เรื่อง: เจตณัฐ พิริยะประดิษฐ์กุล
ภาพ: กัปตัน จิรธรรมานุวัตร
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) วินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2568 ตามความในมาตรา มาตรา 170 วรรค 2 ประกอบ มาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2560 โดยเริ่มนับความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้ รธน. 2560 ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ยังมีอายุทางการเมืองเหลืออยู่อีกเกือบ 3 ปี นั้น เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้จัดกิจกรรม “จุดเทียนไว้อาลัย ศาลไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์” ขึ้น ในเวลา 18:00-19:00 น. ที่บริเวณโถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มธ. ศูนย์รังสิตเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านคำวินิจฉัยของศาล
เจนิสษา แสงอรุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสหเวชศาสตร์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนของนักศึกษามธ. ที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และมีความคิดเห็นตรงกันว่าคำวินิจฉัยของศร. เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้พล.อ.ประยุทธ์สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ถึงปี 2568 ซึ่งเป็นการผูกขาดอำนาจทางการเมืองที่ยาวนานเกินไป ผู้ได้รับผลประโยชน์คือพล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้อง ในขณะที่ผู้เดือดร้อนคือประชาชน
“พล.อ.ประยุทธ์ผิดคำพูดประชาชนไว้หลายอย่างมาก ย้อนกลับไปในปี 2557 เขาบอกว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่ก็ทำ ต่อมาบอกว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง ไม่อยากเป็นนักการเมือง แต่สุดท้ายก็ลงเลือกตั้ง แล้วก็ได้เป็นนายกจากส.ว. 250 เสียงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้งเอง นอกจากนี้การปฏิบัติหน้าที่ของเขาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีความรู้และความสามารถเพียงพอที่จะเป็นผู้นำประเทศ อีกทั้งยังหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง จนประชาชนต้องลำบากเพราะเศรษฐกิจที่แย่ลงทุกวันๆ เขาจึงไม่ควรดำรงตำแหน่งนายกฯ และควรลาออกให้คนอื่นที่เหมาะสมกว่าขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน” เจนิสษา กล่าว
ลิ่วละล่อง รังสิยานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศร. “ควรเริ่มนับตั้งแต่ปีที่เขาเข้ามาเป็นนายก คือปี 2557 ถ้าจะตีความตาม รธน. 2560 ก็เท่ากับว่าเขาสามารถอยู่เป็นนายกได้นานถึง 11 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานจนเกินไป ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่ไม่ได้เลือกเขามาตั้งแต่แรกอย่างมาก”
ลิ่วละล่อง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนบ้างหรือไม่ ทำไมจึงลงมติถึง 6 ต่อ 3 เสียงให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนมากไม่ได้ต้องการเช่นนั้น “อีกหนึ่งเรื่องที่น่าอับอาย คือ 3 คน จาก 6 คนที่ลงมติเห็นด้วย เป็นศิษย์เก่าจากคณะนิติศาสตร์จากมธ. ที่ปลูกฝังให้นักศึกษาคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักไม่ใช่หรือ แต่ทำไมพวกเขากลับคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก”
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “จุดเทียนไว้อาลัย ศาลไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์” ได้เขียนแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลภายใต้ระบอบประยุทธ์ลงบนป้ายผ้า เขียนโพสอิทแปะลงบนกระดานเพื่อแสดงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้ประเทศไทยดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีสภานศ.มธกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้น และอมธ.กล่าวคำแถลงการณ์ของนักศึกษา ท้ายสุดทุกคนร่วมจุดเทียนเพื่อไว้อาลัยให้กับศาลไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ เป็นการจบกิจกรรม