SocialWritings

ครั้งหนึ่งในชีวิต ฉันเคยเป็น “ผู้พิชิต” อสุจิ

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

ทุกอย่างมันเริ่มมาจากวันนั้น วันที่อากาศร้อนอบอ้าว เสียงพัดลมในห้องเรียนดังแหง่กๆ บ่งบอกว่ามันได้ทำหน้าที่อย่างหนักหน่วงมายาวนาน

แน่นอนว่าสภาพอากาศแบบนี้ ไม่มีใครที่จะไปมีสมาธิตั้งใจเรียนหรอก หากแต่บทเรียนในคาบนั้นมันค่อนข้างที่จะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กนักเรียนผมสั้นเท่าติ่งหูวัยคอซองอยู่พอตัว มันคือเรื่องของ เพศศึกษานั่นเอง

ถึงอย่างนั้น ทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างราบเรียบตามแบบเรียนสุขศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดหาให้ ไม่มีภาพวาบหวิว ไม่มีอะไรเร้าใจ มีแต่เนื้อหาระดับเซลล์ กับบอกให้ออกไปเตะบอลตอนมีอารมณ์ทางเพศเพียงเท่านั้น

หากแต่ประโยคหนึ่งที่ออกมาจากปากของคุณครู ทำให้ฉันและเพื่อนที่กำลังแต่งแก้ม เติมปากให้กับอสุจิและรังไข่บนหน้าหนังสือเรียนต้องหยุดมือ และเงยหน้าขึ้นไปฟัง

“ช่วงนี้มีข่าวผู้หญิงท้องเพราะเข้าห้องน้ำสาธารณะ เวลาจะเข้าห้องน้ำรวมต้องระวังให้ดีนะคะลูก เดี๋ยวเชื้ออสุจิมันจะกระเด็นเข้าไปที่ช่องคลอดได้”

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเพื่อนสนิทคนหนึ่งในกลุ่มของฉันก็ได้มอบหน้าที่อันทรงเกียรติให้กับฉันและสหายอีกหนึ่งคน ทำหน้าที่คล้ายกับพวกขันทีที่ต้องคอยตรวจสอบยาพิษ แต่สิ่งที่ต้องตรวจสอบนั้นหาใช่ยาพิษไม่ แต่เป็นอสุจิในห้องน้ำ…

หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของเหล่าอัศวินป้องกันอสุจิย่อมต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง นอกจากจะต้องรับมือกับความอ่อนไหวทางด้านอารมณ์ของ “องค์หญิง” (นามสมมติ) ในแต่ละครั้งที่เข้าห้องน้ำ ก็ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่ต้องปฏิบัติก็คือ “การลาดตระเวนห้องน้ำ” ให้ปลอดจากอสุจิ

คุณสมบัติอันดับแรกของห้องน้ำในฝัน คือต้องไม่ใช่ห้องน้ำรวม อันดับสอง คือต้องมีคนเข้าไปใช้ก่อน และคนเข้าก่อนต้องมีเพศสรีระเป็นเพศหญิงเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเจอห้องน้ำที่ไม่มีเพศหญิงเข้าไปใช้ก่อนพวกฉัน เหล่าผู้พิทักษ์ก็ต้องออกปฏิบัติการใช้ห้องน้ำก่อนองค์หญิงทันที ไม่ว่าตอนนั้นผู้พิทักษ์จะปวดหรือไม่ก็ตาม

แรกๆ เหล่าอัศวินป้องกันอสุจิทั้งหลายก็พากันจำยอมทำตามบัญชาขององค์หญิงอย่างเสียมิได้ แต่นับวันชักจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ว่าไม่กล้าเข้าห้องน้ำสาธารณะกันเลยทีเดียว จึงต้องพากันหาข้อมูลมาแย้ง เพราะเป็นห่วงสวัสดิภาพกระเพาะปัสสาวะขององค์หญิง

“การที่คนเราจะท้องได้ ตัวอสุจิจะต้องเข้าไปถึงโพรงมดลูกเลยนะ ถ้าจะเข้าไปลึกขนาดนั้นมันก็ต้องมีเพศสัมพันธ์ตอนตกไข่ไง ดังนั้นถึงจะมีคราบอสุจิอยู่ตรงฝาชักโครก ยังไงก็ท้องไม่ได้หรอก”

อย่างไรก็ตาม องค์หญิงก็งัดหลักฐานขึ้นมาสู้อีกเช่นกัน

“แล้วมันจะมีข่าวออกมาได้ยังไง อสุจิมีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ถ้าอสุจิแข็งแรงมาก และวันนั้นเป็นวันไข่ตกพอดี แปลว่ามันมีโอกาสไง”

เนื่องจากมันเป็นเพียงข่าวลือที่แชร์ต่อๆ กันมาในโลกอินเทอร์เน็ต จึงยากที่จะตรวจสอบข้อมูลได้ ประกอบกับความน่าเชื่อถือทางวิชาชีพของคุณครู และความไร้เดียงสาของเด็กที่เพิ่งผ่านพ้นวัยประถมมาหมาดๆ ทุกอย่างจึงโดนปัดตกไป

และถูกสรุปว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม พอนานวันเข้าเหล่าผู้พิทักษ์ป้องกันอสุจิทั้งหลายก็เริ่มระอา และแสดงอารยะขัดขืนต่อบทบาทหน้าที่ เพราะเหลือจะทนกับความคิดเหลือจะเชื่อขององค์หญิง เช่น การไม่ยอมนั่งเก้าอี้ต่อจากผู้ชายโดยเด็ดขาด หรือเวลาที่ผู้พิทักษ์อิดออดไม่อยากปฏิบัติภารกิจใช้ห้องน้ำก่อนองค์หญิง เพราะไม่ปวด องค์หญิงก็จะบังคับให้ผู้พิทักษ์ไปเข้าห้องน้ำให้ได้ อีกทั้งยังตามไปฟังเสียง (ฉี่) ถึงหน้าห้องน้ำกันเลยทีเดียว เพื่อพิสูจน์ทราบว่าผู้พิทักษ์ใช้ห้องน้ำแล้วจริงไหม

แม้ด้านมืดของฉันจะกระซิบว่าปล่อยให้องค์หญิงอั้นฉี่จนหน้าเขียวไปเลยเหอะ แต่ในฐานะเพื่อนสนิทที่นั่งข้างๆ แล้วต้อง (ทน) มองเพื่อนตัวเองนั่งหน้าดำคร่ำเครียด ไม่พูดกับใคร เพราะต้องคอยกำหนดลมหายใจเข้าออก จะได้ไม่เกิดแรงสั่นสะเทือนไปยังกระเพาะปัสสาวะ ก็ไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป เลยอดที่จะทำตามหน้าที่ให้มันแล้วๆ ไปอย่างเสียมิได้

จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ปีแล้วปีเล่า แม้ว่าจะงัดทุกศาสตร์มานั่งยัน นอนยัน ยืนยันว่ายังไงก็ไม่ท้อง ก็ไม่สามารถคลายความกังวลขององค์หญิงลงได้เลย เรื่องราวคำสอนของครูในวันนั้นที่ติดอยู่ในใจเพื่อนเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน มันอาจเรียกว่าพฤติกรรมทอดสมอเรือ (Anchoring Bias)

พฤติกรรมทอดสมอเรือถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1974 โดยเเดเนียล คาห์เนมาน (Daniel Kahneman นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชาวอเมริกัน-อิสราเอล) เเละเอมอส ทเวอร์สกี้ (Amos Tversky นักจิตวิทยาและนักคณิตศาสตร์ชาวอิสาราเอล)

พฤติกรรมทอดสมอเรือหมายถึงการปักใจเชื่อยึดติดกับข้อมูลชุดแรกเป็นหลักมากเกินไป จนเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่ตามมาอย่างความคิด หรือข้อมูลให้สอดคล้องไปกับความคิดแรก ทำให้มองสิ่งรอบตัวห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นหนึ่งในประเภทของอคติทางความคิด (Cognitive Bias) สามารถนำไปสู่การรับรู้ที่บิดเบือน การแปลความ และการตัดสินใจอย่างไม่สมเหตุสมผลได้

วันแล้ววันเล่า ในที่สุดเหล่าอัศวินป้องกันอสุจิทั้งหลายก็ได้ปลดประจำการจากบทบาทที่ดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลาสามปี ไม่ใช่เพราะว่าองค์หญิงหายกลัวแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะพวกเราจบการศึกษาวัยคอซองแล้วต่างหาก

เราต่างแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของแต่ละคน เจอห้องเรียนใหม่ เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ ทุกอย่างที่ใหม่ไปหมด ทำให้องค์หญิงค่อยๆ ถอนสมอขึ้นจากผืนน้ำ

ครูจะรู้ไหมว่าสมอที่ครูโยนลงไปมันดันฝังลึกอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ ทำให้เด็กคนหนึ่งต้องฝังใจ

และกว่าจะถอนมันขึ้นมาได้ เวลาก็ผ่านไปมากกว่าสามปีแล้ว           

เมื่อย้อนกลับไปมองก็อดหัวเราะไม่ได้กับความไร้เดียงสาที่คิดว่านั่งทับอสุจิแล้วจะท้อง แต่ในตอนนั้นพวกเรารู้แค่ว่าอวัยวะเพศมีอะไร รู้แค่ว่ารังไข่เป็นยังไง รู้แค่ว่าอสุจิมาจากไหน แต่ไม่รู้จริงๆ ว่าเพศสัมพันธ์มันทำกันยังไง

นอกจากจะต้องออกไปเตะบอลแล้ว พวกเราก็ไม่รู้อะไรอีกเลย


บรรณานุกรม

Chantisar K. (16 เมษายน 2565). Anchoring Bias – ความเชื่อและฝังใจในสิ่งแรกที่ได้เห็น ก็อาจกลายเป็นอคติได้. เรียกใช้เมื่อ เมษายน 2567 จาก thepractical: https://thepractical.co/anchoring-bias/

Career Assessment. (19 กรกฎาคม 2564). Anchoring Effect: ปักใจกับข้อมูลแรก จนตัดสินใจพลาด. เรียกใช้เมื่อ เมษายน 2567 จาก Career Assessment: https://www.careervisaassessment.com/th/articles/anchoring-effect

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี. (13 สิงหาคม 2559). ทำไมความประทับใจเเรกจึงน่ากลัว. เรียกใช้เมื่อ เมษายน 2567 จาก bangchak: https://thaipublica.org/2016/08/nattavudh-46/

 

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
2
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Social

Shot By Shot

แผงขายอาหารริมทาง (เท้า) ยามเช้า แผงเสบียงสีเทาราคาย่อมเยาของชาวออฟฟิศ

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ในเช้าวันเร่งรีบของ ‘มนุษย์เงินเดือน’ เหล่ามดงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แทบจะไม่มีแม้แต่เวลาหยุดพักกินข้าวหรือมีเงินเดือนพอจะแวะกินร้านอาหารดีๆ ได้ตลอด สิ่งที่พอจะช่วยชีวิตให้ยังคงมีเงินเก็บอยู่ ก็คงเป็นอาหารประเภทที่สามารถซื้อและพกพาไปได้ในราคาที่ไม่สูงนัก ซึ่งก็คืออาหารจากรถเข็น หาบเร่ แผงลอยอาหาร หรือที่เรียกรวมกันว่า ‘หาบเร่แผงลอย’ ...

Writings

นายหมายเลขสอง

เรื่อง : Amphea ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ทุกคนเคยมีฉายากันไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นฉายาที่ตั้งขึ้นมาตามลักษณะภายนอก หรือฉายาที่เกิดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ผมก็เคยมีฉายาแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งแบบน่ารักๆ อย่าง ‘น้องเหนียง’ ซึ่งเป็นฉายาที่เพื่อนในห้องเรียนคนหนึ่งเรียกผม ...

Writings

‘ฮิจรา’ พี่กะเทยจากแดนภารตะกับชีวิตที่อยากเป็น ‘คน’มากกว่า ‘ผู้ศักดิ์สิทธิ์’

เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ประเทศแห่งอารยธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ประเทศอินเดีย’ ปัจจุบันครองแชมป์ดินแดนที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนล่าสุด 1,428 ล้านคน ...

Writings

‘SLAPP’ วิธีการปิดปากสื่อรูปแบบใหม่ ไม่เจ็บกาย แต่ร้ายไม่ต่างกัน

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นว่ามีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย โดยหนึ่งประเด็นที่เรียกได้ว่า ‘สั่นสะเทือน’ วงการสื่อจนหลายองค์กรต้องออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือ ประเด็นที่นักข่าวประชาไทและช่างภาพถูกจับกุม ...

Writings

ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 60 กับคำถามประชามติที่ไร้ทางแก้ปัญหา

เรื่อง : ศศณัฐ ปรีดาศักดิ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้งตามข้อเสนอของ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save