เรื่องและภาพ: พรรณรมณ ศรีแก้ว
น.ศ. หอในมธ. ชี้พื้นที่สูบบุหรี่ใกล้ทางเดินแต่ไกลหอพัก คนไม่สูบเจอกลิ่นรบกวนเวลาเดินผ่าน ส่วนคนสูบไม่สะดวกใช้พื้นที่ ด้านกพน. เผยเคยได้รับแจ้งปัญหาพื้นที่สูบบุหรี่ไม่เหมาะสม ฝั่งสำนักงานทรัพย์สินฯ แจงพื้นที่สูบบุหรี่ที่จัดไว้นั้นถูกกฎหมายและเหมาะสมที่สุดแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจพื้นที่สูบบุหรี่ภายในหอพักเอเชียนเกมส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (หอในมธ.) พบว่าบริเวณหอในมธ.มีพื้นที่สูบบุหรี่ทั้งหมด 6 แห่ง คือ หอพักโซน A จำนวน 1 แห่ง (บริเวณหอพักบุคลากร A3) หอพักโซน B จำนวน 2 แห่ง (บริเวณหอพัก B6 และทางเข้าหอพัก B1) โซน C จำนวน 2 แห่ง (บริเวณหอพัก C1 และ C11) โซน M 1 แห่ง (บริเวณด้านหลังหอพัก M1) ซึ่งพื้นที่สูบบุหรี่ภายในหอในมธ.นั้นอยู่ใกล้ทางเดินแต่ไกลจากหอพักบางตึก จึงส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยทั้งผู้ที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่
จุฑาทิพย์ อาสนะ นักศึกษาที่อาศัยอยู่ภายในหอพักโซน F ให้สัมภาษณ์ว่า บริเวณหอ F5 ไม่มีพื้นที่สูบบุหรี่ และไม่มีการประชาสัมพันธ์ว่าพื้นที่สูบบุหรี่อยู่ตรงไหน ในฐานะคนที่สูบบุหรี่จึงค่อนข้างลำบากในการหาพื้นที่สูบ บางครั้งจึงต้องแอบสูบช่วงดึกที่ไม่มีคนผ่านบริเวณลานจอดรถ ซึ่งก็ทำให้รู้สึกไม่ดี เพราะเกรงใจคนไม่สูบบุหรี่ จึงอยากให้มีการจัดพื้นที่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น คนสูบบุหรี่จะได้มีพื้นที่สูบที่เหมาะสม

จุฑาทิพย์กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วจะสูบบุหรี่ในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนดก่อนจะเข้าหอพัก แต่พื้นที่สูบบุหรี่ที่มีก็ไม่ค่อยเหมาะสมนัก เพราะติดทางเดินที่มักมีคนเดินผ่าน ทำให้มีกลิ่นบุหรี่รบกวนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ได้ และพื้นที่สูบบุหรี่ไม่มีหลังคา ทำให้ในวันที่สภาพอากาศไม่ดี เช่น ฝนตก หรือแดดจ้าเกินไป ก็ไม่สามารถไปสูบบุหรี่ในพื้นที่นั้นได้
จุฑาทิพย์กล่าวอีกว่า อยากให้หอในมธ.จัดพื้นที่สูบบุหรี่ให้มากขึ้น คนสูบบุหรี่จะได้มีพื้นที่ที่เหมาะสม และไม่รบกวนคนที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะภายในหอพักนั้นมีหลายตึก จึงควรจัดพื้นที่ให้มีระยะที่พอดี สะดวกต่อนักศึกษา แต่ก็ไม่ใกล้ทางเดินที่ทำให้รบกวนคนที่ไม่สูบบุหรี่ และอยากให้พื้นที่นั้นสามารถเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการสูบบุหรี่ เช่น เป็นพื้นที่โปร่ง ไม่ติดทางเดิน และเป็นสัดส่วนชัดเจน
ลภัสภาส์ แก้วกลม นักศึกษาภายในหอพักโซน B ให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็พบเจอปัญหาจากพื้นที่สูบบุหรี่ภายในบริเวณหอในมธ. โซน B เพราะพื้นที่สูบนั้นใกล้กับทางเดินและบริเวณที่นั่งริมสระน้ำภายในหอพักโซน B จึงมักได้กลิ่นบุหรี่จากบริเวณดังกล่าว เวลาเดินไปร้านค้าภายในหอพัก นอกจากกลิ่นบุหรี่จะรบกวนตัวนักศึกษาแล้ว ยังรบกวนผู้พักอาศัยคนอื่นๆ ที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณสระน้ำหอพักโซน B เพื่อพักผ่อนด้วยเช่นกัน เช่น บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย เด็ก และพนักงานร้านค้าภายในบริเวณหอพัก
ลภัสภาส์กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากบริเวณหอโซน B อาจเพิ่มพื้นที่สูบบุหรี่ได้ยาก เพราะมีพื้นที่จำกัด แต่อยากให้ทางหอพักมีการจัดบริเวณสูบบุหรี่ให้เป็นสัดส่วนมากกว่านี้ โดยไม่ใกล้ทางเดินหรือบริเวณส่วนกลางมากเกินไป เพราะนอกจากกลิ่นบุหรี่จะรบกวนและก่อความรำคาญแล้ว ควันบุหรี่ก็อันตรายต่อผู้อื่นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ควันบุหรี่ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าคนปกติ

นอกจากนี้ สิทธิเดช สายพัทลุง คณะกรรมการหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กพน.) ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกพน.เคยได้รับแจ้งปัญหาจากนักศึกษาเรื่องพื้นที่สูบบุหรี่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และได้แจ้งเรื่องพื้นที่สูบบุหรี่กับสำนักงานทรัพย์สินและกีฬา ธรรมศาสตร์ (สำนักงานทรัพย์สินฯ) ไปแล้ว และได้รับคำตอบว่าพื้นที่สูบบุหรี่บริเวณหอในมธ.นั้นอยู่ในพื้นที่ที่ถูกกฎหมายแล้วว่าจะต้องห่างจากบริเวณตึกหอพักเท่าใด หากนักศึกษาอยากให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่สูบบุหรี่ก็สามารถเสนอพื้นที่ใหม่ให้ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ แต่พื้นที่ใหม่ก็ไม่ควรอยู่ไกลจากหอพักมากจนเกินไปจนไม่มีใครเข้าไปใช้งาน

“เคยไปสำรวจบางพื้นที่แล้วก็รู้สึกจริงๆ ว่าต่อให้มันถูกกฎหมายแล้ว ไม่ใกล้ที่พักมากเกินไป แต่มันก็ยังใกล้ทางเดินมากอยู่ดี” สิทธิเดชกล่าวและว่า ปัญหาพื้นที่สูบบุหรี่บริเวณหอในมธ.ที่ได้รับจากนักศึกษานั้นก็เป็นปัญหาพื้นที่อยู่ใกล้ทางเดินมากเกินไป เช่น บริเวณหอพัก C9 C10 และ C11 นั้นจะมีลักษณะเป็นอาคาร 3 อาคารล้อมเป็นสามเหลี่ยม และมีพื้นที่สูบบุหรี่อยู่บริเวณตรงกลางและใกล้ทางเดิน หากจะเดินผ่านบริเวณหอพักก็ต้องผ่านบริเวณสูบบุหรี่อย่างแน่นอน ทำให้คนเดินผ่านได้รับกลิ่นรบกวนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหลังจากนี้อาจมีการสำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษาทั้งฝ่ายที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ ว่าพื้นที่สูบบุหรี่ควรอยู่ห่างจากพื้นที่หอพักและทางเดินเท่าใด เพื่อนำไปไปปรับปรุงพื้นที่สูบบุหรี่ภายในหอพักต่อไป

พินทุไกร มาลา ผู้จัดการหอพักให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่สูบบุหรี่ภายในหอพักนั้นอยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยห่างจากทางเข้าออกของอาคารหอพักไม่น้อยกว่า 5 เมตร แต่ไม่มีกำหนดว่าจะต้องห่างจากทางเดินเท่าใด อย่างไรก็ตาม หากนักศึกษาต้องการเสนอพื้นที่สูบบุหรี่แห่งใหม่นั้นก็สามารถเสนอพื้นที่มาได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ด้วย เพราะหากอยู่ในที่ลับตาหรือไกลเกินไปก็จะไม่มีคนเข้าไปใช้พื้นที่
“ถ้ามีที่สูบที่เหมาะสมก็เสนอมาได้ แต่ในส่วนของสำนักงานทรัพย์สิน มองว่ามันบาลานซ์ระหว่างคนสูบกับคนไม่สูบบุหรี่ มันไม่ได้ไกลเกินไป หรืออยู่ในพื้นที่ที่ลึกลับซับซ้อนมาก จะให้ไปอยู่ไกลทางเดินเลย มันก็ลำบาก และไม่ได้มีที่อย่างนั้นเสียทีเดียว” พินทุไกรกล่าวและว่าภายในหอในมธ. มีทางเดินผ่านหลายทาง ทำให้หาพื้นที่สูบบุหรี่ที่ไม่ไกลจากหอพักแต่ห่างจากทางเดินได้ยาก ซึ่งทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ได้หาพื้นที่สูบบุหรี่ที่จะกระทบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ให้น้อยที่สุดแล้ว
พินทุไกรกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสำนักงานทรัพย์สินกำลังวางแผนปรับปรุงพื้นที่สูบบุหรี่โดยการเพิ่มหลังคา แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ภูมิทัศน์ภายในหอพัก และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักศึกษา ว่ามีการใช้งานพื้นที่สูบบุหรี่อย่างไร ส่วนนักศึกษาที่สูบบุหรี่แต่ไม่มีพื้นที่สูบบุหรี่ภายในโซนหอพักก็สามารถแจ้งปัญหากับทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ โดยทางสำนักงานทรัพย์สินฯ จะจัดให้พื้นที่สูบบุหรี่อยู่ในช่วงระยะที่สามารถเดินมาใช้งานได้ แต่จะไม่สามารถจัดพื้นที่สูบบุหรี่สำหรับทุกอาคารหอพักได้