เรื่อง : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร
ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี
ผอ. กองนโยบายภาษีชี้หนี้ครัวเรือนไทยเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมและค่านิยมในสังคม ทำให้ประชาชนใช้จ่ายเกินตัว แนะรัฐฯ ปฏิรูปโครงสร้างตั้งแต่ระบบการศึกษาเพื่อสร้างทักษะติดตัวประชาชน เพราะดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ปัณณ์ อนันอภิบุตร ผู้อำนวยการกองนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ทั้งหนี้รถและสินเชื่อบ้าน แม้ปัจจุบันจะลดลง แต่หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเติบโต ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมในสื่อต่างๆ เช่น การมีโพรโมชันส่วนลด หรือการดาวน์น้อยผ่อนนาน และค่านิยมในสังคมที่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อทั้งที่ไม่มีความจำเป็นในการใช้จ่าย เช่น หนี้รถของอาชีพครูในต่างจังหวัด ที่ต้องการซื้อรถยนต์เพื่อให้รู้สึกมีเกียรติ สามารถเชิดหน้าชูตาในสังคมได้
ปัณณ์กล่าวว่าการที่ชาวไทยมีหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงถึงร้อยละ 90 ส่งผลต่อประเทศในแง่ระบบเศรษฐกิจ โดยหากประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอจะไม่ใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน ในแง่ของจิตวิทยา ความกังวลในการเป็นหนี้ทำให้ขวัญกำลังใจในการทำงานลดลง และในด้านการลงทุนพบว่ามีหนี้เพื่อการลงทุนเพียง 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด จึงไม่เกิดการสร้างรายได้ ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีในการลงทุนลดลง กลไกของระบบเศรษฐกิจจึงทำไม่ได้ตามปกติ
ปัณณ์กล่าวว่าแนวทางแก้ปัญหาที่รัฐบาลนิยมทำเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เช่น การพักหนี้ การลดดอกเบี้ย แต่สิ่งที่รัฐฯ ควรทำคือหาทางเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน เช่น ให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนมีทักษะใหม่ๆ เพื่อนำไปลงทุนหรือสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง “การมีหนี้เป็นธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจ หากอยากให้หนี้ลดก็ต้องไปสร้างรายได้ การพักหนี้อาจทำให้เกิดภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) คือการจูงใจให้คนมีพฤติกรรมที่ไม่ถูก เช่น หากเราเป็นหนี้แล้วจ่ายหนี้ตามปกติก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐฯ แต่หากมีคนที่เบี้ยวหนี้ ไม่ยอมจ่าย แล้วรัฐฯ มาช่วยพักหนี้ ก็จะไม่มีใครที่อยากจ่ายหนี้อย่างถูกต้อง”
ปัณณ์กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐฯ มีการแจกเงินหมื่นตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น เปรียบเสมือนยาแก้ปวดที่บรรเทาได้ชั่วคราว เพราะประชาชนส่วนใหญ่นำเงินไปซื้อของเพื่ออุปโภคบริโภค ไม่ได้นำเงินไปใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ จึงไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ต้องปฏิรูปตั้งแต่โครงสร้างให้ตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น จูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน และเน้นไปที่การศึกษาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและตอบสนองกับความต้องการของโลก
พรวริน ตรีสุวรรณ แม่ค้าขายเครื่องดื่มในตลาดห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าแม้จะมีคนมาเดินตลาดจำนวนมาก แต่รายได้กลับลดลง เพราะมีคนเดินแต่ไม่มีคนซื้อ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แม้จะมีประชากรบางส่วนที่ได้เงินหมื่นจากรัฐฯ ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก็นำเงินไปใช้หนี้หรือเก็บออมกันหมด
พรวรินกล่าวว่าคนที่มีเงินลงทุนในการทำธุรกิจหรือเปิดร้านต่างๆ มักเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนคนไทยในตลาดไม่มีเงินพอที่จะกล้ารับมือกับความเสี่ยงในการลงทุน อีกทั้งการที่รัฐฯ ให้ยกเลิกหาบเร่แผงลอย ทำให้ประชาชนไม่มีช่องทางในการหารายได้ จึงไม่มีเงินพอที่จะจ่ายหนี้สิน “เราได้เงินหนึ่งหมื่นมาก็นำไปจ่ายค่าหนี้จนหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไปขายของไม่ได้ ก็ต้องกลับไปกู้เงินมาอีกเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน วนซ้ำไปมาจนไม่มีเงินเก็บ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าหนี้ครัวเรือนในแต่ละกลุ่มระดับรายได้มีความสามารถในการรับมือกับภาระหนี้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในระดับภาพใหญ่ของประเทศ จึงไม่อาจสะท้อนว่าภาระหนี้สินและปัญหาการชำระหนี้ในระดับครัวเรือนจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามในทันที เพราะแม้ว่าหลายครัวเรือนจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องและดูแลภาระหนี้สินที่มีอยู่ได้ แต่ก็มีอีกหลายครัวเรือนเช่นกันที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง สถานะทางการเงินเริ่มมีความเปราะบาง เพราะไม่สามารถจ่ายภาระหนี้ได้
.
อ้างอิง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (16 ตุลาคม 2024). หนี้ครัวเรือนปี 2567 อาจชะลอลงมาที่ 88.5-89.5% ต่อจีดีพี. เข้าถึงได้จาก kasikornresearch: https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/HouseholdDebt-CIS3524-FB-16-10-24.aspx