เรื่องและภาพ : สาธิต สูติปัญญา
“พวกเขาคุ้นเคยกับการรับน้องที่มันห้าว การรับน้องที่มีความรุนแรง มีความตลก มีการลดทอนความเป็นมนุษย์ เอาสีไปสาด ทั้งหมดมันเกิดขึ้นในคณะที่เรียนเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คณะที่ว่ากันว่าก้าวหน้าที่สุด”
คือคำพูดของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์แห่งหนึ่ง คณะที่สอนเรื่องหลักการประชาธิปไตย คณะที่พร่ำสอนว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน อธิบายให้เห็นถึงภาพการรับน้องที่เขาเคยเข้าร่วม และเคยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมดังกล่าว
น่าสนใจว่าภายใต้ภาพของกิจกรรมการรับน้องในลักษณะข้างต้น นักศึกษารายนี้แสดงให้เราเห็นว่า เบื้องหลังคือระบบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ ‘ตัวละคร’ มากมายไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา อาจารย์ ผู้บริหาร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ล้วนมีส่วนทำให้ระบบดังกล่าวยังคงไม่หายไปเสียที
Trigger Warning :
รูปภาพและเนื้อหาในรายงานพิเศษชิ้นนี้กล่าวถึงระบบการรับน้องแบบ ‘SOTUS’ และ Sexual Harrasment
ระบบโต๊ะ
นักศึกษารัฐศาสตร์รายนี้เล่าว่า ในอดีตระบบโต๊ะของคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของเขา เกิดจากการรวมกลุ่มกันจากรุ่นพี่หรือกลุ่มเพื่อนที่สนิท เนื่องจากสมัยปีหนึ่งเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยยังไม่รู้จักใคร ดังนั้นเมื่อเจอเพื่อนที่ถูกใจก็จะชวนกันมาเรียนแบบเป็นกลุ่มและคบกันไปจนเรียนจบ แต่หลังจากเวลาผ่านไประบบโต๊ะที่เกิดจากความรักใคร่ ความสนิทสนมกลับกลายไปเป็นเหมือนสถาบันสถาบันหนึ่งในคณะรัฐศาสตร์ เริ่มมีการจัดกิจกรรมเอง มีการเก็บเงิน มีระเบียบ มีวัฒนธรรม มีตำแหน่ง ทั้งหมดเริ่มกลายเป็นเรื่องที่มีความจริงจังขึ้นมา

“กิจกรรมของโต๊ะสืบทอดมาเรื่อย ๆ วัฒนธรรมไหนที่รุ่นพี่เคยสร้างไว้ รุ่นน้องจำเป็นต้องสานต่อ ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมแบบรัฐศาสตร์ ช่วงเวลานั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีเศษหลงเหลือ รุ่นพี่ที่ซีเนียร์ (อาวุโส) มาก ๆ พวกเขามีอำนาจในการสั่งรุ่นน้องสูงมาก”
วัฒนธรรม ‘โต๊ะ’
นักศึกษารายนี้เล่าว่า ผัดมาม่าคือหนึ่งในวัฒนธรรมหรือกิจกรรมที่ทำสืบต่อกันมาของโต๊ะในงานรับน้อง โดยรุ่นพี่จะให้ผู้ชาย-ผู้หญิงปิดตา จากนั้นจะให้ผู้ชายนอนถอดเสื้ออยู่ริมทะเล แล้วรุ่นพี่ก็จะสั่งให้ฝ่ายหญิงเอามาม่า ฝอยทอง หรือขนมใดก็ได้มาโรยบนตัวฝ่ายชาย ต่อมารุ่นพี่จะให้ฝ่ายหญิงไต่ขึ้นไปบนตัวนักศึกษาชาย ขณะเดียวกันรุ่นพี่จะคอยแกล้งผู้ร่วมกิจกรรมโดยการนำน้ำเปล่าหรือน้ำหวานค่อย ๆ หยดใส่ผู้ร่วมกิจกรรมทั้งชายและหญิงเพื่อให้ตัวชุ่มน้ำ อย่างไรก็ตามกิจกรรมดังกล่าวหายไปประมาณ 2-3 ปีแล้วเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการต่อสู้เรียกร้องของนักศึกษารุ่นใหม่

นักศึกษารัฐศาสตร์อธิบายเพิ่มว่า มีกิจกรรมอีกหนึ่งอย่างที่ทำต่อกันมา คือตอนกลางคืนรุ่นพี่จะให้ผู้หญิงกับผู้ชายแยกกัน ต่อมารุ่นพี่จะให้กลุ่มผู้หญิงขึ้นไปด้านบนหอประชุม ส่วนผู้ชายจะรออยู่ด้านนอก จากนั้นรุ่นพี่จะรันคิวบอกให้ผู้ชายที่อยู่ด้านนอกค่อย ๆ เข้าไปในห้องที่มีผู้หญิงทีละคนเพื่อไปเลือกทำความรู้จักผู้หญิงที่พวกเขาอยากรู้จัก หลังจากเลือกเสร็จ แต่ละคู่ก็จะต้องมาต่อแถวเหมือนขบวนรถไฟ โดยหลังจากจับคู่แล้วรุ่นพี่จะให้ชาย-หญิงแต่ละคู่ทำความรู้จักกันโดยการหอมแก้มหรือการปะแป้ง ซึ่งกิจกรรมนี้มุ่งทำให้นักศึกษาปีหนึ่งรู้จักกันอย่างเร็วที่สุดภายในหนึ่งคืน น่าสนใจว่าเมื่อไม่นานมานี้นักศึกษาหลายคนก็ออกมาวิจารณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่ากิจกรรมนี้เป็นการคุกคามทางเพศ

“ทุก ๆ ปีจะเริ่มมีรุ่นพี่ทักไลน์มาถามว่าใครเป็นแกนรุ่น จะเริ่มมีคำสั่งว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้ ทำไมไม่จัดกิจกรรมนั้น แล้วพี่คนนี้ทำไมไม่เชิญ เราพยายามยกเลิกกิจกรรมที่เป็นโซตัสทั้งหมดในปีเรา รุ่นพี่ก็มาถามเราทันทีว่าทำไมไม่มีกิจกรรมอย่างที่เขาคุ้นเคย เราก็ตอบไปว่ามันไม่ได้ มันไม่โอเค เราอธิบายให้พี่เขาเข้าใจว่าระบบโต๊ะมันเริ่มมีปัญหา เริ่มมีคนตั้งคำถามมากขึ้น การที่เรายกเลิกระบบโซตัส หรือการเลิกบังคับน้องให้ทำกิจกรรมพวกนั้น มันเป็นวิธีที่จะช่วยทำให้ระบบโต๊ะมันยังดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างสง่างาม ซึ่งพวกเขาก็ไม่พอใจ” นักศึกษารายนี้อธิบาย
เครือข่ายอำนาจนิยม
นักศึกษารัฐศาสตร์รายนี้เล่าว่า เขามั่นใจว่าอาจารย์ในคณะก็ทราบถึงกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากอาจารย์ส่วนหนึ่งเป็นศิษย์เก่าของคณะ ดังนั้นอาจเคยผ่านกิจกรรมเหล่านี้มาก่อนและอาจารย์ที่อยู่ฝ่ายการนักศึกษาก็รู้จักและสนิทกับนักศึกษาหลายคน ทว่าอาจารย์บางส่วนก็เลือกที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องและมองว่าทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของตัวนักศึกษา
“เราคิดว่าอาจารย์เองก็รู้สึกเกรงใจนักศึกษาบางกลุ่มมาก ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นคนจัดกิจกรรมอย่างกลุ่มเซอร์เวย์ ทุกคนในคณะจะรู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างรุ่นพี่ที่มีอำนาจบารมีในสังคมกับอาจารย์ในคณะ”
นักศึกษารัฐศาสตร์รายนี้เล่าเพิ่มเติมว่ากลุ่มเซอร์เวย์เป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังงานใหญ่ ๆ ของคณะทั้งสิ้น และจะเป็นคนจัดการงบประมาณต่าง ๆ อย่างงานรับน้องใหญ่ของคณะ ซึ่งเป็นงานแบบทางการ มีทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม

นักศึกษารายนี้อธิบายว่า รุ่นพี่ที่เรียนจบไปและทำงานเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเคยเป็นสมาชิกกลุ่มเซอร์เวย์และสังกัดโต๊ะบางโต๊ะ เขาจะรักกันมาก ทุกครั้งที่มีกิจกรรมรับน้อง โต๊ะบางโต๊ะก็จะมีพื้นที่เฉพาะที่มักไปจัดกิจกรรมอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น เพชรบุรี ระยอง นครนายก เนื่องจากต้องการให้รุ่นพี่เหล่านั้นมาร่วมงานได้ และเก็บเงินค่าเข้าร่วมจากรุ่นพี่ บางครั้งกลุ่มเซอร์เวย์ก็จะส่งเรื่องขอที่พักจากรุ่นพี่ที่เป็นคนใหญ่คนโตในพื้นที่นั้น ๆ แล้วบ่อยครั้งก็จะได้ที่พักมา
กลุ่มเซอร์เวย์
นักศึกษารายนี้เล่าว่า กลุ่มเซอร์เวย์เป็นกลุ่มพี่ว้ากและพี่สันทนาการในเวลาเดียวกัน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดมารุ่นต่อรุ่น วิธีการเลือกคือรุ่นพี่จะชี้นิ้วเลือกรุ่นน้องที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นทายาท โดยกลุ่มเซอร์เวย์จะต้องหัดร้องเพลงคณะ ท่องกลอนของคณะเพื่อนำไปสอนรุ่นน้อง และภายในกลุ่มก็จะมีการลงโทษกันเอง เช่น ลุกนั่ง วิดพื้น หรือวิ่งรอบสนามโดยรุ่นพี่ที่มีความอาวุโสกว่าอีกขั้น ในกรณีที่พวกเขาทำให้รุ่นน้องที่ร่วมกิจกรรมเหนื่อยหรือบาดเจ็บ น่าสนใจว่าอาจารย์หลายท่านรักกลุ่มนี้มาก เนื่องจากเป็นตัวเชื่อมรุ่นพี่ที่จบไปแล้วกับคณะอย่างที่กล่าวไป
“ผู้ว่าฯ และนายอำเภอหลายคนก็เคยเป็นเซอร์เวย์มาก่อน กลุ่มนี้เลยมีอำนาจมาก ยกตัวอย่างเช่น งานใหญ่ ๆ ของคณะหลายงาน ตัวคณะเองไม่มีงบฯ ในการจัดหรอก ดังนั้นกลุ่มเซอร์เวย์ก็จะเป็นคนหางบประมาณให้ กลุ่มนี้ก็จะไปดีล (deal) กับรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว ไปดีลกับผู้ว่าแต่ละจังหวัดที่รู้จัก เช่น ไปขอเงินหรือที่พักอย่างที่เล่าไป เซอร์เวย์ที่จบไปแล้วเขาอินมากเลยนะจากที่เราเคยเห็น ผู้ว่าฯ ที่เคยเป็นเซอร์เวย์เขามางานรับน้อง เขานั่งร้องไห้แล้วพูดว่า จบงานแล้วเดี๋ยวไปกินเหล้ากับพี่นะ”
นักศึกษารัฐศาสตร์รายนี้เล่าเพิ่มเติมว่า เหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมอาจารย์ไม่สั่งยกเลิกหรือลงโทษคนที่จัดกิจกรรมรับน้องแบบนี้ เพราะถ้าอาจารย์เข้าไปจัดการ งบประมาณที่เคยได้พื่อที่จะนำไปจัดงานที่เป็นทางการหลาย ๆ งานของคณะก็จะหายไป ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจจะกระทบกับความสัมพันธ์ส่วนตัวของอาจารย์
“หลาย ๆ ตัวละครในคณะ โดยเฉพาะอาจารย์มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรุ่นพี่ที่มีอำนาจในสังคม และอาจารย์บางท่านก็เรียนจบรุ่นเดียวกันกับเหล่าคนใหญ่คนโต จนส่งผลให้การขยับตัววิจารณ์หรือเทกแอคชันอะไรเป็นไปได้ยาก ถ้ามองจากมุมนี้ ทั้งหมดอาจเป็นรากของสาเหตุว่าทำไมคณะรัฐศาสตร์ที่นี่มีอาจารย์แสดงความเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะน้อยมาก ผู้บริหารจริง ๆ จะเงียบมาก คณบดีคนปัจจุบันก็เคยเป็นศิษย์เก่าและก็เคยเป็นอาจารย์ที่นี่มาก่อน เขากลับไม่เทกแอคชันช่วยนักศึกษาเลย เวลามีลงชื่อเรียกร้องอะไรในคณะก็มีอาจารย์ลงชื่อกันอยู่สามคน”
นักศึกษารัฐศาสตร์อธิบายเพิ่มว่าระบบโซตัส ระบบพี่ว้าก หล่อหลอมวัฒนธรรมอำนาจนิยมให้ผูกขาดไว้กับลำดับชั้นและความอาวุโสแทนการใช้เหตุและผล โดยยิ่งเหตุการณ์ทั้งหมดทำผ่านกิจกรรมในคณะ ทำผ่านระบบ ทำผ่านเครือข่ายแล้ว สุดท้ายคนตัวเล็ก ๆ จะไม่กล้าส่งเสียงใด โดยเฉพาะอาจารย์ในคณะที่มีหน้าที่การงานผูกติดอยู่กับตำแหน่งทางวิชาการ “เคยมีเล่าเหมือนกันว่าอาจารย์ที่ไม่กล้าลงชื่อในแถลงการณ์ใด ๆ ทางการเมืองส่วนหนึ่งเพราะเกรงใจผู้ใหญ่ ถ้าวัฒนธรรมโซตัส วัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบนี้มันหายไป เหตุการณ์แบบนี้อาจไม่เกิดขึ้น”

ด้านนักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ระบบอำนาจนิยมหรือระบบโซตัสในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ที่เขาศึกษาอยู่ ไม่รุนแรงมากนักแต่ก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมากจะเกิดขึ้นในชมรมกีฬาของคณะ ซึ่งรุ่นพี่ที่ทำหน้าที่ว้ากรุ่นน้องนักกีฬามีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มเซอร์เวย์อย่างมาก
สิ่งที่พี่กลุ่มนี้มักปฏิบัติเป็นประจำ คือ การกดดันหรือลงโทษน้องนักกีฬาที่มาซ้อมช้า ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้รุ่นน้องนอนกลิ้งกับโคลน วิ่งรอบสนามตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึง 9 โมงเช้า หรือวิดพื้น อย่างไรก็ตามเมื่อปีก่อน ๆ เหตุการณ์โซตัสเหล่านี้ค่อนข้างรุนแรงมาก แต่ในปีของเขาระบบดังกล่าวเบาบางลง
“ในปีผมเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีวันซ้อมกีฬาวันหนึ่ง พี่พวกนี้พานักกีฬาไปซ้อมที่ค่ายทหาร อยู่ดี ๆ พวกพี่เขาบอกให้พวกผมหยุดซ้อมและยืนเคารพธงชาติ แต่ผมไม่ยอมทำตามคำสั่ง ผมต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าผมจะไม่ยอมรับการใช้อำนาจเผด็จการแบบนี้จากรุ่นพี่แล้ว ผมจึงยืนนิ่งและชูสามนิ้ว จากนั้นพี่เขาสั่งให้ผมเอามือลง แต่ผมไม่เอาลง หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปพวกพี่เขาพยายามกดดันให้ผมออกจากชมรม ผ่านการพูดจากระทบกับจิตใจผม เสียดสีผม แต่ดีที่ยังไม่มีพฤติกรรมทำร้ายร่างกาย ภายหลังอาจารย์ในคณะก็รับรู้เหตุการณ์ในวันนั้น อาจารย์จึงเรียกรุ่นพี่ชมรมกีฬา และสมาชิกชมรมกีฬาในรุ่นผมเข้าไปคุยเพื่อหาข้อยุติ สุดท้ายรุ่นพี่เหล่านั้นก็สัญญาว่าจะปรับปรุงวิธีการฝึกความอดทนและระเบียบวินัยของรุ่นน้องให้เบาลง”
วัฒนธรรมพรรคพวก กับกลุ่มเซอร์เวย์
นายณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มหาวิทยาลัยวอร์ริก ประเทศอังกฤษ อธิบายถึงข้อสันนิษฐานทางจิตวิทยาที่สำคัญจากงานวิจัยเรื่อง ‘Pain as social glue: shared pain increases cooperation’ ผ่านหนังสือ ‘THE WHYS OF LIFE ชีวิตต้องสงสัย’ (2564) ว่า คนที่เคยผ่านความเจ็บปวดแบบเดียวกัน (อย่างเช่นกลุ่มนักศึกษาและพี่ว้ากที่ผ่านระบบโซตัสมาด้วยกัน) แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันเลย แต่พวกเขาจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และพวกเขาจะมั่นใจว่ากลุ่มคนที่เคยผ่านความเจ็บปวดแบบเดียวกันนี้จะไม่มีทางหักหลังสมาชิกในกลุ่มแน่นอน
ในหนังสือเล่าถึงการทดลองในงานวิจัย ‘Pain as social glue: shared pain increases cooperation’ของนักวิจัยชาวออสเตรเลียสามคน เพื่อทดสอบสมมติฐานข้างต้น โดยเริ่มจากแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้อยู่เฉย ๆ และกลุ่มที่สองให้นำมือลงไปแช่ในถังน้ำแข็ง ต่อมาให้กินพริกสดที่เผ็ดมาก ๆ พร้อมกัน
จากนั้นนำคนทั้งสองกลุ่มนี้มาเล่นเกมทางเศรษฐศาสตร์อย่าง prisoner’s dilemma เป็นเกมที่ให้แต่ละคนตัดสินใจว่าจะร่วมมือเพื่อแชร์ผลประโยชน์ร่วมกัน หรือหักหลังกันเพื่อแย่งชิงเงินรางวัลไว้เพียงคนเดียว จากการทดลองนักวิจัยทั้งสามพบว่ากลุ่มคนกลุ่มที่สองมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันเล่นเกมเพื่อแชร์ผลประโยชน์กันมากกว่ากลุ่มแรก
นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมรายนี้อธิบายเพิ่มเติมในหนังสือของเขาว่า กลุ่มคนที่เคยผ่านความเจ็บปวดมาด้วยกัน (insiders) อาจจะไม่ได้มีทัศนคติเหมือนกับคนในกลุ่ม เพียงแต่พวกเขาเชื่อมโยงกันเนื่องจากเคยผ่านเรื่องราวความเจ็บปวดแบบเดียวกันมา มากไปกว่านั้นยังมีความเป็นไปได้ที่กลุ่ม insiders จะไม่เปิดใจรับฟังคนภายนอก (outsiders) เนื่องจากศาสตราจารย์รายนี้ให้เหตุผลว่า “มันไม่เคยเจ็บอย่างเรา มันไม่เข้าใจหรอก”
ถ้านำข้อสรุปเรื่อง insiders และ outsiders ของศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวอร์ริกรายนี้มาสรุปโครงสร้างของกลุ่มเซอร์เวย์ หรือกลุ่มใด ๆ ก็ตามในสังคมที่เคยผ่านความเจ็บปวดในลักษณะเดียวกันมาอย่างการธำรงวินัยของทหาร การกระทำดังกล่าวอาจสร้างการแบ่งเขา-แบ่งเรา และสร้างการไม่เปิดรับฟังเหตุผลของบุคคลภายนอก เพียงเพราะคนภายนอกเหล่านั้นไม่เคยผ่านกระบวนการแบบเดียวกับที่คนในกลุ่มเคยผ่านมา

ท้ายที่สุดจากคำบอกเล่าของนักศึกษารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ กลุ่มพี่ว้ากหลายคนเรียนจบจากมหาวิทยาลัยไปและได้เป็นคนใหญ่คนโต คนที่มีอำนาจทางสังคม น่าสนใจว่า วัฒนธรรมแบบ insiders และ outsiders นี้จะติดตัวกลุ่มคนเหล่านี้ไปในการทำงานด้วยหรือไม่ และวัฒนธรรมการรับคนเข้าทำงานด้วย ‘ชื่อคณะและมหาวิทยาลัย’ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน วารสารเพรสขอเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านทุกท่านเป็นผู้ตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง