เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร
ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชี้คดีตากใบขาดอายุความส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ
ด้านที่ปรึกษากม. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เสนอรัฐฯ ต้องนำกรณีตากใบมาถอดบทเรียน แนะทบทวนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความ และจัดตั้งคณะกรรมการชำระสะสางคดีตากใบ เพื่อหาข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์มากขึ้ัน
จากกรณี คดีตากใบที่ญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ 48 คน ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้ง 9 คน ในวันที่ 25 เม.ย. ซึ่งศาลจังหวัดนราธิวาส ได้รับฟ้องในวันที่ 23 ส.ค. ทั้งหมด 7 คน เนื่องจากอีก 2 คน มีการยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งทางตำรวจไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. ได้นั้น
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้สัมภาษณ์ว่า การที่คดีความตากใบหมดอายุความส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความไว้ใจ และความศรัทธาของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาล รวมถึงด้านความปลอดภัยในพื้นที่ ซึ่งมีผลมาจากการที่เหตุการณ์ตากใบไม่ได้รับความเป็นธรรม นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศที่อาจลดลงได้
ศรีสมภพ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งเป็นการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้มุ่งให้เกิดความรุนแรงลุกลามบานปลาย แต่เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐ โดยผลกระทบส่วนมากมักเกิดกับสถานที่หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนชาวบ้านอาจไม่ได้รับผลโดยตรง เพราะโดยปกติผู้ก่อเหตุความไม่สงบมักหลีกเลี่ยงไม่โจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน
“ถ้ารัฐบาลปัจจุบันพยายามเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีการพูดคุยและสรุปบทเรียน ก็จะสามารถลดความรู้สึกขุ่นเคืองลงได้ในระดับหนึ่ง ส่วนแนวโน้มที่จะปฏิเสธรัฐโดยสิ้นเชิง จนออกไปร่วมสู้กับฝ่ายขบวนการที่ก่อความไม่สงบก็อาจจะไม่ถึงขั้นนั้นแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐฯ” ศรีสมภพกล่าวและว่า เพราะรัฐได้มีการพูดคุยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (ฺBRN)อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบลดลงใน 3 จังหวัดลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหตุที่เกิดในปัจจุบันส่วนมากเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐ เช่น เหตุการณ์ตากใบ
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ที่ปรึกษากฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่ช่วยเหลือชาวบ้านในการดำเนินคดี ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากคดีตากใบขาดอายุความ จึงไม่สามารถทำอะไรได้ในทางกฎหมาย โจทย์สำคัญที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลคือ หลังจากนี้จะทำอย่างไรให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ จึงเสนอให้นำกรณีตากใบมาเป็นบทเรียน เพื่อทบทวนกฎหมายอาญาเรื่องอายุความ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ
อาดิลัน กล่าวว่า การบังคับใช้อายุความปกติภายใต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง อาจเป็นเหตุทำให้ที่ผ่านมาประชาชนไม่กล้ายื่นฟ้องในคดีตากใบ เนื่องจากพวกเขาไม่อยู่ในสถานะที่จะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการเรียกร้องความยุติธรรมได้ เพราะพวกเขาอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงที่เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิในการจับกุม โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลเหมือนในสถานการณ์ปกติ
อาดิลัน กล่าวว่า รัฐบาลควรจะต้องรีบประกาศเจตจำนงว่าจะทบทวนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องของอายุความ และจัดตั้งคณะกรรมการชำระสะสางเหตุการณ์ตากใบ เพราะข้อเท็จจริงจากข้อมูลชุดเก่าอาจจะคลาดเคลื่อนหรือไม่สมบูรณ์ จึงต้องการให้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วน โดยให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และจัดทำรายงานฉบับใหม่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ครบถ้วน และสมบูรณ์มากขึ้นเป็นการชดเชยคดีที่หมดอายุความไป
“สิ่งหนึ่งที่เราพยายามเรียกร้องคือเราต้องเอาคดีตากใบนี้มาเป็นบทเรียน และทำให้เห็นถึงความกล้าหาญของครอบครัวผู้สูญเสียที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม อย่าให้เขามีความรู้สึกว่าเขาสู้แล้วแต่เขาก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ได้สูญเปล่า” อาดิลันกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีการบังคับใช้ ‘กฎหมายพิเศษ’ หรือ ‘กฎหมายความมั่นคง ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศไทย ทั้งสิ้น 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) , พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เพื่อป้องกัน ควบคุม และปราบปรามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 ซึ่งกฎหมายพิเศษนี้มีข้อถกเถียงระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกได้มีการให้อำนาจฝ่ายทหารในการตรวจค้น กักตัว บุคคลที่สงสัยว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สงบไว้สอบถามได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขออำนาจศาล และไม่ต้องมีหมายศาลในการควบคุมตัว สถานที่ในการควบคุมตัวขึ้นอยู่กับการกำหนดของทหาร และไม่มีการปล่อยตัวชั่วคราว