Society

ว่าด้วยเรื่องความ ‘ไม่แฟร์’ ของการทำงานพาร์ทไทม์ที่ยากจะหลีกหนี

เรื่องและภาพ: ณัฐกมล สิทธิวงศ์

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สำหรับคนคนหนึ่ง การก้าวเข้าสู่รั้วสถานศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัยหมายถึงการทุ่มเทเวลามหาศาลให้กับการเรียนหนังสือ ทำการบ้าน ปั่นโปรเจค และทุ่มเทเงินไปกับการทำกิจกรรมเพื่อเข้าสังคม ที่นับได้ว่ากินพลังงานชีวิตและเวลาไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของวัน

ทว่าก็มีอีกหลายคนที่นอกจากจะต้องแบ่งเวลาไปเรียนแล้ว ยังต้องแบ่งเวลาอีกส่วนไว้ทำงานพาร์ทไทม์ (part time) ด้วย เพราะถ้าหากมีเรื่องให้ต้องใช้จ่ายแต่ดันขาดทุนทรัพย์ การทำงานพาร์ทไทม์ก็ดูจะเป็นหนึ่งในไม่กี่หนทางในการเอาชีวิตรอด เพื่อสานต่อการเรียน เติมเต็มความฝัน รวมทั้งสนองความต้องการทางวัตถุนิยมของตัวเอง

อย่างไรก็ตามโลกของการทำงานนั้นอาจไม่ได้สวยงาม หรือ ‘เป็นธรรม’ กับเรามากเท่าไรนัก โดยมี 3 ตัวแปรเป็นเงื่อนไขที่ต้องเผชิญ นั่นก็คือ เงิน ประสบการณ์ และเวลา

เงิน: ค่าแรงน้อยนิดกับปริมาณงานล้านแปด

ปัญหาทางการเงินมักเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนนึกอยากทำอาชีพเสริม ซึ่งในบริบทของเด็กนักเรียนหรือนักศึกษา ที่ภาครัฐสนับสนุนแกมบังคับให้เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาเป็นอย่างต่ำ คงจะหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าชุดเครื่องแบบ ค่าเดินทาง ค่าทำงานกลุ่ม หรือแม้แต่ค่ากิจกรรมของคณะ ในแต่ละปีไปเสียไม่ได้ และทำให้เด็กบางคนที่ขัดสนเรื่องเงินนั้น จำต้องต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นด้วยตัวเอง และก็มีอีกไม่น้อยที่มีค่าใช้จ่ายของครอบครัวพ่วงเข้ามาพร้อมๆ กันด้วย

กระนั้น รายได้ที่ได้จากงานพาร์ทไทม์ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับใครหลายคน และออกจะ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับ ‘งานบริการ’ ที่บ่อยครั้งเส้นแบ่งระหว่างงานที่รับผิดชอบกับงานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวันไม่มีอยู่จริง เมื่อปริมาณงานที่ต้องทำมีมากกว่าที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก

“ช่วง ม.6 เราทำงานพาร์ทไทม์ที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอยู่ 6 เดือน เพราะอยากหารายได้เสริมไว้ใช้ส่วนตัว กับแบ่งเบาภาระให้แม่ ซึ่งที่นี่จะคิดค่าแรงชั่วโมงละ 40 บาท แต่เรารู้สึกไม่ค่อยโอเคกับจำนวนเงินที่ได้เท่าไหร่ เพราะแต่เดิมเรามีหน้าที่ประจำอยู่ตรงล็อบบี้ คอยรับออเดอร์ เก็บจาน เช็ดโต๊ะ ดูแลความเรียบร้อยหน้าร้าน แต่ไปๆ มาๆ ดันถูกใช้ให้ไปทำงานหลังร้าน ไปกวาด ถู ล้างของ ยกลัง เลยต้องพยายามทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ เพราะถ้าเขา (ผู้จัดการ) เห็นเราว่างเมื่อไหร่ เขาก็จะใช้งานเพิ่มทันที”

— ประภัสสร จันทน์แปลง (แป้ง) นักศึกษาปี 4 คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยศิลปากร

แม้กรณีดังกล่าวจะดูเหมือนว่านายจ้างเอาเปรียบ ทว่าในทางกฎหมายกลับไม่ได้ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างแน่ชัดว่า หากถูกนายจ้างโยนงานที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบมาให้ทำ เรามีสิทธิร้องเรียนอะไรได้บ้าง เพราะส่วนใหญ่หากเป็นงานบริการ ขอบเขตของหน้าที่มักจะยืดหยุ่นและทับซ้อนกันอยู่แล้ว เช่น หากมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยหน้าร้าน แต่เกิดปัญหาขึ้นในครัว เราก็อาจต้องเข้าไปจัดการกับปัญหาตรงนั้นด้วย หากพนักงานไม่เพียงพอหรือแก้ไขไม่ทันท่วงที ระบบการทำงานทั้งหมดอาจหยุดชะงัก จนไม่สามารถบริการลูกค้าได้ เป็นต้น ซึ่งการใช้งานลูกจ้างหนักเกินพอดีนั้นอาจเป็นผลพวงมาจากความต้องการลดต้นทุนของเจ้าของร้าน ทำให้ปริมาณงานมหาศาลไปกองอยู่ที่คนเพียงไม่กี่คน

ตราบใดที่องค์กรนั้นๆ ยังจ่ายค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 40 บาทตามที่กฎหมายระบุไว้ ก็คงถือว่าการใช้งานลูกจ้างให้ทำหน้าที่สารพัดอย่างโดยไม่ได้ขัดต่อข้อกฎหมายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเราสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าวได้ ด้วยการศึกษานโยบายที่เกี่ยวข้องและสังเกตท่าทีของพนักงานในองค์กรนั้นๆ  อย่างบางที่อาจเปิดรับสมัครพนักงานน้อย แต่ระบุคุณสมบัติว่าต้องทำได้หลายหน้าที่ (multitasking) หรือเปิดรับคนเข้าทำงานเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ จะได้สะดวกต่อการเลิกจ้าง เป็นต้น

ประสบการณ์: สารพัดสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม

อีกหนึ่งสิ่งที่งานพาร์ทไทม์ได้ฝากไว้ให้กับแรงงานทุกคนนอกเหนือไปจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้น ก็คือประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน โดยเฉพาะประสบการณ์แย่ๆ ที่ได้รับในระหว่างการทำงาน จนทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานเลวร้ายตามไปด้วย สุดท้ายเราอาจโดนบีบให้เปลี่ยนงานในที่สุด

กรณีของหัวหน้างานหรือนายจ้างนั้นอาจมาในรูปแบบของการกลั่นแกล้ง ดุด่า ต่อว่า ข่มขู่ หรือบังคับให้ทำเรื่องต่างๆ โดยที่เราไม่เต็มใจ แต่ด้วยตำแหน่งพนักงานจึงยากจะปฏิเสธ เช่น การประเมินผลงานเราแย่กว่าความเป็นจริงเพราะมีอคติ การประจานความผิดพลาดของเราต่อหน้าเพื่อนร่วมงานเพื่อให้รู้สึกอับอาย หรือที่หนักไปกว่านั้นคือคุกคามทางเพศ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความผิดทางอาญาที่เราสามารถยื่นฟ้องร้องได้

“ตามสัญญา work & travel เราต้องไปเป็น server (พนักงานเสิร์ฟ) แต่นายจ้างกลับให้เราเริ่มทำตำแหน่ง hostess (พนักงานต้อนรับ) ก่อน บอกว่าต้องทำเป็นขั้นๆ ไป จะได้รู้ระบบภายใน เราก็อดทนทำไปเรื่อย ๆ พอถึงช่วงที่ใกล้หมดสัญญา เลยไปถามเช็คกับเขาอีกครั้งว่าจะได้เป็น server เมื่อไหร่ เขากลับบอกว่ามันไม่ทันแล้ว เหมือนโดนหลอกให้ความหวัง เราผิดหวังมากและก็ไม่ยอมเขา จนถูกขู่ว่าถ้าไม่ทำต่อก็จะโดนส่งกลับไทย หรือตัดวีซ่า ซึ่งมันไม่แฟร์มากๆ แล้วตอนนั้นก็ทำเรื่องเปลี่ยนงานไม่ทันแล้วด้วย”

— สุภาวรรณ วิไลประสงค์ (อิ่มเอิบ) นักศึกษาจบใหม่จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทว่าสถานการณ์ที่ลูกจ้างพบเจอได้บ่อยและวางตัวลำบากมักจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือเห็นได้ชัด ที่ตัดสินใจได้ในทันทีว่าควรจะทำงานอยู่ที่เดิมต่อไป หรือรีบลาออกให้เร็วที่สุด เช่น การถูกเพื่อนร่วมงานนินทาลับหลังหรือไม่ยอมให้ความร่วมมือ การถูกลดบทบาทหรือความสำคัญในกลุ่ม ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ได้เป็นภัยกับเรา แต่ก็บั่นทอนสภาพจิตใจอยู่ไม่น้อย จนหมดความมั่นใจไปพร้อมๆ กับไฟในการทำงาน

“ประสบการณ์หนึ่งที่ได้จากการไป work & travel ก็คือการได้รู้จักเพื่อนใหม่ แต่ด้วยความที่พนักงานส่วนใหญ่ในร้านจะมีชุดความคิดที่ว่า ‘ทิปใครทิปมัน’ ทำให้เกิดการแบ่งแยกว่า งานไหนเธอรับผิดชอบ งานนั้นเธอก็ได้เงินอยู่แล้ว ก็ทำไปคนเดียวสิ ทุกคนเลยไม่ค่อยช่วยเหลือกันเท่าที่ควร ทั้งที่จริงๆ มันควรจะช่วยกันในทุกภาคส่วนเพื่อให้กิจกรรมในร้านมันดำเนินต่อไปได้”

— สุภาวรรณ วิไลประสงค์ (อิ่มเอิบ) นักศึกษาจบใหม่จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามทุกคนล้วนมีภูมิคุ้มกันในเรื่องดังกล่าวและเงื่อนไขในการเลือกทำงานที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นหากเป็นงานที่ทำแล้วไม่จำเป็นต้องรักษาคอนเนคชันกับเพื่อนร่วมงานต่อ ก็อาจยื่นเรื่องลาออกเมื่อครบกำหนดตามสัญญา แต่ถ้าคิดว่าในอนาคตอาจจำเป็นต้องร่วมงานกันอีก ก็คงต้องทำหูทวนลม ปล่อยวาง และคิดเสียว่าพวกเขาเป็นได้แค่เพื่อนร่วมงาน และมีอิทธิพลกับชีวิตเราแค่ในเวลาทำงานเท่านั้น คิดในแง่ดีว่าเป็นหลักสูตรชีวิตฝึกควบคุมอารมณ์ก็คงไม่แย่สักเท่าไหร่

เวลา: สิ่งที่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง

สิ่งสำคัญที่การทำงานพาร์ทไทม์พรากไปจากชีวิตของใครหลายๆ คนก็คือเวลา ซึ่งในที่นี้หมายถึง เวลาในการเข้าคลาส เรียนหนังสือ ติวสอบ ทำกิจกรรมโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย การกินข้าวกลางวันแบบไม่ต้องรีบเร่ง การสังสรรค์หรือเดินตลาดนัดกับเพื่อนตอนเย็นๆ การนอนพักผ่อน หรือการได้ไปเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่บ่อยครั้งการทำงานพาร์ทไทม์ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะบางทีก็ติดทำงานหลังเลิกเรียน ต้องอยู่กะดึก ทำให้ต้องใช้ชีวิตที่เร่งรีบกว่าปกติ เพราะต้องแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดในแต่ละวัน

“ปกติหลังเลิกเรียนก็จะไปทำงานตั้งแต่ 17:00-22:00 ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ก็เริ่มทำตั้งแต่ 08:00-17:00 แต่ถ้าเป็นวันพิเศษ ค่าแรงจะคูณ 2 เพราะงั้นเราเลยต้องไปทำงานในวันแม่ แม้ว่าปกติทุกปีเราจะต้องพาแม่ไปเที่ยววันนั้นก็ตาม”

“ถึงจะทำงานเสร็จแล้ว แต่บางทีถ้ายังเคลียร์ของไม่เสร็จก็ต้องอยู่ต่ออีกหน่อย กว่าจะถึงบ้านเลยดึกมากพอสมควร พอถึงบ้านปุ๊บก็จะรีบอาบน้ำ และนอนให้ทันภายในเที่ยงคืนให้ได้ ไม่งั้นจะตื่นเช้าไปโรงเรียนไม่ไหว เอาจริงๆ ที่ถ่อสังขารไปเรียนได้นี่ก็คือกายหยาบล้วน ๆ แถมเวลาอยู่ในห้องเรียนก็แอบฟุบหลับบ่อย ๆ ด้วย เพราะมันง่วงมาก”

— ประภัสสร จันทน์แปลง (แป้ง) นักศึกษาปี 4 คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยศิลปากร

“งานที่ทำจะแบ่งออกเป็นกะ กะเช้าจะเริ่มตั้งแต่ 11:00-14:00 กะบ่ายก็คือตั้งแต่ 16:00-22.:30 แต่ปกติจะไม่ได้เลิกตรงเวลาขนาดนั้น บางทีเริ่มงานตั้งแต่ 06:00-23:30 เลยก็มี แต่ก็ต้องตื่นมาเตรียมตัวตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง จะได้ไปทำงานทัน ซึ่งเราก็ไม่เคยได้เลิก 5 ทุ่มตามเวลานะ จะเลิกเที่ยงคืนตลอด เวลาพักผ่อนเลยไม่พอ รู้สึกแย่เหมือนกัน”

— สุภาวรรณ วิไลประสงค์ (อิ่มเอิบ) นักศึกษาจบใหม่จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำงานพาร์ทไทม์ กะดึกหรือเลิกดึกส่งผลกระทบกับชีวิตทั้งในแง่การเรียน สุขภาพ และการมีเวลาว่างพักผ่อนหรือทำกิจกรรมคลายเครียดในวันหยุด ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของนักเรียนและนักศึกษานั้นย่ำแย่ลงอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ซึ่งผู้เขียนมองว่าผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานนั้นควรคำนึงถึงประเด็นนี้ เพราะนักเรียนและนักศึกษาต่างก็มีภาระหน้าที่ในรั้วสถานศึกษาที่ต้องประคับประคองและรับผิดชอบไปพร้อมๆ กับการทำงาน พวกเขาจึงไม่ควรทำงานดึกดื่นจนกระทบกับเวลาทำการบ้าน ทบทวนเนื้อหา หรือเรียนหนังสือ

การทำงานที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือก็คือไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่ผลกำไรจนต้องใช้งานลูกจ้างให้นานคุ้มกับค่าแรงที่จ่ายมากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เรื่องที่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์มักจะถูกเอาเปรียบก็คือ การต้องทำงาน ‘ล่วงเวลา’ หรือที่รู้จักกันว่าโอที (overtime) เกินกว่าที่กฎหมายระบุไว้ เนื่องจากนายจ้างจงใจที่จะฉวยโอกาสใช้งานหนักหรือมอบหมายงานเกินหน้าที่ และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ การเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดไว้ว่า หากเป็นค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ลูกจ้างรายเดือนจะต้องได้รับเงินเพิ่ม 1.5 เท่าของค่าจ้าง ส่วนค่าล่วงเวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี จะได้รับเพิ่ม 3 เท่าของค่าจ้าง นอกจากนี้ค่าล่วงเวลาจะต้องเป็นเงินเท่านั้น ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นวันหยุดได้

ภาพจาก freepik.com

ฉะนั้นหากทำโอที แล้วไม่ได้รับค่าตอบแทนในส่วนที่เกินมา เราก็สามารถร้องเรียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ทั้ง 2 วิธี ได้แก่ การร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ และการเดินทางไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ที่ทำงานอยู่ด้วยตัวเอง โดยเอกสารที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อยื่นเรื่องนั้น หลักๆ ก็จะมี แบบฟอร์มร้องเรียน คร.7 ที่ใช้สำหรับยื่นคําร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และรายละเอียดหลักฐานต่างๆ ที่สามารถเช็คและสอบถามได้ผ่านเฟซบุ๊คของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ตาม หากไม่ประสงค์จะยื่นร้องเรียนกับทางกรมสวัสดิการฯ ก็สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งผ่านศาลแรงงานเองได้ โดยต้องยื่นคำร้องภายใน 2 ปี แต่จะใช้ใช้สิทธิร้องเรียนซ้ำซ้อนกันทั้งสองที่ไม่ได้

การถูกเอาเปรียบจากนายจ้างมักถูกทำให้เป็นเรื่องปกติบนฐานคิดที่ว่า หากประสงค์ที่จะเข้าไปทำงานเพื่อเงินแล้ว ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายงานอะไร ก็ต้องทำให้เต็มที่ที่สุดโดยไม่ปริปากบ่น ในขณะเดียวกันหากเข้าไปทำงานเพื่อเอาประสบการณ์ล้วน ๆ ก็ต้องทนกับงานหนักหรือล่วงเวลาให้ได้ เพราะถือเป็นบททดสอบความขยัน ความอดทน ที่จะทำให้เราเติบโตขึ้นและพร้อมรับมือกับงานที่อาจหนักหนากว่านี้ได้ในอนาคต

การให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดร้ายแรงอะไร เพราะเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนล้วนไม่เท่ากัน และก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะโยกย้ายเปลี่ยนงานได้ในทันที แต่ก็อยากให้ลองทบทวนกับตัวเองว่า กำลังถูกเอาเปรียบอยู่หรือไม่ และชั่งน้ำหนักระหว่างการดำเนินเรื่องฟ้องร้อง กับการเลือกที่จะปล่อยผ่านและเปลี่ยนไปทำงานที่ใหม่ให้ดี  เพราะทั้งสองวิธีอาจทำให้เราต้องเสี่ยง หรือเสียเวลาชีวิตได้ไม่ต่างกัน

หากฟ้องร้องก็อาจเสี่ยงที่จะถูกนายจ้างฟ้องกลับ เสียเงินและเวลาในการดำเนินเรื่องฟรีๆ โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ถ้าหากเลือกที่จะเปลี่ยนงานใหม่ไปเรื่อย ๆ หลายคนก็อาจหางานที่ตรงกับคุณสมบัติตัวเองไม่ได้อีกแล้ว และถ้าจะให้พักทำงานไปเลยก็คงยาก หากจำเป็นต้องหาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

แต่ไม่ว่าอย่างไรการดึงตัวเองออกจากสังคมการทำงานที่ไม่เป็นธรรมและบั่นทอนจิตใจนั้นก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำและสามารถทำได้ เพื่อไม่ให้มันกลายเป็นเรื่องปกติที่เรารู้สึกชินชา จนเลิกตั้งคำถามถึงความไม่สมเหตุสมผลในที่สุด

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
7
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Shot By Shot

แม่คนที่สอง

เรื่องและภาพ: ปิยะพร สาวิสิทธิ์ “แม่ หล่าอยากกินไอติม” เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กน้อยในหมู่บ้านที่เปล่งออกมาอย่างกระตือรือร้นเมื่อเห็นรถขายไอศกรีมซิ่งผ่านหน้า ทว่าเมื่อมองกลับไปหาคนที่เด็กน้อยเรียกว่า ‘แม่’ ก็เห็นเพียงแต่หญิงที่มีรอยย่นบนผิวหนังและดูมีอายุเกินกว่าที่เด็กราว 5 – 6 ขวบจะเรียกว่าแม่ได้  เมื่อพิจารณาดูแล้วก็คงเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในชนบท ภาพของเด็กๆ ที่อยู่กับผู้สูงอายุแทนที่จะเป็นพ่อแม่ ...

Articles

หลอดไฟในดงไม้ แสงสว่างที่ระบบนิเวศไม่ต้องการ

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ในเมืองกรุงอันแสนกว้างใหญ่ แม้จะเป็นเวลากลางคืนที่ฟ้ามืดสนิท แสงจากไฟถนนและตึกยังคงส่องสว่างเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ และในเมืองที่ไม่มีวันดับแสงนี้ การจะเห็นดาวที่ลอยอยู่เต็มผืนฟ้าช่างยากเหลือเกิน แม้แสงไฟจะเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่ไม่ใช่ทุกที่จะเหมาะสมกับความสว่างไสวนี้ ...

Articles

ต้องอายุเท่าไหร่ ถึงควรจะประสบความสำเร็จ?: ชวนสำรวจนิยามความสำเร็จผ่านตัวละครหลักหลากวัยจาก Only murders in the building

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ คุณเคยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองว่างเปล่าหรือไร้ค่าบ้างไหม? คุณเคยรู้สึกเจ็บช้ำจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าบ้างหรือเปล่า? คุณเคยมองความสำเร็จของคนอื่นแล้วถามตัวเองหรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่? หากคุณเคยรู้สึกหรือเคยถามตัวเองแบบนั้น คุณอาจเป็นเหมือนสามตัวละครหลักจาก Only murders in the ...

Articles

ผม (ไม่) เคย เฉยชากับความตาย

เรื่องและภาพประภาพ: Amphea Warning : บทความชิ้นนี้มีการพูดถึงเนื้อหาของการพยายามอัตวินิบาตกรรมและการสูญเสียของคนใกล้ตัว โปรดอ่านอย่างระวัง ‘อาม่า’ ของผมเสียไปตั้งแต่ตอนที่ผมอยู่ในวัยประถม แม้ช่วงบั้นปลายชีวิต เธอจะเริ่มหลงลืมลูกหลานและอารมณ์รุนแรงไปบ้าง แต่สำหรับลูกทั้ง 8 คนแล้ว เธอยังคงเป็นคนที่ทุกคนในครอบครัวรักมากที่สุดคนหนึ่ง ส่วนผมนั้นไม่ได้มีความทรงจำเกี่ยวกับอาม่ามากนัก ...

Articles

ออกเดินทางมาแล้วแต่ยังไกลจุดหมาย : ตอนนี้ Universal Design พาคนพิการเดินทางไปได้เท่าไหนในไทย

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้วที่คนพิการต้องเรียกร้องสิทธิต่างๆ ทั้งในประเด็นสิทธิในการเข้าทำงาน มุมมองด้านลบที่คนพิการเคยถูกมองว่าไม่มีความสามารถ หรือเคยทำกรรมไว้จึงพิการ และปัญหาความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขาหลังจากที่ต้องสูญเสียทักษะบางอย่างไป การเดินทางเองก็เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ที่คนพิการต้องพบเจอและมีการเรียกร้องมาเป็นเวลานาน จนมีกฎหมายเกี่ยวกับ Universal Design ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save