดเรื่องราวนี้อยู่ ถ้าเขาอยากหาข้อมูลต่อ เขาอาจจะเสิร์ชหาแหล่งข่าวต่อ หรือแค่รู้สึกว่าเพียงพอที่จะติดตามข่าวแค่นี้ ก็พอแล้ว”