Writings

#ยกเลิกกฎหมายเยาวชน… ช่วยอะไรไหม?

เรื่อง : ศิวะ พุ่มอรุณ

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

“เด็ก 14 กราดยิงพารากอน”

 “เด็ก 16 ผ่าไฟแดงชนคนตาย”

 “ป้ากบ” เหยื่อแก๊ง 5 เด็กโหด”

 “นักเรียน ม.2 ชักมีดแทงคอเพื่อนดับคาโรงเรียน”

เหล่านี้คือพาดหัวข่าวที่คนไทยต้องพบเจอในช่วงที่ผ่านมา เป็นการก่ออาชญากรรมที่ต่างกัน ทำคนตายด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ผู้ก่อเหตุคือ “เด็กและเยาวชน” เหมือนกัน

การก่ออาชญากรรมของเยาวชนที่ซ้ำซากก่อให้เกิดความเดือดดาลและโกรธเกรี้ยวของคนในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายเยาวชน

ปัจจุบัน บทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73-76 กำหนดไว้ว่า เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีทำผิด ไม่ต้องรับโทษ อายุ 12-15 ปี ถ้าทำผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจสั่งมาตรการพิเศษ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน, ส่งไปสถานฝึกอบรมหรือคุมประพฤติ เป็นต้น อายุ 15-18 ปี ถ้าทำผิด ศาลอาจตัดสินลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษ ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษ ให้กำหนดมาตรการฟื้นฟู และอายุ 18-20 ปี ถ้าทำผิดต้องรับโทษ แต่ศาลอาจลดโทษให้กึ่งหนึ่ง

ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพบว่า สถิติคดีอาญา 5 อันดับแรกที่พบมากที่สุดในเยาวชน ในปี 2566 คือ 1.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 3,110 คดี  2.คดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 2,999 คดี  3.ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 2,622 คดี  4. ความผิดเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด 1,530 คดี  และ 5.ความผิดอื่นๆ 1,079 คดี

ขณะที่ช่วงอายุขณะกระทำผิด โดยเรียงลำดับจากจำนวนคดี พบว่า อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี มีการกระทำผิด 10,118 คดี อายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี 2,402 คดี และอายุ 18 ปีขึ้นไป 43 คดี

ประเด็นอยู่ที่ว่า หากมีการแก้กฎหมายหรือมีการยกเลิกกฎหมายตามที่คนจำนวนหนึ่งในโซเชียลมีเดียต้องการ จะทำให้จำนวนคดีอาชญากรรมที่กระทำโดยเด็กลดลงได้หรือไม่? เป็นไปได้ไหมที่คนจะทำชั่ว จะมานั่งคิดถึงบทลงโทษตามกฎหมายก่อนลงมือ? หรือพวกเขาทำผิดไปตามสัญชาตญาณที่ได้เรียนรู้มาจากที่ไหนสักแห่ง?

การศึกษาของวาสุเทพ ทองเจิม (2540) ถึงสาเหตุและแรงจูงใจในการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนชาย ณ สถานแรกรับบ้านเมตตาของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง พบว่า การขาดโอกาสทางการศึกษา การมีความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวที่แตกสลาย และการมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี เป็นข้อบ่งชี้ของสาเหตุการกระทำความผิดของเยาวชนที่ชัดเจน

ครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตัวเด็กอย่างมาก เพราะถือเป็นพื้นฐานและด่านแรกในการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพ รายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ครอบครัวเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หากครอบครัวใดมีการ ใช้ความรุนแรงในครอบครัว ก็จะบ่มเพาะพฤติกรรมความรุนแรงให้เด็กได้ง่าย เนื่องจากเด็กจะเกิดความเคยชินกับความรุนแรง และเข้าใจว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ

กรมสุขภาพจิตยังได้รายงานเพิ่มอีกว่า สภาพครอบครัวที่ยากจน ครอบครัวแตกแยก และขาดความอบอุ่น การที่เด็กต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ความรุนแรง และยาเสพติด ก็อาจส่งผลให้เด็กขาดการศึกษาและขาดโอกาสการมีสังคมที่ดี และสุดท้ายก็มีแนวโน้มจะไปรวมตัวกันก่ออาชญกรรมในที่สุด

การเลี้ยงดู เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น “ตัวกำหนด” อนาคตของเด็กได้เลย เนื่องจากประสบการณ์การเลี้ยงดูของครอบครัวในช่วงแรกของชีวิตเด็ก จะส่งผลในระยะยาวทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะการพัฒนาของสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการมีสมาธิจดจ่อ การคิดวางแผน การแก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่น การคาดการณ์ถึงผลที่ตามมา ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ และช่วยให้สามารถควบคุมตนเองได้ คุณภาพการเลี้ยงดูในวัยเด็กจึงเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ตามการศึกษาของโรงพยาบาลแพทย์รังสิต

หากครอบครัวใด พ่อแม่ปราศจากคำแนะนำในการสั่งสอน ไม่มีการกำกับดูแลหรือสอดส่องพฤติกรรมของลูกตั้งแต่ยังเล็ก มีการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงและหยาบคาย มีการส่งเสริมความมีอิสระอย่างไร้ขอบเขต และมีความเข้มงวดกวดขันและกดดันลูกมาก ก็มีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงและอาจจะก่ออาชญากรรมในที่สุด

เพราะฉะนั้นการยกเลิกกฎหมาย ปรับเพิ่มโทษ อาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากไม่เกิดการแก้ที่จิตสำนึก และสภาพแวดล้อมของเยาวชนผ่านผู้ปกครองและสังคม การก่ออาชญากรรมก็ไม่น่าจะลดลงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากดูถึงกรณีล่าสุดที่มีกลุ่มวัยรุ่น 5 คนทำร้าย “ป้ากบ” หญิงวัยกลางคนอย่างโหดร้ายทารุณ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ถึงความโกรธแค้นของคนในสังคม โดยเฉพาะเมื่อสังคมรับรู้ว่าผู้ปกครองของเด็กเป็นผู้มีอำนาจ มีเงิน เป็นตำรวจ ความโกรธก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก

สาเหตุคือ เพราะประชาชนที่กำลังโกรธรู้ว่า สุดท้ายแล้วลูกหลานของผู้มีอิทธิพลเหล่านั้นอาจจะรอดในที่สุดหรือถ้าได้รับโทษก็เบาจนแทบเหมือนไม่ได้รับ

ปัญหาของเรื่องนี้ที่แท้จริงอยู่ที่ตัวกฎหมายที่ไม่เข้มพอ หรืออยู่ที่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมบ้านเรากันแน่

ยิ่งมาพบกับการจับ “แพะ” เข้าคุกทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นภาพจากกล้องวงจรปิด การที่นักข่าวเป็นคนได้ภาพจากกล้องวงจรปิดก่อนตำรวจ ยิ่งทำให้อารมณ์ของคนในสังคมเลวร้ายเข้าไปกันใหญ่

การกล่าวของลูกตำรวจในแก๊งเด็ก 5 คนว่า “เดี๋ยวพ่อกูจัดการเอง” เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่เหนือกฎหมายของคนบางกลุ่ม และสิ่งนี้สืบทอดกันเป็นทายาท ขนาดลูกตำรวจที่อายุเพียงแค่ 14 ปี ยังรู้ว่าเขาและพ่อของเขาอยู่เหนือกฎหมาย ไม่มีใครแตะต้องได้

การแก้กฎหมายหรือยกเลิกกฎหมาย จึงดูเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะสุดท้ายแล้ว คนบางกลุ่มก็จะอยู่เหนือกฎหมายเหล่านั้นอยู่ดี


บรรณานุกรม

ไทยรัฐออนไลน์, เมื่อเด็กเหี้ยม เสียงเรียกร้อง ลงโทษแบบผู้ใหญ่ กับกฎหมายที่ทำได้, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2567, จาก https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2756276

เดอะแมทเทอร์, การเพิ่มบทลงโทษเยาวชนที่ทำความผิด จะช่วยแก้อาชญากรรมได้จริงหรอ?, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2567, จาก https://thematter.co/social/penalties-for-juvenile-criminals/189965#google_vignette

ไทยพีบีเอส, ประมวล 3 เหตุการณ์ “เยาวชน” ก่อเหตุรุนแรง, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2567, จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/332409

เวิร์คพอยท์ ทูเดย์, โซเชียลขุดข้อมูลย้อนรอย ‘แพรวา 9 ศพ’, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2567, จาก https://workpointtoday.com/127-9/

เวิร์คพอยท์ ทูเดย์, สรุป #เด็ก16ผ่าไฟแดงชนคนตาย ล่าสุดถอนตัวนักเทนนิสทีมชาติแล้ว, สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม, จาก https://workpointtoday.com/news-212/

ThaiJo, การป้องกันการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน, สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 256, จาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/ombudsman/article/download/167099/120561/467639

ศูนย์สุขภาพจิตที่ 7, แนวทางการช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมความรุนแรง, สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567, จาก

https://mhc7.dmh.go.th/wp-content/uploads/2019/12/แนวทางการดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมรุนแรง.pdf

โรงพยาบาลแพทย์รังสิต, สมองส่วนหน้า ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก, สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567, จาก https://www.patrangsit.com/สมองส่วนหน้า-ส่งผลต่อพฤ/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Writings

Writings

เส้นทางการตกแฟนบอยของนายแบคฮยอน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง League of Legend หรือ LOL คือเกมออนไลน์ไม่กี่เกมที่ผมยังคงเล่นอยู่ในปัจจุบัน หากเราเล่นกับเพื่อน มันจะเป็นเกมที่สนุกมาก แต่หากเล่นคนเดียว มันอาจจะเหมือนกับการตกนรกทั้งเป็น ด้วยความที่เป็นเกมสไตล์ ...

chinese opera 2024 Writings

ส่องหลังม่านการแสดงงิ้ว โลกหลังเวทีของเหล่า ‘คนแปลกหน้า’

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นอกจากอากาศที่ร้อนระอุในเดือนเมษายน และต้นข้าวในท้องนาริมถนนที่ถูกเก็บเกี่ยว การเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวครั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ฉันตั้งตารอ  . ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ ริมแม่น้ำบางปะกงได้รับการบูรณะในปี 2560 และในทุกๆ ปี ศาลเจ้าจะจัดการแสดงงิ้ว ...

Writings

ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 60 กับคำถามประชามติที่ไร้ทางแก้ปัญหา

เรื่อง : ศศณัฐ ปรีดาศักดิ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งตามข้อเสนอของ ...

Writings

ศิษยาภิบาล ผู้เลี้ยงแกะของพระเจ้า

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง การเรียนอยู่ในโรงเรียนคริสต์นิกายคาทอลิกตลอดระยะเวลา 6 ปี ทำให้ฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาคริสต์อยู่บ่อยครั้ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save