ArticlesSocietyWritings

วัวหายล้อมคอก ไฟไหม้ฟาง กับการแก้ปัญหาของรัฐไทย 

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร

‘วัวหายล้อมคอก’ และ ‘ไฟไหม้ฟาง’

สำนวนที่เข้ากันดีกับการแก้ปัญหาในสังคมของรัฐไทย ที่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยมาคิดหาวิธีแก้ไข หรือไม่ก็ตั้งท่าจะแก้ไขแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง จนมันก็สายเกินจะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ทันท่วงที หรือบางครั้งยังทำทีว่าจะถอดบทเรียนเสียยกใหญ่ แต่ก็เป็นเพียงบทเรียนสั้นๆ ที่ไม่ได้สร้างการเรียนรู้ในระยะยาว ปล่อยไว้ไม่นานก็ลืมเลือนกันไป 

เช่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ เหตุการณ์ ‘รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้’ เป็นที่พูดถึงอย่างมาก ผู้คนต่างแสดงความเสียใจ บ้างเรียกร้องความยุติธรรมให้เด็กๆ บ้างกดดันให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยา และแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทว่าผ่านมาไม่ถึงเดือน กลับแทบไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ และแทบไม่มีใครจับตาดูการติดตามแก้ปัญหาของรัฐแล้ว

ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาสำรวจการแก้ปัญหาและคำสัญญานักการเมืองจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น เพื่อชวนจับตาดูว่าการจัดการปัญหาเรื่องรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้นี้ว่ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะเลือนหายไปเหมือนกับเหตุการณ์อื่นๆ ในอดีตหรือไม่… 

พอวัวหาย รัฐไทยค่อยล้อมคอก

“สถานการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย อยากให้ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้น สุขภาพจิตของผู้ก่อเหตุนั้นไม่ใช่ของทหารทั้งหมด และได้ให้กรมสุขภาพจิตเข้าดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมถึงนำพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุมาวิเคราะห์ว่าทำไมจึงมีพฤติกรรมรุนแรงขนาดนี้ นั่นคือหน้าที่รัฐบาลที่ต้องแก้ไขปัญหา” 

นี่คือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงกรณี ‘กราดยิงโคราช’ เมื่อปี 2563 ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นทหารและบุกเข้าไปกราดยิงในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา 

ในขณะเดียวกัน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ถึงกับน้ำตาคลอขณะกล่าวคำขอโทษต่อสิ่งที่ ‘อาชญากร’ อดีตทหารได้กระทำลงไป และกล่าวว่าจะพัฒนาระบบความปลอดภัยของคลังอาวุธให้ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังสัญญาจะปฏิรูปกองทัพ ยุติการโกงในระบบทหารซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ก่อเหตุกระทำการดังกล่าว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนคงไม่อาจทราบได้ว่ามีการพัฒนาระบบความปลอดภัยดังกล่าวจริงหรือไม่ในเขตของทหาร แต่ข่าว ‘ทหารคลั่ง’ ก็ยังคงเกิดขึ้นและถูกรายงานบนสื่ออยู่เป็นระยะ เช่น 14 กันยายน ปี 2565 จ่าสิบเอกกราดยิงเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต 2 คน และ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2566 อดีตพลทหารยิงผู้โดยสารบนรถบัส ได้รับบาดเจ็บ 2 คน นอกจากนี้ ยังไม่เห็นการปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในสมัยของ พล.อ.อภิรัชต์ และ ผบ.ทบ. สมัยต่อๆ มา 

วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายว่าเหตุกราดยิงในไทย มักเกิดกับอาชีพที่ใกล้อาวุธ เช่น ทหาร ตำรวจ เพราะการเกิดความเครียดจะแปรผันตามความรับผิดชอบและกฎระเบียบต่างๆ ในองค์กรที่ต้องปฏิบัติตาม

มันคงจะดีกว่า หากสุขภาพจิตของนายทหารและระบบความปลอดภัยฯ นั้นได้รับการใส่ใจตั้งแต่แรก ไม่ใช่รอให้เหตุเกิดแล้วจึงค่อยหันมาใส่ใจ 

อย่างไรก็ดี เหตุกราดยิงโคราชในครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศ ดังนั้นก็อาจเรียกว่าไม่แปลกสักเท่าไร (มั้ง) หากรัฐไทยยังจัดการสถานการณ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงประชาชนก็ไม่เคยเรียนรู้แนวทางการเอาตัวรอดเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน 

เหตุกราดยิงโคราชจึงเป็น ‘บทเรียน’ สำคัญที่ต้องวิเคราะห์และกระจายความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุกราดยิงต่อไป เพื่อหวังว่า ‘คอก’ ที่เพิ่งล้อมไว้จะหนาแน่นพอให้ครั้งถัดไปไม่มีวัวหลุดออกได้อีก 

แม้ในปี 2565 ทั้งกองบัญชาการกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ถอดบทเรียนเผยแพร่ไว้ใน ‘จดหมายเหตุกรณีกราดยิง ณ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จังหวัดนครราชสีมา’ แต่ดูเหมือนว่าการถอดบทเรียนก็อาจไม่ได้ผลเสมอไป… 

มาตรการซ้ำซาก หรือยากที่จะแก้ไ

หลังจากเหตุการณ์กราดยิงโคราช 2 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ ‘กราดยิงหนองบัวลำภู’ ในปี 2565 ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นนายตำรวจที่บุกเข้าไปกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน จ.หนองบัวลำภู บทเรียนจึงวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง เพราะมาตรการต่างๆ ยังคงพูดเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ 

พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ในขณะนั้นได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการควบคุมอาวุธปืน มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และการพัฒนา แก้ปัญหาสุขภาพจิตของทหาร ตำรวจ และในสถานศึกษา

เป็นเรื่องน่าคิดว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะยังเกิดขึ้นไหม หากได้รับการจัดการอย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งก่อน เพราะปัญหาต่างๆ คงถูกแก้ไขไปบ้าง มากกว่าแค่ประเด็นให้เราสนใจหรือรับรู้อยู่แค่ 1 เดือน ก่อนจะค่อยๆ จางหายไปจากสื่อ

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลผันเปลี่ยนจากรัฐบาลประยุทธ์ สู่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกฯใหม่แกะกล่องในขณะนั้น ก็ต้องรับมือและแก้ปัญหาเหตุการณ์คล้ายเดิมอีกครั้ง กับเหตุการณ์ ‘กราดยิงสยามพารากอน’ ในปี 2566 ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นเพียงเด็กชายที่แต่งกายคล้ายทหารเข้าไปก่อเหตุในห้างสรรพสินค้ากลางเมืองหลวง ก่อนที่รัฐบาลจะออกมาตรการควบคุมอาวุธปืน (อีกแล้ว) และเตรียมทำระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่าจะใช้ได้จริงช่วงกลางปี 2568 

หากลองสังเกตจะเห็นว่าแทบทุกๆ เหตุการณ์กราดยิงจะมีมาตรการซ้ำเดิมอย่างการควบคุมอาวุธปืน และมาตรการเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าในแต่ละครั้งที่กำหนดมาตรการมา อาจมีการปล่อยปะละเลยไม่ได้เร่งทำอย่างจริงจัง และไม่มีการปรับกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม 

เมื่อเป็นเช่นนั้น มาตรการต่างๆ จึงไม่ต่างอะไรกับคำพูดลอยๆ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง แต่เป็นเพียงคำพูดที่แสดงให้เห็นว่า…รัฐบาลมีมาตรการนะ แต่จะทำได้ไหม จะนานเท่าไร และจะจริงจังแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

บทเรียนใหม่ ทำอย่างไรจึงไม่ล้อมคอกและดับไฟไหม้ฟาง

ผ่านไป 1 ปีจากเหตุกราดยิงสยามพารากอน รัฐบาลเพื่อไทยเปลี่ยนผู้นำจากเศรษฐาเป็นแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ คนปัจจุบัน ที่ต้องรับมือกับเหตุการณ์ ‘รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์อีกรูปแบบที่รัฐไทยยังไม่เคยรับมืออย่างจริงจังมาก่อน และเมื่อข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้รถโดยสารยังไม่รัดกุมจึงนำไปสู่เหตุการณ์เช่นนี้ เพราะรถคันที่เกิดเหตุถูกใช้งานมากว่า 54 ปี โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ที่กำหนดขึ้น เพราะไม่สามารถย้อนไปบังคับใช้กับรถเก่าได้ 

สิ่งที่น่าสนใจจึงอยู่ที่รัฐบาลชุดนี้มีแผนจะออกมาตรการอย่างไร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

ที่จริง หลังเกิดเหตุรถบัสไฟไหม้ กระทรวงคมนาคมได้ออกมาตราการที่คล้ายจะล้อมคอกอีกแล้ว อย่างการให้รถโดยสารส่งรถที่ใช้ก๊าซ CNG เข้าตรวจสภาพรถเพื่อความปลอดภัย, ตรวจสอบรถโดยสารก่อนออกเดินทางทุกครั้ง, อบรมและทดสอบการช่วยเหลือผู้โดยสารของพนักงานขับรถและผู้ประจำรถ และแนะนำทางออกหรือวิธีเผชิญเหตุฉุกเฉินเช่นเดียวกับสายการบิน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบ ‘ผักชีโรยหน้า’ 

ทั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเสียทีเดียว นายกฯ เร่งไปจุดเกิดเหตุ และนัดประชุมเพื่อพูดคุยกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในอาทิตย์ถัดไป แต่กลับไม่ได้ตัดสินใจทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ราวกับว่าเป็นการนัดประชุมเพื่อติดตามตามวิธีการแก้ปัญหาแบบไทยๆ เพียงเท่านั้น 

หากมองเรื่องนี้ผ่านสำนวนวัวหายล้อมคอกก็ชวนให้นึกถึงการสอนเด็กๆ ให้หนีออกจากรถโดยสารที่ไฟไหม้เพียงอย่างเดียว ซึ่งในทางหนึ่งมันคือการแก้ปัญหาเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดซ้ำขึ้นอีก แต่ในอีกทางหนึ่ง ผู้เขียนคิดว่าต้องสอนเด็กๆ ให้จัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินแบบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพราะถ้ามัวแต่ล้อมคอกเรื่องรถบัสไฟไหม้ หากวันใดวันหนึ่งเกิดเหตุในลักษณะที่ต่างออกไป เด็กๆ จะไม่มีคอกอะไรล้อมพวกเขาไว้ก่อนเลย 

ในความเป็นจริง มันก็คงจะดีกว่าหากล้อมคอกไว้เสียก่อนที่วัวจะหาย หรือก่อนที่ปัญหาใดจะเกิด

อีกประการหนึ่งที่อยากชวนผู้อ่านคิดสักเล็กน้อย เหตุการณ์รถบัสไฟไหม้นั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ตอนนี้ผ่านมายังไม่ครบเดือน แต่การพูดถึงเรื่องนี้กลับน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีการอัปเดตมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลเคยพูดไว้ และกระแสการพูดถึงบนสื่อสังคมออนไลน์ก็น้อยลงแทบไม่เหลือ จนบางคนอาจลืมเหตุการณ์นี้ไปแล้ว

นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาแบบ ‘วัวหายล้อมคอก’ ยังคงอยู่ในสังคมไทย โดยปล่อยให้ ‘ไฟไหม้ฟาง’ ไปเรื่อยๆ และรัฐบาลชุดนี้จะไม่ต่างจากรัฐบาลชุดอื่นๆ เลย หากปล่อยให้การแก้ปัญหาเช่นนี้ยังดำเนินต่อไป โดยไร้ซึ่งการมองหาทางออกในระยะยาวที่ทำได้จริง ความเคร่งครัดจริงจังของกฎระเบียบ และความมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

หรืออาจเป็นเพราะการทุ่มเงินและเวลาให้เรื่องเช่นนี้ สำคัญน้อยกว่าเรื่องเศรษฐกิจและเม็ดเงินเข้าประเทศ…

อ้างอิง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (24 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าใจจิตวิทยาเรื่องการกราดยิง. เข้าถึงได้จาก chula: https://www.chula.ac.th/cuinside/27633/

Thai PBS Digital Media. (8 กุมภาพันธ์ 2567). 4 ปี เหตุการณ์กราดยิงโคราช กับการถอดบทเรียน จนอยากถอดใจ ?. เข้าถึงได้จาก thaipbs: https://www.thaipbs.or.th/now/content/787

เอกรินทร์ บำรุงภักดิ์. (6 พฤศจิกายน 2565). กราดยิงหนองบัวลำภู : ครบรอบ 1 เดือน รัฐออกมาตรการอะไรแล้วบ้าง. เข้าถึงได้จาก bbc: https://www.bbc.com/thai/thailand-63515960

ชัยยศ ยงค์เจริญชัย. (7 ตุลาคม 2565). กราดยิง : เครียดสะสมกับเข้าถึงอาวุธง่าย ปัจจัยสู่เหตุสลด. เข้าถึงได้จาก bbc: https://www.bbc.com/thai/articles/c9rkxlp6lnko

Bangkokbiznews. (4 ตุลาคม 2566). นายก อุ๊งอิ๊ง บิ๊กพารากอน ยืนไว้อาลัยเหตุกราดยิง ย้ำคุมเข้มความปลอดภัย. เข้าถึงได้จาก bangkokbiznews: https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1092002#google_vignette

ผู้จัดการออนไลน์. (5 ตุลาคม 2566). “ระบบ SMS เตือนภัย” ไม่พอ บทเรียนกราดยิง ต้องออกกฎหมาย-ซักซ้อมประชาชน. เข้าถึงได้จาก mgronline: https://mgronline.com/live/detail/9660000089996

Thai PBS. (2 ตุลาคม 2567). “คมนาคม” สั่งเรียกตรวจรถโดยสาร 13,426 คัน ไม่ผ่านไม่​ให้ใช้งาน. เข้าถึงได้จาก thaipbs: https://www.thaipbs.or.th/news/content/344865

The Matter. (12 กันยายน 2567). ‘ระบบเตือนภัย’ ไปถึงไหนแล้ว? น้ำท่วม ไฟไหม้ กราดยิง เมื่อชีวิตคนไทยยังไม่ปลอดภัยสักที. เข้าถึงได้จาก thematter: https://thematter.co/brief/231302/231302

BBC. (2 ตุลาคม 2567). ไร้ safety culture-ผู้ขับขี่ความรู้น้อย-ผู้คุมกฎทุจริต ส่องสาเหตุเบื้องหลังทำไทยติด TOP 10 คนตายบนถนนเยอะสุดในโลก. เข้าถึงได้จาก bbc: https://www.bbc.com/thai/articles/c3wp5ge9dnzo

ฐานเศรษฐกิจ. (3 ตุลาคม 2567). เปิดสถิติ “รถบัสไฟไหม้” พบ 1 ปี 4 เดือน เกิดแล้ว 4 ครั้ง. เข้าถึงได้จาก thansettakij: https://www.thansettakij.com/news/general-news/608348

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (20 มกราคม 2565). จดหมายเหตุกรณีกราดยิง ณ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จังหวัดนครราชสีมา. เข้าถึงได้จาก nat: https://www.nat.go.th/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94/ArticleId/945/terminal21

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

หลอดไฟในดงไม้ แสงสว่างที่ระบบนิเวศไม่ต้องการ

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ในเมืองกรุงอันแสนกว้างใหญ่ แม้จะเป็นเวลากลางคืนที่ฟ้ามืดสนิท แสงจากไฟถนนและตึกยังคงส่องสว่างเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ และในเมืองที่ไม่มีวันดับแสงนี้ การจะเห็นดาวที่ลอยอยู่เต็มผืนฟ้าช่างยากเหลือเกิน แม้แสงไฟจะเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่ไม่ใช่ทุกที่จะเหมาะสมกับความสว่างไสวนี้ ...

Articles

 I’m cringe but I’m free สะเหล่อแล้วไง ไม่แคร์แล้วกัน

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี “โอ้ยยย ทำไมตอนนั้นสะเหล่อจัง” ความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวขณะที่ล้มตัวลงนอนหลับตาเตรียมฝันดี แต่สมองไม่รักดีกลับขุดภาพความทรงจำอันน่าอับอายขึ้นมาฉาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เล่นมุกแล้วคนทั้งห้องกริบ ทักคนผิดเพราะนึกว่าเป็นเพื่อนตัวเอง ส่งข้อความหาคนที่ชอบเขาอ่านแต่ไม่ตอบ ...

Articles

ต้องอายุเท่าไหร่ ถึงควรจะประสบความสำเร็จ?: ชวนสำรวจนิยามความสำเร็จผ่านตัวละครหลักหลากวัยจาก Only murders in the building

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ คุณเคยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองว่างเปล่าหรือไร้ค่าบ้างไหม? คุณเคยรู้สึกเจ็บช้ำจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าบ้างหรือเปล่า? คุณเคยมองความสำเร็จของคนอื่นแล้วถามตัวเองหรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่? หากคุณเคยรู้สึกหรือเคยถามตัวเองแบบนั้น คุณอาจเป็นเหมือนสามตัวละครหลักจาก Only murders in the ...

Articles

ผม (ไม่) เคย เฉยชากับความตาย

เรื่องและภาพประภาพ: Amphea Warning : บทความชิ้นนี้มีการพูดถึงเนื้อหาของการพยายามอัตวินิบาตกรรมและการสูญเสียของคนใกล้ตัว โปรดอ่านอย่างระวัง ‘อาม่า’ ของผมเสียไปตั้งแต่ตอนที่ผมอยู่ในวัยประถม แม้ช่วงบั้นปลายชีวิต เธอจะเริ่มหลงลืมลูกหลานและอารมณ์รุนแรงไปบ้าง แต่สำหรับลูกทั้ง 8 คนแล้ว เธอยังคงเป็นคนที่ทุกคนในครอบครัวรักมากที่สุดคนหนึ่ง ส่วนผมนั้นไม่ได้มีความทรงจำเกี่ยวกับอาม่ามากนัก ...

Articles

ออกเดินทางมาแล้วแต่ยังไกลจุดหมาย : ตอนนี้ Universal Design พาคนพิการเดินทางไปได้เท่าไหนในไทย

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้วที่คนพิการต้องเรียกร้องสิทธิต่างๆ ทั้งในประเด็นสิทธิในการเข้าทำงาน มุมมองด้านลบที่คนพิการเคยถูกมองว่าไม่มีความสามารถ หรือเคยทำกรรมไว้จึงพิการ และปัญหาความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขาหลังจากที่ต้องสูญเสียทักษะบางอย่างไป การเดินทางเองก็เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ที่คนพิการต้องพบเจอและมีการเรียกร้องมาเป็นเวลานาน จนมีกฎหมายเกี่ยวกับ Universal Design ...

Articles

โลกกำลังจะแตก เรายังควรแย่งวัฒนธรรมกันอยู่ไหม?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ชัยชนะของพรรคฝ่ายขวาในหลายประเทศทำให้เห็นการกลับมาของแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน ด้านประเทศไทยเองถึงแม้กลุ่มที่นิยามตนเองว่า ‘หัวก้าวหน้า (Progressive)’ ซึ่งเป็นแนวคิดการเมืองแบบฝั่งซ้ายจะเริ่มมีพื้นที่และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทว่าหากพิจารณาตามจุดประสงค์ของการเกิดกลุ่มแนวคิดนี้ ก็อาจยังไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจและความต้องการต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะหากประเทศไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนหัวก้าวหน้าจริงเราคงไม่ได้เห็นคนในสื่อสังคมออนไลน์ตบตีแย่งชิงวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน “รักกันไว้เถิด ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save