Art & Culture

ทักษะ ความพยายามของนักวาด ที่กำลังถูกช่วงชิงไปด้วย AI Artist

เรื่องและภาพ: ปาณัสม์ จันทร์กลาง

ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนที่วาดรูปไม่เก่งเอาเสียเลย ถึงจะมีภาพอยู่ในหัว แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดมันออกมาเป็นรูปภาพได้เท่ากับที่จินตนาการไว้

แต่ผมไม่คิดเลยว่าในวันนี้ผมจะทำได้

เลื่อนเมาส์ พิมพ์คีย์บอร์ด กด Enter! แล้วลุกไปยืดเส้นยืดสายสักหน่อยพอให้หายเมื่อย

.

.

.

[ตะดุ๊ง! คุณได้รับรูปภาพ]

นี่มันฝันของคนที่วาดรูปไม่เป็นชัดๆ

นี่คือภาพที่ AI ชื่อ Midjourney สร้างขึ้นจากการใส่คีย์เวิร์ดว่า
‘Thammasat University, photorealistic’

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า Artificial Intelligence (AI) หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้เฉพาะโปรแกรมเมอร์อีกต่อไป เพราะสิ่งนี้มีอยู่ในเทคโนโลยีแทบจะทุกอย่างรอบตัวเรา ถ้าจะให้ใกล้ที่สุด ก็คือโทรศัพท์มือถือที่วางอยู่ข้างตัวคุณนั่นแหละ

AI คือ เทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องจักรมีสติปัญญาเหมือนมนุษย์ คิด ทำ จดจำ เรียนรู้ จนสามารถลำดับตรรกะแบบซับซ้อนเช่นเดียวกับมนุษย์ได้ AI เคยถูกใช้เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบางานของมนุษย์อย่างการผลิตสินค้า การจดจำเรื่องราว การคิดคำนวณ การวิเคราะห์ทำนาย ช่วยอำนวยความสะดวกของมนุษย์ได้หลายอย่าง หากยังนึกไม่ออก การปลดล็อกลายนิ้วมือ การสแกนใบหน้าของโทรศัพท์มือถือ หรืออัลกอริทึมที่เลือกนำเสนอเนื้อหาที่คุณชื่นชอบสนใจของสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ นี่แหละคือสิ่งที่ AI ทำ

เมื่อ AI ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านการเรียนรู้จากชุดข้อมูลที่มนุษย์ป้อนให้ นานวันเข้า จากการช่วยเหลือแบ่งเบาดันกลายเป็นการ ‘แทนที่’ ไปเสียอย่างนั้น ในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีหลายอาชีพถูกเทคโนโลยีนี้แย่งงานไป ผู้คนทั่วโลกจึงเกิดความกังวลและเริ่มตั้งคำถามว่าเจ้า AI จะมาแทนที่เราได้มากขนาดไหน

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักมองว่า สายงานที่มีรูปแบบการทำงานเป็นกิจวัตรซ้ำๆ ตายตัว อย่างพนักงานผลิตสินค้า พนักงานธนาคาร พนักงานเสิร์ฟ เป็นต้น เป็นสายงานที่ AI สามารถเรียนรู้ลักษณะการทำงานได้ง่าย แต่สายงานที่มีรูปแบบการทำงานที่ไม่แน่นอน ต้องรับมือโจทย์ที่มีความหลากหลาย อย่างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักดนตรี จิตรกร จะยังคงปลอดภัยไปอีกนาน เพราะความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของมนุษย์คือสิ่งที่ไม่สามารถแปลงเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้

แต่การเรียนรู้ของ AI ทำให้คำว่า ‘อีกนาน’ กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ ‘แสนสั้น’

จะไปยากอะไร ถ้าให้ AI เรียนรู้เอาจากผลงานเหล่านั้น

ผลงานภาพ Elmond de Belamy โดย AI
ชื่อ GAN (Generative Adversarial Network)
จาก obvious-art.com

ในปี 2018 กลุ่มศิลปินและนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ‘Obvious’ ป้อนข้อมูลภาพวาดจำนวน 15,000 ภาพให้ AI ที่ชื่อ GAN (Generative Adversarial Network) จนเกิดเป็นชุดภาพ La Famille De Belamy ที่มี 11 ภาพ และหนึ่งในนั้นที่ชื่อ Elmond de Belamy ถูกประมูลไปด้วยราคา 432,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 16 ล้านบาท) ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แตกเป็นหลายฝ่ายต่อผลงานชิ้นนี้ ทั้งฝ่ายที่ชื่นชอบ ไม่ชอบผลงานศิลปะชิ้นนี้ อีกทั้งฝ่ายที่ต่อต้านและสนับสนุนการใช้ AI ‘สร้าง’ ภาพ

หนึ่งในสาเหตุของการต่อต้านการใช้ AI สร้างภาพคือเรื่องลิขสิทธิ์ การที่นำผลงานไปให้ AI เรียนรู้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ และใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของผลงาน ระหว่าง AI ที่สร้างผลงาน ผู้สร้าง AI หรือผู้ใช้งานที่พิมพ์คีย์เวิร์ดให้ AI

คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ให้ความเห็นว่า การนำรูปภาพไปให้ AI เรียนรู้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของเจ้าของผลงานและผู้นำไปใช้ หากได้รับอนุญาตแล้วก็ไม่มีความผิด และการใช้รูปภาพที่ไม่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ได้รับการคุ้มครองแล้วก็ถือว่าไม่มีความผิดเช่นเดียวกัน

คันธิรากล่าวเพิ่มเติมว่า การคุ้มครองลิขสิทธิ์ของทรัพย์สินทางปัญญา มีหลักเกณฑ์ 3 อย่าง ได้แก่ การใช้สติปัญญา การใช้กระบวนการคิดตัดสินใจ และการใช้ความอุตสาหะในการสร้างผลงาน ที่จะนำมาใช้พิจารณาคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผลงาน นอกจาก AI จะไม่เข้าข่ายทั้ง 3 ข้อแล้ว กฎหมายยังไม่มีการรับรองให้ AI เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลอีกด้วย ด้านผู้ใช้งานแม้จะมีสถานะเป็นบุคคล แต่เนื่องจากขาดความอุตสาหะในการสร้างผลงาน กฎหมายก็ไม่คุ้มครองเช่นกัน สุดท้ายผู้สร้าง AI ที่ปัจจุบันยังคงหาข้อสรุปไม่ได้เพราะเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 อย่างในการสร้าง AI ที่สามารถสร้างรูปภาพได้อีกทีหนึ่ง จึงทำให้คิดว่าควรมีกฎหมายแยกเฉพาะในการคุ้มครองผลงานของ AI ต่างหาก

อย่างไรก็ตาม หลังจาก GAN ประสบความสำเร็จในการสร้างชิ้นงาน ก็มี AI artist อีกหลายเจ้าโผล่ขึ้นเป็นดอกเห็ดให้ผู้คนทั่วโลกได้ลองสร้างสรรค์ผลงานได้ฟรี เพียงแค่พิมพ์คีย์เวิร์ดสิ่งที่เราต้องการลงไปเท่านั้น เทคโนโลยีนี้จึงได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมทดลองใช้จากทั่วโลก AI เจ้าที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักมากหน่อยก็ Dall-e, Midjourney หรือ NovelAI

ปริยากร อินทรสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ระบุว่า เพราะ AI คือสิ่งที่ทำมาเพื่อจำลองความเป็นมนุษย์ ยิ่งเหมือนมนุษย์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่านั้น ดังนั้น AI artist จึงถือเป็นความสำเร็จขั้นนึงแล้ว

แต่อย่าลืมว่าความรู้ความสามารถของ AI ที่ใช้สร้างภาพนั้นเกิดจากการเรียนรู้ผลงานของมนุษย์ที่มีอยู่ก่อนหน้า ไม่มีนักวาดหรือเจ้าของผลงานคนไหนพอใจ ถ้ารู้ว่าผลงานของพวกเขาถูกนำไปใช้ฝึกฝนให้ AI โดย ‘ไม่ได้รับอนุญาต’

ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Kim Jung Gi นักวาดภาพประกอบชาวเกาหลีใต้ชื่อดังที่สร้างผลงานศิลปะไว้มากมาย เสียชีวิตในวัย 47 ปี ทว่าไม่กี่วันถัดมามีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @BG_5you โพสต์ว่าเขาสามารถฝึกสอนให้ AI ของเขาสร้างภาพโดยใช้ ‘ลายเส้น’ ของ Kim Jung Gi ได้แล้วพร้อมเปิดให้ทุกคนสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้แบบฟรีๆ การกระทำครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับแวดวงนักวาด และผู้อ่านการ์ตูนจำนวนมาก นอกจากเรื่องการขโมยลายเส้นแล้ว ยังเป็นการลดทอนคุณค่า ไม่ให้เกียรติทักษะ และประสบการณ์ของนักวาดที่ใช้เวลาฝึกฝนกว่าครึ่งชีวิตอีกด้วย

“จิตวิญญาณของนายมันแตกสลายไปแล้ว หวังว่านายจะมีชีวิตยืนยาวพอที่จะสำนึกได้นะ” – @arvalis

“การให้เกียรติ Kim Jung Gi ควรเป็นการหยิบดินสอ หรือพู่กันลงมือวาดจริงๆ เจ้าลายเส้นจำลองนี้เหมือนจะมีความตั้งใจดีนะ แต่มันหลงประเด็นไปไกลเลย ไม่ใช่แค่หลักไมล์นะ แต่เป็นปีแสง” – @ATeRSa_NDUcC

ตัวอย่างผลงานภาพของ Kim Jung Gi
ตัวอย่างผลงานภาพที่ AI ของ @BG_5you สร้างขึ้นจากการเรียนรู้ภาพวาดของ Kim Jung Gi

ภัฐรพรณีย์ ดีศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง สาขาการผังเมือง มธ. ให้คำตอบว่า คงรู้สึกเสียใจ หากวันหนึ่งผลงานที่เธอสร้างถูกนำไปใช้ฝึกฝนให้ AI artist สร้างภาพที่ใช้ลายเส้นแบบเดียวกัน เพราะผลงานที่เธอสร้างเป็นงานที่ลงแรงและใช้เวลาไปกับมัน ในขณะที่ AI ใช้เวลาไม่กี่อึดใจก็สร้างภาพขึ้นมาได้แล้ว

ทั้งนี้ AI มีการเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอนาคตต่อไปก็มีสิทธิ์เข้ามาแทนที่เราได้ แต่ในฐานะนักวาด การได้จินตนาการ ได้ลงมือทำ ได้ใช้เวลาไปกับผลงาน เป็นสิ่งที่ทำให้ผลงานมีคุณค่า มีความคิดเป็นของตัวเอง ในขณะที่ AI ไม่มีสิ่งเหล่านี้ เพราะชิ้นงานมาจากการนำผลงานของหลายๆ คนมารวมกันเท่านั้น

พรพรัตน์ ศุภฤกษ์ นักวาดแฟนอาร์ต ให้คุณค่าภาพวาดของมนุษย์มากกว่าภาพวาดของ AI เพราะ ‘อัตลักษณ์’ ในผลงาน ประสบการณ์ ลักษณะนิสัย ค่านิยมของนักวาด สามารถถ่ายทอดผ่านฝีแปรงและลายเส้นได้ เมื่อคนเห็นแล้วจะรู้ได้เลยว่าเป็นผลงานของใคร ในขณะที่ AI ไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์ของมันขึ้นมาได้ ถ้าหากในอนาคต สังคมยอมรับ AI artist กันมากขึ้น แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของมนุษย์คงลดน้อยลง เพราะเกิดชุดความคิดที่ว่า ทำไมต้องใช้คนวาดก็ได้ในเมื่อเราป้อนข้อมูลให้ AI ก็ได้รูปภาพมาเหมือนกัน แถมต้นทุนน้อยกว่า ซึ่งเป็นการตัดโอกาส และแย่งงานของนักวาดที่เป็นมนุษย์

ตัวอย่างผลงานภาพของพรพรัตน์ ศุภฤกษ์
บนช่องทางอินสตาแกรม @ddff011

แม้การสร้างภาพด้วย AI จะเป็นอะไรที่สร้างความตื่นตาตื่นใจได้ก็จริง แต่ในฐานะผู้เขียน ซึ่งเป็นคนๆ หนึ่งที่เรียนในสายงานผลิตที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้วนั้นก็รู้สึกท้อใจไม่น้อย เพราะเข้าใจในความยากลำบากและแรงพยายามในการสร้างผลงานเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง ใช้เวลาฝึกฝนอยู่หลายปีจนได้ชิ้นงานที่น่าพอใจ แต่กลับมี AI ที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝนในเวลาไม่นาน สร้างภาพขึ้นใหม่ในเวลาไม่กี่วินาที เผลอๆ ผลงานที่เราใช้เวลาสร้างเป็นวันเป็นเดือน ถูกเอาไปใช้สอน AI เมื่อไหร่ก็ไม่รู้

ก็ได้แต่หวังว่า AI พวกนี้จะเข้ามา ‘ช่วยเหลือแบ่งเบา’ ชาวนักวาด มากกว่าจะเข้ามา ‘แทนที่’ ล่ะนะ

.

อ้างอิง

https://www.christies.com/features/A-collaboration-between-two-artists-one-human-one-a-machine-9332-1.aspx

https://obvious-art.com/la-famille-belamy/

https://restofworld.org/2022/ai-backlash-anime-artists/

https://www.thaiprogrammer.org/2018/12/whatisai/https://twitter.com/bg_5you/status/1578146498768175105

https://twitter.com/bg_5you/status/1578146498768175105

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time (2021) ลาก่อนเหล่า Evangelion ทั้งหลาย

ผู้เขียน: ปิยะพร สาวิสิทธิ์ 22 พฤษภาคม คือวันเกิดของ ‘ฮิเดอากิ อันโนะ (Hideaki Anno)’ บุคคลสำคัญที่คอยสร้างสรรค์อยู่เบื้องหลังวงการบันเทิงของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ผลงานของอันโนะนั้นนับว่าให้คุณอย่างมหาศาลต่อทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงทำให้ผู้ชมสะท้อนและพิจารณาตนเองอีกด้วย อันโนะมีผลงานหลายอย่าง ตั้งแต่การกำกับภาพยนตร์ ...

Writings

เส้นทางการตกแฟนบอยของนายแบคฮยอน

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง League of Legend หรือ LOL คือเกมออนไลน์ไม่กี่เกมที่ผมยังคงเล่นอยู่ในปัจจุบัน หากเราเล่นกับเพื่อน มันจะเป็นเกมที่สนุกมาก แต่หากเล่นคนเดียว มันอาจจะเหมือนกับการตกนรกทั้งเป็น ด้วยความที่เป็นเกมสไตล์ ...

chinese opera 2024 Writings

ส่องหลังม่านการแสดงงิ้ว โลกหลังเวทีของเหล่า ‘คนแปลกหน้า’

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นอกจากอากาศที่ร้อนระอุในเดือนเมษายน และต้นข้าวในท้องนาริมถนนที่ถูกเก็บเกี่ยว การเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวครั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ฉันตั้งตารอ  . ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ ริมแม่น้ำบางปะกงได้รับการบูรณะในปี 2560 และในทุกๆ ปี ศาลเจ้าจะจัดการแสดงงิ้ว ...

Writings

ซีรีส์และภาพยนตร์เลสเบียน 4 เรื่อง ที่หาดูยาก แต่อยากชวนดู

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ . “Do you have a steady boyfriend?”“No.”“What kind of fella would ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save