Society

สรุปเสวนาวิชาการ “ย้อนรอยอำนาจ กสทช. หลังมติให้ควบรวมทรู-ดีแทค”

เรื่อง: เจตณัฐ พิริยะประดิษฐ์กุล

ภาพ: สภาองค์กรของผู้บริโภค

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 คณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จำนวน 5 ท่าน ได้ลงมติกรณีการขอควบรวมกิจการค่ายมือถือทรู-ดีแทค ด้วยคะแนนเสียง 2:2:1 คือ รับทราบ 2 เสียง ไม่อนุญาต 2 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง

ประธานที่ประชุมจึงได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด จึงเกิดคะแนนเสียง 3:2:1 คือ รับทราบ 3 เสียง ไม่อนุญาต 2 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง และได้แจ้งผลการลงมติเป็นทางการซึ่งทำให้การควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ดำเนินไปโดยไม่ต้องผ่านการขออนุญาตต่อ กสทช.

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา “ย้อนรอยอำนาจ กสทช.: หลังมติให้ควบรวม ทรู – ดีแทค” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ และถ่ายทอดสดผ่านทาง FB สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมกับวิทยากรอีก 4 ท่าน คือ 1. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. พิภพ ธงไชย อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเลขาธิการอาสามูลนิธิเด็ก 3.จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค 4. อารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช.

กสทช. เป็นองค์กรอิสระเพื่อประชาชน?

ปริญญา กล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่เป็นสมบัติของประเทศ คือเป็นของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ที่คลื่นความถี่มีบทบาทกับชีวิตของผู้คนในสมัยใหม่มากขึ้นในทุกๆ วัน มันไม่ใช่แค่โทรศัพท์หากันเหมือนในอดีต แต่มันหมายถึงอินเทอร์เน็ต ที่เป็นทั้งข้อมูลข่าวสาร การทำงาน การแสดงความคิดเห็น การโอนเงิน ดังนั้น จึงจําเป็นต้องมีองค์กรอิสระ ที่มีทั้งความสามารถในการดูแลและจัดสรรทรัพยากรนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งองค์กรอิสระนั้นก็คือ กสทช. ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 60

ด้านพิภพ กล่าวว่า กสทช. เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติ ไม่ให้ผูกขาด ทั้งนี้คำว่า “อิสระ” มันไม่ได้หมายถึงอิสระทางความคิด แต่หมายถึงอิสระทางผลประโยชน์ ซึ่งองค์กรอิสระอย่างกสทช.ต้องไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจผูกขาด เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

กสทช.ขอความเห็นไปมากมาย แต่สุดท้ายกลับไม่รับฟังความเห็นเหล่านั้น?

ปริญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาด เพราะกสทช.เป็นองค์กรอิสระ แต่กลับไปขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นเหมือนกับสํานักงานกฎหมายของรัฐบาลเป็นฝ่ายตีความว่าตนเองมีอํานาจหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ตอบว่า “อํานาจต่างต่างที่กสทช.ถามมาเป็นเรื่องดุลพินิจของ กสทช.” ที่สำคัญคือศาลปกครองก็ได้มีคําวินิจฉัยในเรื่องนี้มาแล้วว่าเรื่องนี้เป็นอํานาจของ กสทช. ในการพิจารณา

กสทช.ยังได้ตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งทุกชุดมีความเห็นไปทางเดียวกันว่า ไม่ควรให้ควบรวม โดยให้เหตุผลว่าหากควบรวมแล้วจะเกิดส่วนแบ่งของกิจการคลื่นความถี่เกิน 50% ก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาด และจะทำให้การแข่งขันเหลือเพียงแค่ 2 ราย ซึ่งอีกรายหนึ่งคือ AIS

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กสทช. สามท่านกลับไม่รับฟังในสิ่งที่ตนเองได้ไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่รับฟังอนุกรรมการที่ตนเองแต่งตั้งขึ้นมา ไม่รับฟังแม้กระทั่งคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ไม่ต้องพูดถึงฝ่ายวิชาการอย่างนักกฎหมายทั้งจากธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์ที่ทักท้วง หรือองค์กรของผู้บริโภค ว่าจะรับฟังไหม

มติใหญ่ระดับชาติขนาดนี้ กสทช. ใช้อะไรเป็นข้อมูลในการตัดสินใจให้ควบรวม?

จิณณะ กล่าวว่า เมื่อเกิดการควบรวมขึ้น การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจจะลดลง  ผลประโยชน์ของชาติก็จะลดลง ในขณะเดียวกันก็กระทบกับภาคประชาชนอย่างผู้บริโภคด้วย คือผู้บริโภคจะมีทางเลือกในการใช้บริการน้อยลง ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจถูกผูกขาด ค่าบริการจึงถูกกำหนดโดยผู้ประกอบการเพียงเฉพาะกลุ่ม หรือเพียงคนที่มีอำนาจในการแข่งขันหรือผูกขาด

จะเห็นว่ามันส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่า กระบวนการลงมติของกสทช. เป็นไปด้วยความชอบธรรมหรือไม่ โดยพิจารณาจากทั้งขั้นตอนก่อนที่จะมีการลงมติ และในขั้นตอนการลงมติ

ความชอบธรรมของกระบวนการก่อนลงมติต้องพิจารณาจาก 1. การควบรวมส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก กฎหมายระบุไว้หรือไม่ว่าให้รับฟังความเห็นของผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือภาคประชาชน แล้วกสทช.ได้ปฏิบัติตามหรือไม่ หากไม่ได้ทำ กระบวนการนี้ชอบธรรมหรือเปล่า 2. ประกาศมีระบุไว้ว่าจะต้องมีการตั้งที่ปรึกษาอิสระ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนว่าไม่เป็นอิสระ เพราะมีความเชื่อมโยง เกี่ยวโยง หรือเป็นบริษัทในเครือบริษัทลูกหรือบริษัทที่มีผู้ถือหุ้น หรือกรรมการที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ที่ขอควบรวม

ส่วนนี้กสทช.ต้องตอบให้ได้ ว่ากระบวนการเป็นไปด้วยความชอบธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ แล้วใช้อะไรเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ถูกชี้นำด้วยที่ปรึกษาอิสระนี้หรือเปล่า มีความโปร่งใสหรือมีการชี้นำหรือไม่  ในขั้นตอนทั้งหมดดังที่กล่าวมา หากกสทช. ตอบไม่ได้ว่ามันชอบธรรมหรือไม่ ก็ยังไม่ควรจะลงมติ

ในกระบวนการลงมติ กสทช.จะต้องคำนึงถึงพรบ.การแข่งขันทางการค้าด้วย เพราะเจตนารมณ์คือต้องการที่จะไม่ให้เกิดการลดการแข่งขันทางการค้าหรือการผูกขาดทางการค้า ซึ่งกิจการใดๆ ที่กสทช.ควบคุม ก็เป็นกิจการนึงที่จะต้องมีการควบคุมในการแข่งขันและป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด

มันเป็นเจตนารมณ์เดียวกัน ซึ่งการที่กสทช.เป็นคณะกรรมการหรือว่าทำงานในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายก่อน ว่ามันต้องการที่จะไม่ให้เกิดการลดการแข่งขันทางการค้าหรือการผูกขาดทางการค้า เพราะจะส่งผลเสียทั้งต่อประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของชาติ

ประธานลงมติซ้ำเป็นเสียงที่ 6 ได้อย่างไร?

ปริญญา กล่าวว่า ระเบียบคณะกรรมการกสทช. ปี 2555 ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกสทช. ข้อ 41 (1) การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ หากเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 27 (19) (23) (25) หรือเป็นกรณีการบริหารจัดการภายใน ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม หมายความว่าคณะกรรมการมี 5 คน แต่เข้าร่วมประชุมจริงๆ 3 คน ครบองค์ประชุม 3 คน จาก 5 ก็ใช้แค่ 2 เสียงก็มีมติได้ คือให้ยึดตาม เสียงข้างมากของผู้ที่เข้าร่วมประชุม

ขณะที่ข้อ 41 (2) ใช้คำว่า กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่นนอกเหนือจากประเด็นตามข้อ 41 (1) จะต้องได้รับมติพิเศษ ซึ่งกรณีนี้ ในการพิจารณาว่าตนเองมีอำนาจอนุญาตหรือไม่ ไม่ได้เข้าตามมาตรา 27 (19) (23) (25) จึงเข้าระเบียบเรื่องการประชุมข้อ 41 (2) คือต้องได้มติพิเศษ กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด กรรมการทั้งหมดมี 5 คน กึ่งหนึ่งคือ 2.5  ซึ่งครึ่งคนก็ต้องปัดขึ้น เป็น 3 คนขึ้นไป

มติที่บอกว่ากสทช.ไม่มีอำนาจ ทำได้แค่รับทราบ มีแค่ 2 เสียง ไม่ถึง 3 เสียง อีกเสียงหนึ่งก็งดออกเสียง ดังนั้นเรื่องนี้จึงตกไป ไม่ผ่าน มตินี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก การที่เขาใช้วรรคสุดท้ายของมาตรา 41 ในการวินิจฉัยชี้ขาดให้กรรมการหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียงเป็นเสียงชี้ขาด ความหมายที่แท้จริงแล้วคือ  สมมติว่า คณะกรรมการกสทช.เกิดเสียชีวิตไป 1 คน เหลือแค่ 4 คน แล้วเสียงมันเป็น 2:2 แบบนี้กรรมการลงได้ หรือในการใช้เสียงข้างมากของผู้เข้าประชุมตามข้อ 41 (1) คือกรรมการมี 5 คน แต่เข้าร่วมประชุม 4 คน แล้วเสียงออกมาเท่ากันคือ 2:2 ประธานจึงลงซ้ำได้ กล่าวง่ายๆ คือ จำนวนต้องเท่ากัน ทั้งกรณี 41 (1) และ 41 (2) ประธานจึงจะออกเสียงได้

ในกรณีของผู้เข้าร่วมประชุม 5 คน มันจึงต้องได้ 3 เสียงขึ้นไป ดังนั้นประธานจึงไม่มีอำนาจที่จะมาลงซ้ำแล้วทำให้กลายเป็น 3 เสียง เป็นมติที่ประหลาดมากเมื่อผลการลงมติคือ 3:2:1 โดย 3 เสียงบอกว่าได้แค่รับทราบ 2 เสียงบอกว่าต้องมีการขออนุญาต และอีก 1 งดออกเสียง รวมเป็น 6 เสียง ทั้งๆ ที่คณะกรรมการกสทช.มี 5 คน

ดังนั้นเมื่อเสียงเป็น 2:2:1 ในตอนแรก มันจึงไม่ถึงอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง มันจึงตกไปเลย การลงมติของประธานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายด้วย เพราะใช้อำนาจโดยมิชอบ แล้วมติของกสทช.ที่ว่า  3:2:1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน เพราะมันตกไปตั้งแต่แรกแล้ว เพราะมันได้แค่ 2 เสียง ที่ว่เป็นเสียงเพียงแค่รับทราบ คือมันตกไปตั้งแต่ตอนที่ลงมติครั้งแรกแล้ว

สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือ ต้องประชุมใหม่  ผู้ที่ออกเสียงก็เป็นประเด็นปัญหาด้วย เพราะกสทช.มีอำนาจในการพิจารณาว่าตนเองมีอำนาจหรือไม่ ฟังแล้วดูแปลกนะ คือมันเป็นอำนาจของกสทช. แล้วจะงดออกเสียงได้ไง เรื่องนี้ไม่ใช่ No Vote ของประชาชนในการจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญหรือในการเลือกผู้สมัครสส.คนใด คือถ้าไม่รู้จะเลือกใครก็งดออกเสียง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ว่าท่านมีอำนาจในการพิจารณาหรือไม่ จะลอยตัวในการงดออกเสียงเช่นนี้ก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ผลมันคือทำให้มตินี้ไม่มีทางสำเร็จ เพราะว่ามันออกมา 2:2:1 คือไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือ 3 เสียงขึ้นไป

การงดออกเสียงของคณะกรรมการกสทช.ที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่ามีปัญหา ท่านเข้าใจอำนาจหน้าที่ของตนเองผิดไป ท่านมีหน้าที่ต้องออกเสียง ไม่ใช่งดออกเสียง ผมคิดว่าเป็นปัญหาเท่ากันกับคนที่ลงมติว่าตัวเองมีแค่อำนาจรับทราบ มันมีผลเท่ากันเพราะท่านก็รับผิดชอบในมติของกสทช.ในการทำหนังสือไปถามกฤษฎีกา และในการตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ

สรุปคือ 1. มติที่เกิดขึ้นของกสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคะแนนเสียงไม่ถึงจำนวนที่กำหนด คืออย่างน้อยกึ่งหนึ่ง หรือ 3 เสียงขึ้นไป ประธานจึงลงซ้ำไม่ได้เพราะมันตกไปตั้งแต่แรก ประธานจะลงซ้ำได้ก็ต่อเมื่อมันออกมามี 4 คน แล้วออกมา 2:2 เท่ากัน 2. กสทช.ทั้ง 3 ท่าน มีปัญหาในเรื่องการใช้อำนาจ  เพราะว่าท่านได้ถามกฤษฎีกา ท่านตั้งอนุกรรมการขึ้นมา ศาลปกครองก็ได้ชี้แจงเรื่องนี้มาแล้ว ทุกอย่างมีการรายงานกลับมาเป็นหนังสือ แต่ท่านเลือกไม่รับฟังเอง

รับทราบ เท่ากับ อนุญาต?

ปริญญา กล่าวว่า การที่จะบอกว่ากสทช.มีอำนาจเพียงแค่รับทราบ ไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่าอนุญาตหรือไม่ จริงๆ แล้วประกาศปี 2561 ข้อ 9 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าหากเข้าลักษณะที่มีการถือหุ้นเกิน 10% ของกิจการประเภทเดียวกัน ต้องขออนุญาต แล้วถือการมารายงานคือการขออนุญาต จะได้ไม่ต้องขออนุญาตซ้ำซ้อน

กสทช.เห็นว่ามันเข้าลักษณะที่มีการถือหุ้นประเภทเดียวกันเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ก็คือก็ต้องเป็นเรื่องของการขออนุญาต อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นแนวทางทางกฎหมายที่ชัดเจน ทั้งจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งความจริงแล้วกสทช.ก็ไม่ควรถามตั้งแต่แรก แต่เมื่อไปถามแล้วและเขาตอบกลับมา ก็กลับไม่ฟัง รวมถึงสิ่งที่ศาลปกครองวินิจฉัย ผลลัพธ์คือ  3 ท่านซึ่งเห็นว่าตนเองทำได้เพียงรับทราบ กับอีกท่านงดออกเสียง ผมคิดว่ามีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะว่าการที่ท่านมีมติเช่นนั้นเท่ากับท่านอนุญาตให้ควบรวม

กตป.  สามารถทำอะไรได้บ้างในประเด็นนี้?

อารีวรรณ กล่าวว่า กตป.ไม่ได้มีหน้าที่หรือสภาพเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเหมือนกสทช. ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชนที่จะมีอำนาจมากมาย แต่ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งกตป.เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลกสทช. พูดง่าย ๆ ก็คือ กตป.เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพการทำงานของ กสทช. ว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ อย่างไร ในฐานะกรรมการกตป.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค คงไม่มีอำนาจชี้ผิดถูกหรือลงโทษใครได้ แต่จะยังคงปฏิบัติงานภายใต้กรอบของกฎหมายในแง่ของการทำรายงาน ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลภายใต้สิ่งที่รับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ซึ่งกตป.จะทำรายงานส่งไปยังกสทช. และสภา แล้วก็รายงานต่อประชาชนต่อไป

แล้วคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) มีอำนาจยับยั้ง หรือพิจารณาอย่างไรบ้างไหมในประเด็นควบรวมนี้?

จิณณะ กล่าวว่า ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจโดยตรงในการสั่งห้าม แต่อำนาจจะเป็นไปตามพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ การบริหารจัดการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าการดำเนินการการควบรวมนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือตลาดหรือไม่ หรือการดำเนินการมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ดำเนินการใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายแล้วส่งผลเสียต่อผู้บริโภคหรือไม่

หากเป็นเช่นนั้น กลต.ก็จะสามารถใช้อำนาจตามพรบ.ดังกล่าว ในการเรียกให้มาชี้แจง หรือดำเนินการลงโทษผู้บริหารหรือบุคคลที่มีอำนาจในการบริหาร

การแข่งขันเป็นเรื่องปกติในระบบทุนนิยมเสรี แล้วจะทำอยางไร?

ปริญญา กล่าวว่า เมื่อเราเลือกแล้วที่จะมาในทางระบบเศรษฐกิจแบบให้มีการแข่งขัน ที่เรียกว่า “ทุนนิยมเสรี” คือจะต้องให้มีการแข่งขัน เพราะหากเป็นระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ก็จะเกิดการผูกขาดโดยรัฐ ไม่ต้องแข่งขัน ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่ามันไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรม เพราะผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะมีเพียงผู้ที่มีอำนาจรัฐเท่านั้น

ในระบบทุนนิยมโดยธรรมชาติแล้วผู้ประกอบการย่อมมุ่งผลกำไรสูงสุด แต่ก็ต้องมีการกำกับ ต้องมีการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคลื่นความถี่ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนมากขึ้นในทุกๆ ด้าน  ทั้งข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การตรวจสอบ การมีส่วนร่วม การโอนเงิน การซื้อของ

รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมาคอยดูแล คลื่นความถี่อันเป็นเป็นทรัพยากรของชาติ  ซึ่งชาตินั้นคือประชาชนที่เป็นเข้าของประเทศ จะทำอย่างไรให้เราได้ใช้คลื่นความถี่โดยมีค่าบริการที่ไม่แพงจนเกินไป เพราะยิ่งแพงคนก็ยิ่งเข้าถึงยาก ก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ

การที่ธุรกิจเหลือเพียงแค่สองรายใหญ่ จะทำให้เกิดการแข่งขันน้อยลง เพราะเขาจะ “ฮั้วกัน” คือเขาจะแข่งขันกันแค่ในระดับหนึ่ง ไม่ได้แข่งขันกันจริงจังแบบที่ควรจะเป็น เพราะเขาต้องแบ่งผลประโยชน์กันเอง ไม่ได้แข่งขันกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคอีกต่อไป เขารู้ว่าหากเขาแข่งขันกันมาก ๆ กำไรของเขาก็จะน้อยลง แต่การมีรายที่ 3 ที่ 4 เข้ามา มันจะทำให้เขาไม่สามารถฮั้วกันแบบนั้นได้ จึงเป็นที่ยุติว่าเราจำเป็นต้องมีรายที่ 3 หรือ 4 ในวงการต่างๆ การเหลือแค่ 2 ราย จึงไม่นับว่าเป็นการแข่งขันเสรี

อย่าลืมว่าการจะนำคลื่นความถี่มาให้บริการประชาชนมันต้องขออนุญาตจากกสทช. มันไม่ใช่กิจการเสรี และผู้ที่มีอำนาจอนุญาตก็ต้องดูแลให้เกิดการแข่งขัน  คือให้เกิด 3 รายขึ้นไป

จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของ ควร หรือไม่ควร คือผมอยากให้เกิดการพูดคุยกันในกสทช. ในประเด็น “ควรให้ควบรวมไหม” ไม่ใช่ว่าอนุญาตให้ควบรวมโดยที่ไม่ประชุมเรื่องนี้กันเลย คือมันต้องฟังความเห็นของทั้งสองฝ่ายอย่างทั่วถึงและตัดสินอย่างเที่ยงธรรมบนพื้นฐานผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ว่าหากควบรวมแล้วมีมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมา กับไม่ให้ควบรวมเลย แบบไหนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนมากกว่า

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีการประชุมเรื่องนี้กันเลยว่าควรอนุญาตหรือไม่ เพราะเขาอนุญาตด้วยวิธีการ “ยืนยันว่าตัวเองมีอำนาจแค่รับทราบ การจะรวมหรือไม่เป็นเสรีภาพของเขา เราทำได้แค่รับทราบ เมื่อทราบแล้วอย่างมากก็กำหนดเงื่อนไขว่าทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไม่ ‘หัวเปียก’”

ใน1-2 ปีแรก เชื่อผมเถอะว่าค่าบริการยังไม่ขึ้นหรอกเหมือนทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ ตอนแรกก็ 30 บาทเอง แต่ต่อมาก็ขึ้นราคาเรื่อย ๆ จนตอนนี้ 115 บาทแล้ว แล้วก็ยังสามารถขึ้นได้อีก

ทางสภาองค์กรฯ กำลังดำเนินการเตรียมฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง และขอการคุ้มครองชั่วคราว แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่ได้รับการคุ้มครองชั่วคราว?

จิณณะ กล่าวว่า เราต้องยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวไว้ก่อน เหตุผลหลักคือ ถ้าหากไม่มีการบรรเทาทุกข์หรือการคุ้มครองชั่วคราว แล้วเกิดการควบรวมขึ้นแล้ว 2 บริษัทเก่าจะหายไป เกิดเป็นบริษัทใหม่ แล้วถ้าบริษัทใหม่เกิดปัญหาขึ้นมา เช่น ถ้าปล่อยให้ดำเนินการต่อไปแล้วภายหลังมตินี้ถูกเพิกถอน คือการควบรวมดังกล่าวนี้เป็นไปด้วยความไม่ชอบและถูกเพิกถอน มันจะมีผลกลับมาในเรื่องสถานะของบริษัทที่มีการควบรวมไปแล้ว และบริษัทเดิมถือว่าสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลแล้ว

ผลกระทบจะตกไปอยู่ที่ผู้รับบริการ คือหากปล่อยให้การควบรวมดำเนินไปอย่างนี้โดยที่มติเองยังไม่ชี้ชัดว่าถูกต้องหรือไม่ หากวันหนึ่งมีการถอนมติขึ้นมา มันจะส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการจำนวนมาก และจะมีผลต่อความต่อเนื่องในการให้บริการ

สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุด คือการเอาจำนวนผู้บริโภคไปเป็นตัวประกัน “เอ้า คุณไม่อนุญาตผม คุณเพิกถอนหรอ ไม่ให้มันเดินไปต่อได้หรอ เพราะฉะนั้นความต่อเนื่องในการให้บริการก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภคนะ เขาใช้งานไม่ได้หรือมีปัญหา เราก็ไม่สามารถดำเนินการจัดการได้นะ เพราะว่าคุณไม่ให้เราดำเนินการต่อ เราไม่มีใบอนุญาต เราถูกเพิกถอน” อีกปัญหาคือ หากสองบริษัทถูกควบรวมเป็นบริษัทใหม่ แล้วต่อมาบริษัทใหม่ไม่ได้รับใบอนุญาต ผู้รับบริการจะจ่ายบิลให้กับใคร แล้วถ้าไม่จ่าย เขาจะระงับไหม มันวุ่นวายมาก

คือปัญหาจะเกิดขึ้นอีกเยอะมากถ้าไม่ได้รับการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ถ้าปล่อยให้ดำเนินการไปแล้วไปแก้ทีหลัง สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะถูกนำไปเป็นตัวประกันรึเปล่า ตรงนี้ที่น่ากลัว

สุดท้ายแล้วก็จะทำให้สูญเสียบรรทัดฐานหรือมาตรการทางกฎหมายที่ถูกต้อง เพราะเราไม่ได้ยึดโยงกับกฎหมายแล้ว เราไปยึดโยงกับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค ว่าเขาต้องได้ความต่อเนื่องในการบริการ ไม่งั้นเขาจะได้รับความเสียหาย ซึ่งมันไม่ใช่ส่วนยึดโยงในเรื่องของเรื่องมาตรการและกฎหมาย แล้วถ้าเป็นแบบนี้ มันก็จะเป็นบรรทัดฐานให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จะเกิดการเลียนแบบขึ้นอีก ผู้บริโภคก็จะถูกนำไปเป็นตัวประกัน และบ้านเมืองเราก็จะรักษากฎหมายไม่ได้แล้ว เพราะคนจะใช้วิธีการนี้กันหมด

กสทช. เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก แต่กลับลงมติให้การควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทคดำเนินการต่อไปได้  ทั้งๆ ที่คณะกรรมการทุกท่านก็ถูกคัดเลือกให้เข้าไปทำงานด้วยความรู้ความสามารถทางด้านนี้โดยตรง แต่กลับไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ดังกล่าว คณะกรรมการบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอำนาจหน้าที่ของตนคืออะไรจนถึงกับงดออกเสียง มติที่ออกมาก็เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง

เป็นเรื่องประหลาด ที่พวกเขาใช้เวลาประชุมนานถึง 11 ชั่วโมง แต่มติออกมากลับเป็นเพียง “รับทราบ”

.

ย้อนฟังการเสวนาได้ที่ https://www.facebook.com/tccthailand/videos/1130939457554377

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

News

อ.รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากระบบราชการไทย รัฐต้องกำหนดบทบาทให้แต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน

เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากความไม่เป็นเอกภาพกันของหน่วยงานรัฐ แนะรัฐบาล การเตรียมพร้อม แจ้งเตือนและรับมือภัยพิบัติต้องแก้ไขด้วยการกำหนดบทบาทและภารกิจที่ชัดเจนให้แต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างความชัดเจนในระบบเตือนภัยแห่งชาติ ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

News

รองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผย ผู้ร้ายแก๊งตบทรัพย์ถูกออกหมายเรียกแล้ว พร้อมเพิ่มรปภ.ในพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุในอนาคต

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ รองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผย ตำรวจออกหมายเรียกผู้ร้ายแก๊งตบทรัพย์แล้ว หลังกล้องวงจรปิดจับภาพผู้ก่อเหตุไว้ได้ พร้อมเพิ่มรปภ.ชุดใหม่ภายใต้การดูแลของกองบริหารศูนย์รังสิตโดยตรงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นอกเหนือการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินฯ จากกรณีมิจฉาชีพขี่รถจักรยานยนต์ตามรถยนต์ของหนึ่งในอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่ออ้างว่าผู้เสียหายขับรถเบียดจนเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขา ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Writings

วัวหายล้อมคอก ไฟไหม้ฟาง กับการแก้ปัญหาของรัฐไทย 

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ‘วัวหายล้อมคอก’ และ ‘ไฟไหม้ฟาง’ สำนวนที่เข้ากันดีกับการแก้ปัญหาในสังคมของรัฐไทย ที่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยมาคิดหาวิธีแก้ไข หรือไม่ก็ตั้งท่าจะแก้ไขแต่ไม่ทำอะไรจริงจัง จนมันก็สายเกินจะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ทันท่วงที ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save