InterviewWritings

กว่าจะได้ทำหนัง และความช่วยเหลือจากอาจารย์ใหญ่

เขียนและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร

กลางวัน / ภายใน / คาเฟ่สักที่

บลูนั่งกินกาแฟอยู่ในคาเฟ่ ท่ามกลางเสียงพูดคุยของผู้คน กำแพงด้านข้างประดับไฟคริสต์มาส

XCU ปากที่กำลังจรดขอบแก้วกาแฟ
2 SHOT รับข้างบลูที่กำลังดื่มกาแฟ พร้อมกับผู้สัมภาษณ์เดินเข้ามานั่งข้างบลู
CU บลูที่หันมาหาผู้สัมภาษณ์

ผู้สัมภาษณ์

พร้อมยัง?

บลู

พร้อมละ

ผู้สัมภาษณ์

แต่เรายัง ขอเวลาแป็บ

CU ผู้สัมภาษณ์หาของในกระเป๋า

XCU บนโต๊ะมีแก้วกาแฟวางและของวางระเกะระกะ ผู้สัมภาษณ์กวาดของหลบไปด้านข้าง หยิบมือถือขึ้นมาวางบนโต๊ะพร้อมเปิดเข้าแอปอัดเสียง

ผู้สัมภาษณ์

พร้อมละนะ

บลู

พร้อมสุด ๆ

นิ้วกดบันทึกเสียง

แนะนำตัวให้คุณผู้อ่านรู้จักหน่อย

สวัสดีค่ะ (ขำ) ชื่อชาลิสา แสงเนตร ชื่อเล่น บลู ปี 4 เอกภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ค่ะ

บลูจะเรียนจบแล้วป่ะ?

ใช่ เหลือเรียนเทอมหน้าเทอมเดียวก็จบแล้ว

อย่างนี้เทอมหน้าเหลือเรียนอะไรบ้าง

เทอมหน้าเหลือแค่เรียน 1 วิชากับทำหนังธีสิสกับเขียนเล่มสารนิพนธ์

ทำตำแหน่งอะไรในหนังธีสิสของตัวเอง?

ทำตำแหน่ง Production designer (ผู้ออกแบบงานสร้างในภาพยนตร์)

จริง ๆ ธีสิสอันนี้คือทำร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือมินนี่ – ศุภัชฌา เครือสุคนธ์ เขียนบทพ่วงตำแหน่งผู้กำกับ และอิ่มเอิบ – ณัฐธีร์ วิรโชติกุลโรจน์ เป็นตากล้อง

ตอนนี้เขียนบทกันไปถึงไหนแล้ว

ตอนนี้บทยังเป็นแค่ดราฟแรก ยังต้องแก้อีกเยอะเลย

จริง ๆ เมื่อวันก่อนพึ่งจะไปปรึกษาอาจารย์มาเหมือนกัน กลายเป็นว่าต้องกลับมาแก้บทใหม่เกือบทั้งหมด เพราะว่าบทที่เราเขียนไปมันยังไม่โฟกัสกับจุดที่เราอยากจะโฟกัส เหมือนเรากังวลว่าเรื่องของเรามันจะสมเหตุสมผลไหม เราเลยใส่ข้อมูลที่ได้มาเยอะเกินไป ทำให้บทให้ความสำคัญผิดจุด

มินนี่ที่ผู้กำกับแล้วก็เป็นคนเขียนบทก็ท้อเหมือนกัน เพื่อนรู้สึกว่าที่ผ่านมาเหมือนเขียนไปแล้วไม่ได้อะไรเลย ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ใช่ มันก็อย่างนี้แหละ ต้องแก้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถ่าย

แต่พอได้เขียนดราฟแรกออกมาคร่าว ๆ แล้วพอจะมองออกรึยังว่าจะถ่ายที่ไหน

ได้ละ เราคิดไว้ว่าน่าจะมีประมาณ 3-4 เซตติงที่ใช้เล่าในงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าเราจะไปถ่ายที่บ้านเรา จังหวัดตราด

ด้วยความที่เราเป็นคนตราด เราก็อยากดึงองค์ประกอบ บรรยากาศของความเป็นตราดมาอยู่ในงานของเรา แล้วด้วยความที่เราไม่ใช่คนจังหวัดอื่นด้วย เราก็เลยไม่รู้ว่าบรรยากาศของจังหวัดอื่นมันเป็นยังไง เราเลยดึงบรรยากาศที่เราคุ้นเคยมาไว้ในหนังของเรา

อีกอย่างคือด้วยความที่เพื่อนร่วมงานของเรา 2 คน เป็นคนกรุงเทพฯ ด้วย กรุงเทพมันก็คือกรุงเทพฯ เราเห็นบรรยากาศของมันในหนังเรื่องอื่น ๆ มาเยอะแล้ว เลยอย่างดึงความสนใจจากจังหวัดอื่นมาไว้ในหนังของตัวเองให้มันเป็นเอกลักษณ์ แล้วถ้าไปตราดกองถ่ายก็สามารถใช้งานบ้านเราได้ แบบไปพักที่นั่นหรือใช้ที่นั่นเป็นสถานที่ถ่ายทำเพราะบ้านเรามีสวนผลไม้ด้วย สามารถลดงบประมาณที่ต้องใช้ไปได้

อย่างนี้วางงบประมาณเท่าไหร่

ตกลงกันว่าจะลงเงินกันคนละ 5 หมื่นบาท รวมกันเป็น 1.5 แสนบาท ซึ่งจะรวมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ว

ตอนแรกเราคิดกันไว้ว่าจะแบ่งเงินกันเป็น 3 ส่วน เท่า ๆ กันส่วนละ 3 หมื่นบาท เพื่อใช้ทำงานก่อน มิ้นนี่จะดูแลในส่วนของการจัดการต่าง ๆ  อิ่มเอิบจะดูแลในส่วนของอุปกรณ์กล้องและไฟ ส่วนบลูดูแลในส่วนค่าของอาร์ต ของประกอบฉากต่าง ๆ  แล้วอีก 2 หมื่นบาท ที่เหลือค่อยเก็บไว้สำหรับฉุกเฉินในส่วนที่ตัวเองดูแล

แต่ว่าจากที่ปรึกษากันแล้วคิดว่าในส่วนของการจัดการน่าจะต้องใช้เงินเยอะ น่าจะไม่สามารถแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน เท่า ๆ กันได้ ก็เดี๋ยวคุยกันอีกทีว่าสัดส่วนงบแต่ละฝ่ายจะเป็นเท่าไหร่

อย่างนี้ลงเงินกันคนละ 5 หมื่นบาท เอาเงินมาจากไหนกัน เป็นเงินก้อนที่ไม่ใช่น้อย ๆ เลย

ส่วนตัวบลูทำงานเป็น Art Director (ผู้กำกับศิลป์ หรือเรียกอย่างย่อว่า อาร์ตได) ให้กองโฆษณาหรือกองเอ็มวีต่าง ๆ อยู่แล้ว ก็พอจะมีเงินเก็บไว้ส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหนังธีสิส

แต่แน่นอนว่าถึงแม้เราจะมีงานทำ มีเงินเก็บส่วนหนึ่ง แต่ตัวเราก็ไม่น่าจ่ายทั้งหมด 5 หมื่นบาทไหว เรายังอยากใช้เงินหาความสุขให้ตัวเอง เอาไปกินอาหารดี ๆ สักมื้ออะไรอย่างนั้น เลยวางแผนไว้ว่าจะไปขอยืมจากญาติ ๆ มาก่อนสัก 2.5 หมื่นบาท แล้วเรียนจบก็ค่อยทยอยคืน

บลูตอนทำงานเป็น Art Director ให้กับกองถ่าย MV Highway ศิลปิน Stoondio
บลูตอนทำงานเป็น Art Director ให้กับกองถ่าย MV Highway ศิลปิน Stoondio

บลูเริ่มทำงานตั้งแต่เมื่อไหร่ 

จริง ๆ บลูซิ่วมาจากคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เนี่ยแหละ มาเรียนภาพยนตร์ แล้วพอเข้ามาปี 1 ด้วยความกลัวว่าจบไปจะตกงาน เราเลยพยายามหาโอกาส (ให้ได้ทำงาน) แล้วก็ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ที่รุ่นพี่สร้างไว้หาคนทำงานในสายฟิล์ม เอาจริง ๆ งานส่วนใหญ่ในนั้นไม่ค่อยได้เงินหรอก แต่ว่ามันจะได้สังคม ได้รู้จักคนเพิ่ม ก็ลองไปทำดูก่อน

แล้วจังหวะชีวิตก็ทำให้ได้รู้จักกับพี่อินทร JC59 ตอนนั้นเขาทำอาร์ตไดแล้วต้องการคนไปช่วยทำตำแหน่ง Art Runner คอยจัดของหน้าเซตในกองโฆษณาอะไรแบบนั้น เราก็เลยเสนอตัวไป พอคนรู้ว่าเราทำได้ก็มีคนติดต่อให้เราไปทำ Art Runner เรื่อย ๆ

แล้วได้ลองเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นไหม?

ลอง คือช่วงปี 1 กับปี 2 เราทำ 2 ตำแหน่ง คือเป็น Art Runner กับ Production Assistance (ผู้ช่วยจัดการกองถ่าย หรือเรียกอย่างย่อว่า PA) ซึ่งพอหลัง ๆ เราได้งาน PA เยอะ ๆ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่เหมาะกับเราเลย ก็เลยเดินไปกระซิบพี่ที่ดึงเราไปทำ PA ว่าอยากทำงานในส่วนอาร์ต ซึ่งพี่เขาก็เอางาน Art Director มาให้ตอนปี 3

แต่จริง ๆ ก่อนหน้านั้นได้ทำงานที่เป็น Art Director แล้วเหมือนกัน แต่เป็นงานที่ไม่ได้ค่าแรง เพราะไปช่วยแฟนที่ทำตำแหน่งผู้กำกับ ด้วยความที่เขาเห็นว่าเราอยากทำตำแหน่งนี้แต่ยังไม่มีโอกาสเข้ามาสักที เขาเลยให้ไปลองทำดู หลังจากนั้นก็เริ่มมีงาน Art Director เข้ามาเรื่อย ๆ

แต่ก็ไม่ได้มีแค่ตำแหน่ง PA ที่ได้ไปลองทำแล้วไม่ชอบ มีโอกาสได้ลองทำตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับในกองหนังธีสิสของรุ่นพี่ตอนปี 2 ด้วย รู้สึกว่างานไม่สนุก มันกดดัน เครียด ประกอบกับว่ารู้สึกว่าเราทำได้ไม่ดีในตำแหน่งนี้ด้วย เพราะด้วยตำแหน่งทำให้ต้องสื่อสารกับคนหลาย ๆ ฝ่าย ต้องใช้พลังงานในการสื่อสารเยอะ แล้วส่วนตัวเราค่อนข้างเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยชอบการสื่อสารกับคนอื่นเท่าไหร่ ก็เลยไม่ชอบ ชอบทำเกี่ยวกับอาร์ตมากกว่า

บลูตอนทำงานผู้ช่วยในกองถ่ายหนังธีสิสของรุ่นพี่

เหมือนตอนนั้นรู้สึกแค่ว่ามีอะไรให้ทำก็เข้ามาเหอะ ขอให้ได้ไป จะได้มีคนเห็นเรา คิดเสียว่ามันคือการที่เราได้ไปเจอคน แล้วเราจะได้เรียนรู้งานในส่วนอื่นแบบที่มันเป็นโลกของการทำงานจริง ๆ แล้วเราจะได้รู้ว่ามุมมองของแต่ละฝ่ายเขามองยังไง

การทำอาร์ตมันตอบโจทย์เราที่ไม่ต้องคุยกับใครอย่างเดียวเลยเหรอ?

คือเราไม่ต้องสื่อสารกับคนเยอะ เราสื่อสารกันแค่ภายในทีมอาร์ตพอ และคุยกับแค่ผู้กำกับหรือDP (ผู้กำกับภาพ) เพื่อทำภาพในหัวของคนพวกนี้ให้มันชัด มันง่ายกับเรา

อีกอย่างคือ งานของเราเป็นรูปธรรมมากกว่าทีมอื่น มันก็เลย “ฟิน”

พอทำมาเรื่อย ๆ เข้าเนื้อบ้าง เท่าทุนบ้าง ค่าแรงพึ่งมาสมเหตุสมผลเมื่อตอนเข้าปี 4 นี่เอง

ยังไง

เรารู้สึกว่าช่วง ปี 4 เป็นช่วงที่เราบริหารเงินได้ค่อนข้างเหมาะสมที่สุดแล้ว งานที่เข้ามาช่วงปี 3 เงินไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ เพราะเราคิดแค่ค่าของกับค่าตัวไม่กี่พัน ด้วยความคิดง่าย ๆ ซึ่งเอาจริง ๆ แค่ค่าของก็ไม่พอแล้ว กลายเป็นว่าเข้าเนื้อตัวเอง

ตัวอย่างเช่น มีคนมาติดต่อให้ทำ Art Director มีงบประมาณให้ 2 หมื่น ออกกอง 1 คิว เซตอาร์ต 3 เซต ถ้าเป็นเด็กมหาลัยก็อาจจะคิดง่าย ๆ ไปหายืมของเอา แต่การทำงานในความเป็นจริงแล้วมันจะต้องมีส่วนที่ทำ Mock up ขึ้นมา ซึ่งส่วนนี้จะมีต้นทุนเป็นค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าหาของ ค่าทำของ มันใช้งบประมาณในส่วนนี้เยอะ แล้วถ้าหากต้องยืม-คืนของอีก ก็ต้องมีการเดินทางไปยืม-คืนของ และถ้าไม่มีของให้ยืมทีนี้ก็ต้องหาซื้อ กลายเป็นว่างบที่ได้มา 2 หมื่น เราวางไว้ว่าครึ่งหนึ่งเป็นค่าของ อีกครึ่งหนึ่งค่าตัว แน่นอนว่าไม่พอ ก็จะกลายเป็นว่าเราเหลือค่าตัวให้เราแค่ 2 พันบาท กับค่าตัวให้ลูกทีม 1.5 พันบาท

ค่าตัวสำหรับลูกทีมอาร์ต 1.5 พันบาท คุ้มไหม

ลองจินตนาการว่าถ่าย 1 คิว เริ่ม 9 โมงเช้า เลิก 3 ทุ่ม เราเป็นทีมอาร์ตเราจะต้องไปเซตของก่อน ซึ่งเราอาจจะต้องถึงหน้าเซตเพื่อเซตฉากประมาณตี 5 และถ้าเก็บของ เขาเลิก 3 ทุ่ม เราก็ต้องอยู่ดึกกว่านั้นเพื่อทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ อาจจะสัก 2-3 ชั่วโมง ได้กลับบ้านก็สี่-ห้าทุ่ม

คือ 1 คิว 1.5 พันบาท แต่เราเหนื่อยมากกว่าค่าแรงที่เราได้มา ก็น่าจะไม่คุ้มเท่าไหร่

สถานที่ที่บลูและลูกทีมต้องเซตให้ออกมามีชีวิตชีวา เพื่องาน MV Last Festival ศิลปิน Less

บลูกับลูกทีมที่กำลังเซตสถานที่ โดยการนำผ้ามาขึงระหว่างช่องลมเพื่อใช้เป็นผ้าม่านบังแดด

ผลงานหลังจากเซตเสร็จ ให้ความรู้สึกมีร่องรอยของการใช้งาน การใช้ชีวิตของคน แต่ต่างจากก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นสถานที่รกร้างเปล่า ๆ

แล้วถ้าเป็น Art Director เราไม่ใช่แค่ไปออกกอง 1 คิวจบ แต่เราต้องไปออกแบบเพื่อขายงาน ทำสตอรี่บอร์ด, ทำ Key Visual,  ไปดูสถานที่ที่จะใช้ถ่ายเพื่อวางแผนการทำงาน, อาจจะต้องมีการแก้บรีฟเพื่อทำ Key Visual แล้วก็ต้องมี Blockshot อีก (วันที่หัวหน้าฝ่ายทดลองถ่ายทำในสถานที่จริง ด้วยอุปกรณ์อย่างง่าย เพื่อดูการจัดการ Workflow ของงานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปกำหนดเป็นตารางเวลาการทำงานอีกทีหนึ่ง) แล้วมียืม-คืนของอีก แต่ละกระบวนการใช้การทำงาน 1 วัน คิดง่าย ๆ คือ คูณ 1.5 พันบาท เท่ากับว่าเราต้องได้เงิน 1.05 หมื่นบาท ด้วยซ้ำ แต่เราอาจจะตกลงค่าตัวไปแล้วที่ 3 พันบาท คิดว่ามันสมเหตุสมผลไหม?

แน่นอนว่ามันไม่สมเหตุสมผลหรอก แต่มันเป็นแบบนี้จริง ๆ

“เรารู้สึกว่ามันต้องมีงบประมาณที่รองรับมากกว่านี้ด้วย”

แล้วย้อนกลับมาที่ธีสิส มันคุ้มไหม

จริง ๆ ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าจะฝึกงานหรือว่าจะทำหนัง เพราะมันสามารถเลือกได้ เราปรึกษาแม่ แม่ก็บอกว่า “ฝึกงานก็ดีนะ” คือแม่สนับสนุนให้ฝึกงานมาก (ย้ำ) เพราะกลัวลูกสาวไม่มีงานทำ ซึ่งตอนแรกก็บอกไปว่าฝึกงาน

แต่ด้วยความที่เราเคยผ่านการทำงานมาหลายตำแหน่ง เราก็มองว่า ในฐานะฟรีแลนซ์ เราน่าจะรอดแล้ว มีงานให้ทำแน่ ความเครียดที่มีตอนปี 1 ที่คิดว่า “เรียนจบไปจะไม่มีงานทำ” มันหายไปประมาณนึง แต่ปัญหาคือมันมีงานทำก็จริง แต่เงินที่ได้มันจะเพียงพอไหมก็เรื่องหนึ่ง

อีกอย่างการทำงานที่ผ่านมาคือเราเล่าเรื่องราวของผู้กำกับคนอื่น แล้วใช้งานอาร์ตของเราสนับสนุนความคิดของเขา ซึ่งมันไม่ใช่ตัวเราร้อยเปอร์เซ็นต์

การทำหนังธีสิสมันเลยเป็นเรื่องราวของเรา และสิ่งที่เราอยากบอกกับคนดูจริง ๆ

“สำหรับเราก็อยากทำงานที่เป็นตัวเราสักชิ้น แบบอยากทำอะไรก็ทำเลย”

“มันก็เลยแบบ…..ดีกว่า”

อะไรที่อยากทำหนังขนาดนั้น

ตอนมัธยมเรามีความฝันอยากเรียนภาพยนตร์ แต่เราก็ยังลังเลมาก เราคิดว่าเราจะรอดไหม (เสียงสั่น)

เรารักในการเล่าเรื่องเป็นภาพ ชอบการเล่าเรื่องในภาพของตัวเอง ชอบการถ่ายภาพฟิล์มมาก เลยถ่ายมาตั้งแต่มัธยม ประกอบกับชอบเขียนเรื่องสั้นด้วย เวลาได้เขียนมันหรือทำมันออกมา มันทำให้เราสบายใจ เราก็เลยคิดว่า “เออ มันคงไม่มีอะไรอย่างอื่นที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุขมากกว่านี้แล้ว” มันเป็นสิ่งที่ทำแล้วไม่เคยรู้สึกเบื่อ ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่อยู่กับเรามาตลอด

พอช่วงที่ต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งที่เราคิดไม่ตกจริง ๆ “เราจะเรียนภาพยนตร์จริง ๆ ใช่ไหม?” มีคำถามนี้เกิดขึ้นในหัวตลอด ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่พี่เต๋อ นวพล พึ่งไปล่ารางวัลที่ต่างประเทศมา เราได้อ่านหนังสือเขา เราเห็นอยู่ว่าเขากำลังเติบโต ประกอบกับเราก็ชอบอ่านสัมภาษณ์อยู่แล้ว ช่วงนั้นมันยังไม่มีจุดพีกของภาพยนตร์ไทยขนาดนี้ เราเลยรู้สึกว่าโอกาสเติบโตในวงการภาพยนตร์ไทยมันไม่ได้มีเยอะ (เสียงสั่น)

เราก็ไม่ได้มองว่าเราจะเป็นผู้กำกับด้วย เราก็เลยรู้สึกว่า “เราไม่ได้เป็นผู้กำกับเราจะไปรอดเหรอวะ?”

ด้วยความที่ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่มันต้องกรอกคณะที่จะเลือกเรียนแล้ว ก็เลยเลือกคณะจิตวิทยา จุฬาฯ คณะวารสารศาสตร์ มธ. แล้วก็คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. 3 อันดับ เพราะว่าตอนมัธยมเรียนสายวิทย์-คณิตมาด้วย เพื่อนในห้องตอนนั้น ทุกคนเลือกอะไรที่มันเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หมดเลย ก็เป็นอีกตัวแปรที่ทำให้เราเลือกคณะพยาบาล แล้วด้วยความไม่มั่นใจในตัวเอง เรียนสายวิทย์มา ก็เลยเพลย์เซฟไว้ก่อน

จริง ๆ ตอนนั้นแม่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันพอดี ป่วยติดเตียงไปเลย 3 เดือน ก็อยากให้แม่สบายใจด้วยกับการที่เราจะอยู่ดูแลเขาได้ ซึ่งพอตอนนี้คิดย้อนกลับไปก็งงตัวเองว่าจะดูแลแม่ได้ยังไง สมมติถ้าเป็นพยาบาลก็ต้องไปเข้าเวรอยู่ดี จะเอาเวลาที่ไหนไปดูแลแม่ แต่นั่นแหละ เลือกเรียนไปแล้ว เพราะรู้สึกว่า “พยาบาลก็เป็นตัวเลือกที่มั่นคงดีนี่” อะไรแบบนั้น

แต่พอได้ไปเรียนพยาบาลจริง ๆ เนื้อหาที่เรียนมันไม่ได้มีการถ่ายภาพที่เราชอบเลย (น้ำเสียงโอดครวญ) เราไม่ได้เขียนอะไรเลย แล้วเราต้องเรียนเรื่องจรรยาบรรณพยาบาล

“มันไม่ช่ายยย” (น้ำเสียงอ่อนแรง)

เรารู้สึกว่าเป็นการเรียนที่ไม่ได้ให้แรงบันดาลใจเราขนาดนั้น ในจังหวะชีวิตที่เราตัดสินใจเลือกว่าเราจะไปต่อกับพยาบาลดีไหม เรานึกถึงงานนิทรรศการของพี่เต๋อ ชื่องาน I Write You a Lot จัดที่ Bangkok CityCity Gallery ในงานจะจัดแสดงรูปที่พี่เต๋อไปสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แล้วเขียนบรรยายไว้

ภาพบันทึกความประทับใจของบลูตอนไปงาน I Write You a Lot ซึ่งจัดขึ้นที่ Bangkok CityCity Gallery

เรานึกถึงการได้เข้าไปยืนท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้มันใช่ มันเป็นตัวเรา เราเจอสิ่งที่เป็นเราแล้วอะไรแบบนั้น

พี่เต๋อ นวพลเป็นแรงบันดาลใจ?

(ยิ้มเขิน) ช่วงมัธยมปลายได้ดูงาน mary is happy, mary is happy ในยูทูบ ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกของพี่เต๋อที่ได้ดู ตอนแรกมีความรู้สึกสองอย่างปนกันระหว่างไม่ชอบกับชอบ ไม่ชอบคือรู้สึกว่ามันไม่สื่อสารกับเรา เราดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ส่วนที่ชอบมันแปลกมาก เราชอบความธรรมดาของมัน ทั้งระหว่างทางของหนัง บทพูด เฟรมภาพ การเลือกใช้เสียงประกอบ หรือการเรียงลำดับเรื่อง ทุกอย่างมันธรรมดาไปหมด ซึ่งไอ้ความธรรมดานี้แหละมันเล่นงานกับความรู้สึกระหว่างที่เราดู แต่พอลองเอาให้เพื่อนดู ปรากฏว่าเพื่อนรู้สึกไม่ชอบ ไม่อิน ดูไม่รู้เรื่อง ซึ่งความเห็นของเพื่อนก็ยิ่งทำให้เราเริ่มสนใจพี่เต๋อ จนไปไล่ดูหนังเก่า ๆ ของพี่เขา แล้วได้มาอ่านหนังสือชื่อ “ที่โรงภาพยนตร์ไกลบ้านคุณ” ที่พี่เขาแต่งด้วย

หนังสือ โรงภาพยนตร์ใกล้บ้านคุณ น่าจะเป็นตัวจุดประกายความสนใจในสายภาพยนตร์ของเรา มันเล่าถึงความไม่รู้ ความกระตือรือร้น และความหลงใหลในการทำภาพยนตร์ของตัวพี่เขา ที่ส่งผลให้เขาได้ทำหนัง และหนังนี้ดันมีศักยภาพพอทีจะส่งประกวดได้ ซึ่งมันพาพี่เต๋อในวัยนั้นออกเดินทางไปไกลถึงเยอรมนี

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเรารับรู้ได้ถึงเสียงและมวลความรู้สึกบางอย่างผ่านอักษรบนหน้ากระดาษ เราอ่านจบก็ส่งต่อให้เพื่อนสนิทเราอีก 1-2 คน ปัจจุบันคนสนิททั้งสองก็เรียนเอกภาพยนตร์ ไม่ก็ทำงานสายการแสดงละเวที

บางส่วนของหนังสือ โรงภาพยนตร์ใกล้บ้านคุณ แค่พลังของตัวอักษรในส่วนเล็ก ๆ นี้ก็กระทบกระเทือนความรู้สึกบางอย่างภายในจิตใจของเราอย่างรุนแรงจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยที่บลู และเพื่อน ๆ จะตัดสินใจเรียนภาพยนตร์

อีกอย่างหนึ่งคือ เราไปได้ฟังบทสัมภาษณ์พี่เต๋อด้วย มันประมาณว่า “จริงๆ หนังมันมีหลายรูปแบบ หนังเรื่อง mary is happy, mary is happy ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ช่วงนั้นคนบอกว่าเป็นหนังนอกกระแส มันบอกเล่าเรื่องราวในตัวของมัน ซึ่งมันก็มีกลุ่มคนที่พร้อมจะเปิดรับฟังเรื่องราวเหล่านั้น” คำพูดนี้มันทำงานกับตัวเรา เพราะเราก็มีเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าเหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่า “เราไม่น่าจะสร้างงานในแบบที่คนอื่น ๆ ทำได้หรอก เราน่าจะทำออกมาในแบบของเรานี่แหละ”

คำพูดอันนี้ของพี่เต๋อทำให้เราอยากออกไปทำตามใจตัวเองเหมือนอย่างที่พี่แกกล้าทำ

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจได้คือ ตอนนั้นเราต้องไปไหว้อาจารย์ใหญ่ของคณะพยาบาล แล้วเขามีพิธีปฏิญาณตน เราต้องเดินขึ้นบันไดเพื่อไปปฏิญาณตนต่อหน้าอาจารย์ใหญ่ พอเราต้องพูดปฏิญาณตน

“เราพูดไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราเป็นพยาบาลที่ดีไม่ได้ มันมีคนที่เหมาะสมที่จะเป็นเป็นพยาบาลที่ดีได้มากกว่าเรา แล้วเรารู้สึกเสียใจที่คนไข้จะต้องมาเจอพยาบาลแบบเรา เพราะเราไม่ได้มีจิตใจที่จะดูแลเขาจริง ๆ แต่เขาอาจจะต้องมาเจอเรา”

พอคิดได้แบบนั้นเราก็ตัดสินใจไม่ทำดีกว่า ขอทำสิ่งที่ชอบดีกว่า

O () O

พอลงมาจากห้องนั้นเราก็เหมือนบรรลุอรหัน โทรไปหาแม่ “ฮัลโหล แม่ หนูรู้สึกว่าไม่น่าเป็นพยาบาลรอดเลย” ตอนนั้นแม่น่าจะอาการดีขึ้นแล้วจากการป่วย พอจะทำงานได้แล้วด้วย

“แม่ได้ยินแบบนั้นก็ร้องไห้คาสายโทรศัพท์ไปเลย”

ตอนนั้นเคยบอกแม่ไปแล้วรอบหนึ่ง (ว่าอยากซิ่ว) แต่แม่ก็บอกให้อยู่ต่อ เราก็อยู่ “เออเราก็อยู่ได้” แล้วพอโทรมารอบนี้เป็นรอบที่สอง แม่ก็บอกว่า “ถ้าหนูมั่นใจแล้ว หนูก็ทำเลย” ประมาณนั้น

แล้วพอได้ยินก็ร้องไห้ตาม  แต่ก็ไปเซ็นลาออก

ลาออกเลย?

ใช่ ลาออกเลย

โออออออ้

จังหวะที่ไปเซ็นลาออก มันจะมีเอกสารที่ต้องติ๊ก เนื้อหาในเอกสารออกแนวจิตวิทยา ประมาณว่า “แน่ใจใช่มั้ยว่าจะลาออก” ประมาณนี้ ซึ่งจังหวะชีวิตตอนนี้เหมือนฉากในหนังที่ตัวเอกแบกภาระอะไรสักอย่างเอาไว้ แล้วต้องทำอะไรสักอย่างที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิต ต้องติ๊กเอกสารอันนี้หลายหน้ามาก เราร้องไห้เลย

เนื้อหาบางส่วนของข้อความที่บลูต้องติ๊กประกอบการใบลาออก

“สิ่งนี้เหมือนมีเพื่อให้เราคิดมากแล้วตายห่าไปเลย รู้สึกว่าถ้าวันนั้นจิตใจไม่เข้มแข็งก็น่าจะตายเหมือนกันนะ อาจจะป่วยเป็นซึมเศร้าได้เลย”

ตอนไปส่งใบเอกสารที่ห้องทะเบียนคณะ เจ้าหน้าที่เขาก็ถามว่า “ลาออกจากที่นี่เราจะไปไหนต่อ”

เราก็บอกว่า “จะไปเรียนสายนิเทศค่ะ จะเรียนวารสาร”

เขาก็พูดกับเราว่า “น้ำหน้าอย่างเธอเนี่ยนะจะเรียนนิเทศ”

ตอนนั้นคือเจ็บใจชิบหายเลย

โอ้โห คุณพี่ก็แรงเกิน

แต่นั่นแหละ พอออกมาแล้วสอบใหม่ก็ติดวารสาร ถึงมันจะมีโควิด-19 ไม่ได้ทำกิจกรรมแต่ด้วยความที่เป็นคนชอบหาอะไรทำอยู่แล้ว เลยได้ออกกอง พอออกแล้วก็โชคดีได้งานเรื่อย ๆ เลย

พอมาคิดดู จากการได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ลาออกจากพยาบาล มันก็น่าจะได้อะไรบางอย่าง

ประโยค “ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่” ในหนัง Fast And Feel love ของพี่เต๋อมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

“มันคือโอกาสที่มึงต้องคว้าไว้ ไม่ว่ามึงจะคิดว่า ทำไปเพื่ออะไรวะ หรือ มันจะพาเราไปไหนวะ มันจะมีคำถามพวกนี้เกิดขึ้นเสมอ แต่มันจะพาเราไปสักที่นึงนั่นแหละ ซึ่งมันบังเอิญว่าสำหรับเรามันพาเราไปเจอสิ่งที่เรารักจริง ๆ”

แล้วตอนนี้คิดว่าการทำธีสิสมันคุ้มค่ากับเงิน 5 หมื่นบาทที่จะเสียมั้ย?

เราว่าที่พูดไปน่าจะมีคำตอบแล้วนะ

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
11
Love รักเลย
31
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Interview

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

Writings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ...

Interview

When I live at Dome

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร ความฝันอย่างการได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองภายในหอพักนั้นอาจเป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน แม้จะไม่ใช้พื้นที่อบอุ่นและสะดวกสบายเทียบเท่ากับบ้าน  แต่การอยู่หอนอกจากจะสนับสนุนการเรียนแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องของการมีสังคม ซึ่งจะจริงหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยการกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ...

Writings

ดารา งานดูหนัง กับคำตอบจาก ‘คนโรงหนัง’

เขียนและภาพ จิรัชญา นุชมี ‘โรงหนังเดี๋ยวนี้ชอบเอาดาราศิลปินมาดูหนังด้วย ทำทำไม’ ‘ก็มัวแต่เอานักแสดงซีรีส์วายมาดูหนังไง’ ‘นายทุนมันก็หากินกับติ่งง่ายเกินเนาะ’ เป็นการตั้งคำถามของชาวเน็ตที่เห็นเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อยู่เสมอ เมื่อค่ายโรงหนังเจ้าใหญ่จัดรอบหนังเชิญศิลปิน หรือ นักแสดง มาดูภาพยนตร์ร่วมกันกับแฟนคลับ และมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันหลังจากดูหนังจบ โดยตั๋วหนังจะมีราคาสูงกว่ารอบหนังปกติเป็น 500-600 ...

Writings

เปิดมุมมองผู้ออกข้อสอบพรีแอดมิชชั่น ข้อสอบที่จริงใจสำหรับ #Dek67 เป็นไง …?

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวมอหก และ ชาวเด็กซิ่ว ทุกคน แน่นอนว่าตอนนี้ต้องเป็นช่วงที่หัวปั่นอยู่กับการอ่านหนังสือ เก็งข้อสอบย้อนหลังกว่าหลายปี อย่างแน่นอน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save