เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
ภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งให้บริการสายด่วน 1663 ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ชี้ไทยแก้กฎหมายให้การทำแท้งเปิดกว้างมากขึ้นแล้ว แต่มีโรงพยาบาลแค่ใน 39 จังหวัดทั่วประเทศที่ให้บริการทำแท้ง เพราะบุคลากรกลัวบาป
จากกรณีที่รัฐสภาได้ผ่านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2564 ในมาตรา 301 และ 305 ที่แต่เดิมเอาผิดหญิงทุกคนที่ยุติการตั้งครรภ์ และยกเว้นให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีที่แม่ถูกข่มขืนและเพื่อรักษาสุขภาพของแม่ ทั้งนี้กฎหมายได้แก้ไขโดยเปิดกว้างให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น ได้แก่ หากครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพแม่ทั้งทางกายและใจ ทารกมีโอกาสผิดปกติ แม่ถูกข่มขืน แม่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เลย หรือหากอายุครรภ์ระหว่าง12 – 20 สัปดาห์ แต่ได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว ก็สามารถทำแท้งได้นั้น
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หรือ Aids Access Foundation (Access) กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญาที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อต้นปีพ.ศ.2564 มีเนื้อหาเปิดกว้างขึ้นในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ แต่หน่วยงานบริการยุติการตั้งครรภ์สำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในประเทศไทยยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่
ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวว่า แม้ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะสนับสนุนค่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นเงิน 3,000 บาทแก่หน่วยบริการ แต่หน่วยบริการส่วนใหญ่ยังคงไม่ให้บริการดังกล่าว เนื่องจากบุคลากรในโรงพยาบาลมองว่าการยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่บริการสาธารณสุขทั่วไปเช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ และมีทัศนคติว่าการทำแท้งเป็นบาป จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีบริการดังกล่าวในระบบ
“เนื่องจากบริการทำแท้งไม่ใช่บริการสาธารณสุขในวิธีคิดของเขา มันผูกกับบาปบุญคุณโทษ ผิดกับการเกิดการคลอดที่ทุกโรงพยาบาลมีบริการรับทำคลอดทั้งหมด ไม่ว่าหมอพยาบาลจะลางานหรือย้าย ก็ต้องมีบริการทำคลอดอยู่เสมอ แต่การทำแท้ง มันเป็นวิธีคิดคนละแบบกัน” สมวงศ์กล่าว
สมวงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในตอนนี้ประเทศไทยมีหน่วยบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์เพียง 70 แห่ง ใน 39 จังหวัด โดยที่หลายแห่งกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการขึ้นมาเอง เช่น ให้บริการเฉพาะผู้ที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์เท่านั้น ส่วนหน่วยบริการที่ให้บริการผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ระหว่า 12- 20 สัปดาห์ มีเพียง 7 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นหน่วยงานรัฐ 6 แห่ง แต่ตั้งเงื่อนไขให้บริการเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ในอำเภอ ในจังหวัด หรือในภูมิภาคของหน่วยบริการนั้นๆ และเป็นหน่วยงานเอกชน 1 แห่งที่ให้บริการทั่วประเทศ “คนที่โทรมาปรึกษาที่ 1663 มีมาจากทั่วทั้งประเทศ จำนวนหนึ่งก็มีอายุครรภ์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 20 สัปดาห์ คนเหล่านี้จึงต้องเดินทางออกจากบ้านไปไกล เช่น จากสุไหงโกลกไปอีสานก็มี เพื่อไปหาบริการ”
ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวต่อไปว่า ด้วยจำนวนหน่วยบริการที่ไม่ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมส่วนหนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อไปยุติการตั้งครรภ์ที่ต่างจังหวัด ทางมูลนิธิฯ จึงพยายามผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำ ‘1 จังหวัด ต่อ 1 หน่วยยุติการตั้งครรภ์’ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว แต่ทำได้ยาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงยังไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของบุคลากรผู้ไม่เห็นด้วยกับการยุติการตั้งครรภ์ได้
สมวงศ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯพยายามสร้างทางเลือกให้กับผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์โดยใช้การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ซึ่งเป็นบริการให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอลกับทีมแพทย์คลินิกเอกชนที่รวมตัวกันทำงานนี้ มีบริการจัดส่งยาสำหรับยุติการตั้งครรภ์ให้ถึงบ้านและติดตามผลหลังจากการใช้ยา แต่แพทย์ทีมนี้กำหนดเงื่อนไขคือต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 14 สัปดาห์ และไม่เป็นโรคที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้ตั้งครรภ์
“ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้รุนแรงอะไร อาจจะมีบ้างปวดท้องบ้าง แต่ก็จะถูกขับออกมาคล้ายๆ เป็นเลือด ถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ในต่างประเทศถึงขายยานี้กันได้ในร้านขายยาเพราะเทคโนโลยีมันไปไกลแล้ว” สมวงศ์กล่าวและว่า เนื่องจากระเบียบของแพทยสภายังไม่ระบุรายละเอียดขั้นตอนของ Telemedicine ทางกรมอนามัยจึงกำลังร่างแนวทางปฏิบัติของ Telemedicine และให้แพทยสภาเป็นผู้รับรอง โดยคาดว่าใช้เวลา 1 ปี ซึ่งหากทำแนวปฏิบัตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ ก็จะช่วยให้แพทย์เลือกใช้วิธีการนี้ได้อย่างสบายใจขึ้น
สมวงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ Telemedicine จะเป็นทางเลือก แต่การทำ ‘1 จังหวัด ต่อ 1 หน่วยยุติการตั้งครรภ์’ ยังมีความจำเป็น เนื่องจากครอบคลุมอายุครรภ์มากกว่า และช่วยให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์เข้าถึงบริการได้สะดวกกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดให้บริการปรึกษาและรณรงค์เรื่องเอดส์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 และเพิ่มบริการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในนามสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663