เรื่อง: สาธิต สูติปัญญา
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารที่เมียนมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีกลุ่มคนมากมาย ทั้งหมอ พยาบาล นักกฎหมาย ดารา นักศึกษาและชาวเมียนมากลุ่มอื่น ๆ ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย ประณามการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร
เมื่อนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับบริบทของการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ‘คณะราษฎร 2563’ ก็อาจเป็นหนึ่งชื่อที่โผล่ขึ้นมาในความคิดของหลาย ๆ คน
แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ ‘คณะราษฎร 2563’ และ ‘ประชาชนชาวเมียนมาส่วนใหญ่’ ต้องออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ
หนึ่งในปัจจัยที่น่าสนใจคือ มุมมองของผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มต่อคำว่า ‘ชาติ’
ตามข้อเสนอของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา และเจ้าของผลงานเรื่อง ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม เสนอแนวคิดไว้ว่า ชาติคือชุมชนจินตกรรมทางการเมือง ที่ ‘จิตกร’ จิตกรรมขึ้น โดยจิตกรได้สร้างบางสิ่งบางอย่างไว้เพื่อยึดเหนี่ยวให้กลุ่มคนในชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อย่างไรก็ตามนิยามของชาติ สามารถลื่นไหลไปตามบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อวิเคราะห์มุมมองของคณะราษฎร 2563 ที่มีต่อ ‘ชาติ’ อาจกล่าวได้ว่าคณะราษฎรฯ มองชาติออกเป็นสองแบบ หนึ่งพวกเขามองว่าตนเองเป็นเจ้าของชาติ และเนื่องจากสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของชาติ ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นเจ้าของทั้งสองสถาบันด้วย เหตุผลดังกล่าวก่อให้เกิดสำนึกใหม่ของความเป็นชาติ
แต่เดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่าชาติถูกผูกติดไว้กับการใช้ภาษาไทยและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแกนกลางเท่านั้น
ดังนั้นหนึ่งในการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 2563 จึงเป็นการพยายามทำให้ชาติกลายมาเป็น ‘สมบัติส่วนรวม’ ของทุกคน โดยเราทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถาบันเหล่านั้น
สถาบันที่ทุกคนเป็นเจ้าของ
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ม็อบ 25 พฤศจิกายน 2563’ ที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มราษฎรต้องการคัดค้านการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วน ‘พระองค์’
การเปลี่ยนแปลงข้างต้นกินความไปถึง ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์และการถือหุ้นต่างๆ จะถูกเปลี่ยนผู้ดูแลจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ไปเป็นพระปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลที่10 ซึ่งเหล่านี้คณะราษฎรอาจมองว่าเป็นการนำทรัพย์สินที่ควรเป็นสาธารณะสมบัติไปจากประชาชน
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะราษฎรต้องการทวงคืน ‘สมบัติของชาติ’ คืน
ข้อถัดมา คณะราษฎรอาจมองว่าชาติคือเสรีนิยมประชาธิปไตย สังเกตได้จากข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของการชุมนุม เช่น การเรียกร้องให้รัฐหยุดคุกคามประชาชนที่ออกไปแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างชอบธรรม หรือการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายบางมาตราที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านการ ‘เลือกตีความ’ ตัวบทกฎหมายของเนติบริกร เช่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นต้น
ขณะเดียวกันถ้าพูดถึงบริบทของเมียนมา มีความเป็นไปได้ที่ผู้ชุมนุมอาจมองว่า ‘ชาติ’ เท่ากับประชาธิปไตย ซึ่งนิยามของประชาธิปไตยในมุมมองของผู้ชุมนุม สามารถตีความได้ว่าคือ เสรีภาพในการใช้ชีวิต เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่าตอนที่พวกเขาถูกปกครองแบบกดขี่จากผู้นำทหาร รวมทั้งชาติอาจกินความกว้างไปถึง ‘นางอองซาน ซูจี’
การที่ผู้นำทหารจับตัวนางอองซาน ซูจี ด้วยข้อหา ‘สิ้นคิด’ เพื่อก่อการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นข้อหาการละเมิดกฎหมายนำเข้า-ส่งออกและครอบครองอุปกรณ์สื่อสาร (walkie-talkie) อย่างผิดกฎหมาย หรือข้อหาจากการหาเสียงช่วงเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่กองทัพระบุว่าการหาเสียงของนางอองซาน ซูจีละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19
คำถามที่น่านำมาคิดต่อก็คือการพกอุปกรณ์สื่อสารของผู้นำประเทศเป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่ และในช่วงก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองพรรคอื่น ๆ รวมถึงพรรคการเมืองฝั่งกองทัพไม่ได้ออกไปหาเสียงเลยใช่ไหม หรือมีเพียงพรรคของนางอองซาน ซูจีพรรคเดียวที่ออกไปทำกิจกรรมดังกล่าว
เมื่อมองในภาพรวมแล้วการจับตัวนางอองซาน ซูจีด้วยข้อหาเหล่านี้อาจถือได้ว่าเป็นการ ‘ทำลายชาติ’ ในมุมมองของผู้ชุมนุม และจึงไม่น่าแปลกใจที่มีกลุ่มคนหลายกลุ่มออกไปเรียกร้อง ‘ชาติ’ ของพวกเขาคืน
อย่างไรก็ตาม อดีตนักศึกษาด้านการสื่อสารมวลชนภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเขียนและหนึ่งในผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยชาวเมียนมาอย่าง Chit Hnin Aye ให้สัมภาษณ์โดยตรงกับผู้เขียนเกี่ยวกับความคิดเห็นในการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ว่า
คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาตอนนี้มองว่านางอองซาน ซูจีและพรรคสันนิบาตแห่งชาติ เพื่อประชาธิปไตย (NLD) เป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่งของประชาธิปไตยเท่านั้น พวกเราไม่ได้ออกมาประท้วงเพราะบุคคลใด บุคคลหนึ่ง เหตุผลหลักที่พวกเราออกมาประท้วง คือต้องการประชาธิปไตยของพวกเราคืน และพวกเราไม่ต้องการกลับไปอยู่จุดเดิม จุดที่ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงภายใต้ผู้นำทหารอีกแล้ว
เมื่อเปรียบเทียบจากบริบทการเรียกร้องประชาธิปไตยของทั้งไทยและเมียนมาแล้ว สิ่งที่คล้ายกันและถือเป็นพลังในการขับเคลื่อนการชุมนุมของทั้งสองกลุ่มคือ ความต้องการที่อยากให้ประเทศพัฒนามากขึ้น ความต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และความต้องการมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต โดยไม่ต้องหวาดระแวงอำนาจที่ไม่ชอบธรรมใด ๆ
สิ่งเดียวที่พอจะเป็นเข็มทิศนำทาง ให้ไปถึง ‘แสงสว่าง’ ปลายอุโมงค์ได้ คงหนีไม่พ้นการสร้างนิยามให้ชาติและประชาธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างแท้จริง