ArticlesSocietyWritings

พัฒนาการจริยธรรมสื่อ : ศึกษาเปรียบเทียบการนำเสนอข่าวกราดยิงโคราช ปี 2563 – หนองบัวลำภู ปี 2565

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ พรวิภา หิรัญพฤกษ์ และ สิทธิเดช สายพัทลุง

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

“ยอดตายยังไม่นิ่ง “XXXคลั่ง” เปิดฉากกราดยิงไม่เลือกหน้า เด็กก็ไม่เว้น”

“เผาแล้วสองศพสุดท้าย เหยื่อกราดยิง น้องXXXกับพ่อ แม่ร่ำไห้ใจจะขาด

หากว่าใครได้ดูข่าว คงจะเคยเห็นพาดหัวข่าวทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง ที่แม้จะไม่ได้ตั้งใจเข้าไปดู แต่ถ้าเลื่อนฟีดอยู่เสมอก็คงได้เห็นผ่านตา

 คำถามคือ การนำเสนอแบบนี้กำลังละเมิดสิทธิ์แหล่งข่าวอยู่หรือไม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 32 ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว

“การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

นั่นหมายความว่าทั้งความเป็นอยู่และข้อมูลนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่หากไม่ใช่เจ้าตัว ใครก็ไม่สามารถนำไปเปิดเผยหรือป่าวประกาศได้ มิเช่นนั้นอาจถูกเรียกได้ว่าเป็นการ “ละเมิดสิทธิ” ของผู้อื่น

การละเมิดสิทธิไม่ได้มีผลแค่ทางกฎหมาย ทว่าสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ถูกละเมิดทั้งในการใช้ชีวิต หรือสภาพจิตใจ การศึกษาของ รุจน์ โกมลบุตร  (2560) พบว่าแหล่งข่าวที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิ์ ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ สูญเสียความเป็นส่วนตัว ผลกระทบด้านจิตใจ ผลกระทบด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน ผลกระทบด้านชื่อเสียง หน้าที่การงาน การสู้คดี และผลกระทบถึงขึ้นสูญเสียชีวิตได้ด้วย

เพื่อป้องกันผลกระทบจากถูกสื่อละเมิดสิทธิ์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจึงได้มีการกำหนดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนเอาไว้ เช่น ข้อ 17 ความว่า“สื่อมวลชนพึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อบังคับจริยธรรมฯ เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ยังไม่วายพบสื่อละเมิดสิทธิ์ของแหล่งข่าวอยู่ไม่น้อย

ในบทความนี้ ทีมผู้วิจัยต้องการนำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบการละเมิดสิทธิ์ของสื่อต่อแหล่งข่าวในการนำเสนอข่าวกราดยิงในสองเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ กราดยิงที่โคราช เมื่อปี 2563 และกราดยิงที่หนองบัวลำภู เมื่อปี 2565

เหตุการณ์กราดยิงโคราช เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 มีทหารรายหนึ่งก่อเหตุกราดยิง ไล่ตั้งแต่ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ไปจนถึงห้างเทอร์มินอล 21 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 30 ราย ส่วนเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 มีผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจรายหนึ่งเข้าไปก่อเหตุสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 36 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก 24 ราย

ด้วยความสะเทือนขวัญของทั้งสองเหตุการณ์ จึงทำให้คนในสังคมสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต่อกระบวนการรายงานข่าว ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมากว่าสื่อได้ละเมิดสิทธิ์ของผู้ที่ตกเป็นข่าว ไม่ว่าจะด้วยการบอกชื่อของเหยื่อ บอกชื่อของพยาน การให้รายละเอียดเหตุการณ์มากเกินไป หรือแม้กระทั่งการใช้ถ้อยคำตัดสิน ไปจนถึงการใส่อคติในการนำเสนอข่าว

ทั้งนี้ทีมผู้วิจัยมีหลักคิดว่า ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ์ของสื่อต่อผู้ที่ตกเป็นข่าว เป็นเรื่องที่สื่อสามารถพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้ และทั้งสองเหตุการณ์นี้มีระยะเวลาห่างกันถึงสองปี ทีมผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาว่าจากเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช พ.ศ.2563 สู่หนองบัวลำภู พ.ศ.2565 สื่อจะมีพัฒนาการในการรายงานข่าวกราดยิงอย่างไรบ้าง จึงได้ทำงานวิจัยในหัวข้อ “พัฒนาการการรายงานข่าวอาชญากรรมในส่วนการละเมิดสิทธิ์ของสำนักข่าวไทยรัฐ เปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์กราดยิงโคราชและกราดยิงหนองบัวลำภู” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา วส.211 การสื่อข่าว คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

งานวิจัยนี้เลือกศึกษาสำนักข่าวไทยรัฐ เพราะเป็นสำนักข่าวที่มีอิทธิพลต่อสังคมและมีผู้ติดตามบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการจัดหมวดหมู่ข่าวอาชญากรรมไว้ในหน้าหลักของเว็บไซต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสำนักข่าวไทยรัฐให้ความสำคัญกับข่าวอาชญากรรมเป็นอย่างมาก

ทีมวิจัยใช้วิธีการรวบรวมตัวอย่างที่เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองเหตุการณ์จากหน้าเว็บไซต์ ด้วยการค้นหาด้วยคำว่า “กราดยิงโคราช 63” และ “กราดยิงหนองบัวลำภู 65” ในระยะเวลา 14 วันแรกของเหตุการณ์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความเข้มข้นในการนำเสนอข่าวดังกล่าว จากนั้นได้วิเคราะห์เนื้อหาว่ามีการละเมิดสิทธิ์แหล่งข่าวในประเภทใดบ้าง จำนวนข่าวที่ละเมิด (ชิ้น) และจำนวนการละเมิด (ครั้ง) มีปริมาณเท่าไร

ทีมวิจัยได้แบ่งประเภทการละเมิดสิทธิ์เป็น 6 ประเภท ดังนี้

  1. การบอกชื่อ เช่น “จากการชันสูตรพบว่าผู้เสียชีวิตชื่อนาย XXX บุตรของนาง XXX”
  2. การบอกที่อยู่ เช่น “นาย XXX ผู้เสียชีวิต อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ XXX”
  3. การอธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์เกินควร เช่น “จากเหตุการณ์จ่าคลั่งไล่ทำร้ายคนบริสุทธิ์ด้วยการไล่ยิงและได้ขับรถหนีจนไปพบกับเด็กนักเรียนและได้ทำการยิงไปที่ศีรษะจนทำให้เด็กนักเรียนเสียชีวิตคารถจักรยานยนต์”
  4. การนำเสนอด้วยอคติของผู้รายงานข่าว เช่น “แม่ผู้เสียชีวิตมีอาการเศร้าเสียใจร้องไห้ฟูมฟายกอดศพลูกชายตนเองจนคล้ายจะขาดใจตาย”
  5. การใช้คำที่เป็นการตัดสิน เช่น โรคจิต ตำรวจคลั่ง ฮีโร่ห้องเย็น
  6. การบอกชื่อของพยาน เช่น “นาย XXX กล่าวว่า เพื่อนของเราเป็นคนดี ไม่คิดว่าจะมาทำแบบนี้”

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าจากเหตุการณ์กราดยิงโคราชและหนองบัวลำภู มีจำนวนการรายงานข่าวที่ละเมิดสิทธิ์ของผู้ที่ตกเป็นข่าวลดลง ดูตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ตารางเปรียบเทียบจำนวนข่าวที่มีการละเมิดสิทธิ์ของผู้ที่ตกเป็นข่าว

จากตารางที่ 1 พบว่าเหตุการณ์กราดยิงโคราช พ.ศ. 2563 มีข่าวทั้งหมด 242 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นข่าวที่มีการละเมิดสิทธิ์ 138 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 57.02 และข่าวที่ไม่มีการละเมิดสิทธิ์ 104 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 42.98 ส่วนในอีก 2 ปีต่อมา เหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565 มีจำนวนข่าวทั้งหมด 226 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นข่าวที่มีการละเมิดสิทธิ์ 95 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 42.04 และข่าวที่ไม่มีการละเมิดสิทธิ์ 131 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 57.96 แสดงว่าไทยรัฐมีการละเมิดสิทธิ์ของแหล่งในการรายงานข่าวลดลง

ตารางที่ 2 ตารางเปรียบเทียบประเภทของการละเมิดสิทธิ์ของแหล่งข่าว

นอกจากจำนวนข่าวที่มีการละเมิดสิทธิ์ของผู้ตกเป็นข่าวจะลดน้อยลงแล้ว จากตารางที่ 2 พบว่าการรายงานข่าวของเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู มีจำนวนการละเมิดสิทธิ์ในประเภทต่างๆ ลดลงจากการรายงานข่าวกราดยิงโคราชในเกือบทุกประเภท เว้นแต่เรื่องของ “การใช้อคติ” ในการนำเสนอข่าวที่มีการละเมิดสิทธิ์มากขึ้นร้อยละ 14.12 กล่าวคือจากเดิมร้อยละ 18.18 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32.30 และเรื่อง “การละเมิดชื่อของพยาน” ที่มีการละเมิดสิทธ์มากขึ้นร้อยละ 2.21 กล่าวคือจากเดิมร้อยละ 0.00 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.21

สำหรับตัวอย่างการละเมิดสิทธิ์แหล่งข่าวจากทั้ง 2 เหตุการณ์ มีดังนี้

การละเมิดชื่อและที่อยู่ : การเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของผู้ที่ตกเป็นข่าว

กรณีกราดยิงโคราช

ที่มา : ข่าวเมีย ผจก.คาร์แคร์ เหยื่อกราดยิงโคราช ช็อกเสียเสาหลัก เผยมีลางร้ายมาก่อน https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1767801

การให้รายละเอียดเกินควร : การให้ข้อมูลของเหตุการณ์โดยละเอียด

กรณีกราดยิงหนองบัวลำภู

ที่มา : เพื่อนบ้านเห็น ตร.คลั่ง ไล่ฆ่าชาวบ้าน เผยเด็กที่ตายเป็นหลานไม่ใช่ลูกแท้ๆ https://www.thairath.co.th/news/crime/2520773

การใช้อคติ  : การใช้ถ้อยคำที่มีการเร้าอารมณ์ผู้อ่าน

กรณีกราดยิงหนองบัวลำภู

ที่มา : ส่งทหารรบพิเศษหมวกแดงลงพื้นที่โคราช คลี่คลายสถานการณ์ “จ่าคลั่ง” https://www.thairath.co.th/news/local/2522720

การใช้ถ้อยคำตัดสิน : การใช้ถ้อยคำตัดสินบุคคล

กรณีกราดยิงโคราช

ที่มา : ส่งทหารรบพิเศษหมวกแดงลงพื้นที่โคราช คลี่คลายสถานการณ์ “จ่าคลั่ง” https://www.thairath.co.th/news/crime/1767026

การเปิดเผยชื่อของพยาน

กรณีกราดยิงหนองบัวลำภู

ที่มา : แทบขาดใจ กอดผ้าห่ม-ขวดนมแทนลูกน้อย แยกสวด 3 วัด ผลผ่า ตร.คลั่ง ไร้สารเสพติด (คลิป) https://www.thairath.co.th/news/society/2521231

จากผลการศึกษา ทีมผู้วิจัยมีข้อสรุป ดังนี้

  1. สำนักข่าวไทยรัฐดูเหมือนจะมีความตระหนักถึงสิทธิ์ของผู้ที่ตกเป็นข่าวมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของนักข่าวในช่วงกราดยิงโคราชกันสูงมาก จนสื่อต้องนำข้อวิพากาษ์วิจารณ์มาพิจารณาปรับปรุงตัวเอง การศึกษาของกมลวรรณ โกวิทวงศา และ ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา (2562) กรณีการรายงานข่าวช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย พบว่า ความคิดเห็นของประชาชนสะท้อนให้สื่อมวลชนจัดรูปแบบการนำเสนอให้ตรงกับความต้องการของสังคมให้มากขึ้น
  2. การรายงานข่าวแบบใส่อคติที่เพิ่มสูงขึ้นในกรณีหนองบัวลำภู อาจเป็นเพราะว่าในเหตุการณ์กราดยิงดังกล่าว มีผู้เสียหายที่เป็นเด็กเล็กซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเปราะบางสูง จากงานวิจัยเรื่อง Our image of child ของ Margaret Anne Carter ในปี 2013 ชี้ว่าผู้ใหญ่มักจากมีภาพจำต่อเด็กในมุมมองเชิงบวก เช่น ความสนุกสนาน ความไร้เดียงสา ความเป็นฝ่ายดี (Protagonist) จึงอาจเป็นส่วนที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมเมื่อเด็กถูกกระทำ จนผู้สื่อข่าวอาจจะใส่อคติไปในการรายงานข่าวด้วยนั่นเอง

จากผลการวิจัยในครั้งนี้ แม้สื่อจะรายงานข่าวในลักษณะที่มีการละเมิดสิทธิ์ของแหล่งข่าว แต่โดยภาพรวมก็พบการละเมิดสิทธิที่ลดน้อยลง จึงอาจกล่าวได้ว่า การทำหน้าที่รายงานข่าวของสื่อสามารถพัฒนาและปรับปรุงตัวเองได้เสมอ

หากประชาชนผู้รับสารตื่นตัว


บรรณานุกรม

Margaret Anne Carter. (2013). Our Image of the Child. Social an Behaveral Science. 93. 1704-1709.

กมลวรรณ โกวิทวงศา และ ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา. (2562). แนวทางรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤต       กรณีศึกษาปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในถ้ำหลวง. คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

รุจน์ โกมลบุตร. (2560). ผลกระทบของแหล่งข่าวที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิ์. คณะวารสารศาสตร์และ         สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ. (24 พฤษภาคม 2559). แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของ       สื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว. เข้าถึงได้จาก https://www.presscouncil.or.th/regulation/3299

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ. (8 มิถุนายน 2564). ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการ          สื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564. สืบค้นจาก https://www.presscouncil.or.th/rule/6126

ยอดตายยังไม่นิ่ง “จ่าคลั่ง” เปิดฉากกราดยิงไม่เลือกหน้า เด็กก็ไม่เว้น. (8 กุมภาพันธ์ 2563). ไทยรัฐออนไลน์.   สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/crime/1767008

เผาแล้วสองศพสุดท้าย เหยื่อกราดยิง น้องออสก้ากับพ่อ แม่ร่ำไห้ใจจะขาด. (13 ตุลาคม 2565). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/crime/2526301

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Articles

Articles

ลอยกระทงถึงไม่ได้อะไร แต่ฉันก็ยังอยากลอยอยู่ดี

เรื่องและภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง “วันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง…” เพลงคุ้นหูที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่จำความได้ จะทีวีหรือวิทยุทำนองก็เล่นซ้ำวนไปไม่อาจหลีกหนี ฉันจำได้เสมอเมื่อวันนี้เวียนมาถึง แม่ของฉันจะมีกิจวัตรที่เธอทำอยู่ทุกปี ...

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save