เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี
ภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์
‘ตากใบ’ คำที่เราอาจบังเอิญได้ยินจากใครสักคนหนึ่งพูดขึ้น หรืออาจเป็นคำที่เราบังเอิญได้เห็นจากบทความที่วิ่งผ่านตาไปบนโลกอินเทอร์เน็ต คุณนึกถึงอะไรเมื่อพูดถึงตากใบ แล้วตากใบแบบไหนที่คุณรู้จัก
สำหรับฉัน เมื่อวัย 19 ย่าง 20 ฉันไม่เคยรู้จักอำเภอเล็ก ๆ อำเภอนี้ในจังหวัดนราธิวาสมาก่อน ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่นั่น ไม่รู้ว่าชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่นนั้นเป็นอย่างไร อาจจะเพราะไม่เคยมีใครใกล้ตัวเราพูดถึงและเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากถิ่นที่เราอยู่ หรือจริง ๆ อาจมี “กำแพง” บางอย่างขวางกั้น พยายามให้เราลืม เพราะแม้เหตุการณ์ตากใบจะมีผู้สูญเสียจำนวนมาก แต่ช่างเลือนรางในความทรงจำคนไทยเสียเหลือเกิน
25 ตุลาคม 2547 อำเภอตากใบ เกิดอะไรขึ้น
เช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ สถานีตำรวจภูธรตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ประชาชนมารวมตัวกันนับพันโดยมีทั้งคนที่ตั้งใจมาร่วมและชาวบ้านในพื้นที่ที่ผ่านไปมา เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทั้งสิ้น 6 คน ที่ถูกทางการตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนที่หายไป พวกเขาถูกควบคุมตัวมาสอบสวนเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์
ผู้ชุมนุมต้องการเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน โดยพวกเขาเชื่อว่า ชรบ. เป็นผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่มีการเจรจาให้ผู้ชุมนุมถอยร่นออกไปจากพื้นที่ แต่เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลจึงนำไปสู่การสลายการชุมนุม เริ่มจากการระดมฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตา ไปจนถึงมีการใช้กระสุนจริง
จากรายงานคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระบุว่ามีประชาชนผู้เสียชีวิตทันทีจากการปะทะ 7 คน ด้านเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย หลังจากสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวผู้ชุมนุมที่เป็นผู้ชายทั้งหมด จำนวน 1,370 คน ขึ้นรถบรรทุก โดยผู้ชุมนุมถูกสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วนอนคว่ำหน้าซ้อนทับกัน 4-5 ชั้น มุ่งหน้าไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
การเดินทางยาวนาน 5-6 ชั่วโมง ระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ท้ายที่สุดมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตคารถบรรทุกขณะการเคลื่อนย้าย 77 คนและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน โดยผลชันสูตรระบุว่า เกิดจากการขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอกและไตวายเฉียบพลัน ผู้ที่รอดชีวิตบางคนก็พิการตลอดชีวิต
ภายหลังรัฐได้มีการให้เงินเยียวยาและค่าสินไหมทดแทนแก่ครอบครัวผู้เสียหาย อย่างไรก็ตามกลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคนใดถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย จนมันทำให้เราเกิดนึกสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีการลงโทษผู้กระทำความรุนแรง หรือเขามองว่าการปราบปรามด้วยระดับนี้ทำได้ไม่ผิด เราได้แต่นึกสงสัยว่าทำไมเขาต้องโหดร้ายกับชาวตากใบถึงเพียงนี้
ซุ่มเสียงจากคนตากใบ : ฉันเกิดและโตที่นั่น แต่ความทรงจำมันจางเหลือเกิน
ซุลฟัดลี สือแม หรือ ลี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ลีเกิดและเติบโตในตากใบ ซึ่งบ้านก็อยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุแต่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวมาก่อนเพราะตอนนั้นอายุเพียง 2 ขวบ ลีเพิ่งจะทราบเรื่องราวตากใบจากพ่อไม่ถึง 3 ปีที่แล้วก่อนเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย
ลีเล่าว่า ในพื้นที่ไม่ได้มีการพูดถึง ไม่ได้มีบอกในการเรียนการสอน หรือไม่มีแม้แต่งานรำลึก บ้างก็เชื่อว่าพูดไปก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเรื่องมันเกิดมานานแล้วและก็ไม่รู้ว่าจะพูดให้ใครฟัง
ลียังเล่าให้ฉันฟังเพิ่มเติมอีกว่า ในหลักความเชื่อของอิสลาม เราต่างเปรียบเหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน พอได้ทราบการสูญเสียแบบนี้แล้ว มันก็เหมือนกับว่าเราสูญเสียคนในครอบครัวเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสก็อยากถามเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ แล้วถ้าคนที่เขาทำแบบนี้เป็นคนในครอบครัวเขาเอง เขาจะยังทำอยู่ไหม
ตลอดการพูดคุยกับลี เรารู้สึกถึงความกระอักกระอ่วน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะว่าเราไม่สนิทกันจนถึงขั้นเล่าเรื่องราวละเอียดอ่อนให้ฟัง หรือเพราะมีความกลัวอยู่ในกระบวนการคิดเหล่านั้นกันแน่ ความกลัวที่แทรกซึมลงไปในคนในพื้นที่ทุกคน ให้ไม่รู้ ให้ไม่ตั้งคำถาม ให้ลืมว่าเคยมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นที่ตากใบ สร้างภาพจำที่ฝังความกลัวลงไปในจิตใต้สำนึกว่าหากลุกฮือขึ้นมามีปัญหากับรัฐอาจนำไปสู่การตอกกลับมาด้วยความรุนแรงอีกครั้ง
อีกฟากฝั่งหนึ่งฉันได้พูดคุยกับ มุมิน เจ๊ะแว หรือ มามุ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. มามุเล่าว่ามามุเติบโตที่สุไหงโกล แต่พ่อเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ที่โรงเรียนตากใบ ครอบครัวเลยมีความใกล้ชิดกับพื้นที่ตากใบพอสมควร รวมทั้งมามุยังเล่าว่าตอนเด็กมามุเป็นคนช่างถาม แล้วก็จะชอบถามว่าวันเกิดแต่ละคนในครอบครัวมีเหตุการณ์อะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง ด้วยความบังเอิญพ่อของมามุ เกิดวันที่ 25 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันเกิดเหตุการณ์ตากใบ พ่อเลยได้เล่าเหตุการณ์นี้ให้ฟัง
มามุยังเล่าอีกว่า ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คนในพื้นที่บางส่วนก็อยากจะลืม เพราะในทางหนึ่งมันเป็นเหตุการณ์ที่มีคนเสียชีวิตค่อนข้างเยอะ และด้วยชุมชนตากใบเองที่มีขนาดเล็ก ๆ ชาวบ้านรู้จักกันเกือบหมด ดังนั้นความเจ็บปวดมันเลยฝังรากลึกลงไปถึงจิตใจ รวมทั้งพวกเขาก็ถูกปลูกฝังให้อยู่กับความกลัวมาโดยตลอด
มามุกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนจนถึงตอนนี้ระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างทางการเมืองเหมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดลงตรงไหน แต่ที่รัฐชัดเจนมาตลอดคือการแก้ไขปัญหาโดยใช้ความรุนแรง เลยไม่เคยทำให้เหตุการณ์ความขัดแย้งยุติลง ดังนั้นมามุหวังว่ารัฐต้องรับฟัง พูดคุยทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ เพราะคนสามจังหวัดฯ มีความหลากหลายสูงจึงไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันบริหารทุกพื้นที่ได้ ถ้ายังคงทำแบบเดิมสุดท้ายก็จะไปจบกับวังวนการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาอีก
การเดินทางของ “เสียงเงียบ” ในนิทรรศการตากใบ
ฉันในวัย 23 ย่าง 24 ได้รับฟังเรื่องราว ได้ทำความเข้าใจ รู้จักเหตุการณ์และความสูญเสียนี้มากขึ้น ได้เห็นชีวิตที่ถูกพราก ได้เห็นพื้นที่ที่ยังอบอวลไปด้วยความคิดถึงและความเจ็บปวด ทั้งยังแฝงความกลัวอยู่ในนั้นมาตลอด เมื่อกลางเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ฉันได้รับชมนิทรรศการ ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ ผ่านทางพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จัดทำโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการเป็นครั้งที่ 2 หลังจากจัดแสดงครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 9-14 มีนาคม 2566 ที่อาคารพรรณราย มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
นิทรรศการทำให้ฉันได้เห็นว่า แม้แต่สิ่งของก็มีเสียงแห่งความทรงจำดังกังวานอยู่ในนั้น สิ่งของธรรมดาแต่กลับมีเรื่องราว ฉันได้สัมผัสว่ามีความรู้สึกบางอย่างซ่อนอยู่ ที่มันจะพาให้เราขบคิดและดำดิ่งได้ไปกับเรื่องราวได้
ทุกขณะที่ฉันเดินอยู่ในห้องจัดนิทรรศการ ได้อ่านเรื่องราวจากปากของครอบครัวผู้สูญเสีย ฉันได้นำเรื่องราวของพวกเขามาผูกเข้ากับเรื่องราวชีวิตตัวเอง ถ้าเขาเป็นพี่เรา เราจะทำอย่างไร ถ้าเขาเป็นพ่อเรา เราจะรู้สึกอย่างไร การรอคอยแบบไม่รู้จุดหมายมันรู้สึกอย่างไรกันนะ มันทำให้ฉันรู้สึกเจ็บ ทุกข์ ร่วมไปกับพวกเขา ระยะทางที่ว่าฉันห่างไกลกับตากใบมาก แต่แท้จริงแล้วเราไม่ห่างไกลกันเลย เรารู้สึกเจ็บปวดร่วมกันได้ เพราะเราก็เป็น ‘คน’ เหมือน ๆ กัน ฉันและคนอื่น ๆ ในห้องเดินอ่านแต่ละเรื่องราวไปอย่างเงียบ ๆ ทั้งห้องเงียบสงัด ไม่มีใครส่งเสียงอะไรออกมา ซึมซับความรู้สึกผ่านทุกตัวอักษรแล้วยิ่งพบว่าแต่ละเรื่องราวมันช่างสะเทือนใจเหลือเกิน
ภาพในอนาคตของยายมีหลานชายคนนี้เสมอ
ภาพบ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งวางอยู่บนขาตั้งภาพ พร้อมกับมีชื่อภาพว่า ‘การเยียวยาที่ทดแทนไม่ได้’ในภาพคือบ้านที่ยายของ ‘อิหซาน’ ต่อเติมให้เขาเพื่อหวังว่า ในอนาคตเมื่อซานแต่งงานมีครอบครัวจะได้อยู่บ้านหลังนี้พร้อมกับคนรักและลูก ๆ
ยายของซานกล่าวถึงซานในเรื่องราวว่า ซานเป็นเด็กหนุ่มอายุ 25 ปี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบดูแลยาย ยายของซานเคยคิดว่าจะพึ่งพาเขาในยามที่ยายเองแก่เฒ่า และในตอนนั้นซานเองก็มีคนรัก ยายจึงวาดภาพอนาคตไว้ว่า ไม่นานข้างหน้ายายคงจะได้มีเหลนให้ชื่นใจ แต่เมื่อความตายจากพรากทุกอย่างและเงินเยียวยาไม่สามารถพาซานกลับมาได้ แม้รัฐจะให้เงินมาเป็นกระสอบ สำหรับยายมันก็เทียบไม่ได้เลยกับการต้องสูญเสียชีวิตของหลานชายอันเป็นที่รัก
ภาพ ‘กระเป๋าสตางค์ของอาดูฮา’
กระเป๋าสตางค์สีดำที่ผู้เสียชีวิตใช้ทุกวันในช่วงเวลานั้น พร้อมใบสูติบัตรและมรณบัตร
ที่ระบุสถานที่เสียชีวิต ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร
สิ่งของย้ำเตือนความทรงจำว่าครอบครัวได้เสียสมาชิกคนหนึ่งไปตลอดกาล
สูติบัตรและกระเป๋าสตางค์ของ ‘อาดูฮา’ เพื่อบ่งบอกว่าเขาเคยมีชีวิตอยู่
อาดูฮาเด็กหนุ่มอายุ 20 ปี อนาคตไกล ตอนนั้นเขากำลังเตรียมเอกสารไปเรียนต่อที่ประเทศจอร์แดน วันเกิดเหตุ อาดูฮาออกไปละหมาดกับเพื่อนในหมู่บ้านที่ตากใบ จวนหมดวันอาดูฮาก็ยังไม่กลับมา สามวันให้หลังครอบครัวของอาดูฮาไปที่ค่ายอิงคยุทธ แต่ไม่พบชื่อลูกทั้งในรายชื่อผู้เสียชีวิตและผู้ถูกคุมขัง จนหลายวันอำเภอถึงแจ้งว่าศพที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใครจะถูกนำไปฝังที่กุโบร์ บ้านตะโลมาเนาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
แม่ของอาดูฮารับไม่ได้ที่ลูกของเธอเสียชีวิต ทุกวันนี้ยังคงคิดถึงและร้องไห้ได้ทุกครั้งที่พูดถึงอาดูฮา เธอจึงเก็บกระเป๋าสตางค์และใบสูติบัตรของอาดูฮาไว้อย่างดี เพื่อยืนยันว่าครั้งหนึ่งลูกชายเคยมีชีวิตอยู่
ขอให้เสียงเงียบดังไปกระเพื่อมใจเจ้าหน้าที่รัฐ
พี่คนหนึ่งที่ฉันได้ร่วมนั่งพูดคุยด้วยคือพี่ ‘วลัย บุปผา’ ภัณฑารักษ์นิทรรศการตากใบและทีมจัดแสดงนิทรรศการ เรานั่งลงเพื่อพูดคุยกันที่โต๊ะม้านั่งหน้างาน พี่วลัยเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่ตากใบจะถูกนำมาจัดเป็นนิทรรศการ ความตั้งใจแรกคือการเขียนเล่าเรื่องออกมาเป็นหนังสือ ต่อมาเมื่อนำเรื่องราวของผู้สูญเสียแต่ละคนมาร้อยเรียงต่อกันแล้ว ก็พบว่ามันมีสิ่งของที่เป็นความทรงจำอยู่ในนั้น เลยอยากจะลองหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอ นิทรรศการจึงตอบโจทย์ที่สุดในการเล่าเรื่อง
ฉันถามพี่วลัยต่อว่าท้ายที่สุดแล้ว พี่วลัยอยากให้เสียงเงียบนี้ดังไปถึงใครมากที่สุด พี่วลัยใช้เวลานึกแค่เพียงเสี้ยววิเท่านั้น สายตาตอนที่พี่วลัยพูดคำตอบออกมา มันปนไปด้วยหลากอารมณ์ เศร้า โกรธ ผิดหวัง มันไหวตลอดเวลาพร้อม ๆ กับมีน้ำตาคลออยู่เนือง ๆ และน้ำเสียงที่พี่วลัยได้ตอบมาฟังดูมั่นใจแต่ก็แอบสั่นเครือไปด้วยแรงอารมณ์ พี่วลัยกล่าวว่า หวังแบบไม่หวังคืออยากให้นิทรรศการได้คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนที่อยู่อีกฝั่งของแกนความคิดเดียวกับเราได้มาดู คุณจะแต่งกายมาอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้คุณมาในฐานะมนุษย์เหมือนกัน ถอดหัวโขนมาดูว่ามันมีการกระทำความรุนแรงจริง ๆ มันมีผู้เจ็บปวด มันมีคนสูญเสียซึ่งเขาพยายามจะส่งเสียงบางอย่างอยู่ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยภาครัฐมันไม่เคยมีการตอบคำถาม หรืออธิบายอย่างเป็นทางการหรือแม้กระทั่งขอโทษ ปีนี้ก็เป็นปีที่ 19 แล้ว คำถามคือคดีความตากใบมันคืบหน้าไปแค่ไหน ปีหน้าปีที่ 20 คดีก็จะหมดอายุความ รัฐจะปล่อยให้ผู้กระทำผิดเหตุการณ์ตากใบลอยนวลอย่างนั้นหรือ
ผลการไต่สวนกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบทั้งหมด 85 คน กรณีแรกคือจากการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ มีผู้เสียชีวิตทันที 7 คน รายงานสรุปว่าไม่สามารถหาตัวผู้กระทำได้ กรณีที่สองคือมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลังสลายการชุมนุม 78 คน ศาลจังหวัดสงขลาระบุว่า สาเหตุของการเสียชีวิตคือขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน แต่ไม่ได้มีการระบุว่าพฤติการณ์ดังกล่าวใครเป็นผู้กระทำให้เสียชีวิต ต่อมาในปี 2556 ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คนยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาดังกล่าว และขอให้ศาลพิจารณาคำสั่งใหม่เพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ศาลฎีกายกคำร้องโดยระบุว่า ศาลจังหวัดสงขลาเป็นศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันกับศาลอาญา ได้รับคดีไว้ และทำการพิจารณาทำคำสั่งไปแล้ว จึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก ในปี 2567 คดีความจะมีอายุคครบ 20 ปี กระบวนการยุติธรรมไทยก็ยังไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมารับโทษได้ตามที่ครอบครัวผู้สูญเสียได้ร้องทุกข์มาตลอด
สุดท้ายแล้วฉันได้แต่หวังว่า เรื่องราวตากใบจะไม่ถูกลืมเลือนไป หากเรารู้เรายิ่งต้องพูดเพราะฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ตื่นรู้จากการไม่หยุดพูดของคนในสังคม เมื่อใดที่ยังมีความอยุติธรรมยังต้องมีการต่อสู้ หวังให้พี่น้องชาวตากใบพบซึ่งวันใหม่และหลุดพ้นจากพันธนาการการกดขี่ที่ไม่เป็นธรรมและความกลัวจากรัฐ ได้รับความเป็นธรรมจากการเห็นคนผิดโดนลงโทษเสียที
นิทรรศการ ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ Heard the Unheard: Takbai 2004 มีผู้สนับสนุนให้เกิดนิทรรศการได้โดยมูลนิธิ Sasakawa Peace Foundation, โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ , ภาคมานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิทรรศการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม – 30 กันยายน 2566 สามารถติดตามข่าวสารและสถานที่จัดนิทรรศการครั้งต่อไปได้ที่ เพจเฟซบุ๊ค Deep South Museum (https://www.facebook.com/deepsouthmuseum/) (ใส่ URL ให้หน่อยเคิ้บ)
อ้างอิง
ชนากานต์ ปานอ่ำ และสร้อยดอกหมาก สุกกทันต์, 15 ปี ตายหมู่ที่ ‘ตากใบ’ ความทรงจำโหดร้าย ใคร
รับผิดชอบ?, สืบค้น เมื่อ 25 กันยายน 2566,
ประชาไท, ศาลฎีกาอ่านคำสั่งกรณีการเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ 1 ส.ค. นี้, สืบค้น เมื่อ 25 กันยายน 2566,
จาก https://prachatai.com/journal/2013/07/47907
ประชาไท, รายงานพิเศษ – ผลสอบกรือเซะ-ตากใบ ฉบับสมบูรณ์, สืบค้น เมื่อ 25 กันยายน 2566, จาก
อาทิตย์ ทองอินทร์, 18 ปี สลายการชุมนุมตากใบ 25 ตุลาคม 2547 โศกนาฏกรรมของมลายูปตานี, สืบค้น
เมื่อ 25 กันยายน 2566, จาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/102294
The Active, รวมข้อเสนอ ‘คดีตากใบ’ ก่อนหมดอายุความอีก 2 ปี, สืบค้น เมื่อ 25 กันยายน 2566, จาก